ปีที่ 2 สงครามยูเครน! | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

สงครามยูเครนเดินทางมาเป็นระยะเวลา 1 ปีอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะเมื่อสงครามเริ่มต้นจากการบุกยูเครนของรัสเซียในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 นั้น ไม่มีใครคาดคิดเลยว่า ยูเครนจะสามารถต้านทานการรุกใหญ่ของกองทัพยูเครนได้อย่างยาวนาน จนต้องถือเป็น “ชัยชนะของการยันทางยุทธศาสตร์”
อีกทั้ง สงครามนี้เป็นสงครามใหญ่ครั้งแรกของศตวรรษ 21 ที่โลกต้องเผชิญอย่างคาดไม่ถึง ดังจะเห็นได้จากการใช้กำลังโจมตีทางอากาศอย่างไม่จำแนกต่อเป้าหมายพลเรือน เช่น ที่พักอาศัย โรงพยาบาล โรงเรียน เป็นต้น จนการกระทำดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการก่อ “อาชญากรรมสงคราม” ของผู้นำรัสเซีย การโจมตีเช่นนี้เป็นความหวังในการบั่นทอนความเข้มแข็งและกำลังใจในการทำสงครามของสังคมยูเครน แต่ยูเครนยังยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางการโจมตีอย่างหนักของรัสเซีย เป็น 1 ปีที่ยูเครนยังดำรงความเป็นรัฐเอกราชไว้ได้

ฉะนั้น ข้อสรุปอย่างสังเขปของสงครามในปีแรกคือ “ยูเครนไม่แพ้ รัสเซียไม่ชนะ” อันมีนัยว่า การรบยังคงดำเนินต่อไปในปี 2023 และเป็นการรบที่ต่างฝ่ายต่างชิงความได้เปรียบในทุกพื้นที่การรบ แต่แน่นอนว่า สงครามมีความโหดร้ายในตัวเอง ดังคำกล่าวของนายพลเชอร์แมนในสงครามกลางเมืองอเมริกันที่ถูกนำมาอ้างอิงเสมอว่า “สงครามคือนรก” … คำกล่าวนี้เป็นตัวแทนภาพของสงครามอย่างดีสำหรับชาวยูเครนที่ต้องแบกรับการโจมตีอย่างไม่หยุดยั้งในแต่ละวันของประธานาธิบดีปูตินและกองทัพรัสเซีย

นอกจากนี้ ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าในความเป็นสงครามใหญ่นั้น สงครามมีความรุนแรงอย่างมาก ดังปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนจากภาพข่าว และเป็นเวลาที่การเมืองโลกถูกกำหนดจากความเป็นไปของการรบอย่างหนักในยูเครน ซึ่งหากเปรียบเทียบแล้ว ในขณะที่การระบาดของโควิด-19 กำลังลดระดับความรุนแรงลง จนเรากล่าวได้ว่า โลกกำลังก้าวเข้าสู่ “ยุคหลังโควิด-19” แล้ว แต่สถานการณ์สงครามยูเครนยังไม่มีแนวโน้มที่จะเดินไปสู่โลก “ยุคหลังสงครามยูเครน” แต่อย่างใด … สงครามจากปี 2022 เดินเข้าสู่ปี 2023 อย่างที่ยังไม่เห็นจุดสิ้นสุด!

ดังนั้น หากมองการรบในยูเครนหลังครบรอบ 1 ปีแล้ว เราอาจเห็นแนวโน้มสงคราม 12 ประการ ดังต่อไปนี้

1) การกำเนิดของสงครามยูเครนชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงสภาวะของการเมืองโลกที่เป็น “สงครามเย็น” หรืออาจกล่าวได้ว่า การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ที่เป็นปรากฎการณ์สำคัญของโลกในช่วงที่ผ่านมา ได้ยกระดับขึ้นเป็นการต่อสู้ในแบบสงครามเย็น อันอาจกล่าวได้ว่า โลกกำลังเห็นถึง “สงครามเย็นในศตวรรษที่ 21” ที่มีบริบทและประเด็นการต่อสู้ต่างออกไปจากสงครามนี้ในศตวรรษที่ 20 จึงทำให้มีการเรียกสภาวะเช่นนี้ว่าเป็น “สงครามเย็นใหม่” (The New Cold War) ซึ่งมีแนวโน้มเข้มข้นมากขึ้นในปี 2023

2) สงครามยูเครนจะเป็นตัวกำหนดสำคัญต่อความเป็นไปของ “ระเบียบระหว่างประเทศของยุโรปใหม่” ที่สงครามนี้จะทำหน้าที่ “แบ่งยุโรป” ออกเป็น 2 ส่วน แต่ไม่ใช่เป็นยุโรปตะวันตกและยุโรปตะวันออกในแบบเดิม พื้นที่ทางภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ของยุโรปถูกลากเส้นด้วยทัศนะที่เกิดจากสงครามยูเครน หรืออีกนัยหนึ่งคือ เส้นที่บ่งบอกถึงการพาประเทศไปอยู่กับฝ่ายรัสเซียหรือไม่

3) สงครามยูเครนมีส่วนอย่างสำคัญต่อการสร้าง “เอกภาพของรัฐยุโรปตะวันตก” ซึ่งแต่เดิมรัฐเหล่านี้อาจจะมีความเห็นแตกต่างกันต่อปัญหารัสเซีย แต่หลังจากการบุกรัสเซียแล้ว หลายรัฐยุโรปมีความพยายามในการรวมตัวทางการเมืองและการทหารอย่างเป็นเอกภาพ เพื่อรับมือกับการคุกคามของรัสเซียในปี 2023

4) สงครามยูเครนยังมีส่วนสำคัญต่อการกำหนดความเป็นไปของ “ระเบียบโลกใหม่” ที่ต้องใช้คำว่าระเบียบใหม่ เพราะผลจากสงครามกำลังมีส่วนในการจัด “ความเป็นขั้ว” ในการเมืองโลกอีกครั้ง เช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุคสงครามเย็นครั้งก่อน การกำหนดท่าทีและ/หรือการลงเสียงของรัฐบาลต่อปัญหาสงครามยูเครนจะเป็นประเด็นสำคัญต่อการกำหนดทิศทางการต่างประเทศของแต่ละรัฐบาลในปี 2023

5) การรบที่ยูเครนยังไม่มีจุดสิ้นสุด คู่สงครามยังมีกำลังที่จะทำการต่อได้อีกนาน และมีอาวุธให้สามารถทำการรบต่อได้ แม้กองทัพของทั้งสองฝ่ายจะประสบความสูญเสียทั้งกำลังพลและอาวุธเป็นจำนวนมากก็ตาม ในขณะเดียวกันสภาวะเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่า คู่สงครามมีสภาวะของ “การยัน” ที่ยังไม่เห็นถึงผู้ชนะที่ชัดเจน แต่อาจกล่าวได้ว่า กองทัพรัสเซียบอบช้ำอย่างมาก และอาจจะประสบความขาดแคลนอาวุธมากขึ้นในปีนี้

6) สภาวะที่คู่สงครามยังมีพลังอำนาจทางทหารที่สามารถทำการรบได้ต่อไป จึงไม่เป็นโอกาสให้เกิดการเจรจาสันติภาพ เพราะต่างฝ่ายต่างต้องการรบต่อ และชิงความได้เปรียบในสนามรบ สงครามดำเนินไปได้ และยังไม่ถึงจุดที่ทำให้เกิดการเจรจา ความหวังถึงสันติภาพยูเครนในปี 2023 จึงอาจเป็นความฝันต่อไป

7) ความสำเร็จในการรุกกลับในช่วงปลายปี 2022 ทำให้ยูเครนมีความหวังที่จะเอาดินแดนที่รัสเซียยึดกลับคืนมา การเอาดินแดนที่รัสเซียยึดครองกลับคืนมาได้บางส่วนสร้างความประหลาดใจให้กับเวทีโลกอย่างมาก ขณะเดียวกันก็เป็น “ขวัญกำลังใจ” สำหรับการเปิดการรุกใหญ่ทางทหารที่จะเกิดขึ้นหลังการสิ้นสุดฤดูหนาว

8)รัสเซียเองเตรียมตัวอย่างมากที่จะเปิดสงครามใหญ่หลังฤดูหนาว และต้องการที่จะยึดดินแดนให้ได้มากขึ้น เพื่อตอบโต้กับชัยชนะของยูเครนในช่วงปลายปี 2022 อีกทั้งชัยชนะในบางพื้นที่แม้อาจจะเป็นเรื่องเล็กน้อยเช่นการรบอย่างหนักเพื่อชิงเมืองบัคมุต แต่การได้เมืองมีความสำคัญในการสร้างภาพของชัยชนะสำหรับประธานาธิบดีปูติน ฉะนั้น รัสเซียอาจทุ่มกำลังมากขึ้นในการเปิดแนวรุกใหม่ในอนาคต

9) สงครามน่าจะมีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้นในปี 2023 เพราะต่างฝ่ายต่างเตรียมตัวทำสงครามใหญ่ และมีความคาดหวังในชัยชนะของฝ่ายตนเองมากขึ้น ในภาวะเช่นนี้ทั้งสองฝ่ายจึงต้องทุ่มความพยายามมากขึ้นในสนามรบ อันส่งผลประเทศตะวันตกต้องสนับสนุนอาวุธ โดยเฉพาะอาวุธหนัก ให้แก่ยูเครนมากขึ้นด้วย

10) ความกังวลถึงการขยายสงครามออกนอกพื้นที่ของยูเครน ทำให้หลายประเทศที่มีแนวชายแดนติดกับรัสเซียกลัวว่ารัสเซียจะขยายการโจมตี หรือขยายพื้นที่สงครามออกไปนอกเหนือจากยูเครน ดังจะเห็นได้ว่าประเทศริมชายฝั่งทะเลบอลติก ฟินแลนด์ โปแลนด์ และโดยเฉพาะมอลโดวา มีการเตรียมการในทางทหารมากขึ้น เพราะไม่มีใครคาดเดาได้ว่าประธานาธิบดีปูตินจะตัดสินใจรบเพียงขอบเขตของยูเครนหรือไม่

11) ข้อกังวลในเรื่องของสงครามนิวเคลียร์ ในระดับของการใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีต่อเป้าหมายในยูเครนนั้น เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายมีความกังวลมาโดยตลอด แต่ก็หวังว่าประธานาธิบดีปูตินจะไม่ตัดสินใจใช้อาวุธเช่นนี้ เพราะอาจนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์ขนาดใหญ่กับเนโต้และสหรัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อประธานาธิบดีปูตินประกาศไม่ยอมรับความตกลงเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ (ความตกลง START) จึงยิ่งทำให้ความกังวลปัญหาสงครามนิวเคลียร์มีมากขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน

12) ปัญหาผลกระทบจากสงครามยูเครนกับภูมิภาคเอเชียโดยรวมนั้น จะทำให้เกิดการแบ่งฝ่ายในภูมิภาคเอเชียมากขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะผลจากเงื่อนไขของความเป็น “สงครามเย็นใหม่” ที่มาพร้อมกับบทบาทของจีนในการสนับสนุนรัสเซียในเวทีโลก เพราะเป็นที่รับรู้กันว่าจีนไม่อาจทอดทิ้งรัสเซียได้ และรัสเซียก็ต้องพยายามดึงจีนไว้กับฝ่ายตนให้ได้ เนื่องจากจีนเป็นผู้สนับสนุนที่สำคัญที่สุดสำหรับบทบาทของรัสเซีย

ดังนั้น สงครามยูเครนในปีที่ 2 จึงเป็นความท้าทายต่อการเมืองโลก และการจัดระเบียบของยุโรปเป็นอย่างยิ่ง … ถ้าปีที่ 1 ของสงครามเริ่มต้นด้วยการบุกใหญ่ของรัสเซีย ปีที่ 2 ก็เริ่มต้นด้วยการเยือนยูเครนของผู้นำสหรัฐ และตามมาด้วยการเยือนรัสเซียของรัฐมนตรีต่างประเทศจีน … สงครามยกระดับขึ้น พร้อมกับโลกแบ่งออกเป็น 2 ค่ายจริงๆ แล้ว ซึ่งจะยิ่งทำให้สงครามยูเครนมีความเข้มข้นขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย !