มนุสสปฏิวัติ : สร้างพลเมืองใหม่ให้แข็งแรง (1) | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

สำนึกใหม่ที่เกิดภายหลังการปฏิวัติ 2475 ได้วิจารณ์ค่านิยมในรูปลักษณ์เรือนกายของตัวละคอนในรามเกียรติ์ว่า “พระรามเป็นคนที่อ่อนแอที่สุด ไม่เคยทำงานสมบุกสมบันกับใคร…พระรามเป็นชนชั้นสูง เป็นผู้มีบุญ เป็นผู้ประเสริฐ…พระเอกของเราแทบทุกเรื่องมักได้ดีโดยไม่ต้องทำอะไร…รูปร่างพระเอกของเรามักอรชรอ้อนแอ้น แม้นจะเดินก็ไม่ค่อยไหว…”

(หลวงวิจิตรวาทการ, 2482, 14-15)

 

คนไทยในสายตาชาวตะวันตก

อุปนิสัยใจคอ บุคลิกลักษณะ และเรือนกายของคนไทยในทรรศนะของเฟรเดอริก อาร์เธอร์ นีล ผู้เคยเข้ามาไทยสมัยรัชกาลที่ 3 ในหนังสือ “Narrative of a Redidence in Siam” (2395) ได้บันทึกอุปนิสัยคนไทยว่า

“…พวกตะวันออกนี้ดูจะมีเรื่องคุยกันอยู่ 2 เรื่องที่พวกเขาชอบคุยกันคือ เรื่องเงินทองและเรื่องอาหาร นอกจากทั้งสองเรื่องนี้แล้วก็ดูจะไม่รู้เรื่องอะไรเลย เขาไม่ยอมรับเรื่องอย่างอื่นที่เกิดขึ้นในโลกทั้งสิ้น นอกจากสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตเท่านั้น ใช้เวลาวันหนึ่งๆ ให้หมดไปด้วยการกิน ดื่ม และหาเงินไว้ กลางคืนก็เป็นเวลาพักผ่อน…พวกเขาใช้ชีวิตในโลกนี้เหมือนหลับตาเดิน ไม่เหลียวซ้ายแลขวา หรือไม่ทำอะไรนอกเหนือไปจากชีวิตประจำวัน นอกจากจะหยุดเก็บเงินหรืออาหาร…”

 

ไพร่ทำงานหนัก

นิลสังเกตถึงวิถีชีวิต การทำงานหนักของเหล่าสามัญชนจำนวนมากที่เขาพบเห็นในครั้งนั้นว่า

“…พวกคนชั้นต่ำในกรุงสยามนั้นไม่ค่อยมีเวลาว่างเลย และโชคดีที่จนเกินกว่าที่จะไปทดลองทำสิ่งที่พวกคนร่ำรวยทำกัน พวกคนรับใช้ก็ยุ่งอยู่กับการรับใช้เจ้านาย คนพายเรือก็จะทำงานกันตั้งแต่เช้าจดค่ำ และก็ดีใจมากแล้วที่ยังพอมีเวลาได้พูดคุยกับครอบครัวของตนเองและเพื่อนบ้านด้วย มีเวลาไปถอนขนไก่อะไรแบบนี้ จึงทำให้พวกเขาเป็นคนมีสุขภาพแข็งแรง ไม่ค่อยเจ็บไข้ได้ป่วย…” (silpa-mag.com/article65493)

สำหรับความรู้สึกของไพร่ ชายฉกรรจ์ที่ตกต้องถูกเกณฑ์แรงงานทำงานให้มูลนายอันปรากฏอยู่ในเรื่องขุนช้างขุนแผน ฉากที่พระอาจารย์ของขุนแผนพยายามหน่วงเหนี่ยวมิให้ขุนแผนลาสึกว่า

“จะสึกไปให้เขาสักเจ็บหรือหวาข้อมือดำแล้วระกำทุกเวลา โพล่กับบ่าแบกกันจนบรรลัย ถ้ามูลนายรักมั่งจะยังชั่ว เอ็นดูตัวหาให้ทำการหนักไม่ แม้นชังก็จะใช้ให้เจ็บใจ เลื่อยไม้ลากซุงสารพา”

ส่วนสตรีที่มาจากชนชั้นล่างต้องทำงานหนักไม่แตกต่างจากชายฉกรรจ์ทั่วไป เช่น พายเรือขายของตลอดทั้งวัน หวังเพียงแค่เงินกระพีกริ้น ดัง

“พวกผู้หญิงที่เป็นภรรยาของคนค่อนข้างยากจนหรือพวกฝีพายเรือก็จะยิ่งต้องทำงานหนักตลอดวัน พายเรือขึ้นล่องไปตามลำแม่น้ำ เพื่อหาเงินมาเลี้ยงชีพเพียงสองสามเพนนีหรือเฟื้องอย่างที่พวกคนสยามเรียกเงินของพวกเขา พวกสินค้าก็มีพวกพืชผัก หมาก และไก่ ตื่นขึ้นตอนเช้าก็ต้องรีบพายเรือออกไปในแม่น้ำแล้ว…”

ในขณะที่ผู้หญิงชนชั้นสูงหรือพวกภรรยาขุนนางนั้น มีเวลาว่างมากจนพวกหล่อนมัก “ฆ่าเวลา” ด้วยงานประดิดประดอย ร้อยดอกไม้ ระบำรำฟ้อน นั่งฟังคนเล่านิทาน เคี้ยวหมาก

จากบันทึกของนีลทำให้เข้าใจได้ว่าชนชั้นล่างทำงานหนักจนไม่มีเวลาคิดหรือทำสิ่งอื่นใด ขณะที่ชนชั้นสูงมีเวลาว่างมากจนต้องหากิจกรรม “ฆ่า” เวลา

สตรีสามัญชนในสมัยพระจุลจอมเกล้าฯ

“นั่งเอกเขนกเป็นรูปปั้น”
วิถีชีวิตที่พึงปรารถนา

ชีวิตที่พึงปรารถนาของคนไทยมิใช่การใช้แรง หรือแม้แต่ “การออกกำลังกาย” นีลบันทึกต่อว่า

“คนเกียจคร้านก็ชอบใช้เวลาให้หมดไปด้วยการนั่งเอกเขนกเป็นรูปปั้น…การออกกำลังกายด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การยิงปืน ขี่ม้า หรือเดินนั้นเป็นปัญหาสำหรับคนเหล่านี้ เพราะเป็นการเกินความสามารถของเขา และที่สำคัญก็คือ ถ้าใครออกไปเดินเล่นคราวละครึ่งไมล์ ก็จะถูกหาว่าเป็นบ้า ทั้งๆ ที่เขามีอย่างอื่นที่จะทำได้ดีกว่า เช่น พายเรือในระยะทางเท่าๆ กัน แล้วนั่งให้สบายๆ ในเรือ”(silpa-mag.com/ article33594)

มัลล็อก (D.E. Malloch) พ่อค้าชาวอังกฤษเข้ามาสมัยรัชกาลที่ 4 รายงานการสำรวจเศรษฐกิจและผลผลิตของไทย รวมทั้งลักษณะนิสัยของผู้คนว่า

“ชาวสยามเป็นชนชาติที่มีนิสัยเฉื่อยชามากที่สุดชาติหนึ่ง นิสัยเช่นนี้จึงส่งผลให้คนในชาติยากจน และมีกำลังซื้อที่ต่ำมาก พวกเขาคุ้นเคยกับการนอนถึง 14 ชั่วโมงต่อ 1 วัน แล้วก็ตระหนี่ถี่เหนียวที่สุด จะเห็นได้จากการที่พวกเขาไม่เคยซื้อหาสิ่งใดเลย หากไม่ต้องการจริงๆ

ชาวสยามไม่เคยคิดที่จะเรียนรู้เรื่องค้าขายและไม่ได้รับการสืบทอด หรือสั่งสอนในวิชาชีพใดๆ เลย นอกจากการบวชเป็นพระ อันอาจเนื่องมาจากต้องการหลีกเลี่ยงการทำงานที่ต้องใช้แรงกายนั่นเอง

ดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว ชาวสยามเป็นชนชาติที่แสนจะเฉื่อยชาและเกียจคร้าน ไม่ชอบงานที่ต้องใช้แรงกาย เรียกร้องแต่การพักผ่อนนอนหลับ ชอบทำงานที่ไม่ต้องรับผิดชอบมาก ชาวสยามไม่เคยรู้คุณค่าของเวลา…” (silpa-mag.com//article76835)

ค่านิยมความสุขสบาย ไม่ต้องทำงานหนัก สอดคล้องกับบุคลิกของชนชั้นปกครองตามอุดมคติดังพระรามอันปรากฏในรามเกียรติ์ ผู้มากบุญญาธิการจนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า “พระรามเป็นคนที่อ่อนแอที่สุด ไม่เคยทำงานสมบุกสมบันกับใคร…พระรามเป็นชนชั้นสูง เป็นผู้มีบุญ เป็นผู้ประเสริฐ…พระเอกของเราแทบทุกเรื่องมักได้ดีโดยไม่ต้องทำอะไร…รูปร่างพระเอกของเรามักอรชรอ้อนแอ้น แม้นจะเดินก็ไม่ค่อยไหว…”

(หลวงวิจิตรวาทการ, 2482, 14-15)

เหล่าไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎร์เมื่อครั้งนั้น

ชาตินิยมกับการสร้างพลเมืองใหม่

ในทางกลับกัน ร่างกายของพลเมืองที่แข็งแรงสมบูรณ์กลับกลายเป็นเป้าหมายของการสร้างชาติภายใต้รัฐประชาชาติ (Nation State)

แม้นการพลศึกษาเริ่มเข้าสู่การศึกษาสมัยใหม่ของไทยมาแต่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์นับรัชสมัยพระจุลจอมกล้าฯ ก็ตาม แต่ราษฎรยังไม่ใช่หัวใจสำคัญสูงสุด ดังนั้น รัฐบาลครั้งนั้นจึงยังไม่มีนโยบายที่สำคัญในการส่งเสริมร่างกายและสุขภาพของราษฎรในฐานะเป็นหัวใจชาติ

ต่อมา ในช่วงปลายระบอบเก่า คติการเสริมสร้างร่างกายเพาะกายเริ่มกลายเป็นกิจกรรมในการเสริมสร้างความเป็นชายมากขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 2470 เกิดขึ้น ในสังคม อันเห็นได้จากมีการจัดตั้งสถานเพาะกายหรือ “สถานกายบริหาร” ของเอกชนขึ้นในปี 2473

ภายหลังการปฏิวัติ 2475 เมื่อคติเรื่องชาตินิยม (nationalism) เป็นสำนึกทางการเมืองที่เห็นว่า ชาติประกอบขึ้นมาจากประชาชนทั้งมวลแพร่หลาย ต่อมา รัฐบาลพระยาพหลฯ มีนโยบายสร้างสังคมใหม่ผ่านการศึกษาเพื่อสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ ให้เป็นพลเมืองมีศีลธรรม มีปัญญา มีความคิด ทั้งด้านกำลังกายและกำลังใจ ด้วยการบำรุงการพลศึกษา

ต้นปี 2478 พระยาพหลฯ หารือกับทูตญี่ปุ่นว่า รัฐบาลไทยมีความต้องการนำแนวทางการสร้างเยาวชนใหม่ผ่านการศึกษาแบบญี่ปุ่นมาปรับปรุงระบบการศึกษาไทย (Edward Thadeus Flood, 1994, 105)

ไม่นานจากนั้น รัฐบาลส่งข้าราชการไปดูงานในญี่ปุ่น ต่อมา รัฐบาลจัด “โครงการปลุกใจให้รักชาติ” (2478) เพื่อให้สร้างพลเมืองให้เป็นผู้รักชาติ รู้จักการเสียสละ มีความกล้าหาญ ให้ฝังแน่นอยู่ในจิตใจ (กรุงเทพฯ วารศัพท์, 26 มีนาคม 2478) รวมทั้งส่งเสริมความแข็งแรงและสุขภาพอนามัยด้วยการสร้างสนามกีฬาแห่งชาติ (2478) เพื่อส่งเสริมการเล่นกีฬาและการออกกำลังกายให้กับประชาชน

กล่าวได้ว่า ภายหลังการปฏิวัติ 2475 ประชาชนกลายเป็นศูนย์กลางการพัฒนาด้วยถือคติว่า ประชาชน คือ ชาติ ประชาชนแข็งแรง ชาติย่อมเข้มแข็งตามไปด้วยเช่นกัน

 

ค่านิยมร่างกายแข็งแรงเริ่มปรากฏชัดต้นทศวรรษ 2470 เจือ จักษุรักษ์ (ยืนขวาสุด) โพยม บุญยะศาสตร์ (นั่งคนที่สองจากขวา)
วิถีชีวิตสตรีและเด็กในราชสำนักและชนชั้นสูง
ร่างกายอุดมคติ และร่างกายแห่งความเป็นจริงของขุนนางแห่งระบอบเก่า
ไพร่ชายในระบอบเก่า