KEF KC62 กับการลองเล่นและคุณภาพเสียง

KEF KC62 กับการลองเล่นและคุณภาพเสียง

 

ขณะที่รายละเอียดของชิ้นเครื่องดนตรี และเสียงร้อง ที่หลุดลอยออกมาเป็นอิสระจากลำโพงคู่หลัก ยังคงมีเสน่ห์อย่างน่าฟัง

แต่มวลมหาศาลของเบสที่เพิ่มเข้ามาอย่างกลมกลืนนั่น มันเสริมอรรถรสให้สัมผัสได้ถึงความสุนทรีย์ทั้งของเสียงดนตรี และเสียงร้อง ที่อวบอิ่มและใหญ่กว่าที่เคยฟังจากลำโพงคู่เดียวแบบโดดๆ อัลบั้มที่คุ้นๆ กับลำโพงคู่นี้ ไม่ว่าจะเป็น Eagles : Hell Freezes Over หรืออย่าง Diana Krall : Turn Up the Quiet รวมทั้ง The Dave Brubeck Quartet: Time Out

ซึ่งเมื่อมีตู้เพาเวอร์-สับ KC62 เข้ามาเสริม มันเหมือนเติมเต็มความอิ่มของเสียงให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นเป็นทบเท่าทวีคูณนั่นเทียว

มิเพียงกับสามอัลบัมที่กล่าวถึงนั่นดอกนะครับ หากแต่กับอีกหลากหลายอัลบัมและด้วยรูปแบบแนวดนตรีที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะกับงานซิมโฟนีที่ให้เบสสะเทือนเลื่อนลั่น อาทิ อัลบั้ม Stravinsky : Firebird (Telarc CD-80039) กับเสียงปืนใหญ่ยิงสลุตในชุด Tchaikovsky : 1812 Overture (Telarc CD-80041)

การได้เพาเวอร์-สับตู้นี้เข้ามาร่วมในซิสเต็ม มันเป็นการช่วยยกระดับภาพรวมของคุณภาพเสียงที่เคยพอใจจากกการฟังลำโพงคู่เดียว ให้ได้ความสมบูรณ์เป็นที่น่าพอใจมากยิ่งขึ้นไปอีก โดยที่มิพักต้องเติมเต็มในจินตนาการแต่อย่างใด

กล่าวคือ สำหรับผมแล้ว, หากต้องเลือกลำโพงระหว่างคู่หนึ่งที่มีอะไรขาดหายไปบ้าง กับอีกคู่ที่ฟังแล้วรู้สึกมีบางสิ่งบางอย่างมากเกิน ผมขอเลือกคู่ที่ฟังแล้วมีอะไรขาดหายไปบ้างมากกว่าคู่ที่ให้บางอย่างออกมามากเกิน เพราะบางเสียงที่ขาดหายเราสามารถเติมเต็มในจินตนาการได้ และจะฟังได้นาน แต่กับอีกคู่ที่มีบางสิ่งหรือให้บางเสียงมากเกินนั้น เมื่อฟังไปสักระยะมันจะทำให้รู้สึกอึดอัด ซึ่งที่สุดแล้วจะทำให้ทนฟังต่อไปไม่ได้นั่นเอง

ก็เหมือนกับลำโพงวางขาตั้งที่ผมใช้อยู่ในห้องนั่นแหละครับ แม้มันจะให้เบสออกมาน้อยไปบ้างตามเงื่อนไขที่เป็นข้อจำกัดของลำโพง Bookshelf, 2-Way แต่ภาพรวมของเสียงมันให้ออกมาเป็นที่น่าพอใจสำหรับผม จึงคล้ายกับเบสที่ขาดหายไปบ้างนั่น ยามฟังเอาเพลิน สบายๆ ผมสามารถเติมเต็มเอาได้ในจินตนาการจนไม่รู้สึกว่ามีอะไรที่ไม่สมบูรณ์

หลังจากฟังเพลงจนอิ่มเอมในอารมณ์แล้ว ลองให้มันทำงานกับซาวด์แทร็กดูบ้าง โดยเข้ามาแทนที่เพาเวอร์-สับตู้ที่ใช้อยู่ในห้อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบ 5.1 และผลงานที่มันให้ออกมานั้นเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายมาก

เพราะแม้จะรับรู้ประสิทธิภาพของมันอยู่ในทีได้จากการใช้ฟังเพลงแบบ 2.1 มาก่อนหน้านั้นแล้วก็ตาม แต่จากการทำงานของมันกับเสียงในย่านความถี่ต่ำๆ ผ่านตู้ที่แทบมองไม่เห็นเมื่อตั้งวางในอยู่ในห้อง พลังเสียงที่มันรังสรรค์ออกมาทำให้ห้องทั้งห้องเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา แฝงความสะท้านอันเนื่องมาจากเสียงที่สะเทือนแบบสั่นห้องด้วยความชัดเจนอันน่าตื่นใจยิ่ง ทั้งยังแผ่กระจายออกครอบคลุมทั่วทั้งห้องเอาไว้แบบหมดจดในทุกอณูจริงๆ

ฟังเพลงว่าน่าทึ่งมากแล้ว เอามาฟังกับซาวด์แทร็กนี่มันยิ่งน่าทึ่งมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากโครงสร้างที่แลดูกระจ้อยร่อยแล้ว เหลือเชื่อครับว่าพลังเสียงที่ยินแบบ ‘รู้สึกสัมผัส’ นั้นจะมาจากเพาเวอร์-สับตู้แค่นั้นเอง

ทั้งยังตอกย้ำความเป็นเบสที่ชัดเจน ปลอดความพร่าเพี้ยน สะอาด และรับรู้ได้ถึงมวลเสียงที่มีความเป็นธรรมชาติสูงมาก จากบางซีนของหนัง Sci-Fi สุดยิ่งใหญ่อย่าง Interstellar ที่มีเบสลึกมากๆ นั้น มันสามารถถ่ายทอดออกมาได้แบบไม่มีอะไรเหลือให้รู้สึกค้างคาแต่อย่างใด ทั้งยังไม่มีสิ่งแปลกปลอมใดแฝงออกมาให้รู้ได้แม้แต่เพียงน้อย เป็นเบสแบบที่ฝรั่งชอบพูดว่า Distortion-Free นั่นแหละครับ รวมทั้งหลายๆ ฉาก จาก Iron Man ที่เสียงเบสส์เดินเรื่องได้อย่างสนุก ไม่ว่าจะเป็นเสียงฝีเท้าที่ต่ำลึกในความมืด เสียงยิงต่อสู้ทั้งจากปืนกลและระเบิด ล้วนเป็นเสียงเบสที่ตรงไปตรงมา ชัดเจน และให้ออกมาได้อย่างน่าตื่นเต้นมาก

หรือไปหยิบแผ่นหนังเกี่ยวกับเรือดำน้ำเรื่องเก่าๆ อย่าง U-571 มาดู เพาเวอร์-สับตู้นี้ก็สำแดงเดชออกมาให้รู้ได้เป็นอย่างดี ว่าเสียงเบสที่ดีและมีคุณภาพนั้นต้องมีคุณลักษณะเสียงเป็นอย่างไร

เมื่อพูดถึงการการออกแบบและจัดวางชุดตัวขับเสียงแบบ Force-Cancelling ที่เป็นความคุ้นชินของผู้คนในวงการมานานจนหลายๆ คนอาจจะลืมไปแล้ว ว่าผู้ที่คิดค้นเทคนิคนี้ขึ้นมาก็คือ KEF นี่ละ ซึ่งปรากฏออกมาให้เห็นเป็นครั้งแรก และเรียกเสียงฮือฮาจากผู้คนในยุทธจักรลำโพงผ่าน Reference 104/2 ก็ต้องย้อนไปยังปี ค.ศ.1984 โน่น

จึงเมื่อนำเทคโนโลยี Uni-Core เข้ามาเสริม และนำเสนอออกมาผ่าน KC62 Powered Sub-Woofer ย่อมเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น น่าสนใจ และใคร่ลองของคนเล่นเครื่องเสียงเป็นธรรมดา

ซึ่งหลังจากที่ได้ลองเล่นแล้วต้องยอมรับว่ามันเป็นเพาเวอร์ สับ-วูฟเฟอร์ ที่ไม่ธรรมดาเลยจริงๆ เพราะด้วยขนาดตู้ที่เล็กแบบแต่ละด้านกว้าง/ยาวเกินคืบนิดๆ จนไม่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นตู้สับ-วูฟเฟอร์ ซึ่งต้องมีหน้าที่ให้เสียงในย่านความถี่ต่ำพิเศษแบบ LFE: Low Frequency Effect นั้น มันกลับให้พลังเสียงออกมาเสมอด้วยระเบิดขนาดย่อมๆ อย่างเหลือเชื่อ และโดยไม่มีเงื่อนไขของตำแหน่งตั้งวางมาเป็นตัวกำหนดแต่อย่างใดอีกด้วย

เพราะตอนเริ่มลองในห้องขนาดปริมาตรประมาณกว่า 30 ลูกบาศก์เมตรเล็กน้อยนั้น ผมก็ตั้งวางที่พื้นห้องแบบ ‘งั้นๆ’ (พร้อมกับเซ็ตตำแหน่งของ EQ เอาไว้ที่ ROOM) ด้วยคิดว่าอย่างน้อยๆ คงต้องขยับอีกสักหนสองหน จึงจะได้ความ ที่ไหนได้หลังจากวางลง ‘ตรงนั้น’ และปรับค่าครอสส์โอเวอร์ให้เหมาะสมกับชุดลำโพงร่วมในซิสเต็ม ทั้งชุดดูหนังระบบ 5.1 และกับลำโพงสเตอริโอที่ใช้ฟังเพลงซึ่งแยกกันต่างหาก รวมทั้งตั้งค่าโวลูมที่สอดคล้องกันแล้ว ผมก็ไม่ได้ไปขยับหรือแตะต้องมันอีกเลย นอกจากเวลาเปิดและปิดที่สวิตช์หลังตู้เท่านั้นเอง

KEF KC62 อาจจะดูว่ามีราคาสูงอยู่บ้างสำหรับใครบางคน (โดยเฉพาะใครผู้ชอบเอา ‘ขนาด’ มาเป็นเครื่องวัดตัวตัดสิน) แต่หากได้สัมผัสประสิทธิภาพจากการทำงานของมัน ที่นำมาซึ่งคุณภาพที่ยักษ์ใหญ่หลายๆ ตู้ ก็ไม่อาจให้ออกมาได้ในหลายๆ แง่ ทั้งความหนักแน่นที่เปี่ยมพลังอันน่าตื่นตระหนก ทั้งความกระชับ ฉับไว รวมทั้งความเป็นเสียงเบสที่สะอาด ปราศจากความพร่าเพี้ยนหรือมีเสี้ยนสากให้รู้สึกระคายเคืองขณะฟัง เนื้อเสียงมีความเป็นธรรมชาติสูง ไม่ว่าจะทำงานกับซาวด์แทร็กหรือกับเสียงเพลงก็ตาม

จึงเมื่อเทียบกับคุณค่าทางด้านเสียงโดยรวมที่มันให้ออกมาแล้ว กับราคาค่าตัวประมาณครึ่งแสน (บาท) ของมัน จึงหาใช่สิ่งที่มากเกินแต่อย่างใด

และสิ่งที่ยืนยันความยอดเยี่ยมของมันได้ดีอีกประการก็คือ การเป็นเจ้าของรางวัล Best Product 2021-2022 ในสาขา Hi-Fi Sub-Woofer ของ Expert Imaging & Sound Association (EISA Award) สมาคมที่รวมผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีระบบภาพและเสียงจากนิตยสารและเว็บไซต์ต่างๆ กว่า 60 สังกัดทั่วโลกนั่นแหละครับ

ครับ, ก็คงขอจบด้วยวลีเก่าๆ อันมักคุ้นกันดีที่ว่า – ขนาดนั้นสำคัญไฉน–

เพราะมันเป็นเรื่อง Size Does Matter จริงๆ!!! •

 

เครื่องเสียง | พิพัฒน์ คคะนาท

[email protected]

KEF KC62 Powered Sub-Woofer