KEF KC62 Powered Sub-Woofer

KEF KC62 Powered Sub-Woofer

 

สําหรับ KEF KC62 นอกจากเป็นแอ็กทีฟ สับ-วูฟเฟอร์ (ลำโพงที่ให้เสียงในย่านความถี่ต่ำลึกเป็นพิเศษแบบ LFE : Low Frequency Effect ที่ผนวกภาคขยายเสียงเอาไว้ในตัวด้วย) รุ่นแรกที่ใช้เทคโนโลยี Uni-Core แล้ว

ยังมาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่อีกสองแบบ คือ P-Flex Surround กับ Smart Distortion Control

โดย P-Flex Surround เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้กรวยหรือแผ่น Diaphragm ของไดรเวอร์ สามารถรองรับการถ่ายทอดเสียงย่านความถี่ต่ำได้อย่างแม่นยำ มั่นคง ปลอดความพร่าเพี้ยน ด้วยการออกแบบวงแหวนยางที่ผนึกกรวยเข้ากับตัวตู้ให้มีความแกร่งเพิ่มมากขึ้น และสามารถทานแรงเสียดทานได้สูงขึ้น

โดยใช้กรรมวิธีการเปลี่ยนรอยพับของวงแหวนยางเป็นแบบใหม่ ซึ่งนำแนวคิดมาจากศิลปะการพับกระดาษของญี่ปุ่นที่เรียกว่า Origami ที่สามารถต้านแรงอัดอากาศภายในตู้ได้มากขึ้น โดยไม่ต้องเพิ่มความหนาหรือขนาดของวงแหวน ทำให้ไม่เกิดการสูญเสียความไวในการสนองตอบต่อสัญญาณเสียง

ผลก็คือทำให้สามารถตอบสนองต่อเสียงทุ้มได้แน่น และลึก โดยยังคงรักษาสปีดเสียงที่ฉับไวเอาไว้ได้อย่างเที่ยงตรงและแม่นยำ

ส่วน Smart Distortion Control เป็นเทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อป้องกันความผิดพลาดในการทำงานของไดรเวอร์ขณะที่ขยับตัว ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้เกิดอาการที่เรียกว่าเสียงเพี้ยน

โดยการใช้วงจรอิเล็กทรอนิกส์แบบพิเศษที่ไร้เซ็นเซอร์ คอยตรวจวัดกระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นบนวอยซ์ คอยล์ เพื่อตรวจจับอาการผิดเพี้ยนทุกรูปแบบที่เกิดขึ้น แล้วทำการแก้ไขให้คืนรูปในทันที ทำให้สามารถลดอัตราค่าความเพี้ยนฮาร์โมนิกรวม หรือ THD : Total Harmonic Distortion ลงได้มากอย่างน่าทึ่ง

ส่งผลให้ได้เสียงเบสที่สะอาด ปลอดความพร่าเพี้ยนด้วยปราศจากสีสันในน้ำเสียงอย่างสิ้นเชิงนั่นเอง

นอกจากนั้นแล้ว KEF KC62 ยังมีระบบปรับตั้งค่าเพื่อให้ได้ความเหมาะสมกับการตั้งวางภายในห้อง ที่มีสภาพหรือลักษณะอันแตกต่างกัน ซึ่งเป็น Pre-Set Room Placement Equalization จากโรงงาน 5 รูปแบบด้วยกัน เป็นต้นว่าการวางในพื้นที่โล่ง หรือการวางชิดผนัง ตลอดจนการวางแบบเข้ามุม หรือวางอยู่ในตู้ รวมทั้งการใช้งานในอพาร์ตเมนต์หรือห้องชุด ซึ่งด้วยรูปแบบที่ปรับแต่งให้มานี้จะช่วยให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีในทุกสภาพแวดล้อมของพื้นที่ตั้งวาง

การทำงานของระบบที่ว่าเป็นแบบไร้สาย ให้การทำงานสะดวก ง่ายดาย ไม่มีความยุ่งยากแต่อย่างใด อีกทั้งยังสามารถตั้งวางได้อย่างเป็นอิสระ

และยังมีภาค DSP : Digital Sound Processing ซึ่งมีฟังก์ชั่น iBX : Intelligent Bass Extension กับ SmartLimiter ทำหน้าที่วิเคราะห์ระดับความแรงสัญญาณที่รับเข้ามาจากต้นทาง เพื่อป้องกันปัญหาการขับเกินกำลัง (Clipping) อีกด้วย

 

คุณสมบัติทางด้านเทคนิคนั้น ใช้ไดรเวอร์ขนาด 6-1/2 นิ้ว, สองตัว จัดวางให้หันหลังชนกันในแบบ Force-Canceling ใช้เทคโนโลยี Uni-Core ให้ไดรเวอร์ทั้งสองทำงานร่วมกันเพื่อผลักคลื่นเสียงในย่านความถี่ต่ำออกมา โดยเทคโนโลยีนี้ช่วยทำให้สามารถลดขนาดตู้ลงไปได้มากถึงหนึ่งในสามของสับ-วูฟเฟอร์ทั่วไป ที่สามารถให้พลังและปริมาณของเสียงทุ้มออกมาได้ในระดับเดียวกัน

ภาคขยายเสียงที่ใช้นั้นทำงานแบบ Class-D สองชุด ให้กำลังขับชุดละ 500Wrms ทำให้มีกำลังขับรวม 1,000Wrms เป็นเพาเวอร์-แอมป์ที่ออกแบบมาให้ควบคุมการทำงานของไดรเวอร์ได้อย่างเที่ยงตรง มีความแม่นยำสูง

โดยระบุการทำงานให้การตอบสนองความถี่ในช่วง 11Hz-200Hz (-3dB) ให้ปรับตั้งค่า Low Pass Filter หรือควบคุมครอสส์โอเวอร์ได้ในช่วง 40Hz-140Hz, LFE

โครงสร้างภายนอกของตู้ขึ้นรูปด้วยอะลูมิเนียม มีภาพลักษณ์โค้ง มน ไร้ขอบเหลี่ยมมุม มีให้เลือกสองสีด้วยสีขาวแบบ Mineral White และสีดำแบบ Carbon Black ที่กลมกลืนไปกับทุกสภาพห้องและเฟอร์นิเจอร์ได้อย่างลงตัว

โดยมีมิติโครงสร้างตู้ (กว้าง x สูง x ลึก) 246 x 256 x 248 มิลลิเมตร (วัดรวมแผ่นรองตู้และแผงด้านหลัง) น้ำหนัก 14 กิโลกรัม

จากก่อนหน้านี้ที่เห็นในรูปให้รู้สึกว่าแลละเมียดเนียนตามากแล้ว หลังดึงออกจากกล่องมาให้รู้สึกน่าชื่นชมยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยได้สัมผัสต้องแล้วพบว่างานฝีมือนั้นไร้ที่ติจริงๆ

ตัวที่ได้มาลองนี้เป็นสีขาวแร่ธรรมชาติดูแล้วกระเดียดไปทางขาวแบบ Pastel ซึ่งเมื่อมองภาพลักษณ์โดยรวมก็เหมือนเป็นตู้สี Two-Tone ที่ออกจะกลมกลืนกันดี ด้วยมีสีเทาของแผงควบคุมพร้อมขั้วต่อต่างๆ ที่เกือบเต็มผนังข้างด้านหนึ่ง กับสีเงินกระเดียดเทาของกรวยลำโพงที่อยู่ในกรอบสีดำที่ด้านหน้าและหลังของลำโพง (แต่หากจะพูดให้ถูกต้อง ต้องบอกว่าไดรเวอร์ติดตั้งอยู่ที่ผนังด้านข้างของตู้ทั้งสองด้าน เพราะรูปแบบการทำงานนั้นระบุว่า Side Firring คือยิงเสียงออกด้านข้าง โดยกำหนดไว้ในคู่มือระบุว่าให้ชุดตัวขับเสียงแต่ละตัวห่างจากผนังอย่างน้อย 3 นิ้ว) ประกอบรวมกันอยู่ในโครงสร้างตู้ด้วยนั่นเอง

แผงควบคุมและชุดขั้วต่อที่เกือบเต็มผนังด้านข้างนั้น เรียงเอาไว้แบบสองแถวอย่างเป็นระเบียบ แถวบนจากซ้ายไล่ไปขวาประกอบไปด้วย

EXP : Expansion Port สำหรับต่อกับชุดอะแด็พเตอร์ KW1 ที่เป็นอุปกรณ์เสริม เพื่อให้ทำงานแบบไร้สาย, HPF : Line Output High Pass Frequency แบบสวิตช์โยกสี่ตำแหน่ง, PHASE ให้เลือกปรับ 0/180 องศา, EQ ให้เลือกลักษณะหรือตำแหน่งที่ตั้งวางห้าแบบ (Room, Wall, Corner, Cabinet, Apartment), MODE ให้เลือกแบบ Manual หรือ LFE, CROSSOVER แบบลูกบิดให้หมุนเลือกปรับค่าได้ค่อนข้างละเอียดในช่วง 40Hz – 140Hz และขวาสุดของแถวแรกเป็นลูกบิด VOLUME ควบคุมระดับความดังเสียง

ส่วนแถวล่างไล่ไปจากซ้ายเช่นกัน เป็นสวิตช์เปิด/ปิด, ขั้วต่อสายไฟเอซีแบบ IEC ที่มีสายให้มาในกล่องสองชุด เป็นแบบหัวเสียบสามขากับสองขา, สวิตช์ Ground Lift, SPEAKER INPUT สำหรับลำโพง High Level และขวาถัดไปเป็นชุดขั้วต่อ Smart Connect แบบ RCA สำหรับ LINE INPUT และขวาสุดเป็นชุด LINE OUTPUT

ส่วนผนังข้างด้านตรงกันข้ามมีเพียงตราสัญลักษณ์ KEF ตรงกึ่งกลาง ค่อนไปด้านบน กับตำแหน่งไฟ LED Indicator Light ที่อยู่ค่อนมาด้านล่างเหนือตัวหนังสือ Uni-Core Technology เมื่อปิดสวิตช์ตำแหน่งไฟที่ว่าจะเกิดเป็นวงแหวนสีส้มจากนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีขาวเมื่อพร้อมทำงาน

ด้วยความที่มีขนาดกะทัดรัดจึงไม่มีขารองตู้มาให้ แต่มีแผ่นรองยางสังเคราะห์ (ลักษณะดูดี มีคุณภาพ น่าจะซับแรงสั่นสะเทือนได้ดี และช่วยให้ตู้ตั้งได้มั่นมีความเสถียรสูง) หนาประมาณ 1 เซนติเมตร แปะติดเอาไว้เกือบเต็มพื้นที่

ผมเริ่มใช้งาน KEF KC62 กับชุดลำโพงฟังเพลงในห้องซึ่งเป็นแบบประกอบเข้าขาตั้ง เป็นลำโพงระบบ 2-ทาง ที่ปกติก็มีเบสพอตัวให้รับรู้ได้อยู่แล้ว แต่หลังจากเสริมตู้เพาเวอร์-สับตัวนี้เข้าไป พร้อมปรับความเหมาะสมให้กลมกลืนกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของครอสส์โอเวอร์และระดับความดังเสียงเรียบร้อยแล้ว

ความรู้สึกแรกหลังผ่านความคุ้นชิน มันสัมผัสได้ละม้ายคล้ายผมกำลังฟังลำโพงวางพื้นที่ให้เสียงออกมาครอบคลุมพื้นที่ห้องแบบอิ่มเต็ม และลงไปต่ำลึกอันต่างไปจากความเคยคุ้นยามฟังลำโพงสเตอริโอคู่นี้ตามปกติอย่างสิ้นเชิง •

 

เครื่องเสียง | พิพัฒน์ คคะนาท

[email protected]