E-DUANG : ธรรมชาติ การเมือง หลัง “ปรับครม.”

การปรับครม.มิได้เป็นสิ่งที่ปรารถนา ไม่ว่ารัฐบาลอันมาจาก “การ เลือกตั้ง” ไม่ว่ารัฐบาลอันมาจาก”การรัฐประหาร”

เพราะหากไม่มี “เหตุ” ก็คงไม่ “ปรับ”

เหตุโดยพื้นฐานก็คือ ความขัดแย้ง ความแตกแยก ในทางแนวคิดและนโยบาย

ดังในกรณีของ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล

ดังในกรณีที่มีการปลดทีมเศรษฐกิจของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ออกอันเป็นที่มาของบทสรุป

“แบ่งแยก” แล้ว “ปกครอง”

การปรับครม.ทุกครั้งจึงมิได้มาจาก “ความปรารถนา” หากแต่มาจาก “สถานการณ์” บีบบังคับและกดดัน

ผลก็คือ ปรับแล้วก็จะเกิด “ปัญหา” ใหม่ตามมา

 

ทุกสถานการณ์มักจะปรากฏ “โจทก์” มักจะปรากฏ “จำเลย” ให้ต้องวิเคราะห์และเลือกข้างเสมอ

ดูจากกรณีของ นายบวรศักดิ์ อุวรรโณ

เพราะคสช.จำเป็นต้องคว่ำร่างรัฐธรรมนูญในที่ประชุมสปช. เมื่อเดือนกันยายน 2558

จึงเกิดบทสรุป “เขาอยากอยู่ยาว”

ดูจากกรณีของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

เพราะปัญหามาจากความไม่สามารถ “ประสาน” ระหว่างทีม เศรษฐกิจ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล กับรัฐมนตรีบางคน บางกระทรวงอันส่งมาจากคสช.

จึงเกิดบทสรุป “แบ่งแยก” แล้ว “ปกครอง”

 

ธรรมชาติโดยพื้นฐานที่สุดในทุกโอกาสที่มีการปรับครม.ก็คือ ต้อง มีคน “เข้า” และต้องมีคน “ออก”

ตรงนี้แหละคือ ความละเอียดอ่อน

เพราะว่าคนที่ได้รับแต่งตั้งให้เข้ามาดำรงตำแหน่งย่อมจะมีความดีใจ ลิงโลด ใบหน้าวิกสิตแย้มบาน

มีคนไปห้อมล้อม แหนแห่

เพราะว่าคนที่ต้องเปลี่ยนกระทรวง หรือกระทั่งถูกปลดออกไปจากสารบบก็ย่อมหงุดหงิด ไม่พอใจ หากกระทรวงใหญ่ขึ้นก็ย่อมดีใจ แต่หากกระทรวงเล็กลงหรือถูกปลดก็ย่อมมองดุลพินิจด้วยสายตาแหม่งแหม่ง

ตรงนี้แหละคือ “มูลเชื้อ” อันจะก่อให้เกิด “ปัญหา”

กลายเป็นว่า “ปรับครม.” เพื่อที่จะ “ปรับครม.” อีกต่อไป