ประชาสังคม ขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ หลังอันวาร์เยือนไทย

รายงานพิเศษ | อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

[email protected]

 

ประชาสังคม

ขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ

หลังอันวาร์เยือนไทย

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และผู้เจริญรอยตามท่าน รวมทั้งผู้อ่านทุกท่าน

ทำไมการมาเยือนไทยของดาโต๊ะสรีอันวาร์ อิบรอฮีม ในวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2566 นี้ถึงเป็นความหวังของคนชายแดนภาคใต้

ตลอดกว่า 18 ปีไฟใต้ 10 ปีกระบวนการสันติภาพที่มีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยการความสะดวกการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขชายแดนภาคใต้ มีการเปลี่ยนนายกฯ ไปหลายคน

แต่ท่านอันวาร์ได้รับการมองว่าเป็นคนที่น่าจะเข้าใจสถานการณ์ และให้ความสำคัญกับสถานการณ์ชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะความสำพันธ์ที่ดีกับประชาสังคมไทยและชายแดนภาคใต้ด้วยแนวคิดการปรึกษาหารือกับประชาชน (Public Consultation)

ผู้บริหารสภาประชาสังคมชายแดนภาคใต้สะท้อนถึงพลวัต 10 ปีการพูดคุยสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า

การพูดคุยสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ดำเนินการมานับตั้งแต่ครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2556 จนกระทั่งปัจจุบันในปี พ.ศ.2566 นับเป็นเวลา 10 ปีแล้ว

ในกระบวนการนี้มีการเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุย ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายผู้มีความเห็นต่าง รวมทั้งตัวของผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซียหลายครั้ง รวมทั้งมีข้อเสนอในการพูดคุยอยู่หลายประการ

แต่สิ่งหนึ่งที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงคือความสำเร็จในการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข ที่สิบปีแล้วยังไม่เห็นปรากฏการณ์ความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม

ข้อเสนอจากการพูดคุยล่าสุดในปี พ.ศ.2565 คือ

1. การลดความรุนแรง

2. การปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่

และ 3. การแสวงหาทางออกทางการเมือง

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์และความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ โดยอยากเห็นความสงบสุขในพื้นที่ การใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขในพื้นที่ และการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคประชาชน

ทั้งสองฝ่ายได้เสนอการจัดตั้งกลไกเพื่อมาขับเคลื่อนสำหรับการพูดคุยสารัตถะทั้ง 3 เรื่องโดยมีการพิจารณาที่จะจัดตั้งบุคคลผู้ประสานงาน และคณะทำงานร่วมของทั้งสองฝ่ายในแต่ละเรื่อง

แต่ทว่า ในปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าในกระบวนการดังกล่าว

จากรายงานข่าวที่ดาโต๊ะสรี อันวาร์ อิบรอฮีม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ละหมาดวันศุกร์ร่วมกับพี่น้องมุสลิม ที่ศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

กล่าวคือ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ดาโต๊ะสรี อันวาร์ อิบรอฮีม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย พร้อมภริยา เดินทางมาที่ศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย ย่านรามคำแหงซอย 2 เพื่อร่วมละหมาดวันศุกร์ ร่วมกับชาวไทยมุสลิม ซึ่งเป็นการประกอบศาสนกิจใหญ่ประจำสัปดาห์ โดยมีผู้นำศาสนา ภาคประชาสังคมและนักวิชาการ มารอต้อนรับ

หลังประกอบศาสนกิจเสร็จแล้ว นายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าวทักทายคนที่มาร่วมละหมาด โดยใช้ภาษามลายู เพราะชาวมุสลิมส่วนหนึ่งที่มาร่วมละหมาด มีภูมิลำเนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ติดประเทศมาเลเซีย ซึ่งใช้ภาษาเดียวกัน

โดยช่วงหนึ่ง อันวาร์ระบุว่า รู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสมาเยี่ยมเยียนพี่น้องมุสลิมในประเทศไทย และการเดินทางมาครั้งนี้ ก็เพื่อเดินหน้าความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศ และความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน

อันวาร์ยังกล่าวปราศรัยโดยเน้นย้ำประเด็นปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ว่า ยืนหยัดที่จะเห็นสันติภาพเกิดขึ้นในพื้นที่ แต่ก็ปฏิเสธที่จะสนับสนุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง พร้อมย้ำว่าการแก้ไขปัญหาต้องใช้วิธีการพูดคุย ซึ่งเขาเชื่อในแนวทางนี้มาโดยตลอด จึงฝากความหวังไว้ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ ย้ำว่า “การปรึกษาหารือกับประชาชน (Public Consultation)เป็นเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องครอบคลุมต่อทุกภาคส่วนไม่ว่าผู้เห็นต่าง รัฐ ประชาชนในพื้นที่ไม่ว่ามุสลิม และพุทธ สตรี เยาวชน ผู้นำศาสนา นักธุรกิจ เรียกได้ว่าทุกผู้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย พร้อมกับจะต้องเตรียมความพร้อมทุกด้านไม่ว่าสังคม ศาสนา วัฒนธรรม การศึกษา และการพัฒนาที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับพื้นที่”

“ในขณะเดียวกันสังคมพหุวัฒนธรรมก็สำคัญ โดยเฉพาะอิสลามให้ความสำคัญกับหลักอยู่ร่วมกันอย่างสันติภายใต้หลักการอิสลามและมนุษยธรรมสากลซึ่งสันติภาพที่ยั่งยืน winwin ทุกฝ่ายต้องควบคู่กับความยุติธรรม และการพัฒนาโดยเฉพาะการศึกษาที่ต้องทำคู่กัน”

เป็นที่ทราบกันดีว่า เครือข่ายภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพในพื้นที่

ดังจะเห็นได้จากการก่อตัวของเครือข่ายภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ ในสถานการณ์ความรุนแรง จนกระทั่งเครือข่ายภาคประชาสังคม ได้มีการก่อตั้งสภาประชาสังคมชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2554 และมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวต่อเนื่องมาเป็นเวลา 12 ปีแล้วในปัจจุบัน

โดยมุ่งเน้นการสร้างพื้นที่กลาง (Common Space) กระบวนการให้ความรู้ความเข้าใจ การรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนและภาคส่วนต่างๆ และการจัดทำข้อเสนอแนะสู่การผลักดันเชิงนโยบายต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ กระบวนการสร้างพื้นที่กลางได้ดำเนินการในรูปแบบ (Platform) ช่องทางอื่นๆ เช่น การสร้างพื้นที่กลางเพื่อสันติภาพจากคนใน (Insiders Peace-builder Platform-IPP) เป็นแนวคิดที่สำคัญ ซึ่งทำให้เกิดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างพื้นที่กลาง

และได้มีการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพปาตานี (Patani Peace Process-PPP) ในปี พ.ศ.2555 จนกระทั่งรัฐบาลไทยและขบวนการ BRN ได้มีการพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้ขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในวันที่ 28 กุมพาพันธ์ พ.ศ.2556

กระบวนการพูดคุย ยังมีความต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าความก้าวหน้าและผลอย่างเป็นรูปธรรมจะไม่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน แต่เครือข่ายประชาสังคมในพื้นที่ โดยเฉพาะสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ก็พยายามแสดงบทบาทเป็นตาข่ายนิรภัยเพื่อหนุนเสริมสันติภาพ (Peace Safety Net) ตลอดมา

แม้ว่าเครือข่ายประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้จะมีหลายกลุ่มหลายฝ่าย โดยแต่ละกลุ่มและเครือข่ายมีความคิดเห็นที่ต่างกันในหลายปีกความคิดและอุดมการณ์

แต่ความร่วมมือภายในภาคประชาสังคมยังเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสันติภาพในปัจจุบันซึ่งยังต้องอาศัยการสนับสนุนจากทุกฝ่ายตามแนวคิด inclusive peace dialogues ซึ่งทุกฝ่ายยอมรับ สภาประชาสังคมจังหวัดชายแดนใต้ จึงเห็นสมควรจะต้องจัดงานประชุมเพื่อทบทวนบทบาทภาคประชาสังคมในกระบวนการสันติภาพ ฟื้นคืนความเชื่อมั่นต่อแนวคิดสันติภาพและแสดงพลังความร่วมมือกับทุกฝ่ายทุกปีกความคิดในวาระครบรอบ 10 ปีการพูดคุยสันติภาพและ 12 ปีของการพัฒนาสภาประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้

เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะสันติภาพเชิงบวกเป็นกระบวนการทางสังคมที่ต้องมีส่วนร่วมกับทุกฝ่าย

สะท้อนให้เห็นในแนวคิดที่สำคัญคือการปรึกษาหารือสาธารณะ (Public Consultations) ดังที่มีได้มีข้อเสนอจากคณะพูดคุยสันติภาพทั้งสองฝ่ายให้มีการหยุดยิง การปรึกษาหารือสาธารณะและการแสวงหาทางออกทางการเมืองจากความขัดแย้ง

 

ที่ผ่านมา สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ได้จัดให้มีสมัชชาสันติภาพต่อเนื่องมาหลายปีแล้วในรูปแบบที่เคยมีการจัดกันมาแบบเดิม จึงมีความต้องการสร้างพื้นที่กลางใหม่ (New Platform) จะใช้รูปแบบเหมือน “ตลาดนัดสันติภาพ”

โดยจัดสมัชชาสันติภาพชายแดนใต้ปาตานี ครั้งที่ 4 : ตลาดนัดสันติภาพ พื้นที่กลางใหม่ Pa(t)tani Peace Assembly 2023 : Peace Market Placeในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 08.30-16.30 น. ณ คณะวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ซึ่งทุกฝ่ายสามารถเข้าร่วมงานแสดงพลังสนับสนุนการสร้างสันติภาพจากคนใน สิ่งที่คาดหวังจากงานนี้คือผลผลิตที่เกิดกระบวนการทางสังคมที่มาจากทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดพื้นที่กลางในการสร้างสันติภาพต้อนรับการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลทางการเมืองในปัจจุบัน

สำหรับ “ตลาดนัดสันติภาพ” ซึ่งทุกฝ่ายสามารถเข้าร่วมได้และกระตุ้นการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจสังคมของท้องถิ่น ทั้งตลาดนัดวิชาการ และการแลกเปลี่ยนสินค้า ผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมทั้งการตั้งบอร์ดแสดงผลงานของกลุ่มต่างๆ ทั้งภาคประชาชน วิชาการ ศิลปะ วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ

โดยมีวัตถุประสงค์

1. เพื่อเป็นการขับเคลื่อนการพูดคุยสันติภาพโดยภาคประชาสังคม ภาควิชาการและภาคเอกชนโดยงาน event ซึ่งนำไปสู่การเป็นพื้นที่กลางใหม่ ที่มาจากทุกฝ่ายที่หลากหลาย

2. เพื่อระดมทรัพยากรหนุนเสริมสันติภาพจากทุกฝ่าย ในการสร้างพื้นที่กลาง ทั้งภาคประชาสังคม ภาควิชาการภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป

3. เพื่อสนับสนุนการสร้างกลไกการปรึกษาหารือกับประชาชน (public consultation) ในกระบวนการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้

นอกจากนี้ ก่อนงานนี้มีงานเดิน-วิ่ง การกุศล “Night Run For Peace 2023” 10 ปีกระบวนการสันติภาพชายแดนภาคใต้ โดยมีนักเดิน-วิ่งจากไทยและมาเลเซียเพื่อรณรงค์การมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนในการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ ในวันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา อ.เมือง จ.ยะลา เวลา 20.00 น. ระยะทาง 6 ก.ม.

อย่างไรก็แล้วแต่ ทางออกที่ดีที่สุดก็อยากฟังนักการเมือง พรรคการเมืองจะมีนโยบายอะไรที่ดีกว่าเสนอเรื่องกระบวนการสันติภาพชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการตั้ง “คณะกรรมาธิการ/อนุกรรมาธิการกระบวนการพูดคุยสภาผู้แทนราษฎร” ที่เสนอต่อ ส.ส.ทุกพรรคในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2562 ในรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยสภาประชาสังคมชายแดนใต้ แต่ยังไม่ถูกบรรจุ