นโยบายเศรษฐกิจ ถอยหลังลงคลอง

ดาวพลูโตมองดูโลก | ดาวพลูโต

 

นโยบายเศรษฐกิจ

ถอยหลังลงคลอง

 

นับถอยหลังสู่เทศกาลหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2566 ชุดที่ 26 ซึ่งคาดว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งอย่างช้าไม่เกิน วันที่ 7 พฤษภาคม 2566

เหลือเวลาอีกไม่ถึง 3 เดือน หากไม่มีอภินิหารกฎหมายไทย หนุ่มสาวชาวไทยที่อายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ จะได้ใช้สิทธิ์ของตนตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ ในการเลือกผู้แทนของตนเองเข้าสภาอีกวาระหนึ่ง

เรามาดูรายชื่อแม่ทัพทีมเศรษฐกิจของแต่ละพรรค พร้อมนโยบายเศรษฐกิจในการลงสู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้กันครับ

 

ขอเริ่มต้นที่ ท่านแรก คุณกรณ์ จาติกวณิช อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกมาร่วมจัดตั้งพรรคกล้า ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้รับรางวัล “รัฐมนตรีคลังโลก ปี 2010” จากนิตยสาร The Banker ถือได้ว่าเป็นบุคคลสำคัญในแวดวงเศรษฐกิจของเมืองไทยมายาวนาน

เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา พรรคชาติพัฒนากล้า ได้เปิด 12 นโยบาย ชูแนวทางการหาเงินเข้าประเทศเพิ่มอีก 5 ล้านล้านบาท น่าสนใจไม่ใช่น้อย

แต่ผู้เขียนมาสะดุดอยู่ที่นโยบาย ข้อ 4 ยกเลิกแบล็กลิสต์บูโร แล้วใช้ระบบ Credit Scoring แทน

ปัจจุบันระบบ Credit Scoring Model (CSM) ทุกธนาคารในประเทศไทยนำมาใช้ในการวิเคราะห์สินเชื่อนานแล้ว ระบบ Credit Scoring Model เป็นเครื่องมือที่ใช้งานแพร่หลายเพื่อวัดความน่าจะเป็นในการผิดนัดชำระหนี้ ประกอบการวิเคราะห์และอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งในโมเดลจะประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ รวมถึงประวัติการชำระหนี้ เพื่อใช้พิจารณาความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ ตามแต่ละบุคคลหรือประเภทธุรกิจ

ซึ่งผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำย่อมได้รับสินเชื่อที่ดอกเบี้ยต่ำกว่าผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เป็นธรรมชาติของระบบสินเชื่อของธนาคาร

ใครมีประวัติการผิดนัดชำระหนี้ก็จะมีคะแนน Credit Score ที่ไม่ดีจากการผิดนัดชำระหนี้ บ่งชี้ว่ามีโอกาสผิดนัดชำระหนี้สูง ซึ่งลูกหนี้สามารถแก้ไขได้เพียงแค่ชำระหนี้ให้ตรงตามกำหนดไม่มีหนี้ค้างชำระ คะแนน Credit Score ก็จะกลับมาดีดังเดิม

การเลิกระบบแบล็กสิสต์บูโร จะส่งผลให้ธนาคารต้องจัดทำการประเมินความเสี่ยงใหม่

จากลูกหนี้ที่เคยได้รับดอกเบี้ยต่ำก็ต้องมาจัดกลุ่มอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับลูกหนี้ที่เคยผิดนัดชำระหนี้เพราะการยกเลิกแบล็กลิสต์บูโร

ผลคือ ดอกเบี้ยจะขยับขึ้นเพราะธนาคารต้องเผื่อความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นจากการยกเลิกข้อมูลแบล็กลิสต์บูโร

การกู้ยืมเพื่อการลงทุนมีต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขั้น สุดท้ายระบบเศรษฐกิจก็จะหยุดชะงักลง

นโยบายยกเลิกแบล็กลิสต์บูโร จึงเป็นเพียงนโยบายขายฝันสำหรับหาเสียงเลือกตั้งเท่านั้น ไม่ใช่นโยบายเศรษฐกิจที่ทำได้จริง

 

ท่านที่ 2 คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (และทีมงานในสังกัด) อดีตหัวหน้าทีมเศรษฐกิจในรัฐบาลทักษิณ 1 เคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจที่สำคัญหลายกระทรวง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานพรรคสร้างอนาคตไทย ซึ่งมีข่าวหันมาซบอกพรรคพลังประชารัฐ จนสื่อมวลชนตั้งฉายาว่า “สี่กุมารล้อเลื่อน”

ชื่อนี้แม้จะขายได้ตลอดกาล แต่ก็มีจุดอ่อนคือสมัยเริ่มต้นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คุณสมคิดในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดังที่โฆษณาไว้ได้ เป็นตราบาปติดตัวมาถึงปัจจุบัน

ประกอบกับพรรคพลังประชารัฐยังเป็นรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ ยังไม่คิดจะผลักดันนโยบายเศรษฐกิจตามที่ขายฝันไว้สักข้อ แล้วเลือกตั้งกลับเข้ามาจะสานต่อนโยบายจริงหรือ

ต้องรอดูกันต่อไปว่าหลังจากเข้าพรรคแล้วจะเปิดนโยบายใหม่อะไรบ้างนอกเหนือจากนโยบายเดิมสมัยรัฐบาลไทยรักไทย

 

ท่านที่ 3 คุณอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนปัจจุบัน ประกาศเป็นแม่ทัพนำทีมเศรษฐกิจของพรรคภูมิใจไทยเอง ชูนโยบาย “พักหนี้เกษตรกร 3 ปี หยุดต้น ปลอดดอกเบี้ย”

นับว่าเป็นอีก 1 นโยบายสำหรับการหาเสียงเลือกตั้ง ที่ไม่สนใจความเสียหายของระบบเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น การพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย รัฐบาลต้องจัดหาเงินสำหรับดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งหนีไม่พ้นภาษีอากรของเราทุกคนอย่างแน่นอน และการนำภาษีอากรมาอุ้มกลุ่มอาชีพใดอาชีพหนึ่ง แทนที่จะนำเงินดังกล่าวไปลงทุนพัฒนาประเทศเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต ผลในระยะยาวคือประเทศจะไม่มีอะไรพัฒนาขึ้นเลย

ในทางกลับกัน หากอยากให้เกษตรกรสามารถลืมตาอ้าปากได้ ควรดำเนินนโยบายค่าเงินบาทอ่อน เพื่อเอื้ออำนวยต่อการส่งออกโดยเฉพาะสินค้าเกษตร เมื่อค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ราคาสินค้าเกษตรเมื่อคิดเป็นเงินบาทจะปรับตัวสูงขึ้น เมื่อนั้นเกษตรกรจะสามารถยืนหยัดด้วยตนเองได้โดยรัฐไม่ต้องยื่นมือช่วย

 

ท่านที่ 4 คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับบทหนักหลังหัวหน้าทีมเศรษฐกิจโดนดำเนินคดีอาญา คุณจุรินทร์ชูนโยบาย “สร้างเงิน-สร้างคน-สร้างชาติ” ยังเป็นนโยบายที่เป็นนามธรรม จับต้องได้ยาก

ต้องคอยดูกันต่อไปว่าจะแก้เกมการเมืองหลังจากนี้อย่างไร ให้พรรคประชาธิปัตย์กลับมาเป็นพรรคใหญ่อีกครั้ง

 

ท่านที่ 5 คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล มาพร้อมนโยบาย “สร้างงาน ซ่อมประเทศ เชื่อมเศรษฐกิจโลก” แม้คุณพิธาจะไม่ใช่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรค แต่ด้วยตำแหน่งหัวหน้าพรรค จึงต้องรับหน้าที่ทีมเศรษฐกิจด้วยโดยปริยาย

หากวิเคราะห์นโยบายเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกล พบว่ายังไม่ชัดเจนเท่าจุดยืนด้านนโยบายการเมือง จึงทำให้นโยบายเศรษฐกิจยังจับต้องยาก มีเพียงแนวคิดการลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นนโยบายต่อเนื่องจากนโยบายการเมือง ประกอบกับนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทต่อวัน ถูกนโยบาย 600 บาท ของพรรคเพื่อไทยกลบกระแสไป

ท่านที่ 6 คุณเศรษฐา ทวีสิน ว่าที่ 1 ในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในนามพรรคเพื่อไทย ที่ปัจจุบันท่าไหว้อ่อนช้อยติดอันดับ 1 ล่าสุดคุณเศรษฐาตกใจราคาบัตรคอนเสิร์ตศิลปินเกาหลีที่มาแสดงในไทยพุ่ง จี้รัฐบาลดูแล และให้ความเห็นว่าควรควบคุมราคา

ผู้เขียนฟังแล้วได้แต่ถอนหายใจ เหตุใดไม่จี้รัฐบาลคุมราคาบ้านและคอนโดฯ โครงการของแสนสิริบ้าง (แซวเล่นนะครับ)

แม้ไม่ใช่นโยบายเศรษฐกิจ แต่คุณเศรษฐาในฐานะว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี นอกจากจะไม่เข้าใจระบบทุนนิยมแล้ว ยังมีแนวคิดล้าหลัง หวังให้รัฐบาลคุมราคาสินค้า ซึ่งประเทศไทยเคยมีบทเรียนจากเหตุการณ์ในอดีตมาแล้ว เมื่อครั้งกระทรวงพาณิชย์คุมราคาหน้ากากอนามัยในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผลก็คือราคาหน้าการอนามัยปรับตัวขึ้นสูงกว่าเดิมเป็นอย่างมาก

หากคุณเศรษฐาจะเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี คงต้องระมัดระวังคำพูดคำจาให้ดีกว่านี้

สุดท้ายนี้ยังไม่มีนโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมืองใดที่ก้าวข้ามคะแนนเสียงจากหีบบัตรเลือกตั้ง และทำเพื่ออนาคตของประชาชนด้วยอุดมการณ์อย่างแท้จริง

จึงเรียกได้ว่า “นโยบายเศรษฐกิจ ถอยหลังลงคลอง”