ดูความเหลื่อมล้ำโลกจากกราฟช้าง (จบ)

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

ดูความเหลื่อมล้ำโลกจากกราฟช้าง (จบ)

 

9 ปีให้หลังนำเสนอกราฟช้างอันฮือฮาเมื่อธันวาคม 2013 บรังโก มิลาโนวิช นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันเชื้อสายเซิร์บชื่อดังก็ได้อัพเดตข้อค้นพบของเขาเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของโลกในช่วง 10 ปีถัดมา (2008-2018) หลังเกิดวิกฤตซับไพรม์และเศรษฐกิจถดถอยใหญ่ทั่วโลก

เขาค้นพบว่าความเหลื่อมล้ำโลกได้ปรับเปลี่ยนไปอย่างน่าสนใจจากช่วงกระแสสูงของโลกาภิวัตน์ 20 ปี (1988-2008) จนถึงเวลาปรับแก้กราฟช้างได้แล้ว (ดูภาพด้านบน จาก Branko Milanovic, “Global income inequality : time to revise the elephant”, 5 December 2022, https://www.socialeurope.eu/global-income-inequality-time-to-revise-the-elephant)

เขาสรุปว่าข้อมูลใหม่ล่าสุดเรื่องความเหลื่อมล้ำโลกน่าจะบ่งชี้การปรับเปลี่ยนการกระจายรายได้โลกครั้งใหญ่หลวงที่สุดนับแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา!

เราอาจทบทวนข้อค้นพบสำคัญในกราฟช้างของมิลาโนวิชเมื่อสิบปีก่อนได้ 4 ประการ กล่าวคือ :

A. ผลจากจีน (the China effect ดูบริเวณหัวและลำตัวช้างในกราฟช้าง) ประชากรโลกที่อยู่กึ่งกลางของการกระจายรายได้โลกมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างยิ่ง ที่สำคัญได้แก่ ผู้คนในทวีปเอเชีย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือจีน

B. คนชั้นกลางระดับล่างของประเทศร่ำรวยในตะวันตกรายได้ทรุดต่ำลง (the decline of the western middle classes บริเวณโคนงวงช้างในกราฟช้าง) รายได้ของพวกเขาเพิ่มขึ้นน้อยนิดหรือกระทั่งอยู่คงที่ในรอบ 20 ปี ถือเป็นผู้แพ้ในกระแสเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ จึงผันตัวกลายเป็นฐานเสียงให้พลังการเมืองประชานิยม-ชาตินิยมในประเทศตน เช่น เบร็กซิทในอังกฤษและประธานาธิบดีทรัมป์ในสหรัฐ

C. พวกรวยสุดยอด 1% ของโลก (the global top 1% บริเวณปลายงวงช้างในกราฟช้าง) รายได้ของอภิมหาเศรษฐีโลกกลุ่มเล็กกระจิริดซึ่งส่วนมากเป็นชาวตะวันตกและญี่ปุ่นนี้พุ่งพรวดขึ้นสูงปรี๊ด

D. พวกจนที่สุด 5% ของโลก (the global bottom 5% บริเวณปลายหางช้างทางซ้ายมือ) รายได้เพิ่มขึ้นบ้างเล็กน้อย

Branko Milanovic & กราฟช้างเส้นล่างสีน้ำเงิน/เข้มที่เปลี่ยนโฉมไปเป็นเส้นบนสีส้ม/จางในปัจจุบัน

ข้อมูลใหม่เรื่องการกระจายรายได้โลกรอบ 10 ปีหลัง (2008-2018) ที่มิลาโนวิชเกาะติดค้นพบต่อมาบ่งชี้ทั้งแนวโน้มที่ต่อเนื่องและเปลี่ยนไปจากกราฟช้าง

ที่ต่อเนื่องได้แก่การเติบโตของรายได้จริงที่ยิ่งเร่งเร็วขึ้นอีกในเอเชีย (A) กับความถดถอยของคนชั้นกลางระดับล่างในตะวันตก (B)

ส่วนที่เปลี่ยนไปได้แก่การเติบโตที่ชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในหมู่พวกรวยสุดยอด (C) กับรายได้ที่กระเตื้องเพิ่มขึ้นของคนจนที่สุดในโลก (D)

ความเปลี่ยนแปลงที่ (C) กับ (D) เป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤตซับไพรม์และเศรษฐกิจโลกถดถอยใหญ่ปี 2008 ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วเป็นวิกฤตสองฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ (ครอบคลุมทวีปอเมริกาเหนือ และยุโรปตะวันตกเป็นหลัก) ทำให้บรรดาประเทศร่ำรวยในบริเวณดังกล่าวเศรษฐกิจชะลอตัวช้าลงหรือกระทั่งติดลบ (กลุ่มประเทศสมาชิก OECD โดยรวมมีเศรษฐกิจโตติดลบในปี 2008 และ 2009)

ขณะที่เศรษฐกิจในเอเชียและโดยเฉพาะจีนช่วงเดียวกันอาจกล่าวได้ว่าไม่ถูกกระทบกระเทือนนักในทางปฏิบัติ

และเนื่องจากเนื้อแท้อีกด้านของวิกฤตเศรษฐกิจ 2008 คือมันเป็นวิกฤตทางการเงิน ฉะนั้น จึงส่งผลเสียหายหนักหน่วงโดยตรงต่อกลุ่มผู้มีรายได้รวยที่สุด

ในสหรัฐอเมริกา – ซึ่งเกือบครึ่งของพวกรวยสุดยอด 1% ของโลกเป็นชาวอเมริกัน – สำรวจพบว่าชาวอเมริกันที่รวยที่สุด 5% สูญเสียรายได้จริงไปราว 10% ระหว่างปี 2008-2010

ส่วนชาวอเมริกันรวยที่สุด 1% มีรายได้ตกต่ำลงในช่วงเดียวกันถึงเกือบ 20%

ไม่กี่ปีถัดมา รายได้ของอภิมหาเศรษฐีอเมริกันเหล่านี้ก็ค่อยฟื้นตัวขึ้น แต่กว่าพวกเขาจะกลับไปมีรายได้เท่าระดับปี 2007 ก็เมื่อปี 2015 แล้ว

จึงพอกล่าวได้ว่าสำหรับอภิมหาเศรษฐีอเมริกัน ซึ่งก็ย่อมหมายรวมถึงสำหรับอภิมหาเศรษฐีโลกด้วยนั้น พวกเขา “สูญเสีย” เวลาหาทรัพย์ไปเปล่าๆ ปลี้ๆ เกือบทศวรรษ

ส่งผลให้ปลายงวงช้างในกราฟเส้นบนสีจางปัจจุบันกลับห้อยตกลง ไม่ยักชูชันเหมือนเก่า (C)

 

เมื่อนำข้อมูลใหม่ล่าสุดหลังปี 2018 ของอเมริกามาพิจารณาประกอบ มิลาโนวิชพบว่าทิศทางการกระจายรายได้สหรัฐยังโน้มไปเช่นเดิมคือช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างคนอเมริกันรวยสุดกับคนอเมริกันจนสุดหดแคบลงบ้าง

ที่สำคัญเนื่องจากคุณูปการของกฎหมายแครส์ (CARES : Coronavirus Aid, Relief and Economic Security Act หรือรัฐบัญญัติการช่วยเหลือ บรรเทาทุกข์และความมั่นคงทางเศรษฐกิจในภาวะไวรัสโคโรนาระบาด) ซึ่งออกมาในช่วงรัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ปี 2020 ส่งผลช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้หลังผู้คนได้รับเงินโอนช่วยเหลือและชำระภาษีแล้วลงไป

และค่าสัมประสิทธิ์จินี่ของสหรัฐ (Gini coefficient เป็นดัชนีชี้วัดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ของระบบเศรษฐกิจโดยกำหนดค่าความเสมอภาคสมบูรณ์เป็น 0 และค่าความเหลื่อมล้ำล้นเหลือเป็น 100) ลดลงกว่าหนึ่งจุดซึ่งนับเป็นการลดต่ำลงมากที่สุดในรอบกึ่งศตวรรษของอเมริกา

ดังสะท้อนออกส่วนหนึ่งในหางช้างที่กระดกขึ้น แสดงว่ารายได้ของคนจนที่สุดทั่วโลกเพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีหลัง (2008-2018) เมื่อเทียบกับช่วงกราฟช้าง 20 ปีก่อน (1988-2008) ที่ตำแหน่ง (D)

สำหรับความต่อเนื่องที่ (A) กับ (B) สะท้อนการที่เศรษฐกิจจีนกับอินเดียยังคงเติบโตรวดเร็วต่อเนื่อง ในรอบ 10 ปีหลังจากปี 2008 กล่าวในแง่ GDP per capita (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเฉลี่ยต่อหัว) จีนโตขึ้นในช่วงดังกล่าว 7.5% ขณะที่อินเดียโตขึ้น 6%

ผลสำรวจเศรษฐกิจครัวเรือนของทั้งสองประเทศก็บ่งชี้ไปทางเดียวกัน กล่าวคือ รายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนจีนทั้งในเมืองและชนบทในช่วงดังกล่าวโตขึ้นเฉลี่ยราว 10% ต่อปี ส่วนของอินเดียนั้น รายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนอินเดียในเมืองโตขึ้นราว 8% ต่อปี และสำหรับในชนบทโตขึ้นหย่อน 5% เพียงเล็กน้อยต่อปี

การโตต่อเนื่องของเศรษฐกิจเอเชียทำให้การกระจายรายได้โลกคลี่คลายสืบเนื่องไป 2 ด้าน ได้แก่ :

1. มันเพิ่มขนาดและความแข็งแกร่งของชนชั้นผู้มีรายได้ “มัธยฐาน/median” หรือคนชั้นกลางในโลก ดังจะเห็นได้ว่ากลุ่มก้อนตรงกลางของกราฟกระจายรายได้โลกนั้นหนาแน่นขึ้น (บริเวณหัวและลำตัวช้าง ยังคงพอกหนาขึ้นต่อไปที่ A)

2. ขณะเดียวกันก็เกิดการปรับเปลี่ยนฐานะตำแหน่งรายได้ในระดับโลก โดยคนชั้นกลางชาวเอเชียเขยิบขึ้นผลัดเปลี่ยนแทนที่คนชั้นกลางระดับล่างของประเทศร่ำรวยในตะวันตกซึ่งยังคงทรุดถอยไป (ฺB)

 

ดังตัวอย่างคนจนที่สุด 10% ของประชากรประเทศอิตาลีนั้น เมื่อปี 1988 เคยอยู่ที่ตำแหน่ง 73 จาก 100 ในระดับรายได้โลก แต่ 20 ปีต่อมาในปี 2008 พวกเขากลับตกต่ำลงไปอยู่ที่ตำแหน่ง 56 จาก 100 ในระดับรายได้โลกเสียฉิบ

ขณะที่ในช่วงเดียวกันนั้น (1988-2008) รายได้คนเอเชียกลับโตวันโตคืนและคนกลุ่มก้อนใหญ่ในตัวเมืองของจีนก็บรรลุระดับรายได้ที่สูงกว่าคนจนอิตาลีด้วยซ้ำไป

กรณีคนจนที่สุดหนึ่งในสามของประชากรประเทศเยอรมนีและสหรัฐอเมริกาก็มีรายได้ลดถอยลงในช่วงดังกล่าวคล้ายกับอิตาลี ชั่วแต่ไม่ทรุดต่ำลงไปขนาดนั้นเท่านั้นเอง

เหล่านี้ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนตำแหน่งในระดับรายได้ทั่วโลก เมื่อระดับรายได้ของคนชั้นกลางเอเชียและจีนเพิ่มขึ้นเร็วกว่าจนกวดใกล้ไล่ทันและแซงหน้าระดับรายได้ที่เพิ่มขึ้นช้ากว่าของคนจนที่สุด 10% ของประเทศร่ำรวยทั้งหลายในตะวันตก

 

นั่นแปลว่าพวกรวยที่สุดในโลก 20% แรก (the global top quintile) ซึ่งเคยถูกครอบงำควบคุมอย่างแข็งแรงโดยบรรดาเศรษฐีชาวฝรั่งตะวันตกและญี่ปุ่นมาร่วมสองศตวรรษนับแต่สมัยเริ่มการปฏิวัติอุตสาหกรรม กำลังถูกเศรษฐีหน้าใหม่จากจีนบุกทะลวงเข้าไปร่วมวงมากขึ้น ทำให้การครอบงำควบคุมดังกล่าวของฝรั่งตะวันตกกับญี่ปุ่นอ่อนเปลี้ยลง และน่าจะอ่อนเปลี้ยลงไปอีกหากอัตราการเติบโตของประเทศ เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ในเอเชียกับประเทศร่ำรวยในตะวันตกยังคงความแตกต่างดังที่เป็นมารอบ 30 ปี

แต่การปรับเปลี่ยนตำแหน่งฐานะระหว่างเศรษฐีจีนกับเศรษฐีฝรั่งและญี่ปุ่นดังกล่าวไม่ได้แปลว่าความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยในเศรษฐกิจโลกจะลดลงโดยอัตโนมัติในเมื่อบัดนี้จีนกลายเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง (upper-middle-income country) ไปเรียบร้อยแล้ว

ตัวบ่งชี้ที่จะส่งผลช่วยลดความเหลื่อมล้ำโลกอย่างสำคัญกว่าในระยะถัดไปจะได้แก่การเติบโตของรายได้ในอินเดียและประเทศแอฟริกันที่มีพลเมืองมาก อาทิ ไนจีเรีย อียิปต์ เอธิโอเปีย แทนซาเนีย คองโก ฯลฯ