ซักฟอก ม.152 The Last of ตู่? โดดเดี่ยวในสภาร้าง

สัญญาณการเมืองขณะนี้ น่าจะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ทุกฝ่ายพร้อมที่จะเลือกตั้งใหม่แล้ว เหลือเพียง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ยังยึกยักไม่รู้จะเอายังไงดี

หรือจะเป็นแบบที่ชวน หลีกภัย ทักเอาไว้ตั้งแต่ต้นปี ตามบุคลิกของ พล.อ.ประยุทธ์ คงจะยื้อการยุบสภาไปจนถึงที่สุด นั่นคือสัปดาห์ท้ายๆ ก่อนจะหมดวาระของรัฐบาล

กับอีกฝ่ายที่ดูจะยังไม่พร้อมให้มีการเลือกตั้งขณะนี้คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะผู้จัดการเลือกตั้ง หลังพบปัญหาคาราคาซังเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งบางจังหวัด มีการเถียงกันเรื่องวิธีคิดการคำนวณฐานของประชากรไม่มีสัญชาติไทยจะเอามานับด้วยหรือไม่

เรื่องนี้ต้องเคลียร์ให้ชัด มิฉะนั้นคนไม่พอใจผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นครั้งนี้ อาจใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างยื่นศาลรัฐธรรมนูญล้มเลือกตั้งก็เป็นได้ เดี๋ยวมันจะยุ่งกันไปอีก

ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ หรือพี่โทนี่ของชาวคลับเฮาส์ ถึงกับออกมาพูดแรงๆ ถึง กกต.ว่า

“ทุกวันนี้ที่ กกต.ไม่พร้อม เพราะต้องการประวิงเวลาให้รัฐบาล ที่ตอนนี้ยังไม่พร้อม”

 

และอันเนื่องมาจากการเมืองที่เกี่ยวเนื่องกับช่วงการเลือกตั้งใหญ่นี้เอง ทำให้การอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไม่มีการลงมติ ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 15-16 กุมภาพันธ์นี้ น่าจับตา น่าสนใจ

การซักฟอกครั้งนี้ จะเป็นการอภิปรายครั้งสุดท้ายของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ และเป็นสมัยประชุมสภาผู้แทนฯ สมัยสามัญครั้งสุดท้ายที่กำลังจะเสร็จสิ้นลงในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ และน่าจะมีการประกาศยุบสภาตามมา

อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่า การซักฟอกรอบนี้จะไม่เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา คนที่น่าจะเหนื่อยที่สุดคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะเป็นการซักฟอกทิ้งทวนก่อนเลือกตั้งใหญ่

เป้าหมายของฝ่ายค้านคือการใช้เวทีสภาสร้างแผลให้ได้มากที่สุด

 

แน่นอนว่า การซักฟอกรัฐบาล ตามหลักรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย มันคือพื้นที่ของการให้คำแนะนำการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นส่วนหนึ่งในหลักการถ่วงดุลของฝ่ายนิติบัญญัติต่อฝ่ายบริหาร หากจะมองอย่างด้อยค่า มันก็อาจจะเป็นเพียงพื้นที่ของการเล่นเกมบางอย่าง

แต่ในอีกมุมหนึ่ง นี่คือเครื่องมือที่ชอบธรรมของฝ่ายค้าน ตามหลักการประชาธิปไตย หากจะมองว่าเป็นเกม ก็ไม่ใช่เกมที่ผิดแต่ประการใด เพราะมันคือเกมของการต่อสู้กันด้วยข้อมูลของสองฝ่าย

บริบทความขัดแย้งในสภาจึงเป็นเรื่องที่ชวนให้จับตา เพราะตลอดเกือบ 4 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลประยุทธ์ ความขัดแย้งในระบบรัฐสภาไทยไม่คลี่คลายลงเลย แถมหนักแน่นขึ้นเรื่อยๆ

จากที่ฝ่ายค้านสู้กับรัฐบาล ขณะนี้ฝ่ายรัฐบาลเองดูจะไม่เข้าหน้ากันแบบเดิม มีความขัดแย้งเห็นต่าง ประลองกำลังกันตั้งแต่เรื่องญัตติกฎหมายต่างๆ ทั้งพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย ต่างผลัดกันเตะถ่วงกระหน่ำใส่กันตามวาระโอกาสต่างๆ

ยิ่งนานยิ่งเข้มข้น และปรากฏปัญหาเชิงรูปธรรมชัดเจน ลามไปถึงงานนอกสภา ไปกระทั่งการบริหารราชการแผ่นดิน

บรรยากาศสภาล่มคืออาการระเบิดออกของปรากฏการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่ง จากเดิมที่ฝ่ายค้านคือเพื่อไทย และก้าวไกล พูดเรื่องการยุบสภา ภาพตัดมาที่ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นกำลังพลของพลังประชารัฐและภูมิใจไทยเอง กลับเป็นฝ่ายที่ออกมาพูดเรียกร้องให้ยุบสภา

นี่จึงเป็นที่มาว่าทำไมการซักฟอกรอบนี้จึงเหนื่อย เพราะความขัดแย้งมันขยายวงไปหมด มีความพยายามที่จะทำให้ภาพของความเป็นฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาลบางส่วน ให้ดูเบลอๆ ลง จนราวกับหันไปทางไหนก็เป็นคู่แข่งของ พล.อ.ประยุทธ์

 

ขณะที่ฝั่งฝ่ายค้าน แม้ที่ผ่านมาจะไม่สามารถใช้เกมสภาน็อกรัฐบาลได้ แต่พื้นที่สภาก็เป็นพื้นที่ในการนำเสนอข้อมูลถล่มรัฐบาลได้อย่างมีน้ำมีเนื้อ ทั้งพรรคเพื่อไทย และโดยเฉพาะพรรคก้าวไกลที่ก่อกำเนิดดาวสภาดวงใหม่หลายดวงตลอดเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา

ยิ่งรอบนี้เป็นรอบสุดท้าย ใกล้เลือกตั้ง การวิจารณ์รัฐบาลในสภาในขณะเดียวกันก็คือการหาเสียง เก็บคะแนนไปด้วย

ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าเกิดกรณีฉาวขึ้นหลายเรื่องที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจในรัฐบาล ทั้งเรื่องทุนจีนสีเทา การฟอกเงิน การเรียกรับส่วยหลายกรณีของเจ้าหน้าที่รัฐ การหย่อนยานสองมาตรฐานของกระบวนการยุติธรรม หลายกรณี บางกรณีเกี่ยวโยงกับการเมืองประเทศเพื่อนบ้านกลายเป็นข่าวฉาวดังไปทั่วโลก

ยังไม่นับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตพลังงาน และปัญหาการบริหารราชการแผ่นดินอื่นๆ หลายเรื่องส่อแววปะทุและเป็นจริงดังที่ฝ่ายค้านเคยพูดไว้ เช่นกรณี เหมืองทองอัครา ที่ภาคประชาชนต่างมีข้อกังขาที่รัฐบาลอนุญาตให้คิงส์เกตกลับมาเปิด เป็นต้น

และยิ่งกรณีทางการเมือง ปัญหากระบวนการยุติธรรม คดีความที่เกี่ยวเนื่องกับการเคลื่อนไหวการเมือง ปัญหาดุลพินิจเรื่องสิทธิประกันตัวที่กำลังถูกถกเถียงอย่างหนักขณะนี้ ก็ไม่สามารถมองข้ามในการนำมาพูดถึงในการอภิปรายที่สร้างแผลทางการเมืองให้กับรัฐบาลประยุทธ์ได้เช่นกัน

มีเสาหลักของปัญหามากมายที่เปิดช่องการนำข้อมูลมายิงกระสุนถล่มใส่รัฐบาลประยุทธ์ ทั้งเรื่องการเมือง กฎหมาย ความยุติธรรม เศรษฐกิจ นโยบายสังคม ไปจนกระทั่งจุดยืนการต่างประเทศอันฉาวโฉ่ของไทย

 

รวมเข้ากับประเด็นสำคัญมากอันหนึ่ง คืออาการถอยออกจากความเป็นฝ่ายรัฐบาล เพื่อเตรียมพร้อมรับการเลือกตั้งของพรรคร่วมรัฐบาล อย่างภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ เหล่านี้จึงล้วนน่าสนใจ

สัปดาห์ที่ผ่านมาได้เห็นอาการเล่นหลายหน้าของพรรคภูมิใจไทย เช่น การจัดเวทีปราศรัยย่อยช่วย น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขตปทุมวัน หาเสียง นำโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล

ช่วงหนึ่ง ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.และนายทะเบียนพรรค คว้าไมค์ปราศรัยเหน็บลุงตู่ เป็นนายกฯ ต่อไม่ได้แล้ว 8 ปี เงินไม่มี มีแต่ความสงบ

ทำไมคนในพรรคภูมิใจไทยถึงกล้าพูดขนาดนี้ ก็เพราะมันมีมูลนั่นเอง คนในสังคมจำนวนไม่น้อยรู้สึกและเห็นตรงกัน แต่บังเอิญเรื่องมันขยายไกลเกินเวทีหาเสียงเกินไปหน่อย เสี่ยหนู อนุทิน ต้องออกมาขอรับผิด เข้าไปขอโทษนายกฯ ตามระเบียบ

ขณะที่ประชาธิปัตย์ วันนี้เจ็บช้ำหนัก จาก ส.ส.และว่าที่ผู้สมัครของพรรคจำนวนไม่น้อยย้ายไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติที่ชู พล.อ.ประยุทธ์ เข้าตำราตกปลาในบ่อเพื่อน

 

เช่นเดียวกับพลังประชารัฐของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ปรากฏอาการแยกกันเดินกับ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา กระทั่งมีการเกิดขึ้นของจดหมายเปิดใจ ถูก พล.อ.ประยุทธ์ทิ้งไว้กลางทางไปตั้งพรรคใหม่

แถมนำศัตรูการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ อย่าง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กลับเข้าพรรค

เป็นอันว่า นับจากนี้ไปจนศึกเลือกตั้งจบ พล.อ.ประวิตร คือคู่แข่งทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ พี่น้อง 2 ป.ประกาศตัวแย่งเก้าอี้นายกฯ คนที่ 30 กันอย่างตรงไปตรงมา

นั่นแปลว่าองครักษ์พิทักษ์ลุง ที่เคยเห็นการลดบทบาทลงเรื่อยๆ ตลอดช่วงหลังปีที่ 3 ของการครองอำนาจที่ผ่านมา ก็จะปรากฏอย่างชัดเจนที่สุดในการซักฟอกครั้งนี้

หากองค์ประชุมไม่ล่มจนทำให้การอภิปรายต้องจบลง ศึกซักฟอกครั้งนี้เราจึงจะเห็นอาการเกียร์ว่างที่จะปกป้อง พล.อ.ประยุทธ์ของบรรดาพรรคร่วมรัฐบาล แม้กระทั่งบางส่วนของพรรคพลังประชารัฐในระดับชัด

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องสภาล่ม จากปัญหา ส.ส.ลาออกจำนวนมาก วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ออกมาแสดงความเห็นเตือนไว้เรื่ององค์ประชุมว่า ระหว่างการอภิปราย หากองค์ประชุมไม่ครบ ก็ถือว่าจบการอภิปราย ก็แค่นั้น แม้จะล่มในการอภิปรายวันแรกก็ถือว่าจบ

แม้การซักฟอกครั้งนี้จะเป็นปลายสมัย คนดูเหมือนจะจับตาไปที่การเลือกตั้งมากกว่า แต่ก็อย่ามองข้ามในมุมว่า การซักฟอกครั้งนี้เป็นมิติใหม่ เครื่องมือกลไกในการปกป้อง พล.อ.ประยุทธ์หายไปเยอะ

ที่ยังอยู่ ก็ดับเครื่องยนต์ลงไปไม่น้อยเพื่อรอสนามใหม่ เรื่องนี้ท้าทายฝ่ายค้านว่าจะสามารถสร้างแผลทางการเมืองกับ พล.อ.ประยุทธ์ได้มากขนาดไหน ในสภาพบริบทการเมืองที่คนเฝ้ารอการไปกาบัตรลงคะแนน หากไม่มีหมัดเด็ดอะไรมาก ก็คิดว่าคงไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้จากฝั่ง พล.อ.ประยุทธ์มากนัก

แต่หากมีหมัดเด็ด ทำการบ้านมาดี เปิดแผลใหม่ ขยายแผลเก่า ก็อาจจะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์เหงื่อออกได้ง่ายๆ

 

ปรากฏการณ์ “สภาร้าง” ผสมเข้ากับปรากฏการณ์ “ลุงตู่ผู้โดดเดี่ยว” ในขณะนี้ จึงทำเราไม่สามารถมองข้ามศึกซักฟอกวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์นี้ไปได้ แม้มองเผินๆ อาจดูเหมือนแค่เกมปลายสมัยที่ไม่น่าจะมีอะไร ยิ่งถ้า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้วางเกมตอบโต้อะไรไว้ งานนี้อาจจะได้เห็นอะไรมันๆ

นึกถึงซีรีส์ที่สร้างจากวิดีโอเกมซึ่งกำลังอยู่ในกระแสร้อนแรง คนดูกันทั้งบ้านทั้งเมืองขณะนี้ อย่าง The Last of Us ว่าด้วยเรื่องตัวเอกของเรื่องสู้กับผู้ติดเชื้อกลายร่าง แล้ว The Last of ตู่ ล่ะ? จะต่อสู้แข่งขันกับฝ่ายตรงข้ามในศึกอภิปรายได้ยังไง? เมื่อองครักษ์หายหน้าไปเพียบ

หรือจะเป็น The Last of ตู่ จริงไหม? ก็อยู่ที่การบ้านของฝ่ายค้านแล้วแหละ