ความรุ่งโรจน์และล่มสลาย ทางรถไฟเล็กสายพระพุทธบาท

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

ขนส่งมวลชนในระบบรางเป็นการคมนาคมที่ได้รับความสำคัญอย่างมากในยุคสมัยนี้

อันสืบเนื่องจากข้อจำกัดของการเดินทางด้วยรถยนต์ผ่านท้องถนนที่นอกจากจะทำให้เกิดการจราจรที่ติดขัดแล้วก็ยังก่อให้เกิดมลพิษอีกด้วย

แต่ก่อนที่การขนส่งทางรางจะได้รับความนิยมในปัจจุบัน ระบบนี้เคยถูกมองข้ามมาก่อนจากการหันไปใช้เส้นทางสัญจรทางถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแปดสิบกว่าปีที่แล้ว

ย้อนหลังไปเมื่อ 126 ปีก่อน ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงเปิดขบวนรถไฟหลวงสายแรกขึ้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา

และในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้นได้เกิดรถไฟราษฎร์ หรือการเดินรถไฟของเอกชนขึ้นหลายสายควบคู่กับรถไฟหลวงด้วย

ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ จ.สระบุรี โดยมีเส้นทางจาก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ผ่าน อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี ไปสิ้นสุดที่โรงเจใหม่ฮกเอี๊ยงฮุกตึ๊ง อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี

สันนิษฐานว่าเปิดเดินรถประมาณปี พ.ศ.2444 หรือหลังจากการเปิดรถไฟขบวนแรกในประเทศไทย สายกรุงเทพฯ-อยุธยา ราวๆ 5 ปี โดยดูจากปีก่อตั้งบริษัทพระพุทธบาทรถรางทุน จำกัด ของ “กรมพระนราฯ” พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และผู้ร่วมทุนอื่นๆ อีก 7 คน

นับว่ากรมพระนราฯ เป็นผู้ที่มาก่อนกาลโดยแท้

เพราะหากเป็นสมัยนี้เราจะเรียกโครงการแบบนี้ว่า Transit Oriented Development หรือ TOD นั่นคือการพัฒนาและทำให้เมืองเกิดความเจริญรายรอบเส้นทางคมนาคมด้วยระบบขนส่งมวลชนนั่นเอง

นอกจากนี้ กรมพระนราฯ ยังให้ความสำคัญกับเมืองนี้อย่างมาก ดังจะเป็นได้จากการนิพนธ์ “โคลงลิลิตดั้นตำนานพระพุทธบาท” อันเป็นวรรณคดีหลักที่ใช้ศึกษาเรื่องราวของพระพุทธบาทด้วย

และทำให้มีข้าวของเครื่องใช้ของกรมพระนราฯ ครั้งสมัยที่ใช้ชีวิตไปๆ มาๆ ในเมืองนี้จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งพระพุทธบาท ห้องที่ 3 อยู่หลายชิ้น

รถไฟสายนี้มีทั้งหมด 7 สถานี ประกอบด้วย 1) ท่าเรือ 2) บางโขมด 3) บ่อโศก 4) หนองคณฑี 5) เขาเลี้ยว 6) เจ้าพ่อเขาตก 7) พระพุทธบาท รวมระยะทาง 20 ก.ม. รถไฟวิ่งด้วยความเร็ว 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังนั้น จึงใช้เวลาเดินทางจากต้นทางมาปลายทาง 1 ชั่วโมงพอดี

ปัจจุบันเส้นทางนี้กลายมาเป็นทางหลวงสาย 3022 พระพุทธบาท-ท่าเรือ ซึ่งใช้เวลาขับรถเพียง 25-28 นาทีเท่านั้น

รถไฟขบวนนี้เป็นรถไฟขนาดเล็ก ชาวบ้านจึงมักเรียกว่า “รถไฟเล็ก” หรือบางคนก็เรียกว่า “รถไฟกรมพระนรา” บ้างก็เรียกเป็น “รถไฟกรมพระดารา”

เดิมใช้หัวรถจักรไอน้ำ ต่อมามีการปรับเปลี่ยนมาใช้หัวรถจักรดีเซล ทำให้สามารถเพิ่มความเร็วขึ้นมาเป็น 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วิ่งวันละ 1 เที่ยว

แต่ในช่วงเทศกาลนมัสการรอยพระพุทธบาท คืองานเดือน 3 กับเดือน 4 จะมีการเพิ่มรอบขึ้นเป็น 3-4 เที่ยว แล้วแต่จำนวนผู้โดยสาร และไม่มีเวลาออกที่แน่นอน คนเต็มเมื่อไหร่ก็ไปเมื่อนั้น

แม้ผู้คนในยุคนี้จะรู้จักรถไฟสายพระพุทธบาทไม่มากนัก แต่สำหรับคนสระบุรีรุ่นก่อนนั้นไม่มีใครที่ไม่รู้จัก

ปัจจุบันยังคงเหลือร่องรอยหลักฐานของทางรถไฟสายนี้อยู่บ้าง เช่น อาคารสถานีบ่อโศกซึ่งปัจจุบันย้ายไปตั้งไว้หน้าเทศบาลตำบลสร่างโศก ถนน 3022 ก.ม.9 อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี

มีลักษณะเป็นอาคารปูนสองชั้นทรงสี่เหลี่ยมตั้งสูงขึ้นไปเป็นแท่งลูกบาศก์ ขอบหน้าต่างเป็นกรอบไม้เดิมเมื่อร้อยกว่าปีก่อน รวมทั้งน็อตรุ่นเก่าที่เต็มไปด้วยสนิมเขรอะ

ผนังด้านหนึ่งของสถานีมีร่องรอยอักษรจางๆ พอให้อ่านออกว่า “บ้านบ่อโศก”

อาคารสถานีแห่งนี้นับว่ามีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์การรถไฟ เพราะเป็นอาคารสถานีรถไฟเล็กแห่งเดียวของเส้นทางสายนี้ที่เหลืออยู่

หลังจากที่สถานีหนองคณฑี เพิ่งพังไปเมื่อประมาณ 20-30 ปีที่แล้วจากอุบัติเหตุรถบรรทุกพุ่งชน

นอกจากอาคารสถานีบ่อโศกที่กล่าวมาแล้วก็ยังมีเสาโทรเลขที่ปรากฏอยู่ในบริเวณชุมชนประชาบำรุง ไม่ไกลจากโรงเจใหม่ฮกเอี๊ยงฮุกตึ๊ง อ.พระพุทธบาท และซุ้มประตูไม้ยกสูงมุงหลังคาสังกะสีซึ่งเดิมคือส่วนหนึ่งของบริเวณที่ทำการสถานีพระพุทธบาท

แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นซุ้มประตูเข้าออกชุมชนประชาบำรุงในจุดที่เชื่อมต่อกับโรงเจใหม่ฮกเอี๊ยงฮุกตึ๊ง

รวมทั้งฐานของบ่อน้ำขนาดใหญ่รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เดิมเคยใช้สำหรับกักเก็บน้ำเพื่อเติมหัวรถจักรไอน้ำระหว่างที่เข้าประจำสถานีพระพุทธบาท

อย่างไรก็ตาม บริเวณนี้ใช้เป็นสถานที่จอดรถในปัจจุบัน ทำให้แขกไปใครมาหากไม่สังเกตหรือไม่มีความรู้เรื่องนี้ก็ไม่มีทางทราบได้เลยว่าตรงนี้เคยเป็นสถานีรถไฟมาก่อน

รถไฟสายนี้เป็นนวัตกรรมใหม่ในยุคนั้น เรียกว่าล้ำมาก รวมทั้งมีราคาที่จับต้องได้ด้วย โดยเริ่มต้นเก็บค่าโดยสารตลอดสายในราคาเพียง 30 สตางค์ ถ้าขึ้นลงระหว่างทางคิดสถานีละ 5 สตางค์ อันเป็นราคาที่หาซื้ออะไรไม่ได้เลยในปัจจุบัน

ต่อมาจึงมีการเพิ่มอัตราค่าโดยสารขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลสมัย

ก่อนที่จะปิดตัวไปเป็นการถาวรในปี พ.ศ.2485 เนื่องจากประสบภาวะขาดทุน

 

การที่ผลประกอบการของรถไฟไม่ค่อยจะดีนั้น มาจากหลายปัจจัย

อย่างแรก คือเป็นรถไฟท่องเที่ยว กลุ่มเป้าหมายหลักคือชนชั้นสูงที่จะมานมัสการพระพุทธบาท ซึ่งคนกลุ่มนี้มีไม่มากนัก กลุ่มอื่นๆ อย่างเช่น พ่อค้า แม่ค้า ที่ต้องขนส่งสินค้าและผลิตภัณฑ์การเกษตรก็ไม่ได้มีมากพอจะทำให้บริษัทมีกำไรได้

อย่างที่สอง เป็นเพราะทางสายนี้ไม่ได้เชื่อมต่อไปสู่ทางรถไฟสายอื่นเลย นอกเหนือจากทางรถไฟสายเหนือเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ที่สถานีท่าเรือ

เมื่อเส้นทางมีลักษณะเป็นติ่งยื่นออกมาแบบนี้จึงมีลูกค้าจำกัด

และสาม คือเป็นรถไฟที่มีความต้องการโดยสารขึ้นอยู่กับงานนมัสการรอยพระพุทธบาท ซึ่งตลอดทั้งปีมีแค่ 2 ครั้ง แล้วระบบขนส่งมวลชนที่มีความต้องการใช้บริการอย่างสูงอยู่แค่ 2 ช่วงในหนึ่งปีจะมีผลกำไรได้อย่างไร

ประการสุดท้าย คือถูกพัดไปในสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลง

หลังการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ.2475 เมื่อเกิดถนนหลวงสายหลักขึ้นคือถนนพหลโยธินในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม หรือชื่อเดิมในขณะนั้นคือ “ถนนประชาธิปัตย์” ตัดตรงสู่ลพบุรี ผ่านพระพุทธบาท ปี พ.ศ.2483 การเดินทางแบบสโลว์ไลฟ์จากท่าเรือมาพระพุทธบาทก็ถึงคราวถูกดิสรัปต์ ผู้โดยสารลดต่ำลงโดยปริยาย

กระทั่งปิดตำนานลงในปี พ.ศ.2485 หรืออีกสองปีต่อมา

อย่างไรก็ตาม เมื่อความสนใจระบบขนส่งมวลชนแบบรางกลับมาได้รับความนิยมและได้รับความสำคัญในปัจจุบัน รวมทั้งวาระโอกาส 400 ปี พระพุทธบาท สระบุรี ที่กำลังจะมาถึงในปี พ.ศ.2567

ทำให้น่าคิดว่าควรปัดฝุ่นกลับมาใช้ใหม่ดีหรือไม่

โดยอาจวางแผนเส้นทางและใช้นวัตกรรมยุคใหม่ที่ไม่แน่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงให้พื้นที่ตรงกลางระหว่างพระนครศรีอยุธยากับสระบุรีและลพบุรีเป็นอย่างมากก็ได้

โจทย์ข้อนี้ไม่ใช่ประเด็นของภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว

แต่ยังรวมถึงภาคเอกชน และภาคประชาชนที่ควรจะร่วมกันหารือจะกำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่นี้ต่อไปในอนาคตด้วย