‘กรง’ | ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

เสือโคร่งตัวหนึ่ง สอนให้ผมเข้าใจความหมายของคำว่า “กรง”

เสือตัวนี้ไม่ใช่เสือในป่า ที่ผมมีโอกาสพบเจอ มันเป็นเสือโคร่งตัวผู้อายุ 13 ปี มีชีวิตอยู่ในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า

วันหนึ่งเสือตัวนี้ฉวยโอกาสตอนที่คนนำอาหารมาให้เผลอ ตะปบประตูซึ่งเป็นบานเลื่อน หนีออกจากกรงได้

คนเลี้ยงโดนเล็บแหลมบาดเจ็บเล็กน้อย เสือโคร่งแม้ว่าจะเติบโตในกรง แต่ทักษะความเป็นนักล่าซึ่งร่างกายได้รับการออกแบบมาอย่างเหมาะสมกับงาน ยังคงอยู่

เสือโคร่งหลุดจากกรง เป็นข่าวใหญ่ เจ้าหน้าที่จากหลายส่วนได้รับคำสั่งให้มาดูแลและจับเสือให้ได้

คนบริเวณใกล้เคียงตื่นตระหนก ที่เคยเข้ามาเก็บหาของป่าแถวๆ นั้น ไม่มีใครกล้าเข้ามา

อบต.ในพื้นที่ จัดอาสาสมัครเข้ามาช่วยจับ พวกเขาตั้งกลุ่มกระจายเป็นจุดๆ นอกจากก่อกองไฟเป็นระยะๆ แล้ว ทุกคนเตรียมอาวุธมาพร้อมเพรียง

ไม่ว่าจะมาจากไหน อยู่ที่ใด เสือ คือ “สัตว์ร้าย” เสมอ

 

ผมร่วมมากับทีมเจ้าหน้าที่ สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ซึ่งได้รับวิทยุเรียกตัวกลางดึก

เราเดินทางถึง “ที่เกิดเหตุ” ตอนเช้ามืด เตรียมอุปกรณ์ เครื่องมือดักจับ รวมทั้งปืนยิงยาสลบมาอย่างพร้อมมูล

เมื่อมาถึง พวกเขาเดินสำรวจรอบๆ กรง มีร่องรอยว่าเสือตัวนั้นเดินวนเวียนรอบๆ กรงเสือโคร่งตัวเมียที่อยู่ในระยะเวลาพร้อมรับการผสม

พวกเขาวางกับดัก ที่ดูกลมกลืนกับพื้นจนสายตาคนยากจะแยกออก

พวกเขาค่อนข้างกังวล ไม่อยากยิงยาสลบนัก เหตุผลคือ มีคนมากมาย เสืออาจตื่นเต้นกระทั่งเกิดโอเวอร์ฮีต

พวกเขารู้ดีว่าการใช้ยาสลบกับเสือหรือสัตว์ป่าชนิดใดๆ ต้องระมัดระวังอย่างสูงสุด อีกทั้งสัตว์ที่เติบโตในกรง กับสัตว์ที่อยู่ในธรรมชาติ ความอดทนและร่างกายก็ต่างกัน

ทุกคนทำงานอย่างหนัก อดนอนตลอดคืนเฝ้าดู วางอาหารล่อไว้ตามจุดต่างๆ ก็ไม่มีผล

หลุดออกมาได้ กรงไม่ใช่ที่ซึ่งเสืออยากกลับเข้าไปแล้ว

ผ่านไปหลายวัน เรื่องราวเสือหลุดค่อยๆ จางหาย พร้อมกับเสือตัวนั้นยังลอยนวล

เสือโคร่ง – เสือจะสเปรย์ หรือพ่นฉี่ เป็นการประกาศอาณาเขตวิธีหนึ่ง

อาจเพราะความฉลาด และสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้ จึงดูเหมือนมันหายไปอย่างไร้ร่องรอย

ทุกคนหนักใจ การจับเสือตัวนี้ไม่ใช่งานง่ายๆ ความหนักใจส่วนหนึ่งคือหากมันหลุดออกไปถึงด้านนอก ให้คนพบเห็น นั่นย่อมเป็นวาระสุดท้ายของชีวิต

เวลาผ่านไปร่วมสองสัปดาห์อย่างเหนื่อยล้า

แต่ในที่สุด เสือก็พลาด เดินมาติดกับดัก ถูกทำให้สลบ และนำกลับเข้าไปไว้ในกรงตามเดิม

 

ผมนั่งดูเสือตัวนั้นที่เดินวนเวียนช้าๆ ในกรง สบสายตา ผมไม่รู้ว่า ช่วงเวลาสองสัปดาห์ที่อยู่โดยปราศจากลูกกรงเหล็กมันรู้สึกเช่นไร

นอกกรงนั่นไม่ใช่ที่อันเหมาะสมที่เสือรวมทั้งสัตว์ป่าอื่นๆ จะอยู่หรอก

การอยู่ในที่อันไม่คุ้นเคยย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย

บางที การเข้ามาติดกับดักอาจเป็นหนทางที่มันเลือก

“เสือ” แม้จะเติบโต และอยู่ในกรงมาตลอดชีวิต แต่มันย่อมรู้ว่า หนทางที่จะมีชีวิตอยู่ควรทำเช่นไร

ไม่ใช่การยอมจำนน เพียงแต่มันรู้วิธีที่จะทำให้กรงไม่มีความหมาย

 

เวลาผ่านมานาน สิ่งที่เสือตัวนั้นสอนเป็นบทเรียนที่ดี

เราต่างล้วนติดอยู่ใน “กรง” และเป็นกรงที่เราสร้างขึ้นมาเอง

กรงจะแคบอุดอู้ หรือกว้างแค่ไหน อยู่ที่เราจะสร้างกรงนั้นเช่นไร… •

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ