โหมโรง | ธนาคารไร้สาขา (2)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

โหมโรง | ธนาคารไร้สาขา (2)

 

ระบบธนาคารไทย จะมีการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าครั้งสำคัญในไม่ช้า

เรื่องที่จับตามองกันมาก ทั้งๆ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นแห่งกระบวนการ ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ว่าในอีกมิติหนึ่ง เป็นวิวัฒนาการต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้นก่อนหน้าราว 2 ทศวรรษ ด้วยการอนุญาตให้มีธนาคารใหม่ เป็นกระบวนการอย่างเป็นจริงเป็นจังครั้งแรก หลังว่างเว้นมานานกว่าครึ่งศตวรรษ จากยุคก่อตั้งธนาคารไทย ในกระแสใหญ่เป็นไปอย่างไม่เป็นระบบนัก เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ความพยายามแกะรอยเมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว เชื่อว่าให้ภาพเชื่อมโยงบางอย่างที่น่าสนใจ

ภาพแรกว่าไว้ในตอนที่แล้ว พิเคราะห์ Profile ผู้มีอิทธิพล มีบทบาทนำธนาคารใหม่ กลุ่มหนึ่งมีรากเหง้ามาจากธุรกิจครอบครัว ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งสามารถฝ่าวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่มาได้หลายต่อหลายครั้ง

ผู้ก่อตั้งผ่านประสบการณ์หลายมิติ จนสร้างเครือข่ายธุรกิจอย่างหลากหลาย ทั้งเกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อมกับธนาคารดั้งเดิม

 

อีกภาพหนึ่งจะว่าต่อไปนี้ เกี่ยวข้องกับคุณรุ่นหลังๆ อาจถือได้ว่าพวกเขามาจากกระแสอิทธิพลสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเวียดนาม ในฐานะผู้ผ่านการศึกษาอย่างดีจากที่นั่น มักเกี่ยวข้องกับศาสตร์การบริหารธุรกิจสมัยใหม่ ตามแบบฉบับอเมริกันซึ่งมีอิทธิพลระดับโลก

ส่วนใหญ่เป็นมืออาชีพรุ่นแรกๆ สามารถเข้าสู่ศูนย์กลางของสังคมธุรกิจไทยยุคสมัย กลายเป็นผู้ทรงอิทธิพล ด้วยบุคลิกเฉพาะเป็นอีกกลุ่มหนึ่งในยุคต่อจากนั้นจนถึงปัจจุบัน มักเริ่มต้นที่ธุรกิจการเงินธนาคารด้วยกัน มีอีกบางส่วนขยายจินตนาการ รากฐานธุรกิจครอบครัวให้กว้างขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีบทบาทฐานะกลุ่มอิทธิพลซ่อนอยู่ในสังคมธุรกิจไทย เติบโตขึ้นมากในยุคเศรษฐกิจไทยพองตัวเมื่อทศวรรษ 2530 เป็นส่วนประกอบอันซับซ้อน ในฉากหน้าอันครึกโครมซึ่งผู้คนมักกล่าวขานถึง ปิ่น จักกะพาก และทักษิณ ชินวัตร

พวกเขาถือเป็นคนรุ่นเดียวกัน มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง กลุ่มบุคคลอ้างอิง เป็นภาพ “ตัวแทน” อาทิ บันเทิง ตันติวิท (ปีเกิด 2487) ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ (2488) ชุมพล ณ ลำเลียง (2490) ศิวะพร ทรรทรานนท์ (2490) ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล (2490) และ อนันต์ อัศวโภคิน (2493)

จุดเริ่มต้นหนึ่งที่สำคัญอยู่ในช่วงเวลาธุรกิจการเงินอเมริกันเข้ามาในภูมิภาค รวมในเมืองไทย หมุดหมายช่วงปี 2512-2514 ทั้ง Citibank Banker Trust (ปัจจุบันถูกหลอมรวมอยู่ใน Deutsche Bank แห่งเยอรมนี) และ Chase Manhattan (ปัจจุบัน JPMorgan Chase)

โดยเฉพาะ Banker Trust มีเรื่องราวเฉพาะ ได้ร่วมทุนกับธนาคารกสิกรไทยของตระกูลล่ำซำ ก่อตั้งบริษัทเงินทุนทิสโก้ กลายเป็นศูนย์รวมนักเรียนอเมริกันรุ่นสำคัญหลายคนอย่างที่กล่าวไว้

 

คนแรก-ชุมพล ณ ลำเลียง อยู่ในทีมบริหารเข้ามาบุกเบิกทิสโก้ช่วงสั้นๆ ก่อนตัดสินใจเปลี่ยนงาน เข้ามาในเครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี (ตั้งแต่ปี 2515) ค่อยๆ มีบทบาทมากขึ้นๆ เป็นผู้จัดการใหญ่ (2536-2548) และคงเป็นผู้มีอิทธิพลในองค์กรอายุกว่าศตวรรษต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

อีกคน-ศิวะพร ทรรทรานนท์ อยู่ในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการทิสโก้ยาวนานที่สุดในประวัติสถาบันการเงินชั้นนำแห่งนี้ โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟู (2523-2536) หากเทียบเคียงกับบทบาทผู้ถือหุ้นรายหนึ่ง-ธนาคารกสิกรไทย เวลานั้น

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ในฐานะศิษย์เก่าสถาบันเดียวกัน ช่วงเดียวกันกับศิวะพร ทรรทรานนท์ (MBA – Wharton School of the University of Pennsylvania) ได้ก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงแล้ว บางช่วงบางตอนเข้ามาเป็นกรรมการทิสโก้ด้วย

แม้ศิวะพรได้พ้นตำแหน่งมานานแล้ว ยังคงมีอิทธิพลในทิสโก้อย่างต่อเนื่อง มีบทบาทอย่างเงียบๆ เกี่ยวข้องกับนโยบายทางการเงินในช่วงสำคัญๆ เชื่อว่ามีบทบาทไม่มากก็น้อย ในกระบวนการให้ทิสโก้กลายเป็นธนาคาร

ธนาคารที่มีมืออาชีพเป็นแรงขับเคลื่อนอย่างแท้จริง เป็นบุคลิกเฉพาะธนาคารใหม่

 

อีกคนหนึ่งซึ่งตั้งใจกล่าวถึงเป็นพิเศษ-บันเทิง ตันติวิท มาจากตระกูลธุรกิจที่ภูเก็ต มีความเชื่อมโยงกว้างทั้งระดับโลกและเมืองหลวงในบางมิติ

เมื่อมองผ่านบางสิ่ง เขาเรียนโรงเรียนวชิราวุธ โรงเรียนของชนชั้นนำในกรุงเทพฯ ช่วงเวลานั้น และใช้เวลาหลายปีในระบบการศึกษาอเมริกัน กับสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกแห่งสหรัฐอเมริกา – MIT (Massachusetts Institute of Technology)

บันเทิง ตันติวิท เริ่มต้นทำงานกับทิสโก้ ยุคต้นเช่นเดียวกับชุมพล ณ ลำลียง และศิวะพร ทรรทรานนท์ ในฐานะมืออาชีพอยู่ประมาณ 10 ปี จึงได้เข้าสู่โอกาสใหม่ในฐานะผู้ประกอบการ แตกต่างจากผู้คนรุ่นเดียวกัน ในเวลานั้นพวกเขาเป็นมืออาชีพนักบริหารรุ่นใหม่ ผู้ทรงอิทธิพลในสังคมธุรกิจไทยแล้ว

เขาก่อตั้งและฟื้นฟูกิจการเงินทุนและหลักทรัพย์ ในนาม “ธนชาต” จากกิจการเล็กๆ ซี่งมีปัญหา จนกลายเป็นสถาบันการเงินอันแข็งแกร่ง มีเครือข่ายกว้างขวาง

ว่ากันว่าปัจจัยหนึ่งสนับสนุน โดยความสัมพันธ์กับธนาคารเก่าแก่-ไทยพาณิชย์ หากเทียบเคียงช่วงเวลาขณะนั้น ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็นผู้นำคนสำคัญธนาคารแห่งนี้

บันเทิง ตันติวิท โลดแล่นตามจังหวะสถานการณ์และวิกฤตการณ์ แสวงหาโอกาสใหม่อย่างน่าทึ่ง โดยเฉพาะหลังยุคธนาคารธนชาต ก่อตั้งขึ้น มีดีล มีจังหวะก้าว ขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นธนาคารใหญ่ที่สุดในบรรดาธนาคารใหม่ ยุคเดียวกันที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว (ภาพพัฒนาการอย่างกว้าง เกี่ยวกับ “ธนาคารธนชาต” ดูจากข้อมูลประกอบในตอนที่แล้ว)

 

อีกบุคคลหนึ่ง แม้ร่วมยุคเดียวกัน แต่มี profile และแบบแผนธุรกิจที่แตกต่างกันออกไป อนันต์ อัศวโภคิน มาจากครอบครัวธุรกิจขนาดกลางๆ ในสังคมไทย จากธุรกิจโรงรับจำนำ จนถึงโรงแรมเก่าแก่ ถนนพระราม 4 ที่มีอายุราวครึ่งศตวรรษ มารดาของเขา-เป็นผู้บุกเบิกโครงการบ้านจัดสรรรายแรกๆ ในยุคสงครามเวียดนาม

เขาผ่านการศึกษาทั้งระบบไทยและอเมริกัน (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Illinois Institute of Technology) ใช้เวลาไม่นานจากนั้น ก้าวเป็นผู้บริหาร สืบทอดต่อยอดธุรกิจเดิมอย่างจริงจัง ในต้นทศวรรษ 2530 เป็นจังหวะที่ดีช่วงต้นๆ โอกาสใหม่ๆ เปิดกว้าง มีทั้ง “หน้าใหม่” และ “หน้าเก่าปรับโฉมใหม่” มาเป็นขบวน โดยเฉพาะความมั่งคั่งที่พอกพูนมาจากกระบวนการตลาดหุ้น

แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในยุคหลังวิกฤตสถาบันการเงินครั้งแรก ริเริ่มโครงการบ้านจัดสรรสมัยใหม่ชานเมือง เป็นบุคลิกสำคัญในเวลาต่อมาถือว่าประสบความสำเร็จอย่างดีและขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว สัมพันธ์กับช่วงเวลาการขยายระบบสาธารณูปโภคครั้งใหญ่ของเมืองหลวง การระดมทุนจากตลาดหุ้นและความสัมพันธ์กับระบบธนาคารดั้งเดิม

ในปีเดียวกัน (2532) ที่เข้าตลาดหุ้น มาพร้อมกับการเปิดโครงการใหญ่ซึ่งนัยยะ ร่วมทุนกับกลุ่มธนาคารเอเชีย (ปัจจุบันถูกหลอมรวมอยู่ในธนาคารยูโอบี) ไทยพาณิชย์ และกสิกรไทย ในพื้นที่ 740 ไร่ ริมถนนวิภาวดีรังสิต ชื่อนอร์ธ ปาร์ค ประกอบด้วยสนามกอล์ฟ อาคารสำนักงาน โรงแรม และสปอร์ตคอมเพล็กซ์ (ต่อมาแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ได้ขายหุ้นทั้งหมด 40% ให้กลุ่มของธนาคารเอเชีย ต่อมาอีกตกเป็นของกลุ่มทีซีซี)

อนันต์ อัศวโภคิน กับแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และบันเทิง ตันติวิท กับธนชาต มีบางอย่างคล้ายๆ กัน ในความสามารถขยายกิจการอย่างหลากหลาย ปรับตัว เปลี่ยนแผน ผ่านบทเรียนทั้งด้านลบและบวก ก้าวข้ามสถานการณ์ผันแปรและวิกฤตมาได้ ดูจะเป็นเหตุเป็นผลพอสมควร ในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญในธนาคารใหม่ยุคเดียวกัน (ภาพกว้าง – “ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์” ดูข้อมูลประกอบในตอนที่แล้วเช่นกัน)

ที่ว่ามา (ทั้งสองตอน) จะถือว่าเป็นแนวทางหนึ่งทางความคิดก็ย่อมได้ ในการติดตามกระบวนการการเกิดขึ้นธนาคารไร้สาขา •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | https://viratts.com