Queen of the World : รัฐสตรีผู้ยิ่งใหญ่ในเครือจักรภพ

รายงานพิเศษ | กรกฤษณ์ พรอินทร์

Queen of the World : รัฐสตรีผู้ยิ่งใหญ่ในเครือจักรภพ

 

สถาบันกษัตริย์มีความจำเป็นอยู่หรือไม่ในยุคสมัยนี้?

เป็นคำถามที่ประชาชนอังกฤษตั้งคำถามในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านรัชสมัยอันเรืองรองของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สู่การเสด็จขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ผู้เป็นรัชทายาท เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2022

ตลอด 70 ที่ทรงครองราชย์ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงประกอบพระราชกรณียกิจมากมายในฐานะประมุขแห่งเครือจักรภพ ที่พบเจอกับการเปลี่ยนผ่านนานามาอย่างยาวนาน แต่ยังทรงวางพระองค์ไว้เหนือความขัดแย้งต่างๆ และทรงบริหารพระราชอำนาจตามบทบาทที่ได้รับอย่างไม่ขาดตกบกพร่องในตลอดรัชสมัย

ด้วยประเด็นที่น่าสนใจนี้ สำนักพิมพ์มติชนจึงจัดงาน “Special Talk : Queen of the World รัฐสตรีผู้ยิ่งใหญ่ในเครือจักรภพ” ในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2566 เวลา 13.30-15.00 น. ณ ร้านหนังสือ Kinokuniya สาขา centralwOrld ชั้น 6 โดยมีอรรถ บุนนาค เป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดยบรรณาธิการเล่ม อรนลิน รมยานนท์

Soft Power ของสถาบันกษัตริย์

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจของงานเสวนาครั้งนี้คือการมองถึงพระราชอำนาจและการมีอยู่ของราชวงศ์อังกฤษว่าเป็น Soft Power ประเภทหนึ่ง โดยการอนุมานจากปรากฏการณ์ของซีรีส์ The Crown ที่เล่าเรื่องราวของราชวงศ์อังกฤษผ่านสถานการณ์แวดล้อมสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 นับตั้งแต่เริ่มเสด็จขึ้นครองราชย์ ที่แสดงถึงการใช้สถาบันกษัตริย์เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมผ่านความบันเทิงในรูปแบบการสตรีมมิ่งที่เข้ากันดีกับพฤติกรรมของผู้คนยุคใหม่

เดิมทีนั้น ความเป็นสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมของสถาบันอังกฤษมีความหลากหลายมากมายอยู่แล้ว ทั้งการนำพระฉายาลักษณ์และพระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 2 มาพิมพ์เป็นจาน ช้อน ถ้วย แก้ว แสตมป์ ของที่ระลึกในวาระต่างๆ หรือเป็นของฝากของใช้ในครัวเรือนด้วยซ้ำไป

อรรถ บุนนาค ชี้ประเด็นที่น่าสนใจว่า การเป็น Soft Power ของสถาบันกษัตริย์ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่มีการบริหารพระราชอำนาจ

ซึ่งพระราชอำนาจอย่างหนึ่งของราชวงศ์อังกฤษที่คนนึกไม่ถึงก็คือพระราชพิธีต่างๆ การรับมือกับข่าวลือ และการใช้สื่อเป็นเครื่องมือนั่นเอง

การบริหารอำนาจผ่านงานพระราชพิธี

สิ่งหนึ่งที่ราชสำนักทั่วโลกใช้ในการรับมือข่าวลือในทางเสียหายของราชวงศ์คือการเงียบ ซึ่งถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด เพราะในอดีต ต่อให้ข่าวลือยังคงมีข้อกังขา แต่ก็ไม่มีผลกระทบที่ตามมามากเท่าไหร่

แต่ในยุคปัจจุบันที่ดราม่าเกิดทุกวัน โดยเฉพาะสื่อที่โหมกระพือขายข่าว หากทางราชสำนักเงียบไปอีกสัก 2 วัน ผู้คนก็คงลืมข่าวลือของทางราชวงศ์ไปหมดแล้วเพราะมีดราม่าอื่นสอดแทรกขึ้นมา

การเงียบจึงถือเป็นการรับมือที่ได้ผลในระดับหนึ่ง ยกเว้นว่ามีเรื่องร้ายแรงที่รุนแรงจนการเงียบไม่อาจแก้ไขได้ จึงจะมีการออกมาแก้ไขข่าวลือนั้นๆ

จากข้อสังเกตของอรรถ บุญนาค ระบุว่า ในช่วงที่สมเด็จพระราชินีนาถทรงพระชนมายุมาก พระองค์ดูจะไม่สนพระทัยในการแก้ไขข่าวลือกับสื่อสักเท่าไหร่ แต่หากเป็นเสียงประชาชนที่ตั้งคำถาม พระองค์จะทรงฟังเสียงประชาชนและมีพระราชปฏิสันถารสนองตอบ อย่างเช่นกรณีการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอาน่า

ในทางตรงกันข้าม แม้จะมองว่าสื่อคือไม้เบื่อไม้เมากับทางราชวงศ์ แต่สื่อก็มีส่วนช่วยสนับสนุนและส่งเสริมภาพลักษณ์ของราชวงศ์ในการปรับตัวให้เข้ากับโลกสมัยใหม่ที่รุดหน้าไปในทุกวันด้วย อย่างเช่นในสมัยก่อน ก็คือการถ่ายทอดสดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกผ่านโทรทัศน์แบบขาวดำ จนไปถึงการถ่ายทอดสดถึงพระราชพิธีต่างๆ ในยุคหลัง ซึ่งเดิมทีพิธีกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งลี้ลับ หวงแหน ไม่ให้ใครเห็น

แต่เมื่อเป็นรัฐชาติสมัยใหม่แล้ว พิธีกรรมเหล่านี้จึงไม่ใช่พิธีกรรมเฉพาะทางราชวงศ์กับตัวขุนนางผู้รายล้อมเหมือนยุคโบราณ แต่ต้องหมายรวมถึง “ประชาชน” ด้วย เพราะความเข้มแข็งของสถาบันกษัตริย์ในยุคสมัยใหม่คือการขึ้นอยู่กับความเห็นชอบของประชาชน ไม่ใช่ขุนนางเหมือนแต่ก่อน การถ่ายทอดพระราชพิธีต่างๆ ให้ประชาชนเห็น จึงเป็นการแสดงอำนาจอย่างหนึ่ง การแสดงถึงความดำรงอยู่ หรือการมีอยู่ทางตัวตนของสถาบันกษัตริย์ให้กับประชาชนรู้สึกใกล้ชิด

การถ่ายทอดงานพระราชพิธีทำให้พระราชพิธีที่เคยลี้ลับ ขยายพื้นที่สู่การเป็น “มหรสพ” ในชีวิตประจำวันของประชาชน สถาบันกษัตริย์ที่เคยห่างไกลประชาชน กลับให้ความรู้สึกใกล้ชิดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนจนเกิดความนิยมในตัวพระราชวงศ์แต่ละพระองค์จนเกิดเป็น fandom อย่างหนึ่ง

จนมาถึงปรากฏการณ์ความนิยมในซีรีส์ The Crown นั่นเอง

อิทธิพลของพระราชพิธีกับประเทศต่างๆ

หากจะนับในเชิงการทูตแล้ว พระราชพิธีเหล่านี้ส่งผลต่อประเทศทั้งในและนอกเครือจักรภพแตกต่างกัน สำหรับประเทศในเครือจักรภพ ต้องยอมรับว่า ยิ่งนานวันเข้าพลังอำนาจของความเป็นเครือจักรภพจะยิ่งอ่อนกำลังลงไปเรื่อยๆ เพราะประเทศในเครือจักรภพต่างตระหนักถึงการมีอำนาจอธิปไตยของตนเอง รวมถึงการไม่พึ่งพิงอังกฤษ

แต่การที่มีการถ่ายทอดสดพระราชพิธีแบบนี้ยังคงแสดงออกและตอกย้ำให้ประชาชนในประเทศเหล่านั้นตระหนักว่าตนยังคงเป็นหนึ่งในประเทศแห่งเครือจักรภพอยู่ ผ่านความรุ่งเรืองของพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งส่งผลต่ออำนาจทางการทูต ทางการเมือง หรือแม้กระทั่งการเป็น Soft Wars อย่างหนึ่งในการแสดงอำนาจทางวัฒนธรรมที่มีรากฐานยาวนานต่อประเทศเกิดใหม่ทั้งหลาย

ความยิ่งใหญ่ของเครือจักรภพ สะท้อนได้จากการที่หลายประเทศพยายามยึดโยงกับราชสำนักอังกฤษ เช่น อินเดีย และเวียดนามที่เคยเป็นประเทศอาณานิคม ได้มีสิ่งก่อสร้างทางสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกแต่ปรับให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศผสานกับความเป็นวัฒนธรรมเดิมของประเทศเหล่านั้นเข้าไปด้วย

สำหรับประเทศนอกเครือจักรภาพ จะเป็นเรื่องของการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์วินด์เซอร์กับราชวงศ์อื่นๆ ทั่วโลก อย่างในประเทศไทย สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธทรงเรียกในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า “พี่ชายของฉัน” แสดงถึงความแน่นแฟ้นระหว่าง 2 ราชวงศ์เป็นอย่างดี

หรือที่ในหนังสือ Queen of the World เล่มนี้ระบุถึงราชวงศ์ไทยว่า สมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงใส่ใจมาก เมื่อครั้งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เสด็จเยือนอังกฤษแบบ State Visit (การเยือนอย่างเป็นทางการของประมุขรัฐ ในฐานะแขกของประมุขรัฐ) ว่าไม่ให้บรรเลงเพลง The King and I แสดงให้เห็นว่า ทรงใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ แม้กระทั่งการคัดเลือกเพลงต้อนรับให้เหมาะสมแก่แขกของสมเด็จพระราชินี

ความศิวิไลซ์และความเป็นสมัยใหม่สำหรับประเทศนอกเครือจักรภพ เกิดจากการพยายามเรียนรู้เอง มีตัวอย่างที่เห็นชัดคือไทยและญี่ปุ่น ซึ่งจากหน้าประวัติศาสตร์จะพบว่า สยามในฐานะรัฐกันชนได้หยิบยืมความศิวิไลซ์ของราชวงศ์ตะวันตกมามากมาย ไม่เฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่ง เราหยิบยืมทั้งรัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส

ส่วนความศิวิไลซ์ของราชสำนักญี่ปุ่นนั้นจะเรียกได้ว่านำอังกฤษเป็นแบบอย่างในวัฒนธรรมราชสำนักแทบทั้งหมด ไม่ผสมผสานวัฒนธรรมราชสำนักจากชาติตะวันตกหลายประเทศเหมือนราชสำนักสยาม

การปรับตัวของราชวงศ์ยุคใหม่

การเปลี่ยนแปลงกษัตริย์ในรอบ 70 ปีที่เกิดขึ้นของอังกฤษ หลังจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธสิ้นพระชนม์และเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทำให้เกิดความระส่ำในราชสำนัก เพราะมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมากมายในการสืบราชสันตติวงศ์ จนเป็นประเด็นคำถามข้างต้นของบทความว่า สถาบันกษัตริย์มีความจำเป็นอยู่หรือไม่ในยุคสมัยนี้?

เพราะแต่เดิมในฐานะปัจเจกบุคคล สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก็ทรงมี charisma และพระบารมีมากล้นในฐานะผู้นำประเทศ แต่เมื่อผ่องถ่ายตำแหน่งกษัตริย์มาสู่พระราชโอรสที่มี charisma และพระบารมีน้อยกว่า รวมถึงทรงมีข่าวอื้อฉาวตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นเจ้าฟ้า จึงเกิดเป็นเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ถึงการสืบราชสมบัติครั้งนี้

อรรถ บุญนาค ให้ความเห็นว่า การบ้านของราชวงศ์อังกฤษในยุคใหม่นี้จึงอยู่ที่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ที่ต้องปรับตัวไปพร้อมกับเจ้าฟ้ารุ่นลูกอย่างเจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์ และการควบคุมความประพฤติ เจ้าชายแฮร์รี่ ดยุคแห่งซัสเซกซ์ ให้อยู่ในร่องในรอยเพื่อให้ราชวงศ์อังกฤษยังอยู่ได้อย่างไม่มีความมัวหมอง

ท่ามกลางโลกสมัยใหม่ที่มีพื้นที่ให้กับเลือดสีน้ำเงินน้อยลงทุกที •