ลุมพินีสถาน สงครามเย็น กับอนาคตพื้นที่สาธารณะทางวัฒนธรรม (จบ)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ลุมพินีสถาน

สงครามเย็น

กับอนาคตพื้นที่สาธารณะทางวัฒนธรรม (จบ)

 

เมื่อแรกเห็นอาคารลุมพินีสถานและได้เข้าไปเดิน ได้ไปเห็นสภาพภายในอาคารที่มีความเสื่อมโทรม หักพัง และเต็มไปด้วยความเสียหาย ความรู้สึกแรกคือความตื่นเต้นที่ได้เห็นอาคารร้างกลางเมืองที่มีบรรยากาศน่าถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก

แต่เมื่อได้มีโอกาสเข้าไปทำการศึกษาประวัติตัวอาคารในเวลาต่อมา ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ กลับเป็นความหดหู่ เหมือนเรากำลังยืนมองสถานที่แห่งความทรงจำรุ่นคุณปู่คุณย่าที่เคยมอบความบันเทิงให้แก่ผู้คนเป็นจำนวนมาก

เหมือนเรากำลังยืนมองอาคารที่ทำงานหนักในฐานะพื้นที่สาธารณะแก่สังคมไทยมายาวนานในช่วงที่ตัวมันเองรุ่งโรจน์อยู่ในวัยหนุ่มสาว แต่เมื่อตัวมันร่วงโรยแก่ชรา กลับถูกปล่อยทิ้งอย่างเดียวดายอยู่ข้างหลัง และหลายครั้งผู้คนก็มีแนวคิดที่จะรื้อทิ้ง เพื่อสร้างสิ่งใหม่ที่ทันสมัยกว่าแทน โดยมิได้คำนึงถึงคุณค่ามากมายที่แฝงอยู่ภายใน

ทั้งหมดทำให้ผมนึกเปรียบถึงสังคมไทยที่ปัจจุบันกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัย (Aging Society) เข้าไปทุกที มีคนสูงวัยมากมายที่เมื่อครั้งหนุ่มสาว พวกเขาเหล่านั้นได้ทำประโยชน์ให้แก่สังคม แต่เมื่อถึงวัยชรากลับถูกปล่อยทิ้งไว้ข้างหลัง บางคนไร้ญาติดูแล

บางคนเป็นผู้ป่วยติดเตียงที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างโดดเดียว ทั้งที่ในความเป็นจริงพวกเขาเหล่านั้นควรค่าแก่การใช้ชีวิตในช่วงสุดท้ายอย่างมีความสุขและมองเห็นคุณค่าของตัวเอง

ภาพถ่ายภายในลุมพินีสถาน ในนิทรรศการ “ร่ายรำ” ของโครงการ ลุมพินีสถาน : วัฒนธรรมบันเทิงในยุค 50s-60s
ที่มาภาพ : วีระพล สิงห์น้อย

ที่ทำให้ผมรู้สึกเช่นนั้นก็เพราะ อาคารลุมพินีสถาน เป็นอาคารเก่าที่มีคุณค่าในตัวเองสูงมาก แต่ก็เก่าไม่เพียงพอและมีคุณค่าไม่มากพอสำหรับการอนุรักษ์ให้เป็นโบราณสถานตามเพดานความคิดกระแสหลักของสังคมไทย

ที่สำคัญคือ ประโยชน์ใช้สอยดั้งเดิมของอาคารนี้ก็เป็นเพียงพื้นที่สำหรับวัฒนธรรมบันเทิงของวัยรุ่นหนุ่มสาวที่มิได้มีสถานะทางประวัติศาสตร์และคุณค่าในระดับที่สำคัญมากพอในสายตาของผู้มีอำนาจ

แม้ในเวลาต่อมาตัวอาคารจะเปลี่ยนการใช้งานมาสู่กิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย แต่ทั้งหมดก็มิได้ถูกประเมินว่าสำคัญอะไรนัก

รูปแบบอาคารก็เป็นแบบสมัยใหม่ ไร้ลวดลายประดับตกแต่ง ซึ่งไม่เข้าเกณฑ์คุณค่าทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมแบบไทยๆ อีกเช่นกัน

แต่ในแง่ของประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรม (ที่ภาครัฐไม่สนใจ) พื้นที่แห่งนี้มีคุณค่า เป็นหลักฐาน เป็นความทรงจำ เป็นตัวแทนของยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยุคสมัยหนึ่งของไทย

พื้นที่ในลักษณะนี้ ในหลายสังคมหวงแหน รักษา และปรับใช้มัน โดยไม่จำเป็นต้องรื้อทิ้งแต่อย่างใด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่ลีลาศในปัจจุบันก็มิได้มีปริมาณมากมายอะไรนัก ที่มีส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงพื้นที่ขนาดเล็กและไม่ได้เป็นพื้นที่สำหรับให้ผู้เต้นสามารถอวดโชว์ลีลาและท่วงท่าสู่สาธารณะมากนัก ดังนั้น หากสามารถรักษาพื้นที่ลุมพินีสถานให้เป็นพื้นที่ลีลาศต่อไปได้ ก็จะเป็นทางออกที่ผมว่าน่าสนใจ

เป็นการเปิดพื้นที่สาธารณะสำหรับคนสูงวัยให้ได้มีพื้นที่ในการแสดงออกและผ่อนคลายเพิ่มมากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม การรื้อฟื้นลุมพินีสถานให้กลายมาเป็นพื้นที่ในการเต้นลีลาศเพียงอย่างเดียว ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับว่าลีลาศเป็นกิจกรรมที่มีกลุ่มเป้าหมายหลักคือคนสูงวัย ก็อาจมิใช่คำตอบที่เหมาะสมนัก

การพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ในลักษณะของการเป็น multi-functional space ที่ในด้านหนึ่งยังคงสืบทอดเวทีลีลาศสำหรับผู้สูงวัยเอาไว้ ในขณะที่สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่หรือแชร์ใช้พื้นที่สำหรับกิจกรรมประเภทอื่นสำหรับคนกลุ่มอื่นไปพร้อมกัน อาจจะเป็นทิศทางที่ดีและคุ้มค่ามากกว่า

เท่าที่ทราบ มีหลายกลุ่มกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่มีความสนใจในการเข้ามาปรับใช้อาคารหลังนี้เพื่อให้เป็นที่แสดงดนตรี แสดงละคร เวิร์กช็อปทางศิลปะ ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่หนุนเสริมให้ลุมพินีสถานสามารถมีชีวิตใหม่ในฐานะพื้นที่สาธารณะทางศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย โดยไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์พื้นที่แห่งนี้เพื่อลีลาศเพียงอย่างเดียว

แน่นอนว่า เมื่อมีความต้องการปรับใช้อาคารเก่าเพื่อกิจกรรมสมัยใหม่ ตัวอาคารเก่าที่ถูกออกแบบมาเพื่อเป้าหมายอย่างหนึ่งในอดีต ย่อมไม่สามารถตอบสนองการใช้งานกิจกรรมรูปแบบใหม่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงอาคาร ตั้งแต่ในระดับเล็กน้อยจนถึงการรื้อบางส่วนของอาคารลงและสร้างพื้นที่ใหม่แทรกตัวลงไปแทน

ประเด็นคือ ส่วนไหนของอาคารที่สามารถรื้อถอนปรับเปลี่ยนได้ และส่วนไหนควรเก็บรักษาเอาไว้ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว อันนี้คือคำถามโลกแตกที่มีความเห็นแตกต่างหลากหลายมากในแต่ละกรณีศึกษา

 

แต่ในกรณีของลุมพินีสถาน ผมคิดว่ามีอยู่ 3 ส่วนที่ชัดเจนมากว่าควรได้รับการอนุรักษ์เอาไว้ ไม่ว่าอาคารนี้จะถูกปรับเปลี่ยนการใช้งานเป็นอะไรก็ตาม

หนึ่ง เวทีหมุนซึ่งเป็นสัญลักษณ์และภาพจำของอาคาร รวมถึงเครื่องจักรที่อยู่ด้านล่างของเวทีที่คอยทำหน้าที่หมุนเวที แม้ตัวมันเองมิได้มีความพิเศษมากนักในเชิงวิศวกรรม แต่ในแง่ของประวัติศาสตร์สังคม เวทีและเครื่องจักรชุดนี้คือประจักษ์พยานของความทันสมัยและมรดกทางวัฒนธรรมบันเทิงในยุคสงครามเย็นชิ้นเยี่ยม

สอง ฟลอร์ลีลาศปูพื้นไม้ปาร์เกต์ ซึ่งผลิตนักลีลาศชั้นนำในสังคมไทยมากมาย เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ควรเก็บรักษาไว้ แต่การเก็บรักษาก็จำเป็นที่จะต้องปรับรายละเอียดบางอย่างเพื่อทำให้ฟลอร์ลีลาศนี้สามารถที่จะแชร์การใช้งานกับกิจกรรมอื่นได้ เช่น เป็นพื้นที่นั่งฟังดนตรี พื้นที่นั่งดูละคร หรือแม้แต่พื้นที่จัดแสดงศิลปะ

สาม fa?ade ด้านหน้าของลุมพินีสถาน ที่ปรากฏตัวอักษรเหล็กขนาดใหญ่ติดตั้งอยู่สองด้านของอาคาร ด้านหนึ่งเป็นตัวอักษรภาษาไทยเขียนว่า “ลุมพินีสถาน” อีกด้านเขียนคำว่า “LUMPINI HALL” ซึ่งตัวแผง fa?ade ด้านหน้าชุดนี้ จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการส่งผ่านความทรงจำและความหมายของสถานที่แห่งนี้สู่คนรุ่นต่อไป

ในปี พ.ศ.2568 สวนลุมพินีจะมีอายุครบ 100 ปี ผมคิดว่าการปรับปรุงอาคารลุมพินีสถานเพื่อให้อาคารหลังนี้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะทางวัฒนธรรมบันเทิงทั้งสำหรับผู้สูงวัยและคนรุ่นใหม่ โดยเก็บรักษาองค์ประกอบ (อย่างน้อย) 3 ส่วนตามที่ผมได้กล่าวมาข้างต้น น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีงามในการก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 2 ของสวนลุมพินี

 

ประเด็นสุดท้ายที่อยากพูดถึงคือ ที่ผมให้ความสนใจอาคารหลังนี้เป็นพิเศษ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะลุมพินีสถานทำให้ผมนึกถึงโรงภาพยนตร์สกาลา อาคารรุ่นน้องที่เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญอีกชิ้นในประเด็นว่าด้วยวัฒนธรรมบันเทิงในยุคสงครามเย็น

ทั้งๆ ที่ตัวอาคารสกาลาประกอบด้วยงานศิลปกรรมสมัยใหม่ที่สวยงามกว่ามาก และแสดงให้เราเห็นถึงเทคโนโลยีการก่อสร้างในยุคสมัยใหม่ได้อย่างน่าทึ่ง แต่ก็ยังสามารถถูกรื้อทำลายโดยไม่ไยดีได้ แล้วทำไม ลุมพินีสถาน (ที่แม้จะมีอายุเก่าแก่กว่า) จะไม่มีความเสี่ยงที่จะถูกรื้อถอน

เราเริ่มได้ยินเหตุผลเดิม ๆ เพื่อใช้ในการรื้อถอนอาคารหลังนี้ (ที่มีอายุเพียงราว 70 ปี) ว่ามีความเสื่อมสภาพทางโครงสร้างจนไม่อาจซ่อมได้ แต่อาคารที่มีอายุเก่ากว่าหลายร้อยปีกลับอนุรักษ์และซ่อมให้คงสภาพอยู่ได้

บางครั้งเราก็ได้ยินเรื่องเล่า (ที่ไม่ยอมมีใครพิสูจน์อย่างจริงจัง) ว่าฐานรากของตัวอาคารลุมพินีสถานเป็นไม้ทั้งหมด ดังนั้น อาคารควรต้องถูกรื้อถอนทิ้งเพื่อสร้างใหม่ ทั้งๆ ที่มีโอกาสสูงมากที่ฐานรากของตัวอาคารจะเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก มิใช่ไม้

ทั้งหมดนี้ ในด้านหนึ่ง คือสัญญาณของความพยายาม (ทั้งโดยตั้งใจและตั้งใจ) ในการทำลายประวัติศาสตร์และความทรงจำของคนธรรมดาสามัญ และประวัติศาสตร์ที่มิได้เป็นไปตามความเชื่อและมาตรฐานของประวัติศาสตร์กระแสหลักที่มองเห็นเพียง วัด วัง ป้อม กำแพงเมือง เท่านั้นที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์

ผมใช้เนื้อที่มากถึง 3 สัปดาห์ในการพูดถึงอาคารที่คนเป็นจำนวนมากไม่สนใจ ก็ด้วยเหตุผลคือ ผมไม่อยากปล่อยให้ลุมพินีสถานมีชะตากรรมเหมือนสกาลา