Permacrisis! วิกฤตโลก 2023 | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“บรรณารักษ์พจนานุกรมภาษาอังกฤษของคอลลินส์ ประกาศว่า ‘permacrisis’ เป็นคำใหม่สำหรับปี 2022 ซึ่งมีความหมายถึงระยะเวลาที่ยาวนานออกไปของความไร้เสถียรภาพและความไม่มั่นคง [ของโลก]”

The Economist

 

โลกในปี 2023 อาจจะไม่สดใสเท่าใดนัก เพราะสถานการณ์สืบเนื่องจากปี 2022 ยังมีภาวะของความเป็นวิกฤตอย่างเห็นได้ชัด และผลสืบเนื่องที่เกิดขึ้นทำให้ปีใหม่ยังเป็น “ปีแห่งวิกฤตต่อเนื่อง” หรืออาจกล่าวได้ว่าโลกมีสภาวะเป็น “permacrisis”

ถ้าเราลองถอยกลับไปในระยะสั้นจากจุดเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ในปี 2020 ซึ่งจะเห็นได้ว่า การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จากปีดังกล่าวมีส่วนอย่างมากในการกำหนดทิศทางของโลก

และปัจจัยสำคัญอีกประการคือ การกำเนิดของสงครามรัสเซีย-ยูเครนในต้นปี 2022 ซึ่งก็มีผลต่อการกำหนดทิศทางการเมืองระหว่างประเทศอย่างมาก ดังเช่นที่เราเห็นในปัจจุบัน

หรืออาจกล่าวได้ว่าในช่วงระยะเวลา 3 ปี (2020-2022) ที่ผ่านมา ปัจจัยทั้งสองนี้จึงเป็นดัง “มหาวิกฤต” ที่พาเอาโจทย์ต่างๆ ที่สำคัญมาเป็นสภาวะของ “วิกฤตต่อเนื่อง” สำหรับโลกในอนาคตอีกด้วย

 

มหาวิกฤตกำลังสอง

ในช่วงที่ผ่านมา เราคงต้องยอมรับว่า “วิกฤตโรคระบาด” และ “วิกฤตสงครามยูเครน” เป็นสองมหาวิกฤตใหญ่ที่กำหนดทิศทางโลก

อย่างที่เรากล่าวกันเสมอในยุคโรคระบาดว่า โลกหลังโควิดจะไม่มีอะไรเหมือนเก่าอีกแล้ว จนเราอาจกล่าวเป็นข้อสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงใน 4 มิติต่างได้ว่า “โรคเปลี่ยนโลก… โรคเปลี่ยนรัฐ… โรคเปลี่ยนสังคม… โรคเปลี่ยนชีวิต”

ดังจะเห็นได้ว่าชีวิตในสี่ระดับนี้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากนับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ซึ่งเราคงคาดหวังแบบง่ายๆ ว่า การระบาดของโควิด-19 ที่วันนี้มีสภาวะเป็น “โอไมครอน” จะสิ้นสุดลงในปีใหม่นี้ ซึ่งยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามว่าจะเกิดการกลายพันธุ์หรือไม่

เว้นแต่จะมีข้อดีที่พอคาดได้ว่า ความรุนแรงของการระบาดที่ทำให้เสียชีวิตน่าจะน้อยลง ซึ่งทำให้เกิดความหวังอย่างมากว่าสภาวะการระบาดของโควิด-19 จะเป็นเหมือนดังไข้หวัดธรรมดาในปีใหม่ เพื่อที่ทำให้ชีวิตทางสังคมได้กลับคืนมาเป็นปกติได้บ้าง

ซึ่งการลดระดับลงและไม่มีสถานะเป็นโรคระบาดเป็นหนึ่งในความหวังของปีใหม่ 2023 และการกลายพันธุ์จะไม่มีผลต่อ “วิกฤตด้านสาธารณสุข”

ในขณะที่การระบาดยังไม่จบลงในปี 2022 สิ่งที่ไม่มีคาดคิดก็เกิดขึ้นคือ การตัดสินใจของผู้นำรัสเซียในการบุกยูเครนในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2022 สงครามชุดนี้แม้จะหลายฝ่ายอาจจะประเมินมาก่อนว่า ประธานาธิบดีปูตินอาจจะตัดสินใจยึดยูเครน เพราะการผนวกไครเมีย ซึ่งเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของยูเครนในปี 2014

กลายเป็นสัญญาณว่า รัสเซียซึ่งพยายามฟื้นสถานะของตนเองด้วยการขยายอิทธิพลของตนตั้งแต่วิกฤตการณ์จอร์เจียในปี 2008 วิกฤตการณ์ยูเครน 2014 (การใช้กำลังผนวกไครเมียและดอนบาส) และการขยายบทบาททางทหารของรัสเซียในสงครามกลางเมืองซีเรีย 2015

การขยายบทบาทและอิทธิพลของรัสเซียดังที่กล่าวแล้ว ทำให้มีการประเมินว่ารัสเซียอาจตัดสินใจใช้กำลังเข้ายึดยูเครนทั้งประเทศ

เพียงแต่ไม่มีใครคิดว่า การส่งกำลังของรัสเซียบุกยูเครนนั้น จะเกิดขึ้นในต้นปี 2022 และเป็นความคาดหวังของผู้นำรัสเซียว่า การใช้กำลังบุกอย่างรวดเร็วเช่นนี้ จะทำให้กองทัพยูเครนตั้งรับไม่ทัน และชัยชนะจะตกเป็นของรัสเซีย

แต่เมื่อการต้านทานของยูเครนมีความเข้มแข็งมากกว่าที่หลายฝ่ายคิด ทำให้ความหวังที่จะชนะศึกอย่างรวดเร็วไม่เป็นความจริง และส่งผลให้สงครามยาวออกไป จนคาดได้ว่าสงครามจะยังคงเป็นประเด็นสำคัญของปี 2023

การดำรงอยู่ของมหาวิกฤตสองชุดที่เกิดขึ้นเช่นนี้ คงต้องเรียกว่าเป็น “มหาวิกฤตยกกำลังสอง” เพราะสองวิกฤตดังกล่าวยังก่อให้เกิดวิกฤตอื่นๆ ตามมา และมีผลอย่างมากกับการเมืองและเศรษฐกิจของโลกในปีใหม่ และอาจทำให้ภูมิทัศน์ของโลกอยู่ในสภาวะ “โรคยังระบาด สงครามยังไม่จบ” ซึ่งก็จะทำให้วิกฤตการณ์ที่เป็นผลสืบเนื่องยังมีความรุนแรงในปี 2023

 

วิกฤตสืบเนื่อง

สิ่งที่เห็นได้ชัดอันเป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 และสงครามยูเครน ได้แก่ 1) วิกฤตเศรษฐกิจ 2) วิกฤตพลังงาน 3) วิกฤตอาหาร 4) วิกฤตค่าครองชีพ (ที่เป็นผลโดยตรงจากราคาพลังงาน ราคาอาหาร และอัตราดอกเบี้ยในประเทศของตนที่สูงขึ้น) 5) วิกฤตความยากจน

และยังส่งผลให้เกิดอีกหนึ่งวิกฤตคือ ผู้อพยพสำหรับยุโรปอีกด้วย เนื่องจากพื้นที่ที่อยู่อาศัยของประชาชนถูกทำลายจาก “การโจมตีทางอากาศอย่างไม่จำแนก” ของรัสเซีย หรืออาจจะเรียกได้ว่า เป็น “วิกฤต 5+1” ในเวทีโลก

ฉะนั้น สภาวะ “มหาวิกฤตยกกำลังสอง” ที่ก่อให้เกิด “วิกฤต 5+1” นั้น ยังเกิด “วิกฤตคู่ขนาน” ที่สำคัญอีกชุดคือ “วิกฤตสภาวะอากาศ” ของโลก ที่ด้านหนึ่งมีนัยอย่างสำคัญกับปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร เนื่องจากความผันแปรของอากาศทำให้การผลิตอาหารในหลายสังคมได้รับผลกระทบอย่างมาก

และนำไปสู่การเกิด “วิกฤตอาหาร” จนประเด็นทั้งสองถือเป็นความกังวลอย่างมากสำหรับสหประชาชาติ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจะมีผลอย่างมากกับชีวิตของผู้คนในประเทศยากจน

จากเงื่อนไขในข้างต้น ทำให้ในปี 2023 เรื่องใหญ่ที่อาจต้องเตรียมรับมือจึงได้แก่

1) การขยายตัวของสงครามยูเครน โดยเฉพาะปัญหาความกังวลว่า รัสเซียจะขยายสงครามออกไปหรือไม่

2) รัฐบาลจะต้องออกมาตรการในการรับมือกับปัญหาเงินเฟ้อ และประชาชนในสังคมอาจจะต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อมากขึ้น

3) รัฐบาลจะควบคุมความผันผวนของราคาอาหารและพลังงานได้เพียงใด ซึ่งปัญหา 3 ประการเช่นนี้เป็นความท้าทายใหญ่สำหรับปี 2023

 

ประเด็นสำคัญในเวทีโลก

จากสถานการณ์โลกที่กล่าวแล้วในข้างต้น เรายังคงมีประเด็นสำคัญที่ถือว่าต้องจับตามองอย่างมากในปีใหม่นี้ ได้แก่

1) การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ยังคงเป็นโจทย์สำคัญของการเมืองโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะการแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐที่มีแนวโน้มจะทวีความเข้มข้นมากขึ้น

2) สงครามรัสเซีย-ยูเครนและการต่อสู้ของรัฐมหาอำนาจยุโรปทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะการ “ยกระดับสงคราม” ของรัฐคู่ขัดแย้ง

3) ความกังวลต่อปัญหาสงครามนิวเคลียร์ยังเป็นประเด็นต่อเนื่อง ทั้งในบริบทของสงครามยูเครน ที่มีคำถามถึงความเป็นไปได้ในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีเพื่อตอบโต้การรุกของกองทัพยูเครน หรือบริบทของความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี ที่ผู้นำเกาหลีเหนือทดลองขีปนาวุธอย่างต่อเนื่อง

4) น่าสนใจว่าในปี 2023 จะมีการย้ายค่ายทางการเมืองในระบบพันธมิตรของรัฐมหาอำนาจใหญ่หรือไม่ (ปัญหา shifting alliances)

5) จุดร้อนที่เกิดจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ นอกเหนือจากสงครามยูเครน ยังเป็นสิ่งที่ต้องจับตา เช่น ปัญหาจีน-ไต้หวัน ปัญหาสงครามชายแดนจีน-อินเดีย ปัญหาทะเลจีนใต้ เป็นต้น

6) การฟื้นตัวของจีนในยุคหลังโควิด และสถานะของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

7) ปัญหาความแตกแยก และความแตกต่างทางความคิดในสังคม และการขยายบทบาทของกลุ่มขวาจัดกับการเมืองของโลกตะวันตกในอนาคต

8) สัญญาณของภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นในเวทีโลก

9) วิกฤตค่าครองชีพ และการขยายตัวของความยากจนที่เกิดทั่วโลก ส่งผลให้ปัญหาความมั่นคงของมนุษย์เป็นหัวข้อสำคัญเสมอ โดยเฉพาะการฟื้นชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคมสำหรับคนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในหลายประเทศ

10) ความผันผวนของสภาวะอากาศของโลกที่มีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งภาพสะท้อนสำคัญจะยังเห็นได้จากปัญหาไฟป่า และความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล เป็นต้น

11) หากโควิด-19 ลดความรุนแรงลงในปีใหม่แล้ว เราอาจเห็นการฟื้นตัวของโลกาภิวัตน์ผ่านการท่องเที่ยว

12) ปัญหาการแยกฝ่ายในทางเศรษฐกิจ จะทำให้ “ห่วงโซ่การผลิต” ได้รับผลกระทบอย่างมากในปีใหม่

13) โลกของ “เมตาเวิร์ส” (Metaverse) จะปรากฏเป็นจริงเพียงใดในปี 2023

14) โลกของการเรียกร้องเสรีภาพ ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านสงครามในรัสเซีย การประท้วงโควิดในจีน การเรียกร้องสิทธิสตรีในอิหร่าน และในอัฟกานิสถาน

15) การต่อสู้ทางการเมืองของโลกจะเป็นระหว่าง “ประชาธิปไตย vs อำนาจนิยม” หรืออาจตีความว่าเป็นเรื่องระหว่าง “เสรีนิยม vs อำนาจนิยม” โดยนัยคือ การแข่งขันระหว่างระบอบ “ประชาธิปไตย vs เผด็จการ” และชุดความคิดทางการเมืองนี้จะแบ่งโลกทางการเมืองมากขึ้นในปีใหม่ และจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของ “สงครามเย็นใหม่” ในเวทีโลก

นอกจากนี้ เราไม่อาจละเลยปัญหาเก่าที่อาจจะไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในเวทีโลกสำหรับปีหน้า ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการก่อการร้ายระหว่างประเทศ ที่อาจจะดูลดระดับความรุนแรงลง ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความก้าวหน้าของโลกไซเบอร์

ตลอดรวมถึงปัญหาการโจมตีด้านไซเบอร์ ยังอยู่กับโลกเสมอ เพียงแต่ประเด็นเหล่านี้อาจจะไม่ถูกมองว่ามีความสำคัญ

 

วิกฤตโลกยังไม่จบ!

หากมองโลกในปี 2023 แล้ว คำใหม่ในพจนานุกรมของคอลลินส์น่าจะเป็นคำอธิบายที่ชัดเจนที่สุด อันเป็นการรวมคำสองคำคือ “permanent/ถาวร+crisis/วิกฤต” และย่อคำเหลือเพียง “permacrisis” ซึ่งบ่งชี้ถึงอาการของโลกอย่างชัดเจนว่าเป็นดัง “วิกฤตถาวร”

หรืออาจกล่าวได้ว่า สภาวะของโลก 2023 คือ “ความไร้เสถียรภาพ” (instability) และ “ความไม่มั่นคง” (insecurity) อย่างต่อเนื่อง

แน่นอนว่าสงครามจะยังอยู่กับเราในปี 2023 เช่นเดียวกับวิกฤตอื่นๆ แม้โควิด-19 อาจจะเบาบางลง แต่ปัญหาความไร้เสถียรภาพและความไม่มั่นคงนั้น แทบจะอยู่กับเราแบบถาวรแล้ว

ซึ่งก็อาจนำไปสู่ข้อสรุปประการเดียวว่า “วิกฤตโลกยังไม่จบ”!