อุษาวิถี (14) อุษาวิถีจากกระแสจีน

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (14)

อุษาวิถีจากกระแสจีน

 

จีนเมื่อครั้งอดีตกาลหลายพันปีก่อนที่ยังมิได้เป็นรัฐประชาชาติดังในทุกวันนี้ แต่เป็นจีนที่เริ่มจากการรวมตัวกันของมนุษย์ด้วยการเป็นชนเผ่า และเมื่อเวลาผ่านไปขนาดชุมชนก็ขยายใหญ่กลายเป็นรัฐเล็กรัฐน้อย ที่กระจายตัวอยู่ตามที่ราบลุ่มแม่น้ำหวงเหอ (ฮวงโห) หรือแม่น้ำเหลือง (Yellow River)

ที่ราบลุ่มนี้ถูกนับให้เป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมจีนเท่าที่มีการค้นพบและยอมรับกัน แม้ในชั้นหลังมานี้จะมีการค้นพบหลักฐานโบราณคดีที่มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ที่อยู่นอกที่ราบลุ่มแม่น้ำเหลือง หรืออาจจะมีการค้นพบในที่อื่นๆ เพิ่มขึ้นอีกก็ตาม

แต่ก็คงไม่อาจสั่นคลอนอารยธรรมที่ราบลุ่มแม่น้ำเหลืองในฐานะแหล่งกำเนิดที่มีอายุประมาณ 5,000 ปีไปได้โดยง่าย

อย่างไรก็ตาม คนในที่ราบลุ่มแห่งนี้ไม่เคยเรียกตนเองว่า จีน ชิน (Chin) “ซิน” (Sin) “ซีเรส” (Seres) หรือ “คาเธ่ย์” (Cathay) ที่เป็นฐานสำเนียงในภาษาฝรั่ง ที่มาของคำเรียกเหล่านี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันหาข้อสรุปไม่ได้

ยกเว้นก็แต่คำว่า คาเธ่ย์ เท่านั้น ที่เป็นคำเรียกของชาวยุโรปตะวันออก โดยเฉพาะชาวรัสเซีย แต่เอาเข้าจริงแล้วคำคำนี้กลับเป็นคำที่ใช้เรียกชนชาติตาดเผ่าหนึ่ง ครั้นเรียกไปนานวันเข้าผู้คนก็เข้าใจไปว่าคือชนชาติจีน

ส่วนคำที่เหลือนอกนั้นทราบแต่เพียงว่า เป็นคำสันสกฤตที่อินเดียใช้เรียกชาวจีนมานานนับพันปีแล้ว

 

ชนกลุ่มนี้เรียกตนเองว่า ฮั่น (Han) และต่อมาได้กลายเป็นชื่อของราชวงศ์หนึ่งที่มีความเจริญรุ่งเรืองยาวนานหลายร้อยปี โดยภายหลังราชวงศ์นี้ไปแล้ว คำเรียกนี้ก็กลายเป็นคำเรียกชาวจีนที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้

พวกฮั่นที่มีแหล่งอารยธรรมของตนอยู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำเหลือง อันตั้งอยู่บริเวณภาคเหนือของจีนนั้น ไม่มีปัญหาการถูกรุกรานของคนต่างชาตินอกแผ่นดินใหญ่ หากแต่จะถูกรุกรานจากจากชนชาติต่างๆ ที่อยู่ในแผ่นดินเดียวกัน ซึ่งมีอยู่นับสิบชนชาติด้วยกัน

การรุกรานโดยมากจะมาจากชนชาติที่มีถิ่นฐานอยู่ทางภาคเหนือของจีน เช่น มองโกล แมนจู เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ พวกฮั่นจึงมีความกังวลใจและระแวดระวังการรุกรานนี้อยู่เสมอ และทำให้ต้องสูญเสียเวลาและทรัพยากรไปไม่น้อยในการหาทางป้องกันการรุกรานนั้น กำแพงเมืองจีนถือเป็นหลักฐานที่สะท้อนความจริงดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

กระนั้นก็ตาม จะเป็นเพราะพวกฮั่นเป็นประชากรส่วนใหญ่ของแผ่นดินใหญ่จีน หรือเป็นเพราะเป็นกลุ่มชนที่มีอารยธรรมสูงกว่าชนชาติอื่นๆ บนแผ่นดินเดียวกันก็ตาม โดยรวมแล้วยังคงสามารถกล่าวได้ว่า พวกฮั่นสามารถป้องกันตนเองจากการรุกรานนั้นได้เป็นส่วนใหญ่

จนสามารถสืบสานวัฒนธรรมบนฐานอารยธรรมที่แข็งแกร่งของตนเรื่อยมาโดยไม่สั่นคลอน

พวกฮั่นจึงมีค่านิยมไปในทางที่ดูถูกเหยียดหยามคนนอกวัฒนธรรมตน และเรียก “คนนอก” เหล่านี้ว่า “คนป่าเถื่อน” (ฟานเหญิน)

 

ในอดีตกาล หากชาวฮั่นคนใดต้องโทษด้วยการถูกเนรเทศแล้ว จะถือเป็นเรื่องที่เจ็บปวดทรมานจิตใจเหลือประมาณ เพราะนั่นเท่ากับได้ถูกตราหน้าว่าเป็นคนไร้วัฒนธรรมเฉกเช่น “คนป่าเถื่อน” ที่ไม่อาจจะอยู่ร่วมกับชนผู้มีอารยธรรมสูงได้นั้นเอง

และด้วยเหตุผลนี้เช่นกัน ที่ทำให้พวกฮั่นเชื่อว่า อาณาจักรของตนเป็นศูนย์กลางของโลกหรือจักรวาล แล้วเรียกชื่ออาณาจักรของตนว่า “อาณาจักรกลาง” (จงกั๋ว) มาจนทุกวันนี้

ภายใต้อารยธรรมอันเก่าแก่นี้ มีหลักฐานที่ชี้ว่า จีนมีราชวงศ์ปกครองก่อนที่จะเข้าสู่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่สามราชวงศ์ด้วยกัน

คือ ราชวงศ์เซี่ย (Xia Dynasty, ก.ค.ศ.2100-1600) ราชวงศ์ซาง (Shang Dynasty, ก.ค.ศ.1600-1100) และราชวงศ์โจว (Zhou Dynasty, เนื่องจากอายุของราชวงศ์นี้มีความลักลั่นที่ควรให้รายละเอียด จึงขออธิบายต่อไปข้างหน้า)

ราชวงศ์เซี่ยมีเมืองหลวงคือ อานอี้ ราชวงศ์ซางมีเมืองหลวงคือ ป้อ ส่วนราชวงศ์โจวถูกแบ่งเป็นสองยุค ยุคแรกคือ ยุคราชวงศ์โจวตะวันตก เมืองหลวงคือ ก่าวจิง ยุคที่สองคือ ยุคราชวงศ์โจวตะวันออก เมืองหลวงคือ ลั่วอี้

ที่ตั้งเมืองหลวงของสามราชวงศ์นี้ในปัจจุบันคือ อำเภออันอี้ มณฑลซานซี ทางเหนือของอำเภอฉาว มณฑลซานตง อำเภอฉางอัน มณฑลส่านซี และลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน ตามลำดับ

ราชวงศ์แรกคือราชวงศ์เซี่ยไม่มีหลักฐานบ่งชี้อย่างชัดเจน และมักถูกมองว่าเป็นตำนานนิยายปรัมปราที่บอกเล่าสืบต่อกันมา ส่วนสองราชวงศ์หลังในชั้นแรกก็ถูกมองคล้ายกับราชวงศ์แรก แต่ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้มีการค้นพบหลักฐานที่บ่งชี้ถึงการมีอยู่จริงของราชวงศ์ทั้งสอง

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่หวังกันว่า ในอนาคตอาจจะมีการค้นพบหลักฐานสำหรับราชวงศ์แรกด้วย

 

สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งจากหลักฐานดังกล่าวก็คือ การบ่งชี้ให้เห็นว่า ราชวงศ์ซางอันเป็นราชวงศ์ที่สองนั้น น่าจะเป็นบรรพชนของชาวจีน หรือวัยทารกเมื่อแรกเริ่มของวัฒนธรรมจีนในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ราชวงศ์ทั้งสามต่างมีกษัตริย์ขึ้นปกครองด้วยกันหลายพระองค์ และต่างก็ได้พัฒนาการเมืองภายในของตนให้เป็นระบบระเบียบขึ้นมาเรื่อยๆ

เช่น มีลำดับชั้นของขุนนาง มีการจัดแบ่งที่ดินแก่ขุนนาง มีการจัดทัพที่มีระเบียบวินัย มีการใช้ปฏิทิน มีมาตราวัดต่างๆ (เช่น ระยะทาง ที่ดิน น้ำหนัก ฯลฯ) มีความคิดทางการเมืองที่เชื่อในเรื่อง “อาณัติแห่งสวรรค์” (เทียนมิ่ง, Mandate of Heaven) เป็นต้น

อาจกล่าวได้ว่า วัฒนธรรมทางการเมืองดังกล่าวที่ได้รับการพัฒนามาโดยลำดับนี้ ได้กลายเป็นรากฐานอย่างมั่นคงก็ในสมัยราชวงศ์โจว

แต่ก็ในปลายราชวงศ์โจวเช่นกันที่จีนได้เข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ เมื่อราชวงศ์เกิดความอ่อนแอลง ประเด็นปัญหามีอยู่ว่า ในความอ่อนแอนี้หามีผู้ใดสามารถปราบดาภิเษกเพื่อตั้งตนขึ้นมาเป็นใหญ่ได้ไม่ สังคมจีนจึงแตกแยกเป็นเสี่ยงๆ