นงนุช สิงหเดชะ/”บุช-โอบามา” ประสานเสียงทิ่ม “ทรัมป์” ห่วงความแตกแยกในอเมริกา

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

“บุช-โอบามา” ประสานเสียงทิ่ม “ทรัมป์” ห่วงความแตกแยกในอเมริกา

หลังจากพยายามหลีกเลี่ยงที่จะแสดงความเห็นต่อการบริหารประเทศของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่มานานพอสมควร

แต่ในที่สุดดูเหมือนอดีตประธานาธิบดีสหรัฐทั้งสองคน คือ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช จากรีพับลิกันพรรคเดียวกับทรัมป์ และ บารัค โอบามา จากพรรคเดโมแครต ก็ทนไม่ไหว ซึ่งก็คงเพราะเห็นว่า โดนัลด์ ทรัมป์ นั้นหนักข้อขึ้นทุกวัน และความแตกแยกในอเมริกาไม่ได้ลดน้อยลง หากแต่ยิ่งร้าวลึกลงไปทุกที

ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทั้งบุชและโอบามา ถือโอกาสใช้เวทีสาธารณะในงานของพรรคแสดงความห่วงใยต่อสภาพการเมืองและสังคมในอเมริกา

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองคนหลีกเลี่ยงที่จะเอ่ยชื่อทรัมป์โดยตรง แต่ผู้ฟังทุกคนเข้าใจดีว่าหมายถึงใคร

โอบามา บอกว่าเราชาวอเมริกันควรส่งสารไปยังโลกว่าพวกเราปฏิเสธการเมืองที่แบ่งแยกและสร้างแต่ความกลัว สิ่งที่เราไม่สามารถมีได้ก็คือการเมืองแบบเก่าๆ ที่มีแต่การแบ่งแยกอย่างที่เราเห็นมาหลายครั้งเมื่อหลายร้อยปีก่อน

แต่การเมืองบางส่วนที่เราเห็นในตอนนี้ก็คือคนบางคนหมุนการเมืองย้อนหลังไป 50 ปี ใช้การปลุกเร้าประชาชนให้เกลียดและโกรธฝ่ายที่มีความเห็นตรงข้ามเพื่อเป็นกลยุทธ์สร้างความได้เปรียบในระยะสั้น

ส่วนอดีตประธานาธิบดีบุช ระบุว่า ดูเหมือนทิฐิมานะ ความดื้อรั้นจะมีพลังแข็งแกร่งขึ้น มีสัญญาณบางอย่างที่แสดงให้เห็นว่าแรงสนับสนุนประชาธิปไตยในตัวมันเองลดน้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะในคนหนุ่มสาวชาวอเมริกันได้เห็นว่าการสนทนาปราศรัยของพวกเขาถูกลดคุณค่าโดยบางคนที่โหดร้าย บางครั้งมันดูเหมือนว่าพลังในการแยกพวกเราออกจากกันแข็งแรงกว่าพลังที่จะผลักดันให้เรารวมตัวกัน เราได้เห็นความเป็นชาตินิยมถูกบิดเบือนให้เป็นพื้นเมืองนิยม

โดยที่ลืมไปว่าผู้อพยพต่างหากที่นำพลวัตมาสู่อเมริกาเสมอมา

แน่นอนว่าคำวิจารณ์ของอดีตผู้นำทั้งสอง สะท้อนภาพไม่พึงปรารถนาที่เกิดขึ้นในสังคมอเมริกันนับตั้งแต่ทรัมป์เข้ามาบริหารประเทศซึ่งเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลกไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งการใช้คำพูดที่สร้างความแตกแยกในหมู่คนอเมริกันเอง

การเล่นงานผู้อพยพ จนทำให้ภาคเอกชนห่วงว่าผู้อพยพซึ่งเคยนำมันสมองและความเชี่ยวชาญเฉพาะของแต่ละคนมาช่วยสร้างอเมริกาจะร่อยหรอจนถึงจุดที่ทำให้อเมริกาสูญเสียความแข็งแกร่งด้านนี้ไป

ประเด็นความชั่วร้ายที่ส่อว่าจะกบฏทรยศชาติด้วยการสมคบคิดกับรัสเซียเพื่อให้ได้ชัยชนะเลือกตั้ง เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สร้างความไม่พอใจและเจ็บช้ำน้ำใจให้กับคนอเมริกันจำนวนไม่น้อย

และการสอบสวนเรื่องนี้เพื่อเอาผิดทรัมป์กับพรรคพวกยังดำเนินต่อไปและอาจถึงขั้นสั่นคลอนเก้าอี้ของเขาเองเพราะเรื่องราวเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

ข้อมูลใหม่ๆ ที่น่าตกใจถูกเผยออกมาไม่หยุด

เมื่อเร็วๆ นี้มีชาวอเมริกันคนหนึ่งบุกไปถึงรัฐสภาโดยยืนปะปนอยู่กับกลุ่มนักข่าวและขว้างธงชาติรัสเซียใส่ทรัมป์ พร้อมกับตะโกนว่า

“ทรัมป์เป็นกบฏขายชาติ”

ตราบใดที่ทรัมป์ยังดำเนินนโยบายแบบเดิม พูดแบบเดิม ก็เชื่อว่าความแตกแยกนี้จะมีต่อไป และเขาก็คงเผชิญกับเหตุการณ์ทำนองนี้ไปอีกเรื่อยๆ ถ้าหากยังคิดไม่ได้ว่าหลายอย่างที่เขาทำและพูดนั้นไม่เหมาะสำหรับคนที่จะเป็นผู้นำประเทศ ซึ่งมีสถานะและภาระหน้าที่ที่จะต้องสร้างความกลมเกลียวในชาติ โดยถึงแม้จะไม่สามารถทำให้ทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยต้องทำให้ความไม่ลงรอยนั้นอยู่ในระดับเบาบางที่สุด

อเมริกาในยุคทรัมป์ นอกจากจะทำให้ประเทศนี้ตกต่ำในสายตาประชาคมโลก ไม่ค่อยได้รับการยอมรับนับถือแล้ว แม้แต่คนอเมริกันเองจำนวนมากก็ไม่ภูมิใจในความเป็นอเมริกันอย่างที่เคยเป็นมาเพราะคุณค่าหลักที่ยึดถือและเคยทำให้ภูมิใจถูกกัดเซาะไปเรื่อยๆ

โพลล่าสุดที่จัดทำหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์และมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ พบว่าชาวอเมริกัน 36 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่า 1 ใน 3 ไม่ภูมิใจระบบการเมืองและสภาพของประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ในขณะนี้

นอกจากนี้ 70 เปอร์เซ็นต์เห็นว่าการเมืองสหรัฐในตอนนี้อยู่ในจุดตกต่ำเข้าขั้นอันตราย

เมื่อให้เปรียบเทียบความแตกแยกในช่วงนี้กับช่วงสงครามเวียดนาม 70 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าแตกแยกมากพอๆ กับช่วงสงครามเวียดนาม ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถาม 96 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่าสิ่งที่เป็นต้นเหตุให้การเมืองและประชาธิปไตยย่ำแย่ลงก็คือผลประโยชน์ทางการเงินที่มีบทบาทอยู่ในการเมืองสหรัฐ

พวกเขายังเห็นว่าบรรดามหาเศรษฐีที่เป็นผู้บริจาคเงินให้กับพรรคการเมือง ก็คือสาเหตุสำคัญไม่แพ้กันที่ทำให้การเมืองสหรัฐย่ำแย่จนเดินทางมาถึงจุดนี้

ภาพประชาธิปไตยที่ดูสิ้นหวังในอเมริกาสะท้อนว่าในที่สุดแล้วภัยร้ายที่ทำลายระบอบการเมืองให้เสื่อมทรามก็คือความไม่สุจริตของนักการเมือง ขาดสำนึกรับผิดชอบต่อชาติ-ประชาชน เอาผลประโยชน์ส่วนตนและพรรคเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่เอาประชาชนและสาธารณะเป็นศูนย์กลาง

ที่น่าตกใจกว่านั้นคือการเลือกตั้งไม่สามารถคัดกรอง กลั่นกรองหรือแม้แต่รับประกันว่าจะได้ผู้นำที่มีทั้งความสามารถ มีคุณธรรม ซื่อสัตย์สุจริต มีวุฒิภาวะ ประพฤติตนตามมาตรฐานที่ควรจะเป็นของผู้นำ

เผลอๆ บางทีก็ได้คนบ้า ตัวตลก มาเป็นผู้นำ

พูดอย่างนี้อาจได้ยินเสียงแว่วๆ จากคนบางประเทศส่งเสียงมาว่า จะได้คนบ้า คนทุจริต ตัวตลก ขายชาติ ยังไงมาเป็นนายกฯ ก็ได้ ตราบเท่าที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนก็พอใจแล้ว เป็นสิทธิของเราที่จะเลือกคนโกง คนขายชาติ มาเป็นผู้นำ (เพราะนี่คือเจตจำนงเสรีของเรา)

มีคนพูดเอาไว้ว่า ประชาชนเป็นแบบไหน ก็เลือกผู้นำแบบนั้น ซึ่งกรณีของอเมริกา ก็อาจอนุมานได้ว่า คนอเมริกันส่วนใหญ่ที่เลือกทรัมป์ก็มีลักษณะแบบทรัมป์

ลักษณะและความคิดแบบทรัมป์เป็นอย่างไร คงไม่ต้องสาธยายมาก เพราะทุกคนได้ดูข่าวอยู่ทุกวัน

ถ้าจะให้สรุปสั้นๆ ก็คือ 1.ทรัมป์เป็นตัวตลก (อันนี้คนอเมริกันบางคนเขาพูดเอง)+บ้า 2.ไม่มีวุฒิภาวะ 3.ไม่มีจริยธรรม ผลประโยชน์ทับซ้อนเข้มข้น กระเป๋าเงินข้ากับกระเป๋ารัฐคืออันเดียวกัน 4.ใช้วิธีชั่วร้ายสร้างความแตกแยกเกลียดชังในกลุ่มประชาชนเพื่อให้ได้ชัยชนะ

ต่อไปประชาชนประเทศไหนจะเลือกตั้งก็พึงระวังตั้งสติ ถ้าไม่อยากได้คนแบบทรัมป์มาเป็นผู้นำ