‘สารขันธ์-กัมพูชา’ กุนแขมร์-มวยไทย!

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์ | อภิญญา ตะวันออก

 

‘สารขันธ์-กัมพูชา’

กุนแขมร์-มวยไทย!

 

เราเป็นคนหนึ่งที่เขียนเรื่อง “กบัจคุน” ในยุคที่ไม่มีใครได้ยินชื่อนี้

และตอนนี้ กบัจคุน กับ “บกกะตอ” ได้รับการบรรจุเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขององค์การยูเนสโกแล้ว

อีก “กุนแขมร์” (ออกเสียงกุน / ??? ที่สะกดด้วย ? เขมร) ให้สังเกตว่า ในการอ่านหลังคำว่า “กบัจ-” นั้น กลับออกเสียง ค.อย่างอิสระ นี่เป็นลักษณะพิเศษในภาษาเขมรยุค ’70 ที่ฆุน สรุณ เคยร่ายไว้ และนำไปแต่งเป็นเรื่องสั้นเชิงเสียดสีในกลวิธีแปลภาษา ตัวอย่าง “บกกะตอ” ที่แปลว่า “ชนกับสิงโต” ในภาษาเขียนอ่านว่า “ล-บกกะตอ”

อย่างไรก็ตาม กุนแขมร์นี้จะไม่มีความหมายเลย หากว่าไม่มีซีเกมส์/2023 ที่กลายเป็นข้อถกเถียงทางอัตลักษณ์

ดังที่ทราบว่า รัฐบาลกัมพูชาบรรจุคำว่า “กุนแขมร์” แทนคำว่า “มวยไทย!”

 

วันนี้ เราจะเล่าเรื่องเก่าราวปี 1938 ปีที่บุน จันมุล (1921-1975) คนที่ทำให้เราเริ่มต้นรู้จักคำว่า “ประด่าล” ที่แปลว่า “มวย” และ “ประด่าลเสรี” ที่แปลว่า “มวยไทย” (คือใช้การเตะต่อยอย่างอิสระ) เขาอ้างไว้ในหนังสือ “คุกการเมือง” ถึงการต่อยมวยของชาวพระตะบองกับนักมวยชาวไทย และมวยในกรุงพนมเปญซึ่งคำว่าประด่าล ผ่านมาได้ 85 ปีแล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีฟุตเทจภาพยนตร์สั้น/1930 อ้างว่านี่คือศิลปะการต่อสู้กุนแขมร์นั้น พบว่าเป็นหลักฐานร่วมสมัยกับบุน จันมุล (หลังเขาเกิดราว 9 ปี) ซึ่งเมื่อจันมุลต่อยมวยสมัครเล่นในพนมเปญราวปี 1938 นั้น ในกาลต่อมาเมื่อเขาเขียนประวัติของตนในหนังสือ “คุกการเมือง” กลับไม่พบใดๆ ในการกล่าวถึง “กุนแขมร์” (หรือแม้แต่กบัจคุน?)

มีแต่คำว่า “ประด่าล” ที่แปลว่า “มวย”?

และนี่เป็น 1 ในข้อพิสูจน์ว่า “บกกะตอ” หรือ “กุนแขมร์” ล้วนแต่เกิดขึ้นหลังยุคนักเขียนคนนี้ โดยแม้แต่ปีที่เขาเสียชีวิตหลังตีพิมพ์หนังสือไม่นานคือ 1975 นั้น การต่อสู้หรือมวยเขมรพื้นบ้านอาจมีมาแล้วก่อนแล้ว แต่เหตุใดนักเขียนคนนี้ที่ลืมตาดูโลกร่วมยุคทศวรรษ 1930 กลับไม่มีคำว่า “กุนแขมร์” อยู่ในมโนนึก?

“บกกะตอ” และ “กุนแขมร์” จึงเป็นสมบัติที่ปลุกปั้นโดยระบอบฮุนเซนหรือไฉน?

 

ฉันเป็นคนหนึ่งที่ร่วมยืนยันว่า ในปี 1990/1998 บนสังเวียนระหว่างนักมวยไทยกับนักมวยเขมร หรือแม้แต่นักมวยท้องถิ่นขึ้นชกกัน พวกเขาต่างเรียก “ปรอด่าล” แบบบุน จันมุล และ “ปรอด่าลเสรี” กรณี “มวยไทย”

ไม่มีกุนแขมร์ ไม่มีบกกะตอใดๆ

ในการพากย์มวยเขมรสมัยนั้น ก็ใช้ประด่าลกันเรื่อยมา โดยเฉพาะช่อง 5-สถานีโทรทัศน์กองทัพบกเขมรภูมินทร์ที่วางรากฐานวงการมวยอาชีพกัมพูชา มีโปรโมเตอร์ไทยมืออาชีพที่บุกเบิกนำนักมวยชื่อดังจากไทยไปต่อยที่นั่นร่วมกับนักมวยท้องถิ่นทุกสุดสัปดาห์ จนธุรกิจมวยตู้กัมพูชารุ่งโรจน์สร้างเม็ดเงินมหาศาลจากสปอนเซอร์ จนเกิดการแข่งขันในทีวีช่องอื่นๆ โดยเฉพาะทีวีบายอนของฮุน มานา บุตรสาวคนโตของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน

จนช่อง 5 ทีวีกัมพูชาที่บริหารโดยชาวไทยถูกเผาวอดวายไปกับการจลาจลเผาสถานทูตไทย!

ธุรกิจมวยบนทีวีช่อง 5 ที่สร้างชื่อเสียงถูกลดความเฉิดฉาย เมื่อรัฐบาลกัมพูชาฉีกสัญญา ยึดคืนพื้นที่ตั้งบางส่วนของสถานีในกองยุทธพลเขมรภูมินทร์ไปแบ่งขายให้เอกชนทำโครงการอสังหาริมทรัพย์

ทำให้สถานีโทรทัศน์แห่งนี้ต้องเผชิญกับการไล่ล่า ออกจากการแข่งขันโดยแม้จะพยายามยื้อชีวิตความนิยม แต่ด้วยการแข่งขันที่ไม่เสรี บทบาททีวี 5 แคมโบเดีย ด้านกีฬามวยจึงไม่อาจกลับมายืนแถวหน้าได้อีก

ขณะที่ธุรกิจทีวีบายอนของฮุน มานา กลับสยายปีกด้านนี้โดยมีทีวี 5 กัมพูชาเป็นต้นแบบ มีการนำนักมวยไทยไปแข่งขัน แต่เพิ่มเติมความรักชาติเข้าไปในจิตสำนึกที่นักมวยเขมรมักคาดหัวด้วยธงชาติ มีผ้าขาวม้าผูกเอว และที่ขาดไม่ได้คือการไหว้ครูตามโบราณไปทั้ง 4 มุมของเวทีพร้อมด้วยดนตรีปี่กลอง/พิณเพียต

การให้ความสำคัญพิธีไหว้ครูโบราณที่ไปพ้องกับตำรับพิธีการไหว้ครูของมวยไทยในอดีต แต่เมื่อไทยได้ทิ้งพิธีกรรมนี้ไปแล้วในปัจจุบันด้วยระบบธุรกิจทีวีที่มีข้อจำกัด อีกวิถีใหม่ของไทยที่ไม่ให้ความสำคัญกับรูปแบบ ก็ยิ่งเป็นข้อเด่นของกุนแขมร์อย่างเห็นได้

กุนแขมร์ได้คงไว้ในพิธีดังกล่าวอย่างครบถ้วน ทำให้คิดถึงยุคมวยไทยสมัยปี 1950 ที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้กันมา นี่เป็นอีกครั้งที่ไม่รู้ว่า ควรยินดีหรือไม่? ต่อการที่กัมพูชานำมวยไทยเดิมไปรื้อฟื้นและอ้างว่า นี่คือมวยเก่าเขมรที่มีมาแต่โบราณ?

ซึ่งบังเอิญว่าไม่มีใครทราบว่ามวยเขมรเคยมีมาก่อนหรือไม่? อีกในบันทึกบุน จันมุล ก็ไม่อ้างถึง อีกคราวหนึ่งที่เราไปดูมวยเมืองพระตะบอง/1994 เช่นเดียวกับทีวีช่อง 5 กัมพูชาซึ่งออกอากาศกีฬาประเภทนี้มาตั้งแต่ยุคนั้น นักพากย์มวยก็เรียกกันแค่คำว่า “ประด่าล” แต่ขณะเดียวกันก็เริ่มพูดกันถึงท่ามวยโบราณที่เรียกกว่า “กบัจคุน”

หรือการเกิดขึ้นของ “กุนแขมร์” จึงพ้องกันกับการสร้างสังคมวิถีใหม่ในยุค “ผู้นำฮุน?”

 

อนึ่ง การได้ไปเห็นอดีตของตนในประเทศอื่น นับเป็นความมลึงมลังอันฉงนที่บางครั้งเราเองยังสับสน นับประสาอะไรกับชาวกัมพูชาที่บูชาลัทธิคลั่งชาติและเห็นปรากฏการณ์ในทุกอย่างเป็นของตน

ถึงตอนนี้ ต้องไม่ลืมว่า มวยไทยเต็มรูปแบบในอดีตมีเขมรเป็นร่างทรง

พวกเขายังบรรจงประดิษฐ์ให้สูงส่งและมีมูลค่าในความเป็นชาติด้วยการที่นักมวยมักอยู่ในชุดคลุมกายด้วยธงชาติ สวมเครื่องมงคลมวยไทยในแบบของตนคือธงชาติปักติดไว้

และมากไปกว่านั้น คือนำผ้าขาวม้ามาพันเอว แก่นักมวยเขมรและต่างชาติทุกคนที่ขึ้นเวที

โดยมุ่งไปที่พิธีไหว้ครูอย่างเต็มรูปแบบและนั่นเมื่อมีนักชกไทยไปประนวม กลายเป็นว่านักชกไทยไม่สามารถแสดงพิธีไหว้ครูได้สวยงามเทียบเท่ากับชาวเขมร ที่บัดนี้ หาใช่แค่ร่างทรง แต่เป็นเจ้าของต้นฉบับรากเหง้าเลยต่างหาก!

มันประจักษ์สายตาว่า กัมพูชาได้ให้จิตวิญญาณต่อความเป็น “มวยไทย” แม้จะในนาม “กุนแขมร์” หรืออะไร? ราวกับค้นพบแก้วมณีอันวิเศษ พวกเขาได้รื้อฟื้นและยึดคืนมันโดยพลันมาร่วม 20 ปี!

คิดดูเถอะ ความคลั่งไคล้ในกีฬาประเภทนี้ที่กัมพูชาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา การเชียร์มวยกุนแขมร์อย่างบ้าคลั่ง ถึงขนาด เตะต่อยประด่าลในแต่ละครั้ง ที่มักจบลงตรง “ดวลสลบ/น็อกเอาต์” คู่ต่อสู้

โดยเฉพาะกับนักชกสัญชาติไทยที่มักรับเชิญไปขึ้นเวทีเป็นคู่ชกมวยเอกในเวทีบายอนที่เข้มข้นในเดิมพัน มีแพ้มีชนะ อันถือเป็นสังเวียนการชิงชัยในศักดิ์ศรี แม้ทักษะนักมวยเขมรและวงการโปรโมเตอร์กัมพูชาจะยังตามไทยอยู่นัยที แต่การสะสมเครดิตของกัมพูชาโดยมีนักมวยไทยในส่วนภูมิภาคที่ไม่มีโอกาสเฉิดฉายในเวทีกรุงเทพฯ ต่างออกตระเวนไล่ล่าความสำเร็จ ทั้งไปเป็นครูฝึก คู่ซ้อมและคู่ชกบนเวทีกุนแขมร์อย่างที่ทราบกันดี

นี่คือ “ธุรกิจ” ในคราบกลืนอัตลักษณ์เชิงวัฒธรรมอย่างที่ไม่มีใครตระหนักรู้? แม้แต่วงการหมัดมวยไทยเองที่เคยอุ้มชูถ่ายทอดกลยุทธ์แก่กุนแขมร์มาทุกรูปแบบ

จนมาถึงวันนี้ วันที่การเสริมความแข็งแกร่งและทักษะทุกอย่างได้กลายเป็นมูลค่าอันสมบูรณ์ของกุนแขมร์ ประหนึ่งเป็น “สมบัติประจำชาติ” ในเชิงพฤตินัยของกัมพูชาไปแล้ว และในอีก 3 เดือนข้างหน้า ต่อมวลมหาประชาคมอาเซียน “มวยไทย VS กุนแขมร์”

แต่ตอนนี้ โลกทั้งใบก็ไม่สงบแล้ว!