คณะทหารหนุ่ม (25) | พล.อ.เปรม ขึ้น “ว่าการ”

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.เปรม ขึ้น “ว่าการ”

แม้คณะทหารหนุ่มจะพึงพอใจเมื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาล “เกรียงศักดิ์ 1” หลังการปฏิวัติ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520 มาแล้ว ได้ปรากฏนามอีกครั้งในตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม” ขณะที่ยังคงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก

อย่างไรก็ตาม ในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีคนอื่นๆ แกนนำของคณะทหารหนุ่มได้เสนอให้มีการแต่งตั้งจากบุคคลที่มีความสามารถ มีความซื่อสัตย์เข้ามาเป็นรัฐมนตรีร่วมคณะ

แต่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ กลับแต่งตั้งผู้ใกล้ชิดมากกว่าบุคคลอื่นๆ ที่คณะทหารหนุ่มเห็นว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถ

คณะทหารหนุ่มจึงมีความไม่พอใจในองค์ประกอบของคณะรัฐบาลแต่แรก โดยมีความเห็นว่าบุคคลในคณะรัฐมนตรีหลายคนต้องการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาของชาติ จนนำไปสู่การยกเลิกการสนับสนุนรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในเวลาอีกไม่นาน

 

จ่อตำแหน่ง ผบ.กรม

ความสำเร็จของคณะทหารหนุ่มเกิดจากการคุมหน่วยกำลังรบซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการปฏิวัติรัฐประหาร ในคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายประจำปี พ.ศ.2521 ซึ่งมีผลตั้งแต่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2521 ขณะที่การต่อสู้กับคณะของ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ กำลังเข้มข้นนั้น นายทหารหนุ่มต่างดำรงตำแหน่งดังนี้…

พ.ท.จำลอง ศรีเมือง ประจำกองแผนและโครงการศูนย์วิจัยและพัฒนาการทหารกองบัญชาการทหารสูงสุด พ.อ.ชาญบูรณ์ เพ็ญตระกูล รองผู้บังคับการกรมผสมที่ 31 กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ พ.อ.ชูพงศ์ มัทวพันธุ์ นายทหารคนสนิทผู้บัญชาการทหารบก พ.อ.นานศักดิ์ ข่มไพรี ผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ พ.อ.บวร งามเกษม รองผู้บังคับปืนใหญ่กองพลทหารม้า พ.ท.บุญยัง บูชา ผู้บังคับกองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ พ.อ.บุญศักดิ์ โพธิ์เจริญ ผู้บังคับการทหารปืนใหญ่กองพลทหารราบที่ 4

พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร รองผู้บังคับการกรมผสมที่ 2 กองพลที่ 2 พ.อ.ปรีดา รามสูตร ตำแหน่งรองผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ พ.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ผู้บังคับการกองพันทหารราบที่ 2 กรมผสมที่ 5 ค่ายอิงคยุทธบริหาร ปัตตานี พ.ท.มนูญ รูปขจร ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ พ.อ.วรวิทย์ พิบูลศิลป์ หัวหน้ากองยุทธการ ศูนย์สงครามพิเศษ พ.อ.วีระยุทธ อินวะษา เสนาธิการกรมนักเรียนนายร้อย โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า พ.ท.สกรรจ์ มิตรเกษม ผู้บังคับกองพันทหารขนส่งที่ 2 (ผสม) พ.ท.สาคร กิจวิริยะ ผู้บังคับกองพันทหารสารวัตรที่ 11 พ.อ.แสงศักดิ์ มังคละศิริ ผู้บังคับกองพันทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ พ.ท.ม.ร.ว.อดุลเดช จักรพันธุ์ ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์

สรุปแล้ว คณะนายทหารหนุ่มส่วนใหญ่จึงยังคงอยู่ในระดับ “จ่อ” เพื่อขึ้นสู่ตำแหน่ง “ผู้บังคับการกรม” อันเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิวัติรัฐประหารและเป็นที่หมายปองของนายทหารทุกรุ่น บทบาททางการเมืองของคณะทหารหนุ่มซึ่งสามารถส่งผลต่อยศและตำแหน่งในกองทัพบกจึงเริ่มเป็นที่จับตามองด้วยความหวาดระแวงจากนายทหารรุ่นพี่

 

ทหารประชาธิปไตย

หลังการโค่นล้มรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เมื่อ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520 ชื่อของ “คณะทหารหนุ่ม-ยังเติร์ก” เริ่มเป็นที่สนใจจับตามองในหมู่ประชาชนและสื่อมวลชน

ครั้นปลายปี พ.ศ.2521 ระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญ ก็ได้ปรากฏแถลงการณ์ลงวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2521 เปิดตัวทหารประจำการอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า “ทหารประชาธิปไตย” ในนิตยสาร “ตะวันใหม่” ฉบับที่ 40 วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2521 ซึ่งก่อให้เกิดความสนใจและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากทั้งในวงการทหารและวงการเมือง

แถลงการณ์ของทหารประชาธิปไตยฉบับนี้ทำให้เป็นที่รับรู้อย่างเป็นทางการครั้งแรกว่า ในกองทัพไทยได้มีการเคลื่อนไหวทางความคิดของหมู่ทหารอีกหลุ่มหนึ่ง นอกเหนือจากคณะทหารหนุ่ม

“ยังเติร์ก กับทหารประชาธิปไตย” ของชัยอนันต์ สมุทรวณิช บันทึกความเป็นมาของทหารประชาธิปไตยไว้ว่า…

กลุ่มทหารประชาธิปไตยมีการรวมตัวกันอย่างจริงจังภายหลังการปฏิวัติรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520 บุคคลสำคัญที่เริ่มก่อตั้งกลุ่มคือ พ.อ.ชวัติ วิสุทธิพันธ์ อาจารย์แผนกวิชาสังคมศาสตร์ โรงเรียนนายร้อย จปร. ซึ่งขณะนั้นยังมีที่ตั้งอยู่ที่ถนนราชดำเนินนอก โดยเริ่มด้วยการรวมตัวตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เพื่อพบปะพูดคุยปัญหาบ้านเมืองกับนายทหารที่เคยเป็นลูกศิษย์

ในจำนวนนี้มีบางคนที่ต่อมาเป็นสมาชิกแกนนำของคณะทหารหนุ่มคือ พ.อ.จำลอง ศรีเมือง รวมอยู่ด้วย

พ.อ.ชวัติ วิสุทธิพันธ์ จบจากโรงเรียนนายร้อย เป็นนักคิดและเป็นผู้สนใจศึกษาปัญหาการเมืองทั้งภายในและนอกประเทศ เพราะนอกจากมีพื้นฐานทางอาชีพเป็นทหารแล้วยังจบการศึกษาปริญญาโททางการทูตจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกด้วย

ก่อนหน้านี้ พ.อ.ชวัติ วิสุทธิพันธ์ เคยถูกเพ่งเล็งจากรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ว่าเป็นนายทหาร “หัวรุนแรง” เพราะเคยไปร่วมอภิปรายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิจารณ์ว่ารัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร เป็น “รัฐบาลเผด็จการ”

ในปี พ.ศ.2518 เมื่อเกิดกรณีไทยการ์ดชุมนุมกันที่หน้าทำเนียบรัฐบาล พ.อ.ชวัติ วิสุทธิพันธ์ ได้เขียนจดหมายแสดงความคิดเห็นเสนอแนะให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีขณะนั้นใช้วิธีการแก้ปัญหาด้วยความเด็ดขาด โดยใช้แนวทางที่เรียกว่า Strong Executive ผ่าน พล.ท.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ ซึ่งใกล้ชิดกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในเวลานั้น

นอกจากนั้น เมื่อ พล.อ.บุญชัย บำรุงพงศ์ เป็นผู้บัญชาการทหารบก พ.อ.ชวัติ วิสุทธิพันธ์ ก็ได้เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาบ้านเมืองอยู่เป็นระยะๆ และกระทำเช่นเดียวกันเมื่อ พล.อ.เสริม ณ นคร เป็นผู้บัญชาการทหารบก

ในเวลาต่อมา ทหารที่มีความคิดสร้างสรรค์ประชาธิปไตยซึ่ง พ.อ.ชวัติ วิสุทธิพันธ์ เป็นศูนย์กลางประสานงานเริ่มขยายตัวมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นนายทหารส่วนการศึกษาและฝ่ายเสนาธิการ มิใช่นายทหารสายคุมกำลัง

ดังนั้น อิทธิพลของนายทหารเหล่านี้ในทางการเมืองจึงมีน้อย ทำให้ต้องหาทางเผยแพร่ความคิดให้ผู้นำระดับสูงเข้าใจและตระหนักในความสำคัญและความจำเป็นที่จะส่งเสริมระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยตามความเชื่อของกลุ่ม

ต้นปี พ.ศ.2521 ทหารประชาธิปไตยซึ่งรวมตัวกันอย่างชัดเจนแล้ว ได้ร่วมกับนายปรีชา สามัคคีธรรม ออกนิตยสารรายสัปดาห์ “ตะวันใหม่”

โดยทหารประชาธิปไตยได้มอบให้นายปรีชา สามัคคีธรรม ซึ่งเป็นญาติกับ พ.อ.ชวัติ วิสุทธิพันธ์ และเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่มีความสนใจทางการเมืองสูง มีทัศนะต่อต้านเผด็จการตลอดมา เป็นผู้ดำเนินการ โดยทหารประชาธิปไตยให้การสนับสนุนทางด้านการเงินส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งได้จากการหาโฆษณา กองบรรณาธิการชุดแรกประกอบด้วยนักหนังสือพิมพ์ที่เป็นนักคิดนักเขียนที่มีความคิดก้าวหน้าในยุคนั้น

นิตยสารตะวันใหม่ฉบับแรกออกจำหน่ายเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2521 ซึ่งอยู่ระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในบทบรรณาธิการได้มีการประกาศแนวทางของนิตยสารว่าต้องการอุทิศตนเข้ามีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการสร้างระบอบประชาธิปไตยเพื่อแก้ปัญหาของชาติ ด้วยความเชื่อว่า

“เราจะแก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย ถ้าระบอบการปกครองไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เราจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม ปัญหาความมั่นคงของชาติ ปัญหาการครองชีพของประชาชนและปัญหาอื่นๆ ได้ก็แต่ด้วยระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงเท่านั้น”

แนวความคิดเรื่องประชาธิปไตยของทหารประชาธิปไตยผ่านนิตยสารตะวันใหม่ในบรรยากาศการเมืองไทยซึ่งอยู่ใต้อิทธิพลของทหารมาโดยตลอด และยังคงอยู่ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารในขณะนั้นได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง