จดจำ | หนุ่มเมืองจันท์

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อน มีโอกาสได้ร่วมโต๊ะอาหารกับคุณอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่บ้านคุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม “อากู๋” แห่งแกรมมี่ พร้อมผู้ใหญ่อีกหลายคน

เรื่องที่คุยหลากหลายมาก

มีทั้งเรื่องไร้สาระ จนถึงเรื่องสาระเข้มข้นที่เขียนไม่ได้

และบางเรื่องทำให้ผมได้เติมเต็มประวัติศาสตร์การเมืองที่อยากรู้มานาน โดยเฉพาะตอนที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรี

คุณอานันท์อายุ 90 ปี แต่สุขภาพแข็งแรงมาก

ยังเดินได้เอง แม้จะช้าและต้องประคองบ้างตอนเดินขึ้นบันได

ดื่มไวน์ได้สบายๆ

ที่น่าสนใจก็คือ สมองท่านยังเฉียบคม จำเรื่องราวต่างๆ ได้แม่นยำ

และมีอารมณ์ขัน

สำหรับคนอายุ 90 แล้ว น่าอิจฉามาก

เห็นแล้วภาวนาเลยว่าถ้ามีอายุถึง 90 ขอให้ได้แบบคุณอานันท์

ในวงสนทนามีเรื่องหนึ่งที่ผมชอบมาก

คุณอานันท์เคยคุยกับนักธุรกิจใหญ่คนหนึ่งของเมืองไทย

เขาถามนักธุรกิจคนนั้นว่าถ้าไม่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้แล้ว อยากให้คนจดจำเราว่าอย่างไร

เป็นแค่นักธุรกิจที่ร่ำรวย ยิ่งใหญ่

หรือว่าจะให้จดจำว่าอย่างไร

แล้วท่านก็ยกคำคมที่ว่า “เบื้องหลังความร่ำรวย มีอาชญากรรมซ่อนอยู่”

คนรวยในโลกนี้ ถ้าค้นลึกลงไปจะพบว่าตระกูลของเขามักเคยทำความผิดร้ายแรงมากมาย

ไม่ว่าจะเป็นการเข่นฆ่าผู้คน

หรือทำผิดกฎหมาย

คุณอานันท์ยกตัวอย่าง “ร็อกกี้ เฟลเลอร์”

“ร็อกกี้ เฟลเลอร์” เป็นมหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ร่ำรวยจากธุรกิจการกลั่นน้ำมัน

แต่เบื้องหลังความร่ำรวยเต็มไปด้วยเรื่องเลวร้ายมากมาย

ผมเคยอ่านประวัติของเขาว่าช่วงหนุ่มๆ เขาเป็นนักธุรกิจที่คนมีเกลียดชังมาก

เพราะมุ่งสู่เป้าหมายโดยไม่สนใจวิธีการ

แต่ช่วงท้ายของชีวิต เขาได้บริจาคเงินจำนวน 500 ล้านเหรียญสหรัฐตั้งมูลนิธิ “ร็อกกี้ เฟลเลอร์” ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือโลกด้านการศึกษาและสาธารณสุข

ณ วันนี้ ภาพจำของเขาจึงไม่ใช่เรื่องความสำเร็จทางธุรกิจ หรืออาณาจักรที่ยิ่งใหญ่

แต่เป็นเรื่องราวของมหาเศรษฐีใจบุญที่บริจาคเงินช่วยเหลือโลกใบนี้

ทั้งที่ “ร็อกกี้ เฟลเลอร์” เสียชีวิตไปแล้ว 116 ปี

แต่โลกยังรู้จักชื่อของเขาในแง่มุมที่ดีงาม

หลังจากคุณอานันท์คุยเรื่องนี้กับนักธุรกิจใหญ่คนนั้น

ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น

 

ฟังคุณอานันท์เรื่องนี้แล้วทำให้ผมนึกถึงบทสัมภาษณ์ชิ้นหนึ่ง

เป็นบทสัมภาษณ์คุณไพบูลย์ เจ้าของบ้านในวันนั้นในนิตยสาร OPTIMISE ของ “เกียรตินาคินภัทร”

นานแล้วที่ “อากู๋” ไม่เคยให้สัมภาษณ์ พอสัมภาษณ์ครั้งนี้ก็ให้สัมภาษณ์ยาวเหยียดเลย

แนะนำให้อ่านครับ

เรื่องราวความสำเร็จของ “แกรมมี่” ก็สนุก

วิธีคิดเรื่อง “ชีวิต” ก็น่าสนใจ

แต่เรื่องที่ผมชอบที่สุดกลับเป็นเรื่อง “มูลนิธิดำรงชัยธรรม”

มูลนิธินี้เกิดจากความประทับใจในเรื่องเล็กๆ 2 เรื่อง

เรื่องเล็กๆ ที่ควรจะหายไปกับสายลมของกาลเวลา

แต่สำหรับคนบางคน เรื่องเล็กๆ นี้ตกตะกอนอยู่ในใจของเขามายาวนาน

และสร้างแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่

เขาจึงติดสินบนกับ “พระเจ้า” ว่าถ้าเขารวยขึ้นมาเมื่อไร เขาจะทำสิ่งเหล่านี้บ้าง

นี่คือ ที่มาของมูลนิธิดำรงชัยธรรม

มูลนิธิที่ทำให้เด็กต้องร้องไห้ 3 ครั้ง

เรื่องแรกเป็นเรื่องคุณครูสอนภาษาจีนที่ทำบ้านเป็นห้องสมุดให้นักเรียนได้อ่านหนังสือ

“ในวันที่ผมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ สิ่งหนึ่งที่ผมระลึกถึง คือ ตอนเราเป็นเด็กจนๆ อยู่เยาวราช ผมได้ความเมตตาจากครูสอนภาษาจีนประจำชั้น ป.3

ท่านน่ารักมากเลย ท่านเก็บสตางค์เด็ก แล้วซื้อหนังสือไปเก็บที่บ้านท่าน

ผมก็งงๆ ว่าขอสตางค์เราแต่ซื้อหนังสือไปเก็บไว้ที่บ้านตัวเอง

ไม่ใช่—เสาร์อาทิตย์ท่านมาพาเด็กไปที่บ้าน แล้วทำให้บ้านเป็นห้องสมุดภาษาจีนอ่านหนังสือวิพากษ์วิจารณ์กัน

คือท่านเสียสละ แต่ท่านก็จน ไม่มีปัญญาซื้อหนังสือ

ดังนั้น จึงต้องเรี่ยไรใครมีสตางค์ก็มาแบ่งๆ กัน แล้วท่านก็คงใส่เงินตัวเองด้วย

เพื่อให้เด็กทุกคนมีหนังสืออ่าน”

เรื่องนี้อยู่ในใจคุณไพบูลย์มานาน

 

ตามมาด้วยเรื่องที่สอง เป็นเรื่องรุ่นพี่ธรรมศาสตร์

“อีกคนเป็นรุ่นพี่ที่เขาไปเรียนที่ธรรมศาสตร์แล้วมาสอนเด็กฟรี

เมื่อก่อนแถวเยาวราชมีเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่รู้คุณค่าการศึกษาเยอะ

พี่คนนี้อยู่ร้านพวกเครื่องอะไหล่ มีเหล็กน็อต มีน้ำมันเครื่อง มีอะไรต่ออะไร นิ้วมือแกก็จะเลอะเทอะ

แต่แกเป็นคนเรียนหนังสือ และคงตั้งใจว่าอยากสอนเด็กแบบไม่เก็บสตางค์

ผมยังจำภาพได้เลย แกยืนสอนอยู่บนตู้กระจกที่มีชิ้นส่วนอะไหล่ แล้วก็เอาน้ำมันก๊าดล้างมือ เช็ดๆ เปิดหนังสือ แล้วก็เริ่มสอน”

เรื่องเล็กๆ 2 เรื่องนี้อยู่ในใจคุณไพบูลย์มายาวนาน

ตกตะกอนกลายเป็น “ความฝัน” ที่ตั้งใจอยากทำมาก

“ผมรู้สึกว่าดีมากเลย ในใจนึกว่าถ้าผมรวยจะทำสิ่งนี้บ้าง

เหมือนติดสินบนพระเจ้าไว้

ดังนั้น พอผมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ผมก็ตั้งมูลนิธิมูลนิธิดำรงชัยธรรม”

มูลนิธินี้ไม่ได้แค่ให้ค่าเล่าเรียนอย่างเดียว

“แต่เป็นผู้ปกครองให้เลย”

สโลแกนคือ ‘ไม่ใช่แค่ให้โตได้ แต่อยากให้ โตดี’

เด็กที่ได้รับการคัดเลือกจะได้ค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือ ค่ากิน ค่าอยู่ ค่ารักษาพยาบาล

แต่ทำตัวเป็น “ผู้ปกครอง” เลย

“เรามีพี่เลี้ยงคอยสอบถามเรื่องจิตใจ จิตใจเปลี่ยนแปลงอย่างไร ทำไมถึงเรียนดีไม่ดี ส่งเสียตั้งแต่ ม.1 ถึงมหาวิทยาลัย”

วิธีคัดเลือก เขาจะให้เด็กเขียนบทความมาเล่าว่า “ฉันอยากเป็นอะไร”

เป็นการตั้งหัวข้อที่กว้างมาก แต่เป็นหัวข้อที่จะบอกถึงความฝันและความมุ่งมั่นของเด็ก

“เจตนาของผมคืออยากช่วยเด็กที่ 1.ยากจนจริง 2.เรียนใช้ได้ ไม่ต้องสูงมาก 3.มีสำนึกที่จะตอบแทนคืนสู่สังคม

คือคุณต้องช่วยเหลือคนอื่นต่อ ถึงจะเป็นลูกโซ่”

วิธีการคัดเลือกนั้นค่อนข้างละเอียดมาก มีทีมงานลงไปดูถึงบ้าน กลั่นกรองมาระดับหนึ่งก่อนถึงคณะกรรมการชุดสุดท้าย

“ผมให้เพื่อนบางส่วนที่กินข้าวกันวันพฤหัสฯ ช่วยคัดเลือก คัดเลือกยากมาก 5,000 คนอาจจะเอาสัก 50 คน

แต่ผมบอกเพื่อนว่าจิ้มไปเถอะ เพราะเด็กทุกคนที่กรองมาแล้วควรจะได้รับเลือกทั้งนั้น

ที่เหลือถือว่าเป็นดวงชะตาของแต่ละคน

ขอแค่ให้มีความหลากหลาย ไม่ว่าชาวเขา ชาวมุสลิม หรืออยู่ภูมิภาคไหนของไทย”

ตอนนี้มีเด็กในการดูแลของมูลนิธิ 500 กว่าคน

“ใช้เงินไม่น้อย หลายร้อยล้านที่ใส่เข้าไป

ช่วงหนึ่งสโลว์ดาวน์ เพราะว่าการเงินของเรายาก แต่ก็ยังทำอยู่ แล้วพวกเด็กที่เรียนจบไปแล้วก็มาช่วยเหลือ”

“เด็กของเราเรียนจบหมอ จบวิศวะ จบพยาบาลเต็มไปหมดเลย สอบได้ที่ 1 เรียนเก่งมหัศจรรย์ ไปเรียนต่อเมืองนอกด้วยทุนอื่นๆ อะไรอีกมากมาย

จบไปแล้วเขามาเล่าให้น้องๆ ในมูลนิธิฟังว่าเข้ามูลนิธิแล้วต้องร้องไห้สามครั้ง

ครั้งหนึ่ง ตอนได้รับเลือก

ครั้งที่สอง ตอนเรียนจบ

ครั้งที่สาม คือวันที่คุณทำได้แบบเดียวกัน คุณก็จะร้องไห้อีกครั้งว่าคุณทำได้แล้ว

เช่น เขารวมตัวกัน 10 คน บริจาคคนละ 10% ของรายได้ แล้วก็ไปเลี้ยงเด็ก

ผมบอกเด็กๆ ว่าไม่ต้องมาตอบแทน ไม่ต้องมาคืน

คุณเอาที่ผมให้คุณไปช่วยคนอื่น

เพราะผมไม่มีเงินพอจะช่วยทุกคนได้เยอะๆ นั่นคือเจตนา เราช่วยดูแลไปแล้ว 500 คน

แล้วให้เขาดูแลกันต่อไปเรื่อยๆ”

เป็น “แชร์ลูกโซ่” ของการให้

Pay it forward •