ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 มิถุนายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | Cool Tech |
ผู้เขียน | จิตต์สุภา ฉิน |
เผยแพร่ |
มาต่อกันกับภาคสองของงาน Google I/O 2016 กันค่ะ
ท้าวความนิดนึงนะคะ ปีนี้เป็นปีที่สามแล้วที่ซู่ชิงได้เดินทางไปร่วมงาน Google I/O 2016 ซึ่งเป็นงานรวมนักพัฒนาทั่วโลกให้มานั่งฟังว่าแต่ละปีกูเกิลเขามีเทคโนโลยีอะไรใหม่ๆ เตรียมไว้ให้นักพัฒนานำไปต่อยอดให้ผู้ใช้งานกันบ้าง ซึ่งในปีนี้งานจัดขึ้นที่เมืองเมาเท่นวิว มลรัฐแคลิฟอร์เนีย บ้านของกูเกิลเขาล่ะค่ะ
ปีนี้กูเกิลตัดสินใจนำเอางาน Google I/O ออกจากคอนเวนชั่นฮอลล์ในร่มมาตั้งเอาไว้กลางแจ้งที่แอมฟิเธียเตอร์ในสภาพอากาศอันอบอุ่นค่อนไปทางร้อน ซู่ชิงตระเวณเก็บรายละเอียดงานเพื่อถ่ายทำรายการอยู่สามวันเต็มๆ เจอแดดเปรี้ยงๆ สาดใส่หน้าสลับกับลมเย็นๆ แห้งๆ ที่พัดมาเป็นระลอกๆ ร่างกายก็ตัดสินใจไม่ได้ว่าตกลงจะร้อนหรือจะหนาวกันแน่ สุดท้ายก็รู้สึกว่าต่อให้ล้มป่วยไปบ้างระหว่างทางแต่สิ่งที่ได้เห็นได้สัมผัสมาก็คุ้มค่าไม่น้อยเลยเหมือนกันค่ะ
งาน Google I/O มักจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ที่สำคัญ ส่วนแรกคือคีย์โน้ตหลัก ซึ่งจะจัดขึ้นในเช้าวันแรกของการจัดงาน เป็นช่วงที่คนของกูเกิลจะสลับกันขึ้นบนเวทีและพูดถึงโปรดักต์ใหม่ๆ ที่เตรียมมานำเสนอ ส่วนที่สองก็คือแซนด์บ็อกซ์ หรือบริเวณที่จัดเตรียมไว้ให้สำหรับบูธต่างๆ ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์และข้อมูลที่สำคัญที่กูเกิลอยากจะนำเสนอ และส่วนที่สามคือเซสชั่นต่างๆ ให้นักพัฒนาที่มาร่วมงานได้เข้าฟังเพื่อเพิ่มความรู้ค่ะ ซึ่งวันนี้ซู่ชิงจะพาคุณผู้อ่านไปสำรวจส่วนที่สอง หรือบริเวณแซนด์บ็อกซ์ว่ากูเกิลเอาอะไรมาวางไว้ให้เราไปสัมผัสใกล้ชิดบ้าง
อย่างแรกที่จอดรอพวกเราอยู่ก็คือรถยนต์ไร้คนขับอันเลื่องชื่อของกูเกิลนั่นเอง แต่ไม่ใช่รถยนต์ไร้คนขับแบบที่กูเกิลนำเอารถยนต์แบรนด์ดังอย่างโตโยต้าหรือเล็กซัสมาดัดแปลงนะคะ เพราะนี่เป็นรถยนต์ไร้คนขับเวอร์ชันปี 2014 ที่ดีไซน์กลมๆ มนๆ ป้อมๆ น่ารักดุ๊กดิ๊กเหมือนรถการ์ตูนค่ะ กูเกิลดีไซน์รถคันนี้ขึ้นมาใหม่ทั้งคันเพื่อให้เป็นรถยนต์ไร้คนขับแบบเต็มตัว แต่น่าเสียดายที่ไม่ให้เราได้ทดลองนั่งด้วย
สำหรับอัพเดตล่าสุดของรถยนต์ไร้คนขับของกูเกิลในตอนนี้ก็คือขับไปบนท้องถนนรวมระยะทางแล้วมากกว่า 1.5 ล้านไมล์ และทดลองขับอยู่บนถนนจริงของบ้านเกิดในเมาเท่นวิว และในมลรัฐอื่นอย่างเท็กซัส วอชิงตัน และแอริโซนาค่ะ
ตามมาด้วยสิ่งนี้ที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นจริงๆ ในระยะประชั้นชิด บอลลูนจาก Project Loon โปรเจ็กต์ปล่อยบอลลูนไปยังชั้นสตราโตสเฟียร์เพื่อให้บอลลูนปล่อยสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้กับประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลซึ่งการใช้วิธีลากสายเคเบิลตามปกตินั้นจะต้องใช้ต้นทุนสูงมาก โปรเจ็กต์นี้ได้ชื่อว่า “ลูน” เพราะนอกจากจะสื่อถึงบอลลูนแล้ว ยังสื่อถึงความหมายที่แปลว่าบ้าบิ่น ช่างกล้าคิด ได้อีกด้วยค่ะ
โปรเจ็กต์ ลูน ถูกปล่อยไปทดสอบครั้งแรกบนท้องฟ้าเหนือประเทศนิวซีแลนด์เพื่อเก็บผลลัพธ์ที่ได้มาปรับปรุงพัฒนาต่อไปค่ะ
มาถึงตรงนี้บางคนอาจจะสงสัยว่าแล้วกูเกิลจะทำโปรเจ็กต์นี้ไปเพื่ออะไร ทำไมจู่ๆ ถึงจะต้องลุกขึ้นมาทดลองปล่อยบอลลูนบ้าบิ่นแบบนี้ อันนี้เกิดมาจากข้อเท็จจริงที่ว่าประชากรถึงสองในสามของโลกยังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้โดยเฉพาะคนในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลความเจริญทางด้านเทคโนโลยี ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ของกูเกิลแต่ละอย่างก็ล้วนเกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตทั้งสิ้น ดังนั้นการทำให้คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น ในที่สุดก็จะนำมาซึ่งผู้ใช้ผลิตภัณฑ์กูเกิลที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวนั่นเอง (เฮ…)
เดินต่อมาอีกนิด ก็จะเจออีกโปรเจ็กต์ของกูเกิล อันนี้ชื่อว่า Project Tango ค่ะ อธิบายง่ายๆ ก็คือ ตามปกติแล้วอุปกรณ์โมบายอย่างสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ตมักจะมองเห็นทุกอย่างเป็นสองมิติ แต่แท็บเล็ตในโปรเจ็กต์นี้จะติดตั้งมาพร้อมกับตัวแทร็กตำแหน่งและเซ็นเซอร์จับความลึก ซึ่งจะทำให้แท็บเล็ตเข้าใจสภาพแวดล้อมรอบตัวได้แบบสามมิติเหมือนที่ตาของมนุษย์มองเห็น
สิ่งที่คนของกูเกิลสาธิตให้ซู่ชิงดูก็คือเราสามารถใช้แท็บเล็ตใน Project Tango นี้ในการวัดขนาดความกว้าง ยาว สูง ลึก ของห้องที่เรายืนอยู่ได้อย่างแม่นยำ ใช้ควบคู่กับเทคโนโลยี Augmented Reality ในการนำเฟอร์นิเจอร์มาซ้อนไปในห้องจริงให้เรามองเห็นผ่านหน้าจอได้แบบตามสัดส่วนและมุมมองของจริง และยังใช้ในการนำทางภายในตัวอาคารได้แบบไม่ต้องพึ่งจีพีเอสด้วย ส่วนจะทำอะไรได้มากกว่านี้อีกก็ขึ้นอยู่กับว่านักพัฒนาจะหยิบไปพัฒนาต่อแบบไหน ซึ่งเลอโนโวที่เป็นพาร์ตเนอร์กับกูเกิลภายใต้โปรเจ็กต์นี้ก็จะผลิตอุปกรณ์โมบาย Project Tango ออกมาวางขายเร็วๆ นี้ค่ะ
ปิดท้ายด้วยเรื่องดีๆ ที่ซู่ชิงได้ไปพบเห็นมาในพื้นที่ที่กูเกิลจัดเตรียมไว้ให้สำหรับนักพัฒนาที่มีไอเดียในการช่วยให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้นโดยกูเกิลจะสนับสนุนทุนให้ อย่างการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยผู้พิการหรือคนที่มีความบกพร่องในด้านต่างๆ ให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น ซู่ชิงได้ไปพูดคุยกับผู้พัฒนา SmartSeat อุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่สอดเข้าไปใต้เบาะสำหรับผู้พิการ เมื่อใช้งานควบคู่กับสมาร์ตโฟนแล้วมันจะคอยตรวจดูการถ่ายเทน้ำหนักลงบนเบาะว่าบริเวณไหนรับน้ำหนักนานเกินไป และจะส่งคำแจ้งเตือนให้ผู้ใช้ได้ขยับปรับการถ่ายเทน้ำหนักใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแผลกดทับจากการนั่งท่าเดิมนานเกินไป หรือองค์กร Doctors Without Borders ที่ใช้ Google Cardboard อุปกรณ์แสดงภาพเสมือนจริงที่ทำจากกระดาษลังเพื่อให้คนทั่วไปได้ลองเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในค่ายอพยพชาวซีเรียและดูว่าชีวิตของพวกเขาต้องเผชิญอะไรบ้าง และลำบากยากแค้นขนาดไหน ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการตระหนักรู้ในแบบที่สมจริงมากกว่าการแค่โชว์ภาพถ่ายให้ดูเฉยๆ นั่นเอง
สำหรับคุณผู้อ่านที่สนใจอยากรู้ลึกเกี่ยวกับงานในปีนี้ให้มากขึ้น หรือชมคลิปคีย์โน้ตและดูเซสชั่นต่างๆ ย้อนหลัง ก็เข้าไปได้ที่ events.google.com/io2016/ ค่ะ