ลุมพินีสถาน สงครามเย็น กับอนาคตพื้นที่สาธารณะทางวัฒนธรรม (1)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ลุมพินีสถาน

สงครามเย็น

กับอนาคตพื้นที่สาธารณะทางวัฒนธรรม (1)

 

ราวกลางปีที่ผ่านมา ผมเพิ่งได้มีโอกาสทำความรู้จักกับอาคารลุมพินีสถาน อาคารร้างขนาดใหญ่กลางสวนลุมพินีที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และความทรงจำที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับวัฒนธรรมบันเทิงของไทยช่วงทศวรรษ 2490-2520

หรือถ้าให้พูดอย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้นก็คือ ช่วงสงครามเย็นที่วัฒนธรรมแบบอเมริกันกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในสังคมไทย

ผมเคยได้ยินชื่ออาคารนี้อยู่บ้างเวลาอ่านหนังสือหรือเอกสารเก่า แต่ไม่เคยสนใจมาก่อน

และยิ่งการที่เป็นพวกไม่ชอบออกกำลังกาย เลยยิ่งทำให้ไม่ค่อยได้ไปสวนลุมพินี และไม่เคยได้เห็นอาคารหลังนี้เลย

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้มีโอกาสทำวิจัยเรื่อง “ศิลปะกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทศวรรษ 2470-2520” ทำให้ได้มีโอกาสมาเยี่ยมชมอาคารหลังนี้

และพบว่ามีความน่าสนใจอย่างไม่น่าเชื่อ

เวทีหมุน และการแสดงดนตรีของเบนนี่ กู๊ดแมน ภายในลุมพินีสถาน พ.ศ.2499
ที่มาภาพ : หอภาพยนตร์แห่งชาติ

ลุมพินีสถาน เป็นอาคารสูง 2 ชั้น รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก มีพื้นที่ใช้สอยภายในราว 5,500 ตารางเมตร

ตัวอาคารตั้งอยู่ภายในสวนลุมพินี บริเวณประตูฝั่งถนนพระราม 4 (ประตู 3)

พื้นที่ชั้น 1 ออกแบบมาเพื่อใช้เป็นฟลอร์เต้นรำลีลาศและจัดกิจกรรมต่างๆ มีขนาดพื้นที่ราว 764 ตารางเมตร

ส่วนพื้นที่ชั้น 2 ออกแบบเป็นลักษณะชั้นลอยยาวตลอดโดยรอบอาคาร กั้นเป็นห้องขนาดใหญ่ 6 ห้อง พร้อมทั้งห้องจัดนิทรรศการ

แม้จะมีขนาดใหญ่โต แต่น่าแปลกที่ไม่มีประวัติการก่อสร้างที่ชัดเจน

จากการตามอ่านเอกสารที่เกี่ยวข้อง บางคนกล่าวว่า อาคารหลังนี้สร้างขึ้นตั้งแต่ราวปี พ.ศ.2478 แต่โดยส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้

จากหลักฐานแผนที่เก่า ภาพถ่ายทางอากาศ เอกสารแวดล้อม และรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่ปรากฏ

ผมสันนิษฐานว่า ตัวอาคารน่าจะถูกสร้างขึ้นราวครั้งหลังของทศวรรษ 2490 และน่าจะแล้วเสร็จราวปี พ.ศ.2497-2498

ที่มั่นใจว่าสร้างเสร็จในช่วงเวลานั้น เพราะในปี พ.ศ.2499 สำนักข่าวสารอเมริกันได้มีการจัดทำภาพยนตร์สั้นว่าด้วยการเดินทางมาประเทศไทยของเบนนี่ กู๊ดแมน (Benny Goodman) นักดนตรีแจ๊ซชาวอเมริกัน เจ้าของฉายา “ราชาเพลงสะวิง”

โดยบางตอนของภาพยนตร์ปรากฏภาพของกู๊ดแมนกำลังซ้อมและเล่นดนตรีอยู่ภายในอาคารลุมพินีสถาน

จึงทำให้ทราบว่า อย่างน้อยในปี พ.ศ.2499 อาคารหลังนี้ได้สร้างเสร็จโดยสมบูรณ์แล้ว

บรรยากาศงานเลี้ยงส่งกองพลจงอางศึก เพื่อไปรบในสงครามเวียดนาม ณ ลุมพินีสถาน พ.ศ.2510
ที่มาภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

จากข้อมูลที่ปรากฏพบว่า ในต้นทศวรรษ 2500 ลุมพินีสถาน คือเวทีลีลาศที่ทันสมัยที่สุดกลางพระนคร คู่เคียงกันกับเวทีลีลาศสวนอัมพร

แต่สิ่งที่พิเศษสุดของเวทีลีลาศลุมพินีสถานซึ่งกลายมาเป็นความทรงจำของผู้คนเป็นจำนวนมาก คือ เวทีทรงกลมที่หมุนได้

เล่ากันว่า เมื่อวงดนตรีที่แสดงอยู่จะทำการหยุดพักหรือเปลี่ยนวง วงดนตรีที่จะขึ้นมาเปลี่ยนจะเตรียมพร้อมอยู่ที่เวทีด้านหลัง

และเมื่อถึงเวลาเปลี่ยนวงแสดง วงดนตรีหลังเวทีจะเล่นดนตรีสอดประสานไปพร้อมกับวงดนตรีหน้าเวที จากนั้นเวทีจะหมุนเพื่อให้วงดนตรีด้านหลังหันมาเล่นแทน

ลักษณะดังกล่าวทำให้การเปลี่ยนวงดนตรีไหลลื่น และทำให้มีเสียงดนตรีเล่นต่อเนื่องโดยคนที่มาเต้นรำไม่จำเป็นต้องหยุดชะงักการเต้นแต่อย่างใด

ด้วยความทันสมัยของเวทีและตำแหน่งที่ตั้งกลางพระนครทำให้ลุมพินีสถานได้กลายมาเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับวัฒนธรรมบันเทิงที่สำคัญของสังคมไทยในช่วงดังกล่าว

 

ในช่วงรุ่งเรืองที่สุด มีการจัดรายการลีลาศให้ประชาชนเข้ามาร่วมกิจกรรมสัปดาห์ละครั้ง โดยมีวงดนตรีสุนทราภรณ์ ของครูเอื้อ สุนทรสนาน มาเล่นดนตรีให้อยู่เป็นประจำ

ลุมพินีสถานเป็นสถานที่จัดประกวดเต้นลีลาศหลายต่อหลายครั้ง

เป็นพื้นที่แจ้งเกิดของนักลีลาศชั้นนำในสังคมไทยในเวลาต่อมาเป็นจำนวนมาก

คุณบุญเลิศ กระบวนแสง หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “บุญเลิศลีลาศ” ราชาลีลาศเมืองไทย คือหนึ่งในบุคคลที่แจ้งเกิดและมีประวัติศาสตร์มากมายร่วมกับสถานที่แห่งนี้

 

นอกจากเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมบันเทิงแล้ว ลุมพินีสถานยังเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ยุคสงครามเย็นอีกด้วย

ในปี พ.ศ.2510 ประเทศไทยได้ทำการจัดตั้งกรมทหารอาสาสมัครในชื่อ จงอางศึก (Queen Cobra) โดยเป็นหน่วยทหารเฉพาะกิจที่รับสมัครชายไทยเพื่อเข้าไปทำการรบในสงครามเวียดนาม

ราวกลางเดือนกันยายน พ.ศ.2510 รัฐบาลไทยได้ฝึกกำลังพลเป็นที่เรียบร้อย และดำเนินการส่งกำลังพลหลักของหน่วยจงอางศึกไปที่เมืองไซ่ง่อน เวียดนามใต้

โดยก่อนที่จะส่งกำลังพลไปในครั้งนั้น ได้มีการจัดงานเลี้ยงส่งหน่วยจงอางศึก ณ ลุมพินีสถาน โดยมีจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น มาเป็นประธานในพิธี

จะว่าไป การเดินทางมาแสดงดนตรีของเบนนี่ กู๊ดแมน เมื่อ พ.ศ.2499 ก็เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายทางวัฒนธรรมของอเมริกาที่มีต่อประเทศไทยในช่วงสงครามเย็น

จากบทความของบุญพิทักษ์ เสนีบุรพทิศ เรื่อง “สุนทราภรณ์ใต้ปีพญาอินทรี : อัสดงคตอเมริกานุวัตรกับวงดนตรีสุนทราภรณ์ในยุคสงครามเย็น” ได้ให้ข้อมูลไว้น่าสนใจว่า การเดินทางมาไทยของกู๊ดแมนครั้งนั้น เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายโฆษณาจิตวิญญาณความเป็นอเมริกันและอุดมการณ์เสรีนิยมในยุคสงครามเย็น

ดนตรีแจ๊ซถูกสร้างความหมายเป็นดั่งสัญลักษณ์ของเสรีภาพ และนักดนตรีแจ๊ซชาวอเมริกันก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอเมริกาให้เดินทางไปทั่วโลกเพื่อนำสัญญะของเสรีภาพนี้ไปเผยแพร่

ไม่ต่างจากงานศิลปะตามแนวทาง Abstract Expressionism ที่ได้รับการสนับสนุนจาก CIA ในการโปรโมตให้เป็นดั่งสัญลักษณ์ของเสรีภาพ และถูกส่งออกไปสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกในฐานะเครื่องมือทางวัฒนธรรมในการต่อสู้กับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ (ดูเพิ่มในบทความ Was modern art a weapon of the CIA? โดย Alastair Sooke)

ในช่วงดังกล่าว วัฒนธรรมบันเทิงแบบอเมริกันทั้งในด้านภาพยนตร์ ดนตรี การเต้นรำ กลายเป็นกระแสที่วัยรุ่นไทยชื่นชอบเป็นอย่างมาก

ซึ่งลุมพินีสถานคือพื้นที่หลักแห่งหนึ่งที่รองรับกิจกรรมบันเทิงแบบอเมริกัน เป็นสถานที่จัดคอนเสิร์ตในร่มที่ทันสมัย และเป็นสถานที่ผ่อนคลายบันเทิงของวัยรุ่นหนุ่มสาวที่สำคัญในยุคสงครามเย็น

 

นอกจากการเป็นเวทีเต้นรำลีลาศและการแสดงคอนเสิร์ต ลุมพินีสถานยังถูกใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมระดับชาติมากมาย เช่น เป็นสถานที่จัดงานประกาศรางวัลตุ๊กตาทอง (รางวัลพระสุรัสวดี) ครั้งที่ 1 เมื่อปี พ.ศ.2500, เป็นสถานที่จัดงานมหกรรมรถยนต์ (มอเตอร์โชว์) ครั้งที่ 1 เมื่อปี พ.ศ.2522 และเวทีการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ ครั้งที่ 1 เมื่อปี พ.ศ.2513 เป็นต้น

อาจกล่าวได้ว่า ลุมพินีสถานคือพื้นที่จัดแสดงสินค้าและอีเว้นท์ขนาดใหญ่ของประเทศไทยที่สำคัญที่สุดในยุค 50-60 ปีก่อน ก่อนที่จะมาถึงยุคของการสร้างอาคารจัดแสดงสินค้าขนาดใหญ่ในแบบปัจจุบัน

ภายหลังจากผ่านยุครุ่งเรืองของการเป็นเวทีลีลาศและการแสดงคอนเสิร์ตในช่วงทศวรรษ 2500-2520 ความนิยมในการใช้พื้นที่แห่งนี้ก็เริ่มลดน้อยลง

แน่นอน ลุมพินีสถานยังคงเป็นสถานที่จัดกิจกรรมทั้งในแบบบันเทิงและทางการมากมาย ไม่ว่าจะเป็นงานเลี้ยงสังสรรค์ จัดงานประชุมสัมมนา สอนเต้นลีลาศ งานไหว้ครู ไปจนถึงจัดกิจกรรมทางการเมือง แต่สัญลักษณ์ของการเป็นพื้นที่แห่งความทันสมัยทางวัฒนธรรมก็เคลื่อนย้ายไปสู่พื้นที่อื่นจนหมดสิ้นแล้ว

 

ราวปี พ.ศ.2556 ได้มีการสำรวจสภาพตัวอาคารและพบว่าลุมพินีสถานมีโครงสร้างหลายส่วนชำรุด ประกอบกับในเวลาต่อมา ตัวอาคารเกิดความเสียหายหลายอย่างจากการถูกใช้เป็นพื้นที่จัดชุมนุมทางการเมือง ณ ขณะนั้น

จนในที่สุด ทางกรุงเทพมหานคร ในฐานะเจ้าของพื้นที่ จึงได้ประกาศงดใช้อาคารลุมพินีสถานเป็นการถาวร

ปัจจุบันเป็นเวลาเกือบทศวรรษแล้วที่ลุมพินีสถานถูกปิดร้าง คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าอาคารแห่งนี้เคยมีความสำคัญและความทรงทางสังคมอะไรอยู่บ้าง ทั้งๆ ที่ตนเองอาจจะวิ่งผ่านเกือบทุกวัน

ภายใต้สภาวะที่ความทรงจำค่อยๆ เลือนหายไปนี้ ก็เกิดแนวคิดที่หลากหลายในการจัดการกับอาคาร ทั้งการรื้อเพื่อสร้างอาคารขึ้นใหม่ ทั้งการบูรณะอาคารให้กลับมาใช้งานเป็นเวทีลีลาศอีกครั้ง ไปจนถึงการปรับอาคารเพื่อใช้สอยในกิจกรรมร่วมสมัยแบบอื่นๆ

ผมเองมีความสนใจในประวัติศาสตร์ คุณค่า และความทรงจำมากมายที่บรรจุอยู่ในลุมพินีสถาน และเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำการฟื้นชีวิตอาคารหลังนี้ให้กลับมาอีกครั้ง ในฐานะพื้นที่สาธารณะทางวัฒนธรรมสำหรับประชาชน