ลดภาพ ‘พี่’ สวมบท ‘พ่อ’ ‘ป้อม’ ลุ้นนายกฯ #30

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เลือกเส้นทางทางการเมืองชัดเจน ประกาศแยกทางกับพลังประชารัฐ พรรคการเมืองที่ครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่าเป็นพรรคสืบทอดอำนาจของ คสช.-เป็นพรรคของ 3 ป. ที่ทำการยึดอำนาจ ครองอำนาจทางการเมือง การบริหารประเทศมาด้วยกันจนเข้าสู่ปีที่ 9

ตามด้วยความเล่นใหญ่ ไปเปิดตัวอีเวนต์ขนาดอลังการที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ ประกาศเชิดชูอุดมการณ์ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เมื่อสัปดาห์ก่อน

ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่า ไม่เห็นมีอะไรใหม่ ไม่เห็นความชัดเจนเรื่องนโยบาย มีแต่การประกาศจุดยืนการเมือง ว่าจะสานงานต่อ แล้วก็โชว์กำลังสนับสนุน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฐานการเมืองที่คุ้นเคยกันดี มีนักการเมืองแนวคิดจารีตนิยมหน้าคุ้นๆ ทั้งจากประชาธิปัตย์ และพลังประชารัฐเดิมเข้าร่วม

จนนักวิเคราะห์การเมืองมองว่า นี่คือจังหวะการเมืองแห่งการถดถอยหรือขาลงของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ชัดเจนต่อเนื่อง

แต่สัปดาห์นี้ดูเหมือนพี่ใหญ่ 3 ป. พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ จะขยับบ้าง

เป็นการขยับในมิติที่น้อง ป.ประยุทธ์ คงไม่ค่อยชอบเท่าไหร่

เริ่มต้นสัปดาห์มาด้วยความร้อนแรงของ “จดหมายเปิดผนึก” จาก พล.อ.ประวิตร ถึงประชาชน บอกเล่าเรื่องราว ความรู้สึกถึงการเข้าไปร่วมงานการเมืองกับ พล.อ.ประยุทธ์ที่ผ่านมา

ถอดรหัส นัยยะของจดหมาย ก็จะได้ใจความสำคัญ 4-5 ประเด็นด้วยกัน

1. คือการยืนยันว่า พล.อ.ประวิตรไม่ได้เกี่ยวข้องกับการยึดอำนาจและขั้นตอนต่างๆ เป็นเพียงผู้มาร่วมงาน เข้ามาช่วยเหลือเพื่อให้ประเทศไปต่อได้

2. คือการเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์อยากอยู่ต่อในอำนาจ คิดเรื่องการตั้งพรรคการเมืองหลังรัฐธรรมนูญใหม่มีผลบังคับใช้ เกิดเป็นพรรคพลังประชารัฐ เข้ามารองรับความต้องการดังกล่าว มี พล.อ.ประวิตรเข้ามาดูแลจัดการให้

3. ระหว่างการดำเนินงานการเมือง การบริหาร พล.อ.ประวิตรก็ไม่ได้เห็นด้วยกับ พล.อ.ประยุทธ์ทุกเรื่องเสียเมื่อไหร่ หลายเรื่องก็ไม่เห็นด้วย แต่ก็ดำเนินไปตามหลักมารยาททางการเมือง

4. ใกล้หมดเวลารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ก็คิดไปต่ออีก จนล่าสุดเป็นฝ่ายปล่อยมือ ทิ้งจากพรรคพลังประชารัฐไปตั้งพรรคการเมืองเอง

5. ความสัมพันธ์ของ 3 ป.ยังเหมือนเดิม ยังไงก็เป็น 3 ป. forever

แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์เลือกเส้นทางการเมืองแบบนี้ เมื่อเป็นเช่นนั้น พล.อ.ประวิตร ในฐานะที่ดูแลพรรคนี้มา ก็จะขอดูแลพรรคนี้ต่อ ไม่ทอดทิ้งใคร

หลังจดหมายเปิดใจจบ เซอร์ไพรส์ต่อด้วยภาพการกลับมาของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่ถูก พล.อ.ประยุทธ์เด้งพ้นจากเก้าอี้รัฐมนตรี ท้ายที่สุดต้องกระเด็นออกมาจากพรรคพลังประชารัฐไปตั้งพรรคเศรษฐกิจไทย กระทั่งหายหน้าหายตาไปนาน

ปรากฏภาพ ร.อ.ธรรมนัสคุกเข่าลงกับพื้นบนเวที มอบพวงมาลัยพวงใหญ่พร้อมยกมือไหว้ พล.อ.ประวิตร เช่นเดียวกับ ส.ส.ในกลุ่มได้ถือพวงมาลัยขึ้นไปบนเวที จากนั้นจึงได้คุกเข่ามอบพวงมาลัย และยกมือไหว้ ท่ามกลางประชาชนเกินครึ่งหมื่น คล้ายกับส่งสัญญาณ ธรรมนัสคนเดิมกลับมาแล้ว

วันนั้น ทั้งวิรัช รัตนเศรษฐ และธรรมนัส พรหมเผ่า ใช้คำสำคัญคำหนึ่งตรงกันว่า “ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30”

โดยพูดตั้งแต่เริ่มงานจนจบงาน เป็นการประกาศวาระทางการเมืองสำคัญนับจากนี้ ว่าจะต้องผลักดัน พล.อ.ประวิตรเข้าดำรงตำแหน่งนายกฯ คนต่อไปของประเทศให้ได้

ร.อ.ธรรมนัสยังกล่าวถึงความชัดเจนในการกลับมาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐว่า สถานภาพขณะนี้ยังเป็นสมาชิกพรรคเศรษฐกิจไทย แต่เรื่องการเมืองตนให้ความเคารพรัก พล.อ.ประวิตรมาสม่ำเสมอ ถือว่าท่านมีพระคุณกับพี่น้องตนทุกอย่าง ชีวิตทางการเมืองอยู่ที่ พล.อ.ประวิตรจะตัดสินใจ

งานนี้ วิรัช รัตนเศรษฐ ก็ยังหยอดคำหวานถึงความสัมพันธ์ของ ร.อ.ธรรมนัส กับ พล.อ.ประวิตร บนเวทีว่า เปรียบธรรมนัสเป็นลูกกลับบ้านแล้ว พ่อคือ พล.อ.ประวิตรก็ดีใจ หุงข้าวไว้รอแล้ว

“จากนี้ไปจะอยู่พรรคพลังประชารัฐ วันนี้ลุงป้อมเปรียบเหมือนพ่อ วันนี้ลูกกลับมาบ้าน จะมาช่วยทำบ้านพลังประชารัฐให้เข้มแข็ง และแข็งแกร่ง โดยเฉพาะ จ.พะเยา ที่ต้องยกจังหวัด ก่อนทิ้งท้ายว่า ลูกๆ กลับมาบ้าน พ่อดีใจ หุงข้าวไว้รอแล้ว” วิรัชกล่าวบรรยาย ในขณะเชิญ ร.อ.ธรรมนัสขึ้นบนเวที

กลายเป็นบรรยากาศสุดจะชื่นมื่น ภายได้เรื่องสโลแกนยุทธศาสตร์หลัก ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ดัน พล.อ.ประวิตร พี่ใหญ่ 3 ป. ขึ้นเป็นผู้จัดการหลักรัฐบาลไทย หลังศึกเลือกตั้งครั้งหน้า

ย้อนกลับไปมองวาระขยับในระดับของพรรคพลังประชารัฐ เริ่มตั้งแต่การดึงมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ เข้ามามีบทบาทในพรรค โดยมิ่งขวัญย้ำชัดว่าเหตุที่เข้ามาเพราะพลังประชารัฐวันนี้ไม่มี พล.อ.ประยุทธ์อยู่แล้ว

ถัดมาเป็นการกลับเข้ามาของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และทีมงานเศรษฐกิจไทยในวันนี้ ก็ยิ่งเป็นความชัดเจนในการพยายามชู พล.อ.ประวิตร และนำพลังประชารัฐสร้างตัวตนใหม่ ไร้ซึ่งความเป็น พล.อ.ประยุทธ์

ยังมีเรื่องบัตรคนจน ที่ พล.อ.ประวิตรเสนอเพิ่มวงเงินในบัตร แต่ก็ถูกทำเนียบเบรกเมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา เคยเสนอเป็นของขวัญวันปีใหม่ แต่ก็วืด ตอกย้ำความไม่ลงรอย

เช้าวันที่ 17 มกราคม วันประชุม ครม. ซึ่งเป็นห้วงขณะที่หลายฝ่ายจับตามองความสัมพันธ์และการเผชิญหน้ากับ พล.อ.ประยุทธ์ หลังจาก พล.อ.ประวิตรทำจดหมายเปิดใจ ปรากฏว่า ครม.กร่อย พล.อ.ประวิตรไม่มาประชุม ให้เหตุผลว่าอ่อนเพลียจากการลงพื้นที่ แต่กลับพบไปลงพื้นที่ จ.ราชบุรี พบปะกับ 2 ส.ส.ของพรรค เช้าวันต่อมาเป็นพาดหัวข่าวตัวโตว่าเป็นการเปิดศึกชิงตัว ส.ส.ของ พล.อ.ประวิตร ตัดหน้า พล.อ.ประยุทธ์ที่จะไปลงพื้นที่เช่นกัน

บ่ายวันเดียวกันนักข่าวทำเนียบพยายามชูไมค์ถาม พล.อ.ประยุทธ์ ถึงการลาของ พล.อ.ประวิตร แต่พบไปปรากฏตัวที่ จ.ราชบุรี คุยกับ ส.ส.พลังประชารัฐ รวมถึงกรณีการกลับมาของ ร.อ.ธรรมนัสคุกเข่าไหว้ พล.อ.ประวิตร สื่อรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ฟังคำถามยังไม่ทันจบดี ก็ปรี่เดินออกจากวงสัมภาษณ์ด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว กล่าวในลำคอด้วยท่าทีไม่สบอารมณ์ว่า “ฮู้ว!” พร้อมโบกมือปัดตอบคำถาม

นั่นคืออากัปกิริยาเดินหนี แสดงอาการรับไม่ได้ของ พล.อ.ประยุทธ์

 

เย็นวันเดียวกัน พล.อ.ประวิตรที่ลา ครม.เพราะเพลีย กลับไปปรากฏตัวบทเวทีพรรคพลังประชารัฐ เปิดนโยบายของพรรคเพื่อใช้หาเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้า บรรดารัฐมนตรี ทั้งสันติ พร้อมพัฒน์, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน, ตรีนุช เทียนทอง, ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์, อธิรัฐ รัตนเศรษฐ แกนนำ ส.ส. รวมถึงว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค ร่วมงานคับคั่ง ด้านหน้าที่ทำการพรรคและโดยรอบพรรค ได้ติดป้ายสโลแกน “ก้าวข้ามความขัดแย้ง ขจัดทุกปัญหา พัฒนาทุกพื้นที่”

ไฮไลต์คือนโยบาย บัตรประชารัฐ เพิ่มเงิน-เพิ่มสวัสดิการ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 700 บาทต่อเดือน เกทับตัวเลขนโยบายค่าแรง 600 ของเพื่อไทยไปเลย

ในประเด็นการเมือง วันนี้เป็นครั้งแรกของความชัดเจนจากปาก พล.อ.ประวิตร ว่าการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้พร้อมจะเป็นนายกรัฐมนตรี ผู้สื่อข่าวได้สอบถาม พล.อ.ประวิตรว่า พร้อมที่จะเป็นนายกฯ คนที่ 30 หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “ก็เลือกมาดิ ถ้าเลือกได้ก็เป็น ถ้าประชาชนเลือกได้ให้ผมเป็นผมก็เป็น” ทันทีที่สิ้นคำตอบ บรรดาแกนนำพรรคต่างส่งเสียงเฮกันดังลั่นห้อง

“เราก้าวข้ามความขัดแย้ง ไม่ได้บอกว่าจะจับมือกับใครเลย ทุกพรรคเรามาคุยกันได้ เปิดโอกาสให้คุยกันได้” พล.อ.ประวิตรกล่าวย้ำจุดยืน

 

มีคำถามสำคัญหลังการขยับจากฝั่ง พล.อ.ประวิตร ว่าการเมืองหลังศึกเลือกตั้งใหญ่ 2 ป.จะกลับมารวมกันจริงหรือ จะรวมกันได้หรือไม่?

เพราะหากดูจากสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2564 จากการพยายามล้ม พล.อ.ประยุทธ์ ของ ส.ส.พลังประชารัฐกลุ่มธรรมนัส ที่แตกหักกันหนัก การถูกสั่งปลดพ้น ครม. การที่ พล.อ.ประยุทธ์ออกไปตั้งพรรคใหม่สู้ทางการเมืองแข่งกับ พล.อ.ประวิตรที่เคยจับมือการเมืองมาด้วยกัน เหล่านี้ไม่เพียงสะท้อนอาการแยกกันเดินตามปกติ แต่มันสะท้อนอาการหมดเยื่อใยในทางการเมืองระดับลึก

แน่นอนว่า 250 ส.ว.ที่ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ต่างร่วมกันก่อร่างสร้างตัวตนขึ้นมาผ่านรัฐธรรมนูญ 2560 จากนี้ไปก็จะไม่เหมือนเดิม การลงคะแนนเสียงไม่เป็นเอกภาพแน่นอน อย่างน้อยจะมีส่วนหนึ่งน่าจะยกมือมาทาง พล.อ.ประวิตร

ยุทธศาสตร์ พล.อ.ประวิตร นายกฯ คนที่ 30 จึงถูกชูขึ้น – ภาพคุกเข่าไหว้ ประกอบกับคำบรรยายของวิรัช รัตนเศรษฐ เรื่องลูกกลับมาหาพ่อ จึงถูกชูขึ้น

บทบาทของ พล.อ.ประวิตรจะไม่เหมือนเดิมนับจากนี้ จากความเป็นพี่ใหญ่บ้านป่ารอยต่อฯ วันนี้แทนที่ด้วยความเป็น “พ่อ” แล้วในทางการเมือง พ่อที่เอื้ออาทรต่อลูก พ่อที่ให้อภัยและไม่เคยโกรธ ไม่ว่าลูกจะไปทำอะไรมา

“พ่อ” ก็พร้อมหุงข้าวรอลูกกลับมากินเสมอ

 

ภาพคุกเข่าของนักการเมืองต่อ พล.อ.ประวิตรในวันนี้ ชวนให้นึกถึงหน้าปกหนังสือเรื่อง “การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ” ที่เขียนโดย “ทักษ์ เฉลิมเตียรณ” อย่างมาก เล่มนี้เป็นการอธิบายการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ภาพปกเป็นภาพประชาชนมานั่งคุกเข่าต่อหน้า และจอมพลสฤษดิ์ให้การช่วยเหลือ

ขณะที่ภาพการคุกเข่าของ ร.อ.ธรรมนัส ต่อ พล.อ.ประวิตรในวันนี้ น่าจะเรียกคอนเซ็ปต์นี้ได้ว่า การเมืองระบบพ่อขุนอุปภัมภ์บ้านใหญ่แบบกึ่งประชาธิปไตย ก็คงจะได้ เพราะคล้ายๆ กัน แต่เปลี่ยนคนคุกเข่าจากประชาชนเป็นนักการเมือง

การคุกเข่าไหว้กันทางการเมือง นับเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่ไม่ค่อยจะได้พบเห็นภาพบ่อยในที่สาธารณะ (อาจทำกันบ่อยในพื้นที่ส่วนตัว) เชื่อว่าคนทั่วไปอาจไม่รู้สึกอะไรมาก เพราะ ร.อ.ธรรมนัสแสดงบทบาทนี้บ่อยกับ พล.อ.ประวิตร

ต่างกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่อย่าว่าแต่บทบาท “พี่” หรือ “พ่อ” เลย ทุกวันนี้ไม่รู้ว่าเข้าใจหรือยังว่าประเทศไทยไม่ใช่ค่ายทหาร ทำเนียบรัฐบาลไม่ใช่กรมกอง งานเปิดตัวยิ่งใหญ่ร่วมงานกับรวมไทยสร้างชาติยังอ้างถึงชีวิตทหารนับสิบๆ ครั้ง

งานนี้ คนรู้สึกมากหน่อย ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ซึ่งมีบ้านติดกับ พล.อ.ประวิตร และเพิ่งประกาศแยกทางกันทางการเมือง มาสู้ศึกเลือกตั้งในสงครามครั้งสุดท้ายที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้นั่นแหละ!