มองไทยใหม่ : ไอ VS อาย (ตกลงแล้วต้องเขียนคำว่า ไวไฟ หรือ ไวฟายกันแน่ ?)

ไอ VS อาย (๓)

ย้อนอ่านตอน  (๒)  (๑)

ในหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษที่จะเสนอใหม่ ได้ระบุหลักเกณฑ์ให้ละเอียดขึ้นว่า

 

ขอให้สังเกตว่าคำทับศัพท์เดิมในภาษาไทยส่วนใหญ่ก็ยึดตามหลักเกณฑ์แรกอยู่แล้ว ดังที่เก็บไว้ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เช่น

คาร์บอนไดออกไซด์ (carbon dioxide) โคไซน์ (cosine) ไซเกิล (cycle) ไซโคลน (cyclone) ไซน์ (sine) ไซยาไนด์ (cyanide) ไซเรน (siren) ไซโล (silo) ไดนาโม (dynamo) ไดนาไมต์ (dynamite) ไทเทเนียม (titanium) ไนต์คลับ (nightclub) ไนโตรเจน (nitrogen) ไนลอน (nylon) ไมครอน (micron) ไมโครฟิล์ม (microfilm) ไมโครโฟน (microphone) ไมโครเวฟ (microwave) ไมล์ (mile) ไวน์ (wine) ไวรัส (virus) ไวโอลิน (violin) ออกไซด์ (oxide) อัลตราไวโอเลต (ultraviolet) เอนไซม์ (enzyme) ไอโอดีน (iodine) ไฮโดรเจน (hydrogen) ไฮไฟ (hi-fi)

 

จะเห็นได้ว่าตัวอย่างข้างต้นนี้ล้วนแต่ถอด [aI] เป็น ไ- ทั้งสิ้น ยกเว้น ไวฟาย ที่พยางค์ท้ายไม่มีเสียงพยัญชนะท้าย จึงถอดเป็น -าย

มีคำถามว่าทำไม่ไม่ถอด wi-fi เป็น ไวไฟ เฉกเช่นที่ถอด hi-fi เป็น ไฮไฟ

ที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยเหตุผล ๓ ประการ คือ

ประการแรก ไฮไฟ ถือว่าเป็นคำเก่าที่ใช้กันมานานจนเป็นที่ยอมรับกันแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นใหม่

ประการที่ ๒ ในภาษาไทยมีคำว่า ไวไฟ อยู่แล้ว หมายถึง “ที่ติดไฟได้ง่ายและรวดเร็วมาก เช่น น้ำมันไวไฟ, โดยปริยายหมายถึงผู้ที่มีความประพฤติหละหลวมในทางชู้สาว มีลักษณะดังสิ่งไวไฟ” นอกจากนี้ตามหลักเกณฑ์ที่เสนอใหม่ fi ในพยางค์ท้ายของคำว่า wi-fi ไม่มีเสียงพยัญชนะท้าย จึงถอดเป็น ฟาย ได้

ประการที่ ๓ ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่าในปัจจุบันสระไอในภาษาไทยอาจจะแทนได้ทั้งเสียงสั้นหรือเสียงยาว การทับศัพท์จึงเป็นการเขียนที่ “ยึดหลักการออกเสียงของเจ้าของภาษา แต่ให้เขียนได้เท่าที่อักขรวิธีไทยจะอำนวยให้ และให้ถอดอักษรในภาษาเดิมพอควรแก่การแสดงที่มาของรูปศัพท์” นอกจากนี้ การเขียนรูป -าย ที่ยังมีพยัญชนะตามมาอีกตัวหนึ่งอาจจะทำให้อ่านยาก เพราะภาษาไทยกำหนดให้มีเสียงพยัญชนะท้ายเพียงเสียงเดียวเท่านั้น ลองเปรียบเทียบ ไนน์ กับ นายน์ ไทม์ กับ ทายม์ ไทด์ กับ ทายด์

อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์การเขียนเสียง -าย นี้เป็นหลักเกณฑ์ที่เสนอขึ้นใหม่ อาจจะมีผู้รับหรือไม่รับก็ได้

มีคำถามว่า ถ้าไม่เขียนตามหลักเกณฑ์นี้จะผิดไหม ก็ตอบได้ว่า ไม่ผิดอักขรวิธีไทย เพียงแต่ไม่ได้ใช้หลักเกณฑ์ของราชบัณฑิตยสถาน/สภาเท่านั้น