ระหว่างศีลธรรมและสังคม | นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ระหว่างศีลธรรมและสังคม

คุณนิธินันท์ ยอแสงรัตน์ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณี 6 ตุลาไว้ในหนังสือ มนุษย์ 6 ตุลา มีความตอนหนึ่งว่า “…ปกป้องตัวเองด้วยการฆ่าคนอื่น”

แม้ผมไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่เท่าที่ได้อ่านอะไรเกี่ยวกับ 6 ตุลามาบ้าง ก็เห็นด้วยกับคุณนิธินันท์อย่างยิ่ง ความกลัวชนิดขนพองสยองเกล้าไม่ได้เกิดกับเหยื่อเท่านั้น แม้แต่ผู้ล่าก็หวาดกลัวเหมือนกัน จะมากน้อยกว่าเหยื่อก็ไม่ผิดกันนัก เขาถูกส่งให้มาปฏิบัติภารกิจซึ่งส่วนใหญ่น่าจะได้วางแผนไว้ล่วงหน้าแล้ว เช่น การทำร้ายศพด้วยวิธีต่างๆ การระดมยิงเข้าไปในธรรมศาสตร์ การทำให้นักศึกษาได้อาย (เช่น บังคับนักศึกษาหญิงถอดเสื้อ, บังคับให้ทุกคนที่ยอมจำนนต้องคลาน ฯลฯ) ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ในเครื่องแบบบ้าง นอกเครื่องแบบบ้าง ประชาชนที่เข้าร่วมก็คงมีบ้าง แต่ไม่ใช่แกนหลักของปฏิบัติการแน่

ผมคิดว่า เจ้าหน้าที่รัฐเหล่านี้ไม่ได้คิดมาก่อนว่า แผนปฏิบัติการที่ตนได้รับคำสั่งมาจะนำความสูญเสียที่อุจาดขนาดนี้ นั่นคือเหตุผลที่ทุกฝ่าย และผมขอย้ำว่าทุกฝ่ายจริงๆ ไม่อยากให้เหตุการณ์เป็นข่าว โดยเฉพาะข่าวต่างประเทศ มีความพยายามแม้แต่แก้ตัวกับทูตอเมริกันและอังกฤษ ไปจนถึงผู้นำกระทิงแดงทั้งในและนอกราชการ หรือนายตำรวจที่ไปข่มขู่และละเมิดอาจารย์ป๋วยที่ดอนเมือง ต่างก็ปฏิเสธบทบาทของตนเองหรืออย่างน้อยแรงจูงใจของตนเอง

แต่หากพวกเขาไม่กระตือรือร้นปฏิบัติการตามแผนอย่างเข้มแข็ง ก็จะกระทบต่อชีวิตการงานของเขาทั้งในปัจจุบันและอนาคต มันไม่ใช่ความผิดพลาดในการปฏิบัติงานเพียงครั้งเดียว แต่มันแสดงถึงจุดยืนทางการเมืองของเขา และจุดยืนนี้คงจะอยู่ต่อไปในอนาคตอีกนาน จนเขาไม่มีวันโผล่หน้าขึ้นในระบบได้

สรุปก็คือกลัวแหละครับ แม้ไม่ใช่กลัวต่อภยันตรายต่อหน้า แต่กลัวต่อความอับจนซึ่งจะเกิดแก่อนาคตของตนเอง

 

ส่วนคนที่ไม่ใช่เหยื่อและไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น คนที่ไปมุงดูการทำร้ายศพที่ถูกนำไปแขวนคอแล้วฟาดด้วยเก้าอี้เหล็ก ก็คงตกใจกลัวสุดขีดเหมือนกัน จนสูญเสียอาการสำนึกผิดชอบชั่วดี (ซึ่งผมอยากแปลเป็นภาษาอังกฤษในที่นี้ว่า decency) ไปจนสิ้นเชิง คิดแต่ว่าจะให้ตนปลอดภัยอย่างไร และวิธีที่ทุกคนคิดออกเหมือนกันคือแสดงตนเป็นฝ่ายเดียวกับผู้กระทำ หรือแสดงว่าตนไม่ใช่อยู่ฝ่ายเดียวกับผู้ถูกกระทำ ดังนั้น ทุกคนจึงยิ้มและตบมือ

จนกลายเป็นอนารยวัตรของสังคมไทยที่ลือเลื่องไปทั่วโลก

นอกจากความกลัวแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เราโหดเหี้ยมผิดมนุษย์มนาได้ก็คือความโลภ (ไม่นับความโกรธ, ความเกลียด, ความอิจฉาริษยา ฯลฯ ซึ่งมักถูกใช้เป็นคำอธิบายในข่าวอาชญากรรมอยู่แล้ว) ซึ่งที่จริงแล้วก็เป็นความรู้สึกที่เกี่ยวโยงกันอย่างแยกไม่ออก เช่น เพราะอยากได้ชีวิตที่ดีขึ้นจึงกลัวจะตามไม่ทันเขา หรือกลัวจะตกจากอำนาจ จึงต้องกอบโกยไว้ให้มากก่อน

เมื่อพูดถึงอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์แล้ว คนไทยมักมองสิ่งเหล่านี้จากมุมมองทางศาสนา ซึ่งเป็นธรรมดาที่จะอธิบายปัจจัยของความชั่วว่ามาจากความบกพร่องของบุคคล แต่ความโหดร้ายป่าเถื่อนที่เกิดในเหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่ใช่การกระทำของบุคคลเพียงไม่กี่คน แต่รวมเป็นฝูงชนจำนวนมาก แม้แต่ที่ถูกขนมาจากต่างจังหวัดและไม่ได้ลงมือทำร้ายใครเลย ก็มีส่วนร่วมในการสร้างสถานการณ์ที่มีผู้วางแผนไว้สำหรับก่อความโหดร้ายป่าเถื่อน และพูดให้ถึงที่สุด บรรยากาศที่ตึงเครียดรุนแรงอันเป็นการปลุกปั่นของหน่วยงานรัฐบางหน่วยมาเป็นปี ก็ช่วยเตรียมให้เกิดสถานการณ์ 6 ตุลาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ สังคมโหดร้ายป่าเถื่อนได้ถูกสร้างขึ้นก่อนที่ผู้คนจะโหดร้ายป่าเถื่อน ปัจจัยทางสังคมนี่แหละครับที่มักถูกมองข้ามในทัศนะของนักการศาสนา และทัศนะที่อธิบายเหตุการณ์ต่างๆ จากบุคคลเป็นหลัก ก็ค่อนข้างครอบงำสังคมศาสตร์แบบไทยมานาน เราจึงไม่ค่อยมีรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ใหญ่ๆ ของไทยมากไปกว่าการตัดสินใจและการกระทำหรือไม่กระทำของบุคคล บางเหตุการณ์เช่น 6 ตุลาก็ไม่กล้าเรียนรู้ให้ละเอียดขึ้นเสียอีก เพราะถ้าเน้นบุคคล ก็อ้างว่าจะทำให้เกิดความแตกแยก

 

ผมจึงอยากพูดถึงสถานการณ์ที่สังคมเสื่อมลงสู่ความโหดร้ายป่าเถื่อนในประเทศอื่น นั่นคือการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน แม้พรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่ต้องการให้มีการรื้อฟื้นขึ้นมาศึกษากัน เพราะพรรคคงปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ดังนั้น งานศึกษาที่ดีๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้จึงมักอยู่ในภาษาอื่น แม้แต่ที่คนจีนเขียนเล่าประสบการณ์ของตนเอง ก็ยังต้องเขียนและพิมพ์ภายนอกประเทศ รวมทั้งผู้เขียนก็กลายเป็นพลเมืองของประเทศอื่นไปแล้วด้วย

ศาสตราจารย์ Frank Dikotter แห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง ได้เขียนประวัติศาสตร์จีน “ไตรภาคของประชาชน” (People’s Trilogy) ประกอบด้วยงานเขียน 3 ชิ้นคือ “โศกนาฏกรรมของการปลดปล่อย 1945-1957”, “ทุพภิกขภัยของเหมา 1958-1962” และ “การปฏิวัติวัฒนธรรม 1962-1976” ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นเนื้อหาที่ถูกนักจีนศึกษากล่าวถึงมามากแล้ว แต่ศาสตราจารย์ Dikotter เล่าประวัติศาสตร์จีนจากชะตากรรมของประชาชนจีน มากกว่าที่จะเน้นบทบาทของแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์อย่างที่ได้พบในงานทั่วไป

ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า อุบัติการณ์สำคัญของการปฏิวัติวัฒนธรรมคือขบวนการ “ยามแดง” (Red Guards) ที่ประกอบด้วยนักเรียน นักศึกษา และคนวัยหนุ่มสาวหรือแม้แต่เด็กจำนวนมาก เคลื่อนไหวอย่างใหญ่ทั่วประเทศเพื่อสนับสนุนประธานเหมาอย่างล้นเกิน จนกลายเป็นการนับถือบูชาเทพไปเลย ดังนั้น จึงมีปฏิบัติการที่ช่วยเสริมความหลงใหลอย่างไร้เหตุผลด้วยเป็นธรรมดา นั่นคือการขจัด “ศัตรูของการปฏิวัติ” ซึ่งไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะกลุ่มแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์ ทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่น ซึ่งถึงอย่างไรก็แย่งอำนาจกันอยู่ตลอดเวลาเท่านั้น ลามไปถึงประชาชนทั่วไป ที่ถูกฉุดลากมาทรมาทรกรรมในที่สาธารณะเพื่อประจาน

ไม่มีความภักดีอะไรเหลืออยู่ในจีนนอกจากความภักดีต่อท่านประธาน ส่วนความภักดีในครอบครัว, ในกองทัพ, ในพรรค, ในระบบราชการ, ในที่ทำงาน, ในเพื่อนฝูง, ในชุมชน ฯลฯ อันเป็นปรกติในวิถีชีวิตของผู้คนทั่วไป ล้วนเป็นความไม่น่าไว้วางใจทั้งสิ้น เพราะอาจถูกขายหรือหักหลังจากคนร่วมกลุ่มเมื่อไรก็ได้ จะด้วยเหตุของความกลัวเพื่อปกป้องตนเอง หรือเพราะความโลภอยากได้ใคร่ดีทางลัดก็ตาม

บุคคลซึ่งต่อมาตกเป็นเหยื่อของการปฏิวัติวัฒนธรรม เช่น หลิวเฉาฉี และเติ้งเสี่ยวผิง ก็เคยทำมาแล้ว ผมขอนำเอาเรื่องหนึ่งที่สะเทือนใจอย่างมากจากงานของ Dikotter มาเล่าให้ฟัง

 

ลัวะ รุ่ยฉิง (Lua Ruiqing) เป็นเสนาธิการทหารที่ไม่ถูกกับหลินเปียวซึ่งเป็น ผบ.ทบ. แต่เขาร่วมอยู่ใน “มุ้ง” เดียวกับกลุ่มหลิวและเติ้ง จึงเป็นธรรมดาที่ทั้งหลิวและเติ้งย่อมสนับสนุนเขา แต่ต่อมาประธานเหมากลับไปเชื่อคำยุยงของเมียหลินเปียว เกิดความระแวงต่อความภักดีของลัวะ เขาจึงถูกสอบสวนคุกคามต่างๆ นานา มีการตั้งกรรมการ 95 คนขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อรีดเอาความจริงจากเขา หลิวและเติ้งก็ร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย ในที่สุดลัวะทนแรงกดดันของการสอบสวนไม่ไหว จึงกระโดดตึกเพื่อฆ่าตัวตาย แต่โชคร้ายเขาเพียงแต่ขาหักเท่านั้น ความพยายามฆ่าตัวตายของเขากลายเป็นประจักษ์พยานว่าเขาต้องผิดจริง!!!

หลิวตั้งข้อสังเกตเพื่อด้อยค่าการกระทำของลัวะว่า “เขาควรเอาหัวดิ่งลงมา แต่เขากลับกระโดดเอาขาลง” ส่วนเติ้งได้แต่ยักไหล่แล้วรำพึงดังๆ ว่า “เขาดิ่งลงมายังกะก้อนหวานเย็น”

ดูเป็นความโหดร้ายเลือดเย็นผิดมนุษย์ แต่ในสถานการณ์ทางการเมืองที่พลาดนิดเดียวอาจถึงตาย หรือรับการทรมานอย่างไม่สิ้นสุด ทั้งหลิวและเติ้งไม่มีทางเลือกมากนัก ยิ่งเคยเป็นพันธมิตรกับผู้ต้องหามาก่อน ก็ยิ่งต้องเหยียบย่ำซ้ำเติม “เพื่อน” ให้หนักกว่าคนอื่น เพื่อความปลอดภัยของตนเอง

แต่การกล่าวโทษหรือฟ้องคนอื่นเพื่อเอาตัวรอด หรือเพื่อล้างแค้นส่วนตัว หรือเพื่อขจัดคู่แข่ง ไม่จำกัดเฉพาะนักการเมืองในสถานการณ์ทางการเมืองที่สุ่มเสี่ยงเท่านั้น แม้แต่ชาวบ้านก็ฟ้องร้องหรือกล่าวโทษเพื่อนบ้านของตนเอง ดังที่ Jung Chang ผู้แต่งเรื่อง หงส์ป่า เล่าว่า ในขณะที่เธอเป็นนักเรียนและ “ยามแดง” ในเมืองเฉิงตูนั้น กรรมการชุมชนถนนสองคนเข้ามายังโรงเรียนของเธอเพื่อฟ้องร้องเพื่อนบ้านว่าเป็นปฏิปักษ์ปฏิวัติวัฒนธรรมอย่างร้ายแรง “ยามแดง” จึงไปบุกบ้านของผู้ถูกกล่าวหา พบว่าบ้านถูกรื้อทำลายจนเละเทะไปแล้ว ที่กลางห้องใหญ่พบหญิงคนหนึ่งเปลือยกายแต่ถูกมัดไว้หลายวันแล้ว จึงมีกลิ่นของเสียคละคลุ้งไปหมด เมื่อยามแดงโผล่เข้าไป หญิงนั้นกรีดร้องด้วยความกลัวแล้วก้มหน้าลงกับพื้นตะโกนสารภาพความผิดของตนเอง แต่โชคดีที่ยามแดงไม่ได้ลงโทษทันที ยังซักถามเอารายละเอียดจากเหยื่อ และในที่สุดก็พบว่าผู้ที่มาฟ้องร้องต้องการแก้แค้นหญิงคนดังกล่าว

อย่าลืมว่าในเมืองจีนขณะนั้น “ศาล” คือยามแดง จึงสร้างความลำเค็ญให้แก่ประชาชนไม่น้อยไปกว่ายามแดงเป็น “ศาล” ในขณะที่กฎหมายมีความหมายอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับการตีความตามใจชอบของยามแดง ดังนั้น ถึงกฎหมายยังมีอยู่ท่ามกลางการปฏิวัติทางวัฒนธรรม แต่กฎหมายไม่มีเนื้อหาอื่นใดนอกจากกำหนดว่าอำนาจอยู่ที่ใครเท่านั้น ไม่มีอำนาจอะไรเหลือให้แก่กฎหมายอีกต่อไป กฎหมายจึงใช้ตัดสินอะไรไม่ได้สักอย่าง

 

คนแต่ละคนอาจมีดี-เลว, อ่อนแอ-เข้มแข็ง, ส่วนตัว-ส่วนรวม ฯลฯ ต่างกัน แต่ทุกคนก็ตกอยู่ใต้การบีบบังคับของสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแต่ละคนอาจตอบสนองต่อแรงบีบบังคับนั้นต่างกัน แต่พลังของสังคมที่กำหนดทางเลือกของแต่ละคนก็มีอยู่จริง จนทำให้ทางเลือกทางศีลธรรมเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะตอบสนองไปได้หมด ดังเช่นในสถานการณ์ 6 ตุลาและการปฏิวัติวัฒนธรรม สังคมบีบให้ไม่เหลือทางเลือกอื่นมากนัก นอกจากการทำร้ายผู้อื่น ซึ่งกลับให้ความปลอดภัยหรือเกียรติยศเงินตราแก่ผู้กระทำ

คนอย่างหลิวและเติ้งและคนที่ฟ้องเพื่อนบ้านเพื่อแก้แค้นหรือคนทำทารุณกรรมแก่ศพและระดมยิงผู้ปราศจากอาวุธ หากสังคมไม่ตกอยู่ในสภาพสุดโต่งทางอุดมการณ์ จนทำให้ชีวิตของทุกคนเสี่ยงต่อความตายหรือความตกต่ำได้ทุกขณะเช่นนั้น พวกเขาก็อาจเหมือนคนอื่นๆ ทั่วไป คือมีความภักดีที่ยั่งยืนและกระจายไปยังผู้คนนานาชนิดที่เขาต้องสัมพันธ์ด้วย หรือมองเห็นการทำร้ายศพและการเข่นฆ่าคนอื่นที่ไม่อาจต่อสู้ได้ว่าขัดกับศีลธรรมของตนและไม่ยอมรับ

ในสภาพการณ์เช่นนั้น ไม่ว่าใครจะมีอำนาจเท่าไรและอย่างไร ทุกคนก็ตกเป็นเหยื่อของสภาพการณ์อันเลวร้ายนั้นทั้งสิ้น แม้แต่ท่านประธานเหมาก็หนีไม่พ้น ระบอบอำนาจที่ไร้หลักเกณฑ์และการถ่วงดุลย่อมกินตัวของมันเองในที่สุด… เสมอและในทุกสังคมด้วย

ศีลธรรมนั้นจำเป็นแน่ แต่ไม่พอที่จะทำให้สังคมสงบสุขหรือเป็นธรรมได้ “เมื่อทุกคนเป็นคนดี สังคมก็ดีเอง” เป็นคำพูดไม่รู้เดียงสา (naive) และไม่จริง น่าตระหนกนะครับ ที่ทั้งปฏิวัติวัฒนธรรมและ 6 ตุลา ผู้กระทำความโหดร้ายป่าเถื่อนล้วนอ้างความดีทั้งสิ้น เช่น ต่อสู้กับปฏิปักษ์ปฏิวัติ, ซากเดนศักดินา, ซากเดนกระฎุมพี หรือต่อต้านการขายชาติ, ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์, ขจัดสายลับ “ญวน”, ขจัด “ภัยสังคม” ฯลฯ

ทุกครั้งที่มีการใช้อำนาจอย่างไร้หลักเกณฑ์และการถ่วงดุล – ไม่ว่าจะเป็นของตำรวจ, เทศกิจ, ไปจนถึงนายกรัฐมนตรี หรือพระมหากษัตริย์ – เมื่อนั้น สังคมกำลังจะบีบคนดีให้ไม่เหลือทางเลือกอะไรมากนัก นอกจากทำร้ายคนอื่น