เอไอใช้ภาษามนุษย์ เขียนงานให้มนุษย์อ่าน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech | จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

เอไอใช้ภาษามนุษย์

เขียนงานให้มนุษย์อ่าน

 

อาชีพนักข่าวที่ต้องเขียนข่าวเพื่อรายงานสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกเป็นอาชีพที่ผ่านความท้าทายมาหลายรูปแบบ

ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ซึ่งหลายเดือนมานี้เราได้ประจักษ์ถึงความเก่งกาจของแชตบอตเอไอ อย่าง ChatGPT มาแล้วก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะคาดเดาเลยว่านี่เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่นักข่าววันนี้จะต้องรับมือและปรับตัว

ChatGPT สามารถใช้ข้อมูลมหาศาลที่มันมีอยู่ในการพูดคุยตอบคำถามของมนุษย์และช่วยมนุษย์ปฏิบัติภารกิจต่างๆ ตั้งแต่การช่วยเขียนเรียงความไปจนถึงการเขียนโค้ดคอมพิวเตอร์ตามโจทย์ที่ผู้ใช้งานกำหนดให้

ซึ่งหาก ChatGPT สามารถทำงานที่ความซับซ้อนแบบนั้นได้ก็แน่นอนว่างานการเขียนข่าวในรูปแบบ ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ก็คงเป็นงานกล้วยๆ ที่แทบจะไม่ต้องใช้พลังประมวลผลอะไรมากมายเลย

Business people reading newspaper

สํานักข่าวระดับโลกหลายแห่งนำปัญญาประดิษฐ์มาช่วยในการเขียนข่าวมาสักพักแล้ว อย่างเช่น CNET สำนักข่าวที่รายงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีเป็นหลักแต่ก็แตกไลน์ไปแตะหัวข้ออื่นๆ ด้วยได้ใช้เครื่องมือปัญญาประดิษฐ์มาช่วยเขียนบทความเงียบๆ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วโดยใช้ชื่อคนเขียนว่า CNET Money

แต่หากคลิกเข้าไปดูโปรไฟล์ก็จะเขียนว่า “บทความชิ้นนี้สร้างขึ้นโดยการใช้เอไอ แต่ทบทวน ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล และแก้ไขดัดแปลงโดยทีมงานบรรณาธิการ (ที่เป็นมนุษย์)”

หนึ่งในบทความของ CNET ที่ใช้เอไอมาช่วยเขียนก็อย่างเช่นบทความเรื่อง “ค่าธรรมเนียม NSF คืออะไรและทำไมธนาคารถึงต้องคิดค่าธรรมเนียมนี้” ซึ่งก็มีรูปแบบเป็นไปตามบทความที่เราอ่านกันอยู่ทั่วๆ ไป คือมีเกริ่นนำเรื่องและใช้รูปแบบของการถามตอบเข้ามาช่วยอธิบายให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจ ส่วนตัวฉันเองคิดว่าการเขียนรูปแบบนี้อ่านง่าย อ่านได้เร็ว และตอบคำถามที่คนอาจจะสงสัยได้อย่างตรงจุด

ฉันคิดว่ามาถึงตอนนี้คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรที่เอไอจะถูกนำมาใช้ช่วยเขียนข่าวและบทความ แต่ฉันก็ยังเชื่อว่าเอไอยังเหมาะที่จะสร้างงานเขียนแค่บางประเภทเท่านั้น อย่างเช่น งานเขียนข่าวที่มีรูปแบบตรงไปตรงมาที่ผู้อ่านคาดหวังอยากได้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเป็นหลัก

คีย์เวิร์ดที่สำคัญก็คือคำว่า ‘ที่ถูกต้อง’ ด้วยนะคะ นี่เป็นเหตุผลที่ CNET ยังคงต้องใช้ทีมบรรณาธิการที่เป็นมนุษย์เข้ามาตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและแก้ไขงานให้สละสลวยก่อนที่จะปล่อยออกสู่สายตาของผู้อ่าน

เพราะถึงแม้ว่าเอไอจะเก่งกาจปานไหนแต่ก็ไม่มีอะไรมารับประกันเลยว่าข้อมูลที่มันเลือกดึงมาใช้จะเป็นข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำเสมอไป

 

ย้อนกลับมาที่ ChatGPT ที่โต้ตอบกับเราได้ด้วยภาษาที่เป็นธรรมชาติและข้อมูลที่รอบรู้ แต่หากคุณผู้อ่านทดลองใช้มันมากและหลากหลายพอโดยเฉพาะเรื่องที่ตัวเราเองเชี่ยวชาญและรู้ดีก็อาจจะพบว่าบางครั้งมันก็ให้ข้อมูลที่ผิดพลาดกับเราได้เหมือนกัน

นอกเหนือจากงานเขียนที่เน้นการให้ข้อมูลเป็นหลักก็จะมีงานเขียนที่เน้นความคิดสร้างสรรค์ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่เทคโนโลยีอย่าง ChatGPT สามารถทำได้ บางอย่างก็ทำได้ดี ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างตรงจุด ช่วยประหยัดเวลาและทุ่นแรงคนไปได้มาก

แต่สำหรับบางโจทย์ ChatGPT ก็อาจจะแค่หยิบเอาแพตเทิร์นมาสวมแล้วเปลี่ยนรายละเอียดไปเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น

 

ฉันทดลองด้วยการให้ ChatGPT ช่วยแต่งนิทานสำหรับเด็กให้หลายเรื่องเพื่อทดสอบดูว่าเนื้อเรื่องจะเกี่ยวข้องกับอะไรและจะให้ข้อคิดเรื่องอะไรบ้าง

ความเก่งของมันก็คือเราสามารถกำหนดโจทย์ได้ทั้งหมดว่าเราต้องการให้ตัวละครหลักเป็นใครหรือเรื่องเกิดขึ้นที่ไหน ทำให้เรามีนิทานเล่าให้ลูกฟังได้ทุกวันตั้งแต่นี้ไปจนลูกโตแบบที่ไม่ซ้ำเรื่องกันเลย

ข้อจำกัดของนิทานที่ ChatGPT แต่งออกมาก็คือมันเลือกที่จะใช้แพตเทิร์นแบบเดียวกันสวมให้กับแทบทุกเรื่อง เรื่องมักจะเกิดขึ้นเมื่อ ‘กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว’ ตามมาด้วย ‘อยู่มาวันหนึ่ง’ หรือ ‘อยู่มาคืนหนึ่ง’ ตัวละครทุกตัวจะต้องได้ยินเสียงดังมาจากที่ไกลๆ สักแห่งและต้องตัดสินใจเดินตามไปสำรวจจนพบกับที่กว้างโล่งที่มีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นตรงนั้น

สุดท้ายเรื่องก็จะจบลงแบบที่ทุกภาคส่วนใช้ชีวิตกันอย่างมีความสุข ทุกคนรักกัน เข้าใจกัน ปรับตัวเข้าหากัน จบบริบูรณ์ ราตรีสวัสดิ์

 

ฉันคิดว่า ChatGPT ก็ทำหน้าที่ของมันได้เป็นอย่างดีเท่าที่เทคโนโลยีจะเอื้ออำนวยให้มันทำได้ นิทานทุกเรื่องมีองค์ประกอบพื้นฐานครบ มีตัวละคร สถานที่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และมีตอนจบ ซึ่งเรื่องทั้งหมดร้อยเรียงมาได้เป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ติดขัด ไม่มีอะไรประหลาดๆ โผล่มาเหมือนงานเขียนจากเอไอในสมัยเริ่มต้น หากนับเป็นนิทานก็ถือเป็นนิทานที่สมบูรณ์แบบเรื่องหนึ่งเลย

ต่อให้ฉันบิดโจทย์ให้มีความเฉพาะเจาะจงมากกว่าเดิม เช่น จงเขียนนิทานเกี่ยวกับกระต่ายที่กินเนื้อ มันก็ยังสามารถผสานความชอบในการกินเนื้อของกระต่ายที่เป็นตัวละครหลักเข้าไปในเรื่องได้ โดยไม่ลืมที่จะหมายเหตุในตอนท้ายว่า “ในความเป็นจริงกระต่ายเป็นสัตว์กินพืช การกินเนื้อไม่ใช่ธรรมชาติของกระต่ายและอาจจะทำให้กระต่ายมีปัญหาด้านสุขภาพได้”

แต่หากเราคาดหวังงานเขียนที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณ ความคิดสร้างสรรค์ และแนวคิดในการใช้ชีวิตที่จะต้องถูกสอดแทรกเอาไว้ในนิทานสำหรับเด็กโดยทั่วไป ChatGPT ก็อาจจะยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

 

ความที่เอไอสามารถใช้ภาษามนุษย์มาสร้างงานเขียนให้มนุษย์อ่านได้ก็ทำให้เกิดความกังวลว่านักเรียนจะนำเครื่องมือนี้มาใช้ในการโกงข้อสอบหรือทำการบ้านแทน นักเรียนไม่จำเป็นต้องเขียนเรียงความด้วยตัวเองอีกต่อไปเพราะแค่พิมพ์โจทย์ลงไป ChatGPT ก็จะรังสรรค์เรียงความที่ครบถ้วนออกมาให้ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งนาที

จนโรงเรียนบางแห่งออกกฎแบนแชตบอตอย่าง ChatGPT ไม่ให้นักเรียนสามารถเข้าถึงได้ผ่านดีไวซ์ของโรงเรียน

ในขณะที่ก็มีนักพัฒนาคิดค้นแพลตฟอร์มที่ใช้เพื่อตรวจสอบได้แล้วว่างานชิ้นไหนมีแนวโน้มจะสร้างขึ้นโดย ChatGPT

ท้ายที่สุดแล้วระบบการศึกษาก็จะปรับตัวให้เข้ากับเครื่องมือชิ้นใหม่ชิ้นนี้ ทุกคนรู้ดีว่าการแบนไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ทางออกก็คือการช่วยกันคิดว่าจะปรับเปลี่ยนหลักสูตรอย่างไร หรือจะออกแบบการบ้านและข้อสอบอย่างไรให้นักเรียนใช้เครื่องมือนี้เป็นตัวช่วย ขณะเดียวกันก็ยังสามารถวัดความรู้ความเข้าใจของนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

สำหรับอาชีพที่ต้องผลิตงานเขียนฉันก็เชื่อว่า ChatGPT เป็นเครื่องมือที่เราสามารถใช้ให้ช่วยเขียนงานบางงานที่เป็นแพตเทิร์นที่ตรงไปตรงมาได้ และอาจจะช่วยจุดประกายให้เกิดไอเดียบางอย่างให้เราต่อยอดได้ด้วย แต่ก็ยังจำเป็นที่จะต้องมีมนุษย์เข้ามาช่วยตรวจสอบความถูกต้องและขัดเกลาให้เป็นงานที่เชื่อถือได้และน่าอ่านขึ้นอยู่ดี

แต่จะเป็นแบบนี้ต่อไปอีกนานแค่ไหนฉันก็ไม่ค่อยแน่ใจเหมือนกัน