E-DUANG : ปัญญาเกินสติ ฉลาดขาดเฉลียว

คำแต่ละคำ ไม่เพียงแต่มีเป้าหมายในการสื่อ แต่ภายในการสื่อนั้นก็สะท้อนความคิดออกมา

เป็นความคิดอันสรุปจากความจัดเจนทางการปฏิบัติ

ไม่ว่าจะเป็นคำว่า “สติปัญญา” ไม่ว่าจะเป็นคำอย่าง “ฉลาดเฉลียว”

รู้สึกหรือไม่ว่าต้องกำกับและควบคู่กัน

นั่นเท่ากับแสดงให้เห็นว่า “ปัญญา” ต้องมี “สติ” กำลัง นั่นเท่ากับแสดงให้เห็นว่า “ความฉลาด” ต้องดำรงอยู่อย่างมี “ความเฉลียว”

หากเมื่อใด “ปัญญา” ไม่มี “สติ” เขาก็เรียกว่าปัญญา “เกิน” สติ

หากเมื่อใด “ความฉลาด” ดำเนินไปอย่างไร้หางเสือก็เข้าทำนองเป็นความฉลาดที่ขาด “ความเฉลียว”

ยากอย่างยิ่งที่จะถึง “เป้าหมาย”

 

ปรากฏการณ์ทางสังคมที่เห็นและเป็นอยู่ทุกวันนี้มีตัวอย่างมากมายอันสะท้อนให้เห็น

ปัญญาอัน “เกิน” สติ

ความฉลาดที่ “ขาดไร้” ซึ่งความเฉลียว

ลักษณะเช่นนี้สามารถเรียนรู้ได้จากสภาพความเป็นจริงในทางประวัติศาสตร์

ไม่ว่าจะเป็นของ”ไทย”ไม่ว่าจะเป็นของ “เทศ”

มูลฐานมาจากสิ่งที่พระท่านเรียกว่า “อวิชชา” คือ ความไม่รู้ เมื่อไม่รู้เสียแล้วก็นำไปสู่ความหลง นำไปสู่โมหะ นำไปสู่โลภะ

อย่างที่ชาวบ้านเขาเรียกว่า “สติแตก”

 

เช่นนี้เองพระและปราชญ์น้อยใหญ่จึงแนะและชี้ทางว่ามีความจำเป็นต้องอ่อนน้อม ถ่อมตัว

อ่อนน้อม ถ่อมตัว เรียนรู้จาก “ผู้อื่น”

คำว่า “ผู้อื่น”ในที่นี้อาจหมายถึง 1 เรียนรู้โดยตรง และ 1 เรียนรู้โดยอ้อม

โดยอ้อมจาก “ตำรา”

ความอยากเรียนรู้จาก”ผู้อื่น”มูลฐานก็มาจากการตระหนักว่าไม่มีใครรู้ได้โดยไม่ผ่านการเรียน การปฏิบัติ ไม่ว่าคนอื่น ไม่ว่าตัวเอง จำเป็นต้องอยู่ในกระบวนการนี้

พื้นฐานก็คือ กระบวนการยอมรับว่าตนเอง “ไม่รู้”

ตรงนี้เองนำไปสู่ความนอบน้อมถ่อมตัวและการเจริญ “สติ”