Roberto Nevilis ‘ไม่ใช่’ ผู้ให้กำเนิด ‘การบ้าน’

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา มี Viral หนึ่งว่อนอยู่ใน Social Network

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กนักเรียนบ้านเราก็เอาฮากับข่าวนี้กันพักใหญ่เลยทีเดียว

เนื่องจาก “ความแค้น” ต้องหาที่ระบาย จากการต้องทำ “การบ้าน” ส่งครูตั้งแต่อนุบาลยันจบมหาวิทยาลัย (ฮา)

เมื่อมีคนเปิดประเด็น ว่าใครเป็นผู้เริ่มต้นให้ “การบ้าน” เป็นคนแรกของโลก เมื่อรู้ชื่อ ก็พาทัวร์ไปลง แชร์ต่อๆ กันจนว่อนเน็ต เป็น Viral กันไป

นั่นก็คือ เรื่องราวของ Roberto Nevilis ผู้ที่เชื่อกันว่าเป็น “บิดาแห่งการบ้าน”

Roberto Nevilis

เพราะปรากฏข้อมูลว่า วันหนึ่งที่เมือง Venice ประเทศ “ฝรั่งเศส” ในปี ค.ศ.1905 ซึ่งระบบการศึกษา “ฝรั่งเศส” ในยุคนั้นยังไม่มีการ “ให้การบ้าน”

แต่แล้วก็มีคุณครูชาว “ฝรั่งเศส” ท่านหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า Roberto Nevilis ได้ “ให้การบ้าน” แก่เด็กนักเรียน “เป็นครั้งแรก”

ว่ากันว่า ระบบการศึกษาของฝรั่งเศสในยุคนั้น นักเรียนที่จะได้รับทุนการศึกษาจะต้องผู้ที่มีผลการเรียนดี

โดยคุณครู Roberto Nevilis ต้องการที่จะทำให้นักเรียนได้รับทุนการศึกษามากๆ

จึงเพิ่มเนื้อหาการสอน และเพิ่มแบบฝึกหัดให้ทำในชั้นเรียน แต่ด้วยเวลาอันจำกัดทำให้หลายคนทำแบบฝึกหัดไม่ทัน

คุณครู Roberto Nevilis จึงอนุญาตให้นักเรียนนำแบบฝึกหัดกลับไปทำที่บ้าน

และนี่เองที่กลายเป็นจุดกำเนิดของ “การบ้าน”

 

แต่นั่นก็เป็นเพียงข้อมูลที่แชร์ต่อๆ กันมา โดยหาต้นตอไม่เจอ

ทำให้นักการศึกษา และนักประวัติศาสตร์การศึกษา พยายามหาหลักฐานมาหักล้างกันอย่างต่อเนื่อง

ในฐานะที่เคยสอนวิชา “ปรัชญาการศึกษา” ผมคิดว่า Gaius Plinius Caecilius Secundus คือบุคคลแรกที่เป็น “ผู้ให้กำเนิดการบ้าน” ครับ

Gaius Plinius Caecilius Secundus เจ้าของฉายา Pliny the Younger หรือ “นักปรัชญาหนุ่ม”

Gaius Plinius Caecilius Secundus เป็น “คุรุ” ผู้สอนวิชา “ทักษะการพูด” ในยุค “กรีก” นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 1 ต่อเนื่องมาจนถึงยุค “โรมัน”

ซึ่งยุคนั้น เป็นที่ยอมรับในหมู่นักประวัติศาสตร์การศึกษา ว่าเป็น “จุดกำเนิด” ของการวางรากฐาน “ระบบการศึกษา” ให้กับ “โลกการศึกษา” ยุคใหม่

เช่นเดียวกับคำกล่าวอ้างถึงเรื่องราวของ Roberto Nevilis ที่อนุญาตให้นักเรียนนำแบบฝึกหัดกลับไปทำที่บ้าน

ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของ “การบ้าน” ที่มีการแชร์ต่อๆ กันมา

Gaius Plinius Caecilius Secundus ก็มีการมอบหมายให้นักเรียนในวิชา “ทักษะการพูด” กลับไปฝึกพูดขณะอยู่บ้านเช่นกัน เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจ ซึ่งจะทำให้พูดได้อย่างคล่องแคล่วมากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Gaius Plinius Caecilius Secundus ได้กำหนดให้นักเรียนของเขา ตระเวนไปในที่สาธารณะ เพื่อตามไปฟังบรรดา “นักพูด” ต่างๆ ว่ามีเคล็ดลับอะไรที่ทำให้พูดเก่ง

โดย Gaius Plinius Caecilius Secundus ได้มีการให้นักเรียนจัดทำรายงานสรุป จากการติดตามไปฟัง “นักพูด” มาส่งในชั้นเรียน

 

แต่บุคคลที่นักประวัติศาสตร์การศึกษา ให้การยกย่อง และยอมรับนับถือ ว่าเป็น “ผู้ให้กำเนิดการบ้านที่แท้จริง” มี 2 คนครับ

ซึ่งไม่ใช่ทั้ง Gaius Plinius Caecilius Secundus และยิ่งไม่ใช่ Roberto Nevilis อย่างแน่นอน

เพราะบุคคลที่นักประวัติศาสตร์การศึกษาพากันเชิดชู ว่าเป็น “ผู้ให้กำเนิดการบ้าน” ท่านแรกมีชื่อว่า Johann Gottlieb Fichte นักปรัชญาการศึกษาชาว “เยอรมนี”

Johann Gottlieb Fichte เป็นนักการศึกษาผู้ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลเยอรมนีในปี ค.ศ.1799 ให้สร้าง “ระบบการบ้าน” ของประเทศ

เป้าหมายอยู่ที่การพัฒนา “โรงเรียนรัฐ” ให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษานำหน้าชาติในยุโรปยุคนั้น

“การบ้าน” จึงกลายเป็นข้อบังคับที่เข้มงวด เพื่อให้นักเรียนมีความเป็นเลิศทางวิชาการ

Johann Gottlieb Fichte จึงได้ชื่อว่าเป็น “บิดาผู้ให้กำเนิดการบ้าน” คนแรกของโลกในเวลานั้น

 

“ระบบการบ้าน” ของ Johann Gottlieb Fichte ได้แพร่กระจายไปทั่วยุโรปในเวลาต่อมา

ก่อนที่ต่อมาแนวคิดเรื่องการให้ “การบ้าน” เดินทางมาถึง “สหรัฐอเมริกา”

โดย Horace Mann เป็นผู้ที่นักประวัติศาสตร์การศึกษาพากันจดจำ ว่าเป็น “ผู้ให้กำเนิดการบ้านสมัยใหม่” เป็น “คนแรกของโลก”

ซึ่งภาพที่นำมาประกอบบทความในตอนนี้ ก็เป็นรูปของ Horace Mann นักการศึกษาชาว “อเมริกัน” ในยุคศตวรรษที่ 19

ท่ามกลางปรัชญาการศึกษาหลายสำนัก ที่ไม่เน้นให้นักเรียน “ทำการบ้าน” ในยุคก่อนหน้านั้น

ไม่ว่าจะเป็นปรัชญาการศึกษา Montessori ของแพทย์หญิง Maria Montessori คุณหมอ และนักการศึกษาชาว “อิตาลี” ในปี ค.ศ.1897

และหลังจากนั้นคือปรัชญาการศึกษา Waldorf ของ Rudolf Steiner สถาปนิก และนักการศึกษาชาว “ออสเตรีย” ในปี ค.ศ.1919

ทว่า Horace Mann ได้ฝ่าด่านวงล้อมปรัชญาการศึกษา Montessori และ Waldorf พาระบบการศึกษากระแสหลักออกไปสู่การสร้างเป็น “มาตรฐานการศึกษาสมัยใหม่”

ด้วยการต่อยอดแนวคิด Volksschulen หรือ “การบ้านในโรงเรียนรัฐ” ของ Johann Gottlieb Fichte มาเผยแพร่ใน “สหรัฐอเมริกา” ในปี ค.ศ.1901

และหลังจากนั้น “การบ้าน” ได้กลายมาเป็นกิจวัตรประจำวันของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ใน “ระบบการศึกษาสมัยใหม่” ไปโดยปริยาย

 

อย่างไรก็ดี แม้ “การบ้าน” จะเป็นส่วนหนึ่งของ “มาตรฐานการศึกษาสมัยใหม่” ที่นำโดย “สหรัฐอเมริกา”

ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า “ระบบการศึกษาแบบอเมริกัน” ได้กลายเป็น “มาตรฐานการศึกษาสมัยใหม่” แบบ “สากล” ในปัจจุบัน

ทว่า “การบ้าน” กลับไม่ได้รับการยอมรับใน “สหรัฐอเมริกา” ในตอนนั้นแต่อย่างใด

เพราะหลังจากที่ Horace Mann นำเสนอ “ระบบการบ้าน” ให้กับแวดวงการศึกษาอเมริกัน “ระบบการบ้าน” ถูกแบนทันทีในรัฐแคลิฟอร์เนีย

จากการโหมประโคมสื่อ นำโดย The New York Times

ที่ได้ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์เหล่าผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ และความคิดเห็นจากบรรดาผู้ปกครอง ซึ่งระบุว่าการบ้านเป็นอันตรายต่อสุขภาพของนักเรียน

นำไปสู่การออกประกาศห้ามไม่ให้มอบหมายการบ้านแก่นักเรียนที่มีอายุน้อยกว่า 15 ปี และคำสั่งดังกล่าวนี้ มีผลบังคับใช้ไปจนถึงปี ค.ศ.1917

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปี ค.ศ.1930 American School Health Association หรือ “สมาคมเพื่อสุขภาพในโรงเรียนแห่งสหรัฐอเมริกา” ได้ประกาศว่า “การบ้านเป็นการใช้แรงงานเด็ก” ประเภทหนึ่ง!

เพื่อให้สอดรับกับกฎหมายต่อต้านการใช้แรงงานเด็กในช่วงเวลาดังกล่าว

American School Health Association ระบุว่า “การบ้าน” เป็นกระบวนการที่ยากแก่การยอมรับ!

สร้างความงุนงงให้แก่นักการศึกษาทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สหรัฐอเมริกา” ผู้นำแห่ง “ระบบการศึกษายุคใหม่” ยิ่งนัก

 

ทําให้ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 นักการศึกษาทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สหรัฐอเมริกา” เริ่มมองหาหนทางที่จะทำให้ “การบ้าน” ได้รับการยอมรับ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุค “สงครามเย็น” ทันทีที่ ดาวเทียม Sputnik 1 ของ “สหภาพโซเวียต” ขึ้นสู่วงโคจร ซึ่งนับเป็นดาวเทียมดวงแรกของโลก

ได้มีส่วนกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันทางวิชาการระหว่าง “สหรัฐอเมริกา” กับ “สหภาพโซเวียต” ที่เข้มข้น และร้อนแรง

โดยในปี ค.ศ.1983 “คณะกรรมการความเป็นเลิศด้านการศึกษาแห่งสหรัฐอเมริกา” ได้ตีพิมพ์บทความ Nation at Risk : The Imperative for Educational Reform หรือ “ความเสี่ยงของชาติ และความจำเป็นในการปฏิรูปการศึกษา”

บทความดังกล่าว ส่งผลกระทบในวงกว้างทันที เพราะมีการระบุเป็นนัยถึงนโยบาย “การบ้าน” ในสถาบันการศึกษาของ “สหรัฐอเมริกา”

ต่อมา “กระทรวงศึกษาธิการสหรัฐอเมริกา” ได้ออกมาโยนหินถามทาง ว่าจะมีการประกาศข้อกำหนด การบังคับให้นักเรียนอเมริกันทุกช่วงอายุต้อง “ทำการบ้าน” อย่างเข้มงวด!

เพราะรัฐบาล “สหรัฐอเมริกา” เชื่อว่า “การบ้าน” เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเสริมสร้างความรู้ด้านวิชาการให้เยาวชน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการแข่งขันกับ “สหภาพโซเวียต” ในวิชา “คณิตศาสตร์” และ “วิทยาศาสตร์”

ในปี ค.ศ.1986 “กระทรวงศึกษาธิการสหรัฐอเมริกา” จึงออกมาระบุว่า “การบ้าน” เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะส่งเสริมคุณภาพการศึกษาให้มีผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการที่ดีที่สุดนั่นเองครับ!