ย้อนพินิจ ‘ให้คนดีปกครองบ้านเมือง’ (2)

เกษียร เตชะพีระ
(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

(ปรับแต่งเรียบเรียงจากคำอภิปรายของผู้เขียนเกี่ยวกับหนังสือ ให้คนดีปกครองบ้านเมือง : การเมืองวัฒนธรรมของขวาไทย ของ รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อ 21 พฤศจิกายน 2565)

 

3.การใช้พุทธศาสนามาสร้างกรอบการเคลื่อนไหวอัตลักษณ์ “คนดี” ของ กปปส.

อะไรคือ “คนดี & ความดี” ในกรอบอัตลักษณ์ของ กปปส.? จะเข้าใจฐานะบทบาทหน้าที่และพลังของมันในการเคลื่อนไหวของ กปปส.อย่างไร? แน่นอนว่าคงต้องเอาไปเชื่อมโยงกับพุทธศาสนา…

ทว่า เราพึงเจาะลึกย้อนหลังเข้าไปในหลักพุทธธรรมอันลึกซึ้งของพระไตรปิฎกหรือ? ดูแล้วไม่น่าใช่ เพราะไม่น่าเชื่อว่า กปปส. หรือสังคมไทยหยั่งยึดและเข้าใจจริงๆ กับหลักธรรมลึกซึ้งดังกล่าว

วิธีอ่านของอาจารย์ประจักษ์ในหนังสือเล่มนี้ระบุว่า :

– การเคลื่อนไหวของ กปปส.เป็นการชุมนุมต่อสู้ทางการเมืองที่ผิดปกติในแง่หลักการเมืองและกฎหมายของระบอบเสรีประชาธิปไตย (น.62, 63) ทว่า ในทางกลับกัน…

– พุทธะอิสระกลับชี้ว่าสิ่งที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์และพวกทำ (ต่างหาก) ที่ผิดปกติในแง่หลักศีลธรรมและต่อชาติบ้านเมือง (น.62, 65)

ซึ่งในความเห็นของผมนั่นหมายความว่า กปปส.ได้ชะลอโลกุตรธรรมปกติ (หลักศีลธรรมเหนือโลกียวิสัย) มากดทับโลกียธรรมปกติ (หลักการเมืองและกฎหมายปกติในทางโลกย์) เอาไว้นั่นเอง

ถ้ามองจากมุมรัฐศาสตร์ สิ่งที่ กปปส.ทำถือเป็น สภาวะยกเว้น (the state of exception ในแนวคิดทฤษฎีของ Giorgio Agamben นักปรัชญาการเมืองชาวอิตาลี) ในทางการเมือง/กฎหมายปกติ

แต่ถ้ามองจากมุมโลกุตรธรรม สิ่งที่ กปปส.ทำกลับถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาและพึงทำอย่างยิ่ง เพื่อให้โลกการเมืองเบื้องต่ำที่ผิดปกติ กลับเป็นปกติธรรมอย่างที่ควรเป็น

พูดอีกอย่างก็คือ กปปส.ไม่เห็นสิ่งที่ตัวทำเป็นสภาวะยกเว้น (the state of exception) ที่ผิดปทัสถานปกติธรรมดา (norm/the normal)

ตรงกันข้าม พวกเขาเห็นว่าสิ่งที่ตนทำเป็นปกติธรรมกระทั่งอภิปกติที่พึงทำ (metanorm/the metanormal)

ดังที่อาจารย์ประจักษ์อธิบายไว้ในหนังสือว่า :

“แกนนำและผู้ชุมนุม กปปส.มองว่าศีลธรรมของกลุ่มตนมีสถานะอยู่เหนือกฎหมายรัฐธรรมนูญและกติกาในระบอบประชาธิปไตย เพราะศีลธรรมของคนดีเป็นคุณค่าตัดสินความดีชั่วที่ศักดิ์สิทธิ์มากกว่ากฎหมาย ที่รัฐแอบอ้างมาปกป้องตัวเอง” (น.113)

เหล่านี้สะท้อนความสุ่มเสี่ยงอันตรายของการใช้กรอบศาสนามาเคลื่อนไหวการเมือง

เพราะเมื่อไหร่เราเดินงานการเมืองด้วยกรอบคิดทางศาสนา มันจะเป็นเรื่องของศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และหลักเกณฑ์ศีลธรรมเด็ดขาด (the categorial imperative หรือคำสั่งเด็ดขาดในจริยศาสตร์ของเอ็มมานูเอล คานต์) กล่าวคือ เป็นเรื่องของความแตกต่างขัดแย้งตรงข้ามกันระหว่างดี/ชั่ว, ถูก/ผิด, ขาว/ดำ ซึ่งไม่มีที่ระหว่างกลาง ประนีประนอมไม่ได้ มีแต่ต้องปฏิบัติตามโดยปราศจากเงื่อนไข ไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือโทษ และไม่ว่าผลนั้นจะเกิดแก่ตนหรือคนอื่นก็ตามที ทำให้มีท่าทีแข็งกร้าวตายตัว พร้อมแตกหัก ฆ่าเป็นฆ่า ตายเป็นตาย ฯลฯ (พจนานุกรมศัพท์ปรัชญาอังกฤษ-ไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน, 2540, น.14)

ขณะที่การเมืองปกติธรรมดาเป็นเรื่องความแตกต่างขัดกันทางผลประโยชน์หรือแนวนโยบายระหว่างบุคคลและกลุ่ม สามารถต่อรองแบ่งปันอ่อนข้อ ยืดหยุ่นพลิกแพลง ตั้งข้อแม้เงื่อนไข ถ้อยทีถ้อยอาศัย รอมชอมยอมความเพื่อหาทางออกผลลัพธ์ที่ทุกฝ่ายพอยอมรับและอยู่ด้วยได้ (the hypothetical imperative ในจริยศาสตร์ของคานต์ พจนานุกรมศัพท์ปรัชญาฉบับราชบัณฑิตยสถาน, น.44) เป็นต้น

ท่าทีการเมืองในกรอบศาสนาที่ว่านี้สะท้อนออกโดยทั่วไปในยุค “รัฐบาลหอย” ของนายกรัฐมนตรี นายธานินทร์ กรัยวิเชียร (ตุลาคม 2519-ตุลาคม 2520) หลังเหตุการณ์ปราบปรามฆ่าหมู่และรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ดังที่คุณอาสา คำภา เล่าตัวอย่างรูปธรรมไว้ตอนหนึ่งในบทที่ 9 “รัฐบาลพลเรือนขวาจัดหลัง 6 ตุลาฯ” ของหนังสือ กว่าจะครองอำนาจนำ : การคลี่คลายขยายตัวของเครือข่ายในหลวงภายใต้ปฏิสัมพันธ์ของชนชั้นนำไทยทศวรรษ 2490-2530 ว่า :

“รัฐบาลธานินทร์ยังเป็นรัฐบาลชุดแรกและชุดเดียวที่นายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรีไปกระทำสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายหลังถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยนายธานินทร์ต้องการแสดงให้เห็นว่าตนและรัฐบาลมีพันธะต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบ้านเมืองเท่านั้น จึงไม่จำเป็นต้องเป็นหุ่นเชิดของคณะปฏิรูป” (น.305)

 

4. เอกภพแห่งพันธะธรรมกับความรุนแรงตามคุณธรรม (Universe of Moral Obligation & Virtuous Violence)

อาจารย์ประจักษ์ได้นำแนวคิดที่ผมสนใจ 2 ประการมาใช้วิเคราะห์วิจารณ์ในงานเล่มนี้ ได้แก่ :

1. Universe of moral obligation (จากหนังสือ Helen Fien, Accounting for Genocide : National Responses and Jewish Victimization during the Holocaust, 1979) ซึ่งอาจารย์ประจักษ์แปลว่า “พื้นที่ความรับผิดชอบทางศีลธรรม” (น.16ff) ผมขออนุญาตแปลใหม่อย่างตรงตัวยิ่งขึ้นว่า “เอกภพแห่งพันธะธรรม” และหมายถึง “= ขอบเขตของความสัมพันธ์ทางสังคมที่มนุษย์รับรู้และกำหนดขึ้นมา โดยมองว่าภายใต้ขอบเขตนี้ตนเองมีพันธะหน้าที่ทาง ศีลธรรมที่จะปฏิบัติต่อผู้อื่นในฐานะมนุษย์ที่เสมอกันอย่างเคารพและให้เกียรติ” (น.32)

2. Virtuous Violence (จากหนังสือ Alan Page Fiske and Take Shakti Rai, Virtuous Violence : Hurting and Killing to Create, Sustain, End, and Honor Social Relationships, 2014) ซึ่งอาจารย์ประจักษ์แปลว่า “ความรุนแรงทางศีลธรรม” (น.18ff) ผมขอแปลใหม่อย่างโดยอรรถยิ่งขึ้นว่า “ความรุนแรงตามคุณธรรม” และหมายถึง “= มาตรการการใช้กำลังอันจำเป็นเพื่อพิทักษ์ปกป้องระเบียบทางสังคมและระบบความเชื่อทางศีลธรรมที่ถูกท้าทายหรือถูกทำให้สั่นคลอน โดยผู้กระทำหรือผู้ที่เข้าร่วมสนับสนุนให้เกิดความรุนแรงนั้นมองว่าการกระทำดังกล่าวมีความชอบธรรม” (น.32)

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)

ใต้ภาพ

ภาพจาก, 1 มีนาคม 2557, https://pantip.com/topic/31722556