โลกนี้ไม่มีใครที่ไร้ค่า

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

โลกนี้ไม่มีใครที่ไร้ค่า

 

ตอนที่ผมเป็น “หัวหน้าข่าว” ในกองบรรณาธิการประชาชาติธุรกิจใหม่ๆ

มีน้องคนหนึ่งมาสมัครงานเป็นนักข่าวสายการเงิน

เขาจบคณะเศรษฐศาสตร์ เกรดดี บุคลิกดี พูดจาดี เหมาะกับการทำข่าวสายการเงินมาก

แต่ผ่านไปแค่เดือนเดียว

เพื่อนผมที่เป็นหัวหน้าข่าวการเงินก็มาปรึกษาว่าน้องนักข่าวใหม่ทะเลาะกับแหล่งข่าวทุกคนเลย

“แหล่งข่าว” ก็คือ ผู้บริหารสถาบันการเงินต่างๆ

เพื่อนเล่าว่าเวลาไปสัมภาษณ์แหล่งข่าว ตอนแรกๆ น้องก็ถามปกติ แต่พอแหล่งข่าวให้ความเห็น

เรื่องไหนที่น้องไม่เห็นด้วย เขาจะเถียง

พอฟังข้อมูลจากเพื่อน ผมก็ชวนน้องไปกินข้าวคุยกันแบบสบายๆ

ถามน้องว่าทำไมไปเถียงแหล่งข่าว

เขาตอบว่าเพราะที่แหล่งข่าวพูดมานั้นไม่ถูกต้อง

ไม่ตรงกับที่เขาเรียนมา

หรือในความเห็นของตัวเขาเองคิดว่าสิ่งที่ถูกต้องคืออะไร

เขาคิดว่าเป็นการแลกเปลี่ยนกันตามปกติ

จำได้ว่าผมพยายามปรับจูน “วิธีคิด” ของน้องว่าการเป็นนักข่าว เราไม่มีสิทธิตัดสินว่าความคิดเห็นของแหล่งข่าวนั้นถูกต้องหรือผิดพลาด

เราเป็นแค่ “สื่อกลาง”

ถ้าไม่เห็นด้วยหรือไม่แน่ใจ เราก็ตั้งคำถามให้เขาชี้แจง

อาวุธของนักข่าว คือ การตั้งคำถาม

แต่การตัดสินว่า “ผิด” หรือ “ถูก” เป็นเรื่องของ “คนอ่าน”

เขาก็ “ครับ-ครับ”

แต่กลับไปก็เหมือนเดิม

ครบ 3 เดือน น้องคนนี้ไม่ผ่านทดลองงาน

เจอกันวันสุดท้าย จำได้ว่าผมบอกน้องเขาไปว่าอย่าเสียใจที่ไม่ผ่านทดลองงาน

ไม่ใช่เราไม่เก่ง

แต่เราไม่เหมาะที่จะเป็น “นักข่าว” เท่านั้นเอง

หลังจากนั้นเกือบปี ผมได้เจอน้องอีกครั้ง ท่าทางของเขาดูมีความสุขมาก

ถามว่าไปทำงานอะไร

เขาบอกว่าเป็นสจ๊วตของการบินไทย

ผมคาดว่าน้องได้ไปทำอาชีพที่ไม่เกี่ยวกับวิชาเศรษฐศาสตร์ที่เรียนมา

พอเป็นเรื่องที่เขาไม่รู้

เขาก็เลยไม่เถียง

การงานก็ดี เจ้านายก็รัก

ชีวิตจึงมีความสุข

 

ปี 2565 ที่ผ่านมา มีสิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของตัวเอง

นั่นคือ “โลกใบนี้ไม่เคยมีอะไรที่ไร้ค่า”

ผมได้ข้อคิดนี้จากการขายทุเรียน-มังคุดออนไลน์ครับ

“ทุเรียน-มังคุด” ที่สวนสันติเกษตรอินทรีย์ของผมและพี่น้องปลูกแบบอินทรีย์

ตอนแรกเราเอาไปขายที่ล้งเหมือนชาวสวนทั่วไป

การขายที่ล้งเป็นการขายผลไม้ที่ง่าย สะดวกที่สุด

เพราะตัดเสร็จก็ไปส่งล้ง

เจ้าหน้าที่ของล้งจะคัดทุเรียน-มังคุด ตามเกรด

ชั่งน้ำหนักแล้วจ่ายเงิน

แต่ปัญหาของผลไม้อินทรีย์ก็คือ ผิวหรือหนามไม่สวย

ทุเรียนบางลูกมีรอยหนอนเล่นสไลเดอร์ด้วย

พอไปขายล้ง เราจะถูกกดราคาลง

เพราะลูกค้าของล้งจะดูผิวพรรณ

ทั้งที่ผลไม้เราไม่ได้กินหนาม

แต่เรากินเนื้อ

ผมตัดสินใจชวนพี่น้องเปลี่ยนจากขายล้งมาขายทางออนไลน์

เจาะกลุ่มกลุ่มคนที่รู้คุณค่าของผลไม้อินทรีย์

เชื่อไหมครับว่าร่องรอยบนผิวที่ไร้ค่าสำหรับ “ล้ง” กลายเป็นสัญลักษณ์ของผลไม้ที่ไร้สารเคมี

เป็นสิ่งที่มีค่า

หรือมังคุดลูกเล็กๆ ที่เรียกว่า “มังคุดจิ๋ว”

“ล้ง” จะกดราคามังคุดลงตามขนาดของมัน

ยิ่ง “จิ๋ว” ยิ่งถูก

แต่ในโลกนี้มีคนกลุ่มหนึ่งที่ชอบกิน “มังคุดจิ๋ว” เพราะไม่ต้องคายเม็ด

เมื่อ “มังคุดจิ๋ว” อยู่ถูกที่ถูกทาง

น้องจิ๋วจึงกลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่า

ของที่ไม่มีค่าจากที่หนึ่งเพียงแค่เคลื่อนย้ายไปสู่พื้นที่ใหม่

ก็กลับกลายเป็นสิ่งที่มีค่าในทันที

 

ผมนึกถึงน้องอีกคนหนึ่ง

เธออยู่ในวงการสื่อมานาน

เป็นคนรักหนังสือ รักการเขียน

เธอเขียนหนังสือใช้ได้ แต่ไม่ได้โดดเด่นเป็นมือต้นๆ ขององค์กร

เรื่องความคิดสร้างสรรค์ก็เช่นกัน

ใช้ได้ แต่ไม่ได้โดดเด่น

จนวันหนึ่ง ลาออกจากบริษัทเดิมไปทำงานดูแลเพจของ “สตาร์ตอัพ” เจ้าหนึ่ง

บริษัทนี้เต็มไปด้วย “คนเก่ง”

ส่วนใหญ่เป็นวิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี

แต่ “คนเก่ง” กลุ่มนี้เขียนหนังสือไม่เป็น

สื่อสารไม่เก่ง

ความสามารถเรื่องการเขียนของน้องคนนี้ที่เป็นเรื่องธรรมดาขององค์กรเดิม

เพราะใครๆ ก็เขียนได้

กลับกลายเป็นคุณสมบัติพิเศษในองค์กรสตาร์ตอัพแห่งนี้

ทุกคนตื่นเต้นที่เธอเขียนเรื่องดีและเขียนเร็วมาก

ผู้ใหญ่ขอให้เธอช่วยเขียนสารถึงพนักงาน

ช่วยเกลาบทสัมภาษณ์

การแปลบทกลอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยกลายเป็นเรื่องมหัศจรรย์ของคนในบริษัท

ความสามารถเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนที่ทาง

ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป

เธอรู้สึกว่าตัวเองเป็น “สิ่งมีค่า” มากในบริษัทนี้

 

ผมเชื่อว่าทุกคนเป็น “คนเก่ง”

ไม่มีใครไม่มีคุณค่า

ไม่มีใครไร้ค่า

เพียงแต่ทุกคนมี “คุณค่า” ที่แตกต่างกัน

บางคนรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า เพราะเราอาจอยู่ผิดที่ผิดทาง

ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม

ไม่ได้อยู่ในจุดที่คนเห็นคุณค่านั้นในตัวเรา

เราจึงรู้สึกว่าไร้ค่า

แต่ถ้าเราปรับเปลี่ยนตำแหน่งการยืนใหม่

ไปอยู่ในกลุ่มคนที่เห็นคุณค่าของเรา

เราจะเป็นคนที่มีค่าทันที

ครับ โลกใบนี้ไม่มีใครหรือสิ่งใดที่ไร้ค่า •

 

 

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ | หนุ่มเมืองจันท์

www.facebook.com/boycitychanFC