9 ปี ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ได้…พลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ | มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

ครบรอบ 9 ปีของการประกาศการปฏิรูปการเมืองก่อนเลือกตั้ง โดยกลุ่ม กปปส.ที่ชุมนุมประท้วงรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเมื่อมีการยุบสภาประกาศเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ฝ่าย กปปส.ก็ประกาศปิดเมือง 13 มกราคม 2557 นำไปสู่การขัดขวางการเลือกตั้ง จนเป็นผลให้ศาลสั่งการเลือกตั้งเป็นโมฆะ และก็ประท้วงต่อเนื่องแม้คนจะน้อยลง แต่ก็เป็นข้ออ้างที่นำไปสู่การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.

จากนั้นประเทศก็ปกครองโดยคณะรัฐประหาร คสช.เป็นเวลาประมาณ 2 เดือนเศษจึงมีการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขึ้นในวันที่ 31 กรกฎาคม 2557

การปฏิรูปเริ่มอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ตุลาคม 2557

โดยมีการแต่งตั้ง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำนวน 250 คน ตรงกับข้อเรียกร้องของ (กปปส.) ที่ให้มีสภาประชาชนมิได้มาจากการเลือกตั้งเพื่อดำเนินการปฏิรูปประเทศโดยมุ่งกำจัดพรรคของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

แต่พอถึง 6 กันยายน พ.ศ.2558 สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติไม่เห็นชอบรับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ…เขาอยากอยู่ยาว จึงทำให้สภาต้องถูกยุบทิ้งโดยทันที

วันที่ 5 ตุลาคม 2558 พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ได้มีการแต่งตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) 200 คนพร้อมกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทั้ง 21 คน ซึ่งสมาชิกทั้ง 200 คนประกอบไปด้วยอดีตสมาชิก สปช., นักวิชาการ, นายทหาร นายตำรวจทั้งในและนอกราชการ, ตัวแทนกลุ่มการเมือง

เมื่อได้รัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับสืบทอดอำนาจ สปท.ก็ต้องสิ้นสุดลง

ถึงตรงนี้ยังไม่มีการปฏิรูปอะไรเลย แต่ได้ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ถอยหลังไปถึง 40 ปี เหมือนรัฐธรรมนูญ ปี 2521 โดยให้ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน เลือกนายกฯ แทนประชาชน

ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศอีก 2 ชุด

 

ผ่านไป 3 ปีกว่าไม่ได้ปฏิรูปอะไร 15 สิงหาคม 2560 จึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ (ชุดที่ 1) ตาม พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ โดยมีผู้ได้รับการแต่งตั้งทั้งสิ้น 120 คน ทั้งนี้ จากรายชื่อของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ พบว่า มีบุคคลที่หน้าซ้ำ ที่เคยเป็น สปช. สปท. และ สนช.

โดยหน้าที่ของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ คือ จัดทำแผนและขั้นตอนการปฏิรูป 11 ด้านตามที่ ครม.กำหนด โดยมีกรอบเวลาว่า ต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน

จนกระทั่งในวันที่ 6 เมษายน 2561 คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นชอบและประกาศใช้แผนปฏิรูปประเทศฉบับที่หนึ่ง แต่ต่อมา ครม.ประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทำให้ต้องปรับแผนปฏิรูปประเทศให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ช่วงนั้นมีกรรมการหลายคนลาออกไปเป็น ส.ว.

30 มิถุนายน 2563 ครม.จึงได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศชุดที่สอง จำนวน 185 คน แบ่งองค์เป็นคณะกรรมการปฏิรูป 13 ด้าน

ซึ่งถ้าดูจากรายชื่อของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศชุดที่สอง จะพบว่า ยังมีคณะกรรมการชุดเดิมกลับมาปฏิบัติหน้าที่อยู่ อย่างน้อย 78 คน

สรุปว่าผ่านไป 6 ปีกว่า ตั้งสภา 2 ชุด และกรรมการ 2 ชุด เอาเงินภาษีไปจ่ายเงินเดือนและเบี้ยประชุมไปหลายล้าน และก็เลือกตั้งไปแล้ว 1 ครั้งโดยไม่รอการปฏิรูป เพราะร่างรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจไว้แล้ว

มกราคม 2566 ครบ 9 ปี ปฏิรูปอะไรไปบ้าง?

– ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน มีแต่โกงกินเกือบทุกวงการ มีระบบเส้นสายซื้อขายตำแหน่ง

– ด้านกฎหมาย มีแต่การบังคับใช้กฎหมายจับกุมปราบปรามผู้เห็นต่างกับรัฐบาลเต็มที่

ตัวเลขจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2565

มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไปแล้วอย่างน้อย 1,808 คน ในจำนวน 1,065 คดี ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 280 ราย บางคนโดนเป็นสิบคดี บางคนโดนซ้ำแล้วซ้ำอีก จำนวนการถูกดำเนินคดีจึงมากกว่า 3,500 ครั้ง

มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 190 คน 204 คดี

ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหา 125 คน 39 คดี

ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,451 คน 630 คดี

ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 107 คน 75 คดี

ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อย่างน้อย 129 คน ในจำนวน 148 คดี

ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 34 คน 18 คดี และคดีดูหมิ่นศาล 25 คน ใน 6 คดี

– ด้านกระบวนการยุติธรรม บิดเบี้ยวตั้งแต่เริ่มต้นที่ตำรวจ องค์กรอิสระ ผ่านไปถึงอัยการและผู้พิพากษา วันนี้จึงเห็นการเปิดโปงคดีทุนจีนสีเทา และที่ผ่านมาก็มีการฟ้องร้องกรรมการองค์กรอิสระ อัยการ และตุลาการบางส่วน ดังนั้น ทั้งกระบวนการยุติธรรมควรปรับปรุงให้มีการตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน

– ด้านเศรษฐกิจ คนยากจนเพิ่มขึ้นมากมาย หนี้สินเพิ่มขึ้นเกือบทุกครัวเรือน ล่าสุดคือเกือบ 15 ล้านล้าน เฉลี่ยครอบครัวละ 400,000 บาท

แถมยังต้องแบกหนี้ที่รัฐบาลกู้มาครอบครัวละเกือบ 500,000 มากกว่าที่รัฐบาลแจกให้หลายเท่า ต้องช่วยกันจ่ายภาษีชำระหนี้ไปถึงหลาน

ด้านการเมือง การเลือกตั้ง 2566 ที่กำลังจะเกิดขึ้น

ไม่มีการปฏิรูปอะไรที่ดีกว่า 9 ปีก่อน

 

แม้ย้อนกลับมาใช้บัตร 2 ใบ แต่ ส.ว.ชุดนี้ยังเลือกนายกฯ ได้ ดังนั้น พรรคการเมืองที่ประชาชนเลือกได้เสียงเกินครึ่ง ก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้ ถ้า ส.ว.แต่งตั้งไม่ยอม

เกมการเมืองก็มีแต่สกปรกมากขึ้น ใช้เงินซื้อเสียงชาวบ้าน และผู้สมัคร เรียกกันว่าดูด โดยดูดก่อนเลือกตั้ง คือ…ดูด ส.ส.ที่มีโอกาสชนะเลือกตั้งเขต มาสังกัดพรรค ถ้าชนะก็จะได้ ส.ส. 1 คน แต่ถ้าแพ้ก็ยังมีคะแนนเป็นที่ 2-3 ซึ่งอาจจะได้หลายหมื่นสะสมไว้เป็นคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ

และจะดูดหลังเลือกตั้ง คือไล่ซื้อพวกไร้อุดมการณ์ จะได้ลิงและงูเห่า ทั้งจากพรรคเล็กๆ และพรรคใหญ่ เพื่อตั้งรัฐบาล โดยแจกกล้วยตอบแทน

ยังต้องระวังเกมสกปรก โดยการยุบพรรคและตัดสิทธิ์ ส.ส. เพราะมีข้อห้ามไว้เยอะในกฎหมายลูก ซึ่งต้องตีความ และให้คนฟ้องต่อองค์กรอิสระ หรือศาลรัฐธรรมนูญได้ง่ายๆ

ผลของการไม่ปฏิรูป เกิดพรรคพลังประชารัฐ และพรรคอนาคตใหม่ ในปี 2562 มีกลุ่มเยาวชนหลายกลุ่มมาต้านรัฐบาลในปี 2562-2565

และในปี 2566 มีพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์คนเดียว คราวนี้จะได้เห็นฝีมือ ต่อให้เป็นนายกฯ รักษาการด้วย วันนี้วงการต่อรองยกไปประกบคู่กับ ปชป. ยังไม่มีคนรอง