ครู

วัชระ แวววุฒินันท์

ครู

 

วันที่ 16 มกราคม เป็น “วันครู” เครื่องเคียงข้างจอฉบับนี้ ขอรำลึกถึง “ครู” ด้วยคน กับเรื่องราวของครูสามคนครับ

ครูคนแรกเป็นหญิงไทยวัย 61 ปี แห่งโรงเรียนบ้านโชคนาสาม อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ชื่อ “ครูพรสวรรค์ ศิริวัฒน์” เรื่องนี้ผมอ่านมาจากเว็บไซต์ The Potential ครับ

ครูพรสวรรค์เป็นครูที่โรงเรียนแห่งนี้มา 26 ปีแล้ว แม้จะเกษียณอายุก็ยังรักที่จะเป็นครูที่นี่ต่อ โดยมีความตั้งใจให้เด็กๆ รู้จักตนเอง และกล้าที่จะดำเนินชีวิต โดยผ่านการเรียนรู้แบบ PBL หรือ Project-based Learning ซึ่งเป็นการเรียนรู้จากกิจกรรมที่ทำ

นักเรียนที่นี่มีอยู่กว่า 300 คน ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 2 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 และส่วนใหญ่เป็นการเรียนในระบบตามกรอบการศึกษาปกติซึ่งพบว่าเด็กไม่ได้มีพัฒนาการเท่าที่ควร

ครูพรสวรรค์เชื่อว่าถ้าโรงเรียนเป็นที่ที่นักเรียนมีความสุข รู้จักตัวเอง เขาก็จะมีการพัฒนาไปในทางที่ดี โดยการสร้างความไว้วางใจ และพื้นที่ปลอดภัยให้กับพวกเขา เพราะถ้าเด็กไว้ใจครู ก็จะกล้าพูด กล้าเล่าถึงปัญหา และกล้าแสดงความคิด ความรู้สึกออกมา โดยที่เขารู้ว่าจะปลอดภัย ไม่มีผลย้อนมาหาตนเอง

ทุกเช้าครูพรสวรรค์จะเริ่มต้นก่อนนักเรียนจะเข้าเรียนวิชาต่างๆ ด้วยกิจกรรม “จิตศึกษา” คือการให้เด็กล้อมวงคุยกัน ใครพบเจออะไรมาก็มาเล่า ใครมีปัญหาอะไรก็มาแชร์ หรือครูก็นำประเด็นที่เด็กสนใจมาให้พูดคุยกัน

กิจกรรมนี้จะทำให้เด็กได้ผ่อนคลาย ได้ระบาย ได้ทบทวนตัวเอง ใจจะสบายพร้อมที่จะไปเรียนในชั่วโมงต่อไป

เด็กที่เพิ่งมีปัญหามาจากที่บ้านคงจะเรียนไม่รู้เรื่องแน่ แต่จิตศึกษานี้ช่วยได้

ครูพรสวรรค์บอกว่า กิจกรรมนี้ครูต้องให้เวลากับเด็ก และอดทนฟังเขาทุกๆ วัน ฟังแล้วก็ต้องฟังให้ได้ว่า เด็กพูดเรื่องอะไร ต้องการสื่ออะไร สามารถถกเถียงกับเด็กได้ แต่ต้องเถียงกันด้วยเหตุและผล ให้เด็กรู้จักคิดตาม

ส่วนกิจกรรมที่เป็น PBL ครูจะโยนปัญหาให้เด็กคิดหาทางออก และแก้ไขด้วยตนเอง เช่น ให้ปลูกข้าวเอง เด็กจะลงมือทำตั้งแต่ต้นจนจบ เจอปัญหาอะไรก็มาถามครูได้ ครูก็ช่วยแนะนำ แต่เด็กจะต้องเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาเอง

“ครูทำแบบนี้ได้ไหม” เด็กมักจะถาม ครูไม่ได้มีหน้าที่ตอบว่าทำได้ไม่ได้ แต่ให้กำลังใจโดยบอกว่า “ลองสิลูก ลองแล้วไม่ได้ก็ลองใหม่”

หัวใจของการทำกิจกรรมเพื่อเรียนรู้ อย่างแรกเลยคือ ต้องคิดบวก มองโลกในแง่ดี และอย่างที่สองคือ มีกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ รู้จักอยู่กันเป็นสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นมากสำหรับเด็กยุคนี้ ที่หลายคนรู้สึกว่าตนแปลกแยกจากคนอื่น และเด็กเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น

ครูพรสวรรค์ไม่ได้ทำงานเฉพาะกับเด็ก แต่สื่อสารกับพ่อแม่ผู้ปกครองเสมอทุกครั้งเมื่อมีโอกาส ทำให้ผู้ปกครองได้เข้าใจลูกหลานและช่วยสนับสนุนไปในทางเดียวกัน

แม้จะเกษียณอายุแล้ว แต่ครูพรสวรรค์ก็ยังรักในการสร้างคน ด้วยความเชื่อมั่นว่า “เด็กทุกคนสามารถพัฒนาได้ ด้วยการเอาเด็กเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่ครู”

 

ครูคนต่อไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาครับ ชื่อ “ซาร่า ฟอสเตอร์” เธอไม่ได้เป็นครูในโรงเรียน แต่เป็นคนที่นำเสนอโปรเจ็กต์ STEM Like A Girl เพื่อหาวิธีค้นพบตนเองให้กับเด็กผู้หญิง

เรื่องนี้ผมอ่านจากเว็บไซต์ The Cloud เขียนโดย “อุ้ม-สิริยากร พุกกะเวส” อดีตนักแสดงที่ย้ายไปสร้างครอบครัวที่อเมริกา เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน โดยมีลูกสาว 2 คนชื่อ น้องเมตตา วัย 9 ขวบ และน้องอนีคา วัย 6 ขวบ

คุณอุ้มเคยเป็นเด็กหญิงที่ไม่เก่งวิทย์เก่งคำนวณเลย และคิดว่าเรื่องอย่างนี้น่าจะเหมาะกับเด็กผู้ชายมากกว่า

แต่เมื่อได้มาเจอกับโปรเจ็กต์นี้ จึงพาลูกสาวไปร่วมกิจกรรมโดยที่คุณแม่ก็ต้องร่วมด้วย ไม่ใช่ส่งลูก แล้วแม่ๆ ก็ไปทำเล็บฆ่าเวลา ตามที่เธอเขียนนะครับ

ซาร่า จริงๆ แล้วมีลูกชาย แต่ที่เธอสร้างโปรเจ็กต์นี้ขึ้นมาเพราะเธอเองเป็นคนที่สนใจวิทยาศาสตร์ และการคำนวณมาตั้งแต่เด็ก และคิดว่าพื้นที่นี้น่าจะเหมาะกับเด็กทุกเพศ ซึ่งเด็กผู้หญิงหลายคนอาจค้นพบตัวเองก็ได้ว่าจริงๆ แล้ว เธอก็เอาอยู่นะกับวิชาพวกนี้

STEM ก็คือคำย่อของวิชาวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรม และการคำนวณนั่นเอง ซึ่งทั้งสี่วิชานี้เชื่อมโยงเป็นเรื่องเดียวกันได้

กิจกรรมนี้จะเน้นการปฏิบัติ เพื่อจะได้เรียนรู้จากการทำงานจริง จะมีโต๊ะกิจกรรมอยู่ 10 โต๊ะ แม่และลูกจะร่วมกิจกรรมไหนก็ได้ ช่วยกันทำ ช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างสนุกสนาน ซึ่งนับว่าเป็นช่วงเวลาดีสำหรับความสัมพันธ์ของคุณแม่และคุณลูก

กิจกรรมที่ว่านี้เช่น ทำเครื่องยิงก้อนหิน อันนี้จะเรียนรู้เรื่ององศา มุม การคำนวณ กลศาสตร์ และฟิสิกส์

ทำ Fizzy Flower หรือก้อนฟู่รูปดอกไม้ใส่อ่างอาบน้ำ เรียนรู้เกี่ยวกับเคมี และคำนวณ

ทำแขนเทียม เรียนรู้เกี่ยวกับกลศาสตร์ การคำนวณ และวิศวะ

พอช่วยกันสร้างผลงานเสร็จ ก็จะรู้สึกสนุก และเห็นว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องง่ายๆ เด็กหญิงหลายคนได้ค้นพบตัวเองจากโปรเจ็กต์นี้ เพื่อที่อาจจะเติบโตเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย หรือวิศวกรที่เก่งกาจก็ได้

เหมือนข่าวชิ้นหนึ่งที่เพิ่งได้อ่านไป เป็นข่าวจากประเทศจีนที่เปิดเผยถึงหัวหน้าวิศวกรในโครงการออกแบบรถไฟความเร็วสูงของจีนที่พัฒนาและก้าวล้ำไปอย่างมากนั้น มีชื่อว่า “นางเหลียง เจี้ยนอิง” วัย 50 ปี ซึ่งเธอได้เริ่มออกแบบรถไฟความเร็วสูงในขณะที่เธอมีอายุเพียง 34 ปีเท่านั้น…ว้าว

 

ครูคนสุดท้ายเป็นครูจากภาพยนตร์ดังเมื่อ 33 ปีก่อนครับ ชื่อ “ครูจอห์น คีตติ้ง” จากเรื่อง “Dead Poet Society” ผลงานการกำกับฯ ของ ปีเตอร์ เวียร์ ผู้สวมบทครูคีตติ้งก็คือนักแสดงชาย “โรบิน วิลเลียมส์” นั่นเอง เชื่อว่าหลายคนอาจจะเคยได้ชมมาแล้ว

ครูคีตติ้งเข้ามาเป็นครูของโรงเรียนชายล้วนที่ชื่อ เวลตั้น เป็นโรงเรียนมัธยมปลายที่เตรียมเด็กชายให้พร้อมสอบเข้ามหาวิทยาลัยเวลตั้น อันมีชื่อเสียงเรื่องวิชาการของเกาะอังกฤษ การเรียนของที่นี่จะอยู่ในกรอบระเบียบอย่างเคร่งครัดด้วยวิธีและความเชื่อที่สั่งสมตกทอดกันมานาน

เด็กชายเหล่านี้ต่างต้องเรียนและคิดตามวิถีสังคมอังกฤษสมัยเก่า ต้องแบกรับความคาดหวังจากครอบครัวที่กำหนดให้ลูกต้องโตขึ้นเป็นโน่นนี่ โดยไม่ได้ถามลูกเลยว่าชอบอะไร

ครูคีตติ้งเป็นครูคนเดียวที่สอนแบบฉีกกรอบเดิมๆ เขาใช้บทกวีมาสอนให้เด็กๆ ได้รู้จักชีวิตที่หลากหลาย เหมือนบทกวีที่มีความงดงามจากความหลากหลายเช่นกัน เขาสอนให้เด็กได้รู้จักตนเอง เรียนรู้ที่จะเดินตามความฝันของตน

การยืนบนโต๊ะที่ครูทำให้ดู เป็นการสอนว่าเราสามารถมองโลกในมุมที่แตกต่างได้ และข้อสำคัญคือ ควรรู้จักฉกฉวยเวลาที่ผ่านไป เพื่อให้เราเดินตามความต้องการของตนเองได้ เพราะนั่นคือ “ชีวิต” ของเรา

ในหนังจะเห็นว่า เด็กๆ ได้เริ่มตั้งคำถามกับชีวิต และค้นหาเส้นทางเดินของตนเอง ที่แน่นอนว่าจะมีทั้งที่ไปได้ดี และที่สะดุดหกคะเมน แต่นั่นก็คือชีวิตที่ทุกคนต้องเรียนรู้และอยู่กับมัน

ฉากสุดท้ายที่ครูคีตติ้งต้องเดินออกจากโรงเรียนเพราะวิธีการสอนของเขาได้ทำลายความเชื่อของโรงเรียนแห่งนี้อย่างมาก เขาเก็บของและกำลังจะจากนักเรียนของเขาไป นักเรียนได้แสดงออกถึงสิ่งที่เขาได้ทิ้งไว้ให้ โดยการลุกขึ้นยืนบนโต๊ะ แม้ครูใหญ่ที่กำลังสอนอยู่ตอนนั้นจะสั่งให้พวกเขานั่งลงก็ตาม

เป็นฉากสุดท้ายที่ประทับใจและเรียกน้ำตาจากผู้ชมได้อย่างมาก

สิ่งที่หนังได้บอกคือ “จิตวิญญาณของความเป็นครู” คือ การมีลูกศิษย์เป็นหัวใจของการเรียน ที่ไม่ใช่เรียนเพียงวิชาการเท่านั้น แต่เรียนเพื่อที่จะรู้จักตนเอง รู้จักชีวิต และคิดเป็น เลือกเป็น โดยกำหนดเองได้

เหมือนกับครูสองคนแรกที่ได้เล่าไปเช่นกัน ครูไม่ได้มองที่ตนเอง แต่มองที่เด็กเป็นหัวใจ และสนับสนุนพวกเขาให้รู้จักตนเอง ให้มีกระบวนการความคิด รู้จักแก้ปัญหา และสร้างสรรค์ผลงานออกมาด้วยตนเอง ภูมิใจและเห็นคุณค่าในตนเอง

ขอกราบคารวะคุณครูที่ผ่านมาของผมทุกท่าน และคุณครูอื่นๆ ที่มีหัวจิตหัวใจเพื่อลูกศิษย์โดยแท้จริง •

 

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์