แกะรอยร้าว 3 ทหารเสือฯ รุ่นพี่ ‘บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม’ ชิงดำ วัดพลัง

3 พี่น้อง อดีตทหารเสือราชินี “ป้อม-ป๊อก-ประยุทธ์” เปลี่ยนเกม เปลี่ยนกลยุทธ์ในสนามการเมือง ปรับตามสถานการณ์ความสัมพันธ์ที่มีรอยร้าว และแวดล้อมไปด้วยความขัดแย้งของคนรอบข้าง และของพี่น้องเอง แม้จะเคยนอนบ้านหลังเดียวกัน เตียงเดียวกัน กินข้าวหม้อเดียวกัน อยู่ในค่ายทหารเดียวกันมา 40-50 ปีก็ตาม แต่ที่สุดก็ต้องแยกทาง

แผงอำนาจ 3 ป. บูรพาพยัคฆ์ ที่เคยแข็งแกร่ง จึงเริ่มเสื่อมมนต์ขลัง อำนาจพิเศษที่เคยมีในยุค คสช. เริ่มสลายไป คงเหลือแต่ ส.ว.ที่ยังมีอำนาจในการเลือกนายกฯ แต่ยังมีสัญญาณพิเศษคอยพยุงไว้ และเดินเกมในการรักษาอำนาจ เพื่อสกัดกั้นฝ่ายตรงข้าม รวมไปถึงฝ่ายพวกเดียวกันเอง

บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงตัดสินใจตั้งพรรคการเมืองของตัวเอง “รวมไทยสร้างชาติ” หลังจากที่บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ ยึดพรรคพลังประชารัฐไปแล้ว และปล่อยให้ พล.อ.ประยุทธ์ขาลอยในทางการเมือง

อาจกล่าวได้ว่า แนวคิดในการตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติของ พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มตั้งแต่การตั้งนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีต รมว.ยุติธรรม และอดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ มาเป็นที่ปรึกษานายกฯ ตั้งแต่ 17 ธันวาคม 2562 ก็ว่าได้

ในเวลานั้น มีรายงานข่าวว่า มีบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.ในเวลานั้น เป็นคนชักชวนมาช่วยงาน พล.อ.ประยุทธ์ เพราะสนิทสนมกันมายาวนาน เป็นเซนต์คาเบรียล คอนเน็กชั่น

ครั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์ส่งนายพีระพันธุ์ไปช่วยงาน พล.อ.ประวิตร หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในการปรับโครงสร้างพรรค ที่ถูกมองว่าเป็นความพยายามในการแชร์อำนาจใน พปชร.ของ พล.อ.ประยุทธ์ และเป็นหูเป็นตาให้นายกฯ ด้วย แต่ก็ไม่ได้มีบทบาทใดๆ จากนั้น อาจเรียกได้ว่า เสมือนโดนคุมกำเนิด

เช่นเดียวกับที่ส่งแรมโบ้ เสกสกล อัตถาวงศ์ ผช.รมต.ประจำนายกฯ เข้าพรรค พปชร. แต่ก็ไม่ได้มีบทบาทใดๆ เพราะเป็นคนของนายกฯ จนต้องลาออก และแฉว่า โดนกลั่นแกล้ง ใส่ร้าย

จนที่สุด ราวปลายปี 2563 พล.อ.ประยุทธ์เริ่มเอาจริงในการตั้งพรรคของตัวเอง พร้อมๆ กับม็อตโต้ “รวมไทยสร้างชาติ” ที่โผล่ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการจัดทำเป็นป้าย และข้อความ ทุกครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์แถลงข่าว โดยเฉพาะหลังการประชุม ครม.

และตามมาด้วยการที่นายเสกสกลส่งตัวแทนไปจดทะเบียนตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่เป็นชื่อม็อตโต้ของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยที่นายกฯ ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ได้หวงห้ามที่นายเสกสกลเอาไปตั้งชื่อพรรค

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ก็ค่อยๆ เดินเกมในการตั้งพรรคของตัวเอง ที่เดิมหวังเป็นพรรคสำรอง แต่เมื่อความขัดแย้งกับ พล.อ.ประวิตร และคนรอบข้างเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า มือขวาบิ๊กป้อม ที่พยายามล้ม พล.อ.ประยุทธ์ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จนนายกฯ ปลดออกจาก รมช.เกษตรฯ พร้อม อ.แหม่ม นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน มือขวาอีกคนพร้อมกัน โดยที่ไม่บอก พล.อ.ประวิตรก่อน ที่ทำให้รอยร้าวของ 2 พี่น้องปริแตกลึก เพราะเป็นการฉีกหน้าพี่ใหญ่ ทำเอาทีมงานบิ๊กป้อมส่ายหน้ากับการตัดสินใจของนายกฯ

ขณะที่กองเชียร์นายกฯ ก็หนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์แยกทาง แยกพรรคออกมาจาก พล.อ.ประวิตร เพราะไม่ไว้วางใจกันแล้ว โดยมีนายพีระพันธุ์ ที่มีเงาของ พล.อ.อภิรัชต์ติดตัวอยู่ด้วย กลายเป็นคีย์แมนสำคัญในการตั้งพรรค และเข้าไปแทนที่นายเสกสกลที่ลาออก เปิดทางให้ตามแผน

มาวันนี้ หลัง พล.อ.ประยุทธ์ประกาศรับเทียบเชิญพรรครวมไทยสร้างชาติ ไปเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค โดยอ้างว่า เพราะ พปชร.จะเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตรเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค

ทั้ง 2 พี่น้องจึงถูกมองว่า กำลังกลายเป็นคู่แข่ง คู่ชิงเก้าอี้นายกฯ กันเสียเอง แม้ พล.อ.ประวิตรจะยังไม่ยอมพูดว่าจะรับเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของ พปชร.หรือไม่

แต่ท่าทีที่ไม่เคยปฏิเสธ และคำพูดที่ว่า

“พล.อ.ประยุทธ์ ถือเป็นน้อง ไม่ถือว่าคู่แข่งกัน แต่ถ้าทางการเมือง ใครทางการเมืองดีกว่าคนนั้นก็เป็นไป” ก็เสมือนเป็นการยอมรับสถานภาพแคนดิเดตไปโดยปริยาย

แต่หากเทียบคะแนนนิยมแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ได้เปรียบกว่ามาก แต่ในแง่ชั้นเชิง กลยุทธ์ทางการเมือง พล.อ.ประวิตรก็ไม่เป็นรองใคร แม้ไม่มี พล.อ.ประยุทธ์แล้ว ก็ยังมั่นใจว่า พปชร.จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้าอยู่

พี่น้อง 3 ป.ยังคงพยายามจะสร้างภาพให้เห็นว่า แม้แยกพรรค แต่ความเป็นพี่น้องยังอยู่ ทั้งการโชว์ภาพ 3 ป.คุยกัน และ พล.อ.ประยุทธ์เองก็เข้าไปหา พล.อ.ประวิตรอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะในช่วงปีใหม่ที่เข้าไปถึง 2 วันติด พร้อมระบุว่า

“ผมก็ไปคุยกับท่านมา นั่งกันอยู่เป็นชั่วโมง ก็คุยกระเซ้าเย้าแหย่กันเหมือนเดิม ไม่ได้มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น” นายกฯ กล่าว

แม้จะไม่มี พล.อ.ประวิตร พี่ใหญ่เคียงข้างบนถนนทางการเมือง เพราะแยกพรรคกันเดินก็ตาม แต่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุ “ใจมันถึงใจกันอยู่แล้ว ก็เรื่องอื่นก็คือเรื่องอื่น การเมืองก็ว่ากันไป”

แต่ถึงอย่างไร บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา พี่รอง ก็ไม่ทิ้งไปไหน จะยังช่วย พล.อ.ประยุทธ์อยู่เบื้องหลังต่อไป แม้เบื้องหน้า พล.อ.อนุพงษ์จะบอกว่าจะวางมือทางการเมืองก็ตาม

แม้ว่า หลังการเลือกตั้ง มีโอกาสสูงที่พรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประวิตรและพรรครวมไทยสร้างชาติของ พล.อ.ประยุทธ์ จะร่วมรัฐบาลกันก็ตาม

แต่ฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ยังคงหวาดระแวงบิ๊กดีล ว่า พล.อ.ประวิตรมีแผนที่จะจับมือกับพรรคเพื่อไทย และยังมีข่าวเข้าหูนายกฯ ว่าคนใกล้ตัว พล.อ.ประวิตร เดินทางไปพบคนในต่างประเทศเมื่อไม่นานมานี้

ดังนั้น มิชชั่นหนึ่งของ พล.อ.ประยุทธ์คือต้องสกัดกั้นไม่ให้ฝั่งพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง และได้เป็นรัฐบาล และสกัดกั้นไม่ให้ พล.อ.ประวิตรไปสนับสนุนหรือร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย

ท่ามกลางกระแสข่าวที่พรรคเพื่อไทยจะใช้ พล.อ.ประวิตรในการกรุยทาง ได้เสียงสมาชิกวุฒิสภา เพื่อให้ได้เป็นรัฐบาลและเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะหากใช้ยุทธศาสตร์เหมือนการเลือกตั้งปี 2562 ที่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้

แต่ทว่า 250 ส.ว. อย่างน้อยก็เกือบครึ่งหนึ่งที่ถูกมองว่าเป็นสายตรงของ พล.อ.ประวิตร และจะทำให้เสียงของ ส.ว.แตกเมื่อถึงเวลาต้องโหวตเลือกนายกฯ อีกครั้ง

ด้วยเพราะการเลือกตั้งครั้งหน้า พล.อ.ประวิตรเองก็ต้องรักษาหน้า รักษาฟอร์มของการเป็นพี่ใหญ่ ที่จะต้องได้ ส.ส.ในจำนวนที่ไม่น้อยกว่าพรรครวมไทยสร้างชาติของ พล.อ.ประยุทธ์ และพยายามเป็นผู้จัดการรัฐบาลอีกครั้ง

เพราะการเดินเกมในสภา ของคนใกล้ตัว พล.อ.ประวิตร ในสาย ส.ว.ก็ไม่ธรรมดา ดังนั้น อะไรก็เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะการชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีกันเองของ 2 พี่น้องทหารเสือฯ

แม้จะบอกว่า ยังเป็นพี่น้องกันเหมือนเดิม เพราะอยู่กันมา 40-50 ปี แต่ที่สุดแล้ว อำนาจไม่เข้าใครออกใคร

พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร

ขณะที่ 2 ทหารเสือฯ เกษียณ 2 เพื่อนเกลอ ตท.14 ก็เป็นที่พูดถึง จากการที่บิ๊กแป๊ะ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกลาโหม ชักชวนบิ๊กโด่ง พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร อดีต ผบ.ทบ. เพื่อนรักไปเยือนเขาพนมปะ ที่ตาพระยา สระแก้ว

ที่กลายเป็นที่ฮือฮาในหมู่ทหารเสือราชินี ที่เติบโตมาใน ร.21 รอ. เพราะไม่ใช่แค่ไปรำลึกความหลังครั้งเสี่ยงตายอยู่ในสมรภูมิรบแห่งนี้เมื่อ 40 ปีก่อน

แต่ พล.อ.นิพัทธ์ ซึ่งในระยะหลังผันตัวมาเป็นคอลัมนิสต์ และยูทูบเบอร์ ได้สัมภาษณ์ พล.อ.อุดมเดช โดยให้เล่าเหตุการณ์สู้รบกับทหารเวียดนามเมื่อ 2-5 เมษายน 2526 ที่เรียกว่า ยุทธการเขาพนมปะ เป็นครั้งแรก ณ สถานที่จริง

เนื่องจากที่ผ่านมา พล.อ.อุดมเดชมักเลี่ยงที่จะพูดถึงยุทธการเขาพนมปะนี้มาตลอด 40 ปี อาจเป็นเพราะเกรงใจ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ทหารเวียดนามปิดล้อมบนเขาพนมปะนี้ด้วย

แต่เป็นที่รู้กันในหมู่ทหารเสือฯ ว่า เกิดอะไรขึ้นบนเขาพนมปะ ก่อนที่ทั้ง พล.อ.อุดมเดช และ พล.อ.ประยุทธ์ และนายทหารเสือฯ อีกหลายนายที่ร่วมยุทธการครั้งนั้น จะได้รับพระราชทานเหรียญรามมาลาฯ อันเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญ

พล.อ.นิพัทธ์ระบุในบทสัมภาษณ์ว่า พล.อ.อุดมเดชเป็นสุภาพบุรุษชายชาติทหาร เป็นคนถ่อมตัว ไม่เคยพูดโอ้อวดใดๆ กับวีรกรรมครั้งนั้น ที่สามารถไปช่วยปกป้องกำลังทหาร รวมทั้ง ร.อ.ประยุทธ์ให้พ้นจากวงล้อมทหารเวียดนาม

แต่ในบทสัมภาษณ์นี้ พล.อ.อุดมเดช และ พล.อ.นิพัทธ์ ยังเลี่ยงที่จะเอ่ยชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ระบุแค่ว่า เป็นการไปปกป้องแผ่นดินไทย และปกป้องบุคคลสำคัญของประเทศ เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองขณะนี้ด้วย

ทั้งนี้ เมื่อครั้งยังเป็นร้อยเอก ผบ.ร้อย พล.อ.อุดมเดชพร้อมรองปุ๊ก พล.อ.ผณิศวร จันทวรินทร์ ที่ตอนนั้นเป็นร้อยโท รองผู้บังคับกองร้อย

ได้รับคำสั่งนำกำลังทหารเสือราชินี ร.21 พัน 3 รอ. ไปปกป้องรักษาแผ่นดินไทย ช่วยกอบกู้สถานการณ์ของทหารเสือราชินี ร.21 พัน 2 รอ. ภายใต้การนำของ พ.ท.ณรงค์เดช นันทโพธิ์เดช ถูกทหารเวียดนามปิดล้อม ที่ครั้งนั้นบุกมายึดกัมพูชา และล้ำแดนเข้ามาในดินแดนไทย

พ.ท.ณรงค์เดช พร้อมด้วยนายทหารชุดครูฝึกทหารเสือฯ รุ่น 2 รวมทั้ง ร.อ.ประยุทธ์ ได้รับคำสั่งให้ไปผลักดันทหารเวียดนามออกไปจากแผ่นดินไทย แต่ด้วยลักษณะภูมิประเทศ และกำลังที่น้อยกว่า ทำให้ตกอยู่ในวงล้อมของทหารเวียดนาม

วีรกรรมของ พล.อ.อุดมเดชที่เขาพนมปะนี้ ไม่ค่อยเป็นที่รับรู้ในหมู่ประชาชน ไม่ค่อยมีใครพูดถึงในรายละเอียดนักว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะมีความเกรงใจกับนายทหารรุ่นพี่ที่ถูกปิดล้อมในครั้งนั้น พล.อ.อุดมเดชจึงไม่ค่อยอยากเล่า หรือแม้จะเล่า แต่ก็ไม่ได้เผยแพร่ หรือออกสื่อ

แต่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ทั้ง พล.อ.นิพัทธ์ และ พล.อ.อุดมเดช ที่เป็นเพื่อนรัก อยู่ ร.21 รอ.มาด้วยกัน เล่าเหตุการณ์นี้ออกสื่อ โดยที่ พล.อ.นิพัทธ์ขอให้ พล.อ.อุดมเดชมาเล่าเหตุการณ์ ณ สถานที่จริง

เพราะวีรกรรมครั้งนั้น สามารถจับเชลยศึกเวียดนามได้ 1 คน และบอดี้เคาต์กว่า 10 ศพ โดยที่ลูกน้องที่นำขึ้นไปช่วยนั้น ปลอดภัยทุกคน แม้จะฝ่าดงระเบิด ที่เก็บกู้ได้ในภายหลังกว่า 40 ทุ่นก็ตาม

จนทำให้ พล.อ.อุดมเดชได้รับพระราชทานเหรียญรามมาลาฯ รวมทั้งนายทหารที่ร่วมปฏิบัติการด้วย หรือแม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ด้วยนั่นเอง

 

ครั้งหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์เคยพูดเรื่องการได้รับพระราชทานเหรียญรามมาลาฯ ในสภา เพื่อตอบโต้กับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ว่าจะแฉเบื้องหลังการได้รับเหรียญ แต่ก็ไม่ได้พูด

“ผมเป็นรุ่นน้อง รู้จักกันมานาน จัดงานสมรสพระราชทานวันเดียวกัน แต่วันนี้ถือว่าท่านไม่เป็นรุ่นพี่ผมอีกต่อไป ท่านไม่เคยให้เกียรติผมเลย…ผมไม่เคยคุย เหรียญรามา ท่านได้ ผมก็ได้ แต่ผมไม่เคยคุย ไม่เคยแอบอ้าง ผลงานต่างๆ ผมมีมากมาย ไม่เคยแอบอ้างอำนาจ ผลงานต่างๆ มีมากมาย แต่ท่านพูดจาหยาบคาย แอบอ้างอำนาจ ไปทบทวนท่านเองแล้วกัน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวไว้เมื่อ 25 กรกฎาคม 2562

สำหรับ พล.อ.นิพัทธ์นั้น เป็นทหารเสือฯ รุ่นน้องของ ตท.14 ของ พล.อ.ประยุทธ์ สมัยอยู่ ร.21 รอ. และเมื่อครั้งที่บิดาของทั้งคู่ย้ายไปอยู่ศูนย์การทหารราบ ประจวบคีรีขันธ์ ก็กลายเป็นเพื่อนบ้านกันในค่ายทหาร บ้านอยู่ใกล้กัน สนิทสนมกันมา

แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์นำรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ในคำสั่งหัวหน้า คสช.แรกๆ คือการย้าย พล.อ.นิพัทธ์ ที่ถูกมองว่าสนิทสนมกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ และ รมว.กลาโหม ที่เพิ่งนั่งเก้าอี้ปลัดกลาโหมแค่ 7 เดือนเท่านั้น เข้ากรุ

ส่งผลให้ พล.อ.นิพัทธ์ต้องลดบทบาทตัวเอง แต่ก็ได้เป็น สนช. และเคยสมัครเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) แต่ถูกตีความว่าขาดคุณสมบัติ ท่ามกลางกระแสข่าวว่า โดนสกัด จนที่สุด ผันตัวมาเป็นคอลัมนิสต์ และยูทูบเบอร์เต็มตัว

 

ขณะที่ พล.อ.อุดมเดช หลังพ้นจากการเป็น รมช.กลาโหม ในรัฐบาล คสช. ก็มาช่วยงาน พล.อ.ประวิตร ในมูลนิธิป่ารอยต่อฯ และในด้านกีฬามวยไทย ในการผลักดันมวยไทยไปแข่งโอลิมปิก จนคณะกรรมการโอลิมปิกสากลรับรองแล้ว

แต่ก็ยังถูกมองว่า เป็นทหารเสือฯ น้องรักสายบิ๊กป้อม ที่ไม่ค่อยเป็นเนื้อเดียวกันกับ พล.อ.ประยุทธ์เท่าใดนัก อาจเพราะอดีต เรื่องยุทธการเขาพนมปะ ที่มีการไปพูดกันคนละมุม หรือยกยอปอปั้น พล.อ.อุดมเดชจนเกินไป

จนเคยมีความพยายามในสายบ้านป่ารอยต่อฯ ที่จะดัน พล.อ.อุดมเดชให้เป็นทายาทอำนาจของบิ๊กป้อมมาตั้งแต่เกษียณ แต่ก็มาเจอเตะสกัดจากเรื่องอุทยานราชภักดิ์ ของนายทหารใกล้ชิดเสียก่อน

แม้ ตท.12 กับ ตท.14 จะเป็นคู่แข่งในการรับราชการ เส้นทางเติบโตก็ตาม แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็สนับสนุน พล.อ.อุดมเดชให้เป็น ผบ.ทบ. เมื่อตนเองเกษียณ แล้วไปเป็นนายกฯ ที่ก็ถือเป็นการตอบแทนที่เคยช่วยกอบกู้สถานการณ์ในยุทธการเขาพนมปะด้วยนั่นเอง

แต่ในเส้นทางชีวิตรับราชการทหารของ พล.อ.อุดมเดชแล้ว ก็มี พล.อ.ประวิตรเป็นพี่ใหญ่ที่คอยอุ้มชูจนทุกวันนี้ ศึกชิงอำนาจใน ทบ. เคยจะทำให้ พล.อ.อุดมเดชถูกเตะออกนอกเส้นทางเหล็ก สู่เก้าอี้ ผบ.ทบ.มาแล้ว

เพราะเส้นทางที่ไม่ธรรมดา ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้บังคับการกรมนักเรียน รร.เตรียมทหาร ที่ต้องเป็นนายทหารต้นแบบ จนเป็น ผบ.ร.21 รอ. เป็นรอง ผบ.พล.1 รอ. แต่ไม่ได้เป็น ผบ.พล.1 รอ. หรือ ผบ.พล.ร.2 รอ. แต่ไปเป็นเสนาธิการกองทัพภาคที่ 1 และผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) และไปเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9 ที่น้อยคนนักจะได้ขึ้นถึง ผบ.ทบ.

จนมาเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 และแม่ทัพภาคที่ 1 และเสนาธิการทหารบก รองผู้บัญชาการทหารบก สมัย พล.อ.ประยุทธ์เป็น ผบ.ทบ. และเป็น ผบ.ทบ.ต่อจาก พล.อ.ประยุทธ์นั่นเอง

 

จนปัจจุบัน พล.อ.นิพัทธ์ กลายเป็นแมวเก้าชีวิต ได้มามีบทบาทเป็นที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และถูกมองเป็นนายทหารเสือฯ ที่ใกล้ชิดกับฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล คสช. และยังเป็นเพื่อนสนิทกับบิ๊กแมว พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาฯ สมช. ในยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์อีกด้วย

จึงเป็นที่จับตามองว่า หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล พล.อ.นิพัทธ์ และ พล.ท.ภราดร ก็อาจได้มีตำแหน่งในฝ่ายความมั่นคงในรัฐบาล

ขณะที่ พล.อ.อุดมเดช ก็ยังเป็นน้องรักของ พล.อ.ประวิตรอีกคน ที่ยังคงพยายามบาลานซ์ระหว่างเพื่อนและรุ่นพี่

ดังนั้น ฉากทัศน์ของการเมืองในปีนี้นอกจากจะเป็นการสู้ศึกกันเองของพี่น้อง 3 ทหารเสือฯ 3 ป.แล้ว ก็ยังมีทหารเสือฯ กลุ่มย่อย ที่เป็นตัวสอดแทรกขึ้นมาอีกด้วย

ศึกสายเลือดทหาร ศึกสายเลือด จปร. อาจจะอุบัติขึ้นอีกครั้ง ในสมรภูมิรบการเมือง ทั้งแบบเปิดหน้า และรบเงียบ