แลนด์สไลด์ หรือจะสู้ พรรค ส.ว.

ในทางปรัชญาการเมืองรับรู้กันว่ารูปแบบประชาธิปไตยที่ดีที่สุดก็คือประชาธิปไตยทางตรง คนทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงในการโหวต กำหนดอนาคตของชุมชน สังคม แต่เมื่อสังคมขยายใหญ่ขึ้น รูปแบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน จึงถือกำเนิด พัฒนามาจนถึงปัจจุบัน

ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่แต่ละประเทศเลือกใช้จึงแตกต่างกันไปตามบริบท หลักสำคัญคือเรื่องอุดมการณ์ประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ หลักเรื่อง 1 สิทธิ 1 เสียง หากมีแต่รูปแบบ มีแต่ตัวโครงสร้างสถาบันการเมือง ไม่มีสาระดังกล่าว ก็ไม่ถือว่าเป็นประชาธิปไตย หากจะเป็นก็แค่ประชาธิปไตยครึ่งใบ

อังกฤษถือต้นแบบของไทย มีระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน แถมมีวุฒิสภาเหมือนกัน

แต่ปัญหาคือวุฒิสภาของอังกฤษ ไม่ได้มีอำนาจในเชิงกฎหมายมากมายเท่าไทย ส่วนใหญ่เป็นอำนาจเชิงพิธีกรรม

ขณะที่วุฒิสภาฝั่งอเมริกา แม้มีอำนาจในมิติกฎหมายมากกว่า แต่วุฒิสภาจากอเมริกามาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากแต่ละมลรัฐ ถือกันว่าน่าเกรงขามยิ่งกว่า ส.ส.ซะอีก

 

ขณะที่วุฒิสภาของไทย พูดในเชิงหลักการ ก็มาจากการแต่งตั้งคล้ายกับของอังกฤษ แต่กลับมีอำนาจทางนิติบัญญัติเท่ากับหรืออาจจะมากกว่า ส.ว.สหรัฐด้วยซ้ำ เพราะเลือกนายกฯ ได้

ดังนั้น ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน ก็รับรู้ได้ว่าโครงสร้างวุฒิสภาของไทยนั้นผิดแปลก ข้ออ้างเรื่องบริบทเปลี่ยนผ่าน ก็ล้วนแต่ทำให้ต่างชาติงงงวย ฟังไม่ขึ้น

เท่านั้นยังไม่พอ ตลอดเกือบ 4 ปีของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา วุฒิสภาชุดนี้ ยังมีบทบาทสำคัญในการสกัดกฎหมายที่มาจากการเมืองฝั่งตรงข้ามรัฐบาลประยุทธ์ สกัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ที่สร้างความโกรธแค้นล่าสุดคือประเด็นการกระจายอำนาจในร่างกฎหมายปลดล็อกท้องถิ่น เมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา มีวุฒิสภาเห็นด้วยแค่ 6 คนเท่านั้น กฎหมายที่สภาผู้แทนฯ เถียงกันแทบตาย ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อร่างอย่างเหน็ดเหนื่อย หายวับไปกับตา

การคว่ำร่างดังกล่าวจึงเหมือนเป็นการปิดประตู กักขังประเทศ ตอกย้ำความเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมสุดโต่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด

 

เพื่อไทยใช้โอกาสวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา ออกแถลงการณ์ชวนพรรคการเมืองต่างๆ รื้อรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. ร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ในบทเฉพาะกาล และแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 ให้นายกรัฐมนตรีมีที่มาจาก ส.ส.ได้ โดยมีพรรคก้าวไกลออกมาตอบรับ

ส่วนฝั่ง ส.ว. ก็พุ่งตัวตอบโต้โดยพลัน เสรี สุวรรณภานนท์ ออกมาย้ำความสำคัญ อย่าลืมว่า ส.ว.คือเสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภา อยู่กันเป็นกลุ่มก้อนใหญ่กว่า ส.ส.ซะอีก ส.ว.นี่แหละคือหลักในการเลือกนายกฯ คนต่อไป…

“ส.ว.คือเสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภา เป็นก้อนใหญ่มากกว่า ส.ส.แต่ละพรรคด้วยซ้ำไป จึงเป็นหลักสำคัญในการเลือกนายกฯ แม้คุณจะรังเกียจอย่างไรคุณก็ต้องอยู่กับสิ่งนี้” เสรีกล่าว

เหล่านี้เกิดขึ้นท่ามกลางบริบทการเมืองใกล้เลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์แสดงความชัดเจนในแง่การแยกออกมาจากร่มชายคาการเมืองพลังประชารัฐ หันมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ ท่ามกลางการจับตาว่า ส.ว. 250 คน ก็จะยังคงเป็นเครื่องมืออันดีในการค้ำจุนระบอบประยุทธ์ แบบที่เคยเกิดขึ้นในการเลือกนายกฯ เมื่อปี 2562 และจะยังคงมีอำนาจต่อจนถึงพฤษภาคม 2567

แต่อีกกระแสหนึ่งก็น่าจับตา เพราะคาดว่าจะมี ส.ว.ส่วนใหญ่ที่พร้อมจะโหวตให้กับแคนดิเดตนายกฯ สายพลังประชารัฐ สังเกตจากความมั่นอกมั่นใจของไพบูลย์ นิติตะวัน มือกฎหมายพรรค ที่ออกมาระบุว่า การจัดตั้งรัฐบาลของพลังประชารัฐ จะได้การสนับสนุนจาก ส.ว.ส่วนหนึ่ง ซึ่งน่าจะมีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน

“มั่นใจว่าหลังการเลือกตั้ง พล.อ.ประวิตรจะเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งการจะตั้งรัฐบาลได้จะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.และ ส.ว.ไม่น้อยกว่า 375 เสียง ไม่น่ามีพรรคไหนรวบรวมเสียงได้สำเร็จ ยกเว้นจะเป็น พล.อ.ประวิตรที่สามารถทำได้” ไพบูลย์กล่าวด้วยความมั่นใจ

 

จึงพอคาดการณ์ได้ว่า ภายใต้กติกาพิเศษ การเปิดให้ 250 ส.ว.ได้มีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรี ในบริบทที่ 2 ป.แยกกันเดินสะสมเก้าอี้ ส.ส.จากการเลือกตั้ง พลังของ ส.ว. 250 คน ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็น่าจะแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ ส.ว.ฝั่ง ป.ประยุทธ์ และ ส.ว.ฝั่ง ป.ประวิตร

มีการประมาณกำลังกันว่า กำลังของ ส.ว.ของทั้งสอง ป. สายราชการ-อดีตทหาร ตำรวจ มีปริมาณใกล้เคียงกัน ตัวแปรขึ้นกับ ส.ว.ที่มีจุดยืนอนุรักษนิยม ที่ไม่ใช่สายราชการ จะเลือกใคร คาดกันว่า จะเทไปทาง ป.ประยุทธ์ มากกว่านิดหน่อย

สอดรับกับพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ที่ล่าสุดปีนี้คว้าฉายา “พรเพชร พักก่อน” เพราะสื่อสภามองว่าไม่สามารถควบคุมการประชุมร่วมรัฐสภาให้เดินหน้าได้อย่างราบรื่น ยอมรับว่า 250 ส.ว.มีสัมพันธ์ดีกับ 2 ป. แต่ก็ยืนยันว่าสั่งซ้ายหันขวาหันไม่ได้

นัยยะสำคัญอันหนึ่งที่พรเพชรยอมรับในระหว่างการสัมภาษณ์ คือการบอกว่า โจทย์หลักของการเลือกนายกฯ จากฝั่งวุฒิสภา คือเรื่องการพิจารณาเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก

นั่นหมายความว่า ส.ว.จะเลือกนายกฯ โดยมองเรื่องสถานการณ์ความมั่นคง เสถียรภาพทางการเมืองที่ราบรื่น

สังคมจึงตั้งคำถาม หากมองในมุมนี้ ก็คงไม่พ้นการเลือกกลุ่มก้อนอำนาจเดิม คนเดิมที่เคยเป็นมา

ตอกย้ำความเป็นสภา “ตรา ป.” ฉายาที่ได้รับจากสื่อสภาในปีนี้ เพราะตลอดปี 2565 ส.ว.ยังคงทำหน้าที่รักษามรดกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และในการลงมติพิจารณาเรื่องสำคัญแต่ละครั้ง ก็ไม่มีแตกแถว เพื่อประโยชน์ของ 2 ป. โดยเฉพาะในการแก้รัฐธรรมนูญ และปัจจุบัน ส.ว.ยังถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายสนับสนุน ป.ประยุทธ์ และฝ่ายสนับสนุน ป.ประวิตร

จนกระทั่งล่าสุดก่อนการตัดสินใจแยกกันเดินเพื่อร่วมกันตีของ 2 ป. มีการเช็กชื่อแล้วว่า ส.ว.คนไหนจะสนับสนุน ป.ใดเป็นนายกรัฐมนตรี

 

การเมืองไทยในปี 2566 และปี 2567 โจทย์ใหญ่ก็จะยังคงมีบทบาทของวุฒิสภาเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

พรรคก้าวไกลเข้าใจเรื่องนี้ดี สังเกตจากบทความขนาดยาวของพริษฐ์ วัชสินธุ หรือไอติม สมาชิกพรรครุ่นใหม่ ออกมาปลุกใจตั้งแต่ต้นปี ต้องพยายามกำจัดมาตรา 272 หรือที่หลายฝ่ายเรียกว่า “ปิดสวิตช์ ส.ว.” และควรต้องทำให้สำเร็จก่อนการเลือกตั้งที่จะมาถึง เพื่อป้องกันไม่ให้ ส.ว.มีอำนาจมาขัดเจตนารมณ์ของประชาชนที่ถูกสะท้อนผ่านผลการเลือกตั้ง

พร้อมท้าให้ ส.ว.ออกมาแสดงจุดยืน โหวตสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่พรรคเพื่อไทยยื่นต่อประธานสภาเมื่อ 16 ธันวาคม เพื่อยกเลิกมาตรา 272 หากมีเจตนารมณ์บริสุทธิ์ ไม่อยากใช้อำนาจไปขัดกับผลการเลือกตั้ง

แต่หากพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ทัน ก็ควรออกมายืนยันกับประชาชนก่อนการเลือกตั้งว่าท่านพร้อมจะลงมติสนับสนุนนายกฯ ที่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่านายกฯ คนนั้นจะเป็นใครหรือมาจากพรรคไหน

 

ถ้าขบคิดกันด้วยเหตุผลบนพื้นฐานของหลักการประชาธิปไตย 2 ประเด็นดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่ถูกต้อง ไม่มีทางปฏิเสธเป็นอื่นไปได้ แต่ก็นั่นแหละ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไม่ต้องเป็นคอการเมืองก็ล้วนมองออกว่า 250 ส.ว.ไม่ทำแบบนั้นแน่ๆ

ความฝันของพรรคการเมืองฝ่ายค้านเรื่องแลนด์สไลด์เกิดขึ้นด้วยบริบทการมองข้ามช็อต เชื่อว่าหากชนะถล่มทลาย ส.ว.ก็จะไม่สามารถฝืนกระแสสังคมได้ นี่คือวิธีคิดเดียวกับการเมืองในการเลือกตั้งครั้งก่อนที่ฝ่ายตรงข้าม พล.อ.ประยุทธ์ ก็มองในลักษณะนี้

และแม้พรรคเพื่อไทยจะชนะได้ ส.ส.มากเป็นอันดับ 1 พรรคอนาคตใหม่ได้ ส.ส.เป็นอันดับ 3 ก็ยังไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้

ขณะที่ฝั่งรัฐบาลเดิมรับรู้ว่าคะแนนเสียงตกต่ำ ใช้วิธีกระจายกำลังแยกกันเดินยุทธศาสตร์ ลับ ลวง พราง เก็บแต้มให้ได้มากที่สุดจากสนามแข่งขันแล้วมาต่อรองกันใหม่ในสไตล์พวกเดียวกัน แถมยังมีเสียงตุนไว้แล้ว 250 เสียงอย่างต่ำ ยังไม่นับกระสุนที่แต่ละพรรคสะสมกันมานับตลอดช่วงดำรงตำแหน่ง ที่พร้อมจะยิงใส่ในศึกเลือกตั้งกันแบบไม่คิดชีวิต จนว่ากันว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการเลือกตั้งที่มีการใช้เงินครั้งมโหฬารมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

แยกกันเดินของจริงก็คือฝั่งฝ่ายค้านที่เหมือนกลมกลืนจากการมีศัตรูเดียวกัน แต่เมื่อถึงคราวเลือกตั้ง ก็ต่างคนต่างไป เพื่อไทยพรรคใหญ่สุดชูยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์ ที่เหลือต่างคนต่างเดิน แฟนคลับแต่ละฝั่งยิ่งตีกันยับ

 

ส่วนฝ่ายอนุรักษนิยมแสดงการแยกกันเดิน แต่แนบแน่นกันทางความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการ เพียบพร้อมไปด้วยทรัพยากร มีกลไกกติกาที่ถูกออกแบบมาให้รองรับการสืบทอดอำนาจ

บทเรียนมีมาแล้ว การจัดตั้งรัฐบาลปี 2562 ที่พรรคชนะเลือกตั้ง อันดับ 1 และอันดับ 3 รวมกัน ยังตั้งรัฐบาลไม่ได้เลย เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า 250 ส.ว.และกลไกกติกาสืบทอดอำนาจที่ถูกวางไว้มีผลอย่างสูงต่อการจัดตั้งรัฐบาลขณะนั้น

และการเลือกตั้งครั้งนี้ก็จะยังเป็นโจทย์คล้ายๆ เดิม 250 ส.ว.ยังคงมีบทบาท กลไกกติกาที่วางไว้ในการสืบทอดอำนาจแม้จะลดระดับความรุนแรงลง แต่ต้องไม่ลืมว่ามันยังทำงานอยู่ เพราะผู้เล่นสำคัญคนที่อยากจะอยู่ต่อในอำนาจยังเป็นคนเดิมกับช่วงที่วางกติกานั่นแหละ

ดังนั้น ในบริบทที่พรรคการเมืองใหญ่สุดในสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เขาแลนด์สไลด์มารอแล้ว 250 เสียง ฝั่งที่ไม่มีสักเสียงก็คงต้องเหนื่อยและมียุทธศาสตร์กันหน่อย ถ้าอยากจะเอาชนะ