เมนูข้อมูล : “รัฐบาล” เพื่อใคร

ในสูตรเศรษฐกิจทั้งหลาย แบ่งประเภทของการทำมาหากินเป็น 4 ประเภท หรือที่เรียกว่า เงิน 4 ด้าน พื้นฐานสุดคือ เป็นลูกจ้าง มีรายได้จากค่าจ้าง หรือเงินเดือน ยกระดับขึ้นมาอีกหน่อยคือ เป็นเจ้าของกิจการเล็กๆ ใช้สมาชิกในครอบครัวช่วยกันทำงาน ดีขึ้นกว่านั้นคือเจ้าของกิจการใหญ่ คนในครอบครัวเป็นผู้บริหาร จ้างคนอื่นมาเป็นพนักงาน ที่ดีที่สุดคือครอบครัวเป็นผู้ลงทุนแล้วคนอื่นบริหารจัดการ หรือที่เรียกว่าใช้เงินทำงาน

จะวัดว่าประเทศชาติพัฒนาไปมากน้อยแค่ไหน วัดกันที่ครอบครัวส่วนใหญ่มีรายได้ประเภทไหน

ผลการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนในรอบ 6 เดือนแรกของปี 2560 ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติจัดทำออกมาแล้ว

เป็นการสำรวจในกลุ่มตัวอย่าง 26,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ

ผลที่ออกมาก็คือ

ในส่วนของรายได้ครัวเรือน เฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 26,973 บาท

ร้อยละ 71.2 เป็นรายได้จากการทำงาน เป็นจากค่าจ้าง เงินเดือนร้อยละ 45.7 กำไรสุทธิจากธุรกิจร้อยละ 71.1 และกำไรสุทธิจากการทำการเกษตรร้อยละ 8.4

รายได้ที่ไม่ได้เกิดจากการทำงาน เป็นจากเงินที่ได้รับการช่วยเหลือจากบุคคลนอกครัวเรือนและจากรัฐร้อยละ 12.0 จากทรัพย์สิน เช่น ดอกเบี้ย ร้อยละ 1.6 รายได้ที่ไม่ได้เป็นตัวเงินซึ่งอยู่ในรูปสวัสดิการ สินค้า และบริการต่างๆ ร้อยละ 13.9

ส่วนค่าใช้จ่ายครัวเรือนเฉลี่ยเดือนละ 21,897 บาท ร้อยละ 34.6 เป็นค่าอาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ ร้อยละ 20.5 เป็นค่าที่อยู่อาศัย และเครื่องใช้ภายในบ้าน ร้อยละ 17.3 เป็นค่าการเดินทางและยานพาหนะ ร้อยละ 5.4 เป็นค่าของใช้ส่วนบุคคล เช่น เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า ร้อยละ 3.4 ค่าใช้จ่ายในการสื่อสาร ร้อยละ 1.8 ค่าการศึกษา ร้อยละ 1.6 ค่าเวชภัณฑ์และการรักษาพยาบาล ร้อยละ 1.2 ค่าการบันเทิงและงานพิธี ร้อยละ 1.1 ค่ากิจกรรมทางศาสนา

ค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค เช่น ภาษี ของขวัญ เบี้ยประกัน ซื้อสลากกินแบ่ง ซื้อหวย ดอกเบี้ย สูงถึงร้อยละ 13.0

จากตัวเลขนี้หากมองเผินๆ จะรู้สึกน่ายินดีที่ครัวเรือนเฉลี่ยมีรายได้มากกว่ารายจ่าย

แต่ถ้ามองละเอียดลงไป จะพบว่ารายได้อยู่ในสภาพหาเช้ากินค่ำ ส่วนใหญ่ยังเป็นรายได้ประเภทค่าจ้าง หรือด้านที่อยู่ในขั้นพื้นฐานสุด

ยิ่งไปกว่านั้นก็คือเมื่อมองจากรายละเอียดของค่าใช้จ่าย ยิ่งสะท้อนการหาเช้ากินค่ำเพราะรายจ่ายส่วนใหญ่หมดไปกับค่าอุปโภคบริโภค ไม่ได้ใช้เพื่อความพักผ่อนหย่อนกาย หรือพัฒนาตัวเอง

ยิ่งไปกว่านั้นคือ เหล่านี้เป็นรายได้ครัวเรือนแบบเฉลี่ย อันหมายถึงรายได้ของทุกครัวเรือนมารวมกันแล้วหารด้วยจำนวนครัวเรือน ซึ่งไม่สะท้อนช่องว่างรายได้ที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ

ซึ่งหากลงไปในรายเอียดน่าจะเป็นความย่ำแย่ของคุณภาพชีวิตมากกว่านี้

ความเป็นจริงบางด้านสะท้อนในผลสำรวจเรื่องหนี้

ตามค่าเฉลี่ย รายได้ครัวเรือนมากกว่ารายจ่ายครัวเรือนอยู่ไม่น้อย ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นน่าจะออกมาว่าครัวเรือนควรจะมีเงินเก็บแทนที่จะมีหนี้สินอยู่ไม่น้อย

แต่ผลสำรวจนี้กลับกลายเป็นว่าหนี้ครัวเรือนเฉลี่ยกลับสูงขึ้นจาก 116,681 บาทในปี 2550 เป็น 177,128 บาทในปี 2560 โดยสัดส่วนของครัวเรือนที่มีหนี้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 49.1 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 51.0 ในปี 2560

นั่นน่าจะหมายความแท้จริงแล้วครอบครัวไทยรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ยกเว้นส่วนน้อยนิดที่มีรายได้มหาศาลจนทำให้ค่าเฉลี่ยผิดเพี้ยนเป็นคนละด้านกับความเป็นจริงของครอบครัวส่วนใหญ่

ดังนั้น การบริหารจัดการจึงขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจ หรือมีหน้าที่รับผิดชอบจะใช้รายได้รายจ่ายเฉลี่ยมาเป็นตัวจัดการ หรือลงไปในรายละเอียดของช่องว่างระหว่างรายได้ครอบครัวส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดของประเทศ หรือส่วนน้อยที่มีเพียงกระจุกเดียว