บันทึกของ 3 ทูตไทย : ไทยรอดปากเหยี่ยวยุคสงครามเย็นอย่างไร? | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

ประเทศไทยไม่ค่อยจะมีการบันทึกประวัติศาสตร์โดยคนที่อยู่ในเหตุการณ์โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศ เราจึงไม่รู้จักตัวเองพอที่จะเรียนรู้จากอดีตเพื่อปรับปรุงแก้ไขปัจจุบันและวางยุทธศาสตร์สำหรับอนาคต

เรื่องนโยบายต่างประเทศมักจะถูกมองว่าเป็นเรื่อง “ไกลตัว” และคนทั่วไปจะต้อง “ปีนบันได” จึงจะสามารถทำความเข้าใจได้

แต่ความจริงก็คือนโยบายต่างประเทศนั้นมีความโยงใยกับทุกส่วนของนโยบายภายในประเทศ แยกออกจากกันไม่ได้

ยิ่งทุกวันนี้ “ภูมิรัฐศาสตร์” (Geopolitics) มีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการเมืองระหว่างประเทศ, ในประเทศ, เศรษฐกิจ, ความมั่นคงและสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น หากเราจะสร้าง “ความสามารถในการแข่งขัน” ของประเทศไทยในเวทีสากล เรื่องนโยบายต่างประเทศจึงต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์แห่งชาติ

ผมจึงดีใจที่มีหนังสืออย่างน้อย 4 เล่มที่เพิ่งตีพิมพ์ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาที่เล่าถึงการทำงานของ 4 ท่านในกระทรวงการต่างประเทศย้อนไปถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังของการดำเนินนโยบายสำคัญๆ ของประเทศในช่วงเวลาที่โลกอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างสำคัญยิ่ง

ไม่ว่าจะเป็นช่วง

สงครามเย็น

สงครามเวียดนาม

14 ตุลาคม 2516-6 ตุลาคม 2519

ไซ่ง่อนแตก

สงครามอินโดจีน

การเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน

เริ่มด้วยหนังสือ “นักสู้อานันท์” – กล้าคิด กล้าทำ กล้าเสี่ยง ที่เขียนโดยวิทยา เวชชาชีวะ

ต่อมาคือ “ชีวิต-งาน อาสา สารสิน ในวาะสิริอายุครบ 7 รอบ”

และ “ชีวิต-งาน วิทยา เวชชาชีวะ ในวาระสิริอายุครบ 7 รอบ”

กับ “ชีวิต-งาน ม.ร.ว.เทพกมล เทวกุล”

หนังสือ 3 เล่มหลังนี้เป็นผลงานของ “คณะผู้จัดทำหนังสือ” 11 คนที่เป็นข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศทั้งในอดีตและปัจจุบัน เนื่องในโอกาสที่ทั้ง 3 ท่านอายุครบ 7 รอบในปี 2563

ทั้ง 3 ท่านเกิดปีเดียวกันคือ 2479 และต่างก็ดำรงตำแหน่งปลัดกระทวงการต่างประเทศเช่นเดียวกัน

การบันทึกการทำงานของนักการทูตระดับชาติของไทยเราในช่วงจังหวะที่ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายอย่างใหญ่หลวงจากเหตุการณ์ในบ้าน, รอบบ้านและทั่วโลกเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อคนรุ่นต่อมา

ได้ทั้งความรู้และบทเรียนของจริงจากผู้ต้องเผชิญกับวิกฤตของบ้านเมืองและต้องใช้ความรู้ความสามารถเพื่อแก้ปัญหาของประเทศโดยคำนึงถึงเรื่องเดียวคือ ผลประโยชน์ของประเทศ

คนที่จะสามารถทำหน้าที่ได้ภายใต้สถานการณ์ที่ทดสอบความรู้ความสามารถนั้นได้จะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง

นั่นคือ “ความเป็นมืออาชีพ”

ซึ่งต้องผ่านระบบการทำงาน, แนวทางที่ได้มาตรฐานสากล

อีกทั้งยังต้องมีความกล้า, ความทุ่มเทและไหวพริบสำหรับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างเฉียบขาด

ไม่แต่เท่านั้น บ่อยครั้งยังต้องมีการทำงานเป็นทีมที่มีปรัชญาการทำงานและวิธีคิดที่สอดคล้องต้องกับภารกิจอันสำคัญที่ได้รับมอบหมายด้วย

คุณอาสา, คุณวิทยาและคุณชายเทพทำงานในกระทรวงการต่างประเทศในช่วงเวลาเดียวกัน

ปี 2516 จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ตัดสินใจ “ปฏิวัติตัวเอง” คณะรัฐมนตรีทั้งชุดหลุดจากตำแหน่ง รัฐมนตรีต่างประเทศ ถนัด คอมันตร์ ก็ออกไปด้วย

ความว้าวุ่นก็เกิดขึ้นที่กระทรวงการต่างประเทศ

อย่างที่คุณวิทยาเล่าไว้ในหนังสือเล่มนี้

“…สมัยนั้น เขาไม่ตั้งรัฐมนตรี เขาให้ปลัดกระทรวงใช้อำนาจรัฐมนตรีเหมือนเป็นรัฐมนตรี ทุกกระทรวงเหมือนกันหมด…”

ท่านปลัดจรูญพันธ์ (อิศรางกูร ณ อยุธยา) จึงเสมือนเป็นรัฐมนตรี (16 พฤศจิกายน 2514-21 ธันวาคม 2515) ท่านแผน (วรรณเมธี) เป็นรองปลัด แต่ทำหน้าที่เหมือนเป็นปลัดกระทรง (6 พฤศจิกายน 2516-11 สิงหาคม 2518)

“ที่สำคัญคือตอนนั้นท่านรัฐมนตรีถนัดออกไป เป็นเหตุให้กระทรวงว้าวุ่น เพราะสมัยท่านเป็นรัฐมนตรีอยู่ ท่านทำงานของท่านเอง คิดนโยบายเอง ดำเนินนโยบายเอง แล้วก็มีคุณสมปอง (สุจริตกุล) เป็นเลขาฯ ซึ่งคุณสมปองก็มาใช้พวกเราเป็นลูกมืออีกที พอท่านรัฐมนตรีถนัดออกไป ก็เลยเกิดช่องโหว่ ไม่มีผู้ที่คุมนโยบายหรือคิดนโยบายของกระทรวง ทั้งท่านรองปลัดแผนและท่านปลัดจรูญพันธ์ก็ช่วยกันเต็มที่…”

คุณวิทยาบอกว่าทีมคนรุ่นใหม่ช่วงนั้นก็มีคุณชายเทพ (กี๊ต), อาสา สารสิน, โกศล (สินธุวานนท์), ชวาล (ชวณิชย์), วรพุทธิ์ (ชัยนาม) รุ่นน้องก็มีนิตย์ (พิบูลสงคราม) และเตช (บุนนาค) มาช่วยกัน

“เราเป็น teamwork มาทำงานร่วมกัน ต้องดูแลทุกเรื่องเพราะท่านรองปลัดแผนได้รับมอบจากท่านปลัดจรูญพันธ์ให้ดูแลตรงนี้…”

ทันทีที่รับภารกิจหนัก ทีมงานชุดนี้ต้องเผชิญกับภาวะอินโดจีนแตก, เวียดนามแตกในปี 2518

“เวียดนามเหนือก็มาเจรจา จะเอาโทษกับไทย คุณแผนเป็นหัวหน้าคณะเจรจากับเวียดนามเหนือ ตอนนั้นเป็นช่วงที่เรารับมือ ใครๆ ก็คิดว่าเมืองไทยไปแน่แล้ว มีหวังเป็น domino ตัวต่อไปที่ล้ม…แต่เราก็สามารถหยุดยั้งได้…”

คุณแผนพูดอยู่เสมอว่า

“เราหยุดยั้งโดมิโนไว้ โดมิโนมันหยุดที่ประเทศไทย ไม่ล้มไปตามเวียดนาม เขมร ลาว”

หนังสือชุดนี้เล่าเรื่องราวของการที่ทีมกระทรวงการต่างประเทศปรับตัวทันกับความผันผวนของการเมืองในอินโดจีนขณะที่กระแสแห่งคอมมิวนิสต์กำลังมาแรง

และไทยต้องเผชิญกับภัยคุกคามที่ไม่เคยต้องประสบมาก่อน ภายใต้การนำของคุณอานันท์ ปันยารชุน ที่ต่อมาดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง

คุณวิทยาเล่าเสริมว่า

“ตอนที่ไทยเปิดสัมพันธ์กับจีนในปี 2518 เป็นรัฐบาลของคุณชายคึกฤทธิ์ (ปราโมช) และคุณชาติชาย (ชุณหะวัณ) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คุณอานันท์กลับจากกรุงวอชิงตันมาเป็นปลัดกระทรวง”

“การที่เราไปเปิดสัมพันธ์กับจีน ช่วยทำให้เวียดนามไม่กล้าหือกับเรา เพราะจีนมาค้ำอยู่ แล้วจีนก็พูดกับเราว่า เขาไม่ต้องการให้ใครมีอำนาจเหนือพวกเราในภูมิภาคนี้ พูดง่ายๆ เขาเป็นใหญ่ ต่อมาเขาเลยลงโทษเวียดนาม บุกเข้าไปในเวียดนาม เรียกว่าสอนบทเรียนให้เวียดนาม จนกระทั่งต่อมามีเรื่องปัญหากัมพูชา ไทยกับอาเซียนช่วยกันต่อต้านไม่ให้กัมพูชาไปอยู่ภายใต้อิทธิพลเวียดนาม ใช้เวลาอยู่หลายปีจนถึงสมัยคุณสิทธิ เศวตศิลา เป็นรัฐมนตรี…”

จุดจบของสงครามเวียดนามในปี 2518 คือจังหวะหัวเลี้ยวหัวต่ออันสำคัญยิ่งสำหรับประเทศไทย

 

คุณวิทยาเล่าไว้อีกตอนหนึ่งว่า

“รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศโดยมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคมเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อต้นปี 2518 ยืนยันจะเปิดสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนตามที่หาเสียงไว้ ในชั้นแรกกำหนดไว้ว่าจะเป็นประมาณสิ้นปี”

“แต่แล้วเหตุการณ์ที่แปรผันอย่างรวดเร็วในโลกและภูมิภาคในระยะครึ่งแรกของปี 2518 นั้นทำให้บรรดาประเทศโดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องปรับตัวอย่างหายใจแทบไม่ทัน…”

กรุงพนมเปญถูกเขมรแดงเข้ายึดสำเร็จเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2518 หลังจากที่นายพลลอนนอลได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์หนีออกนอกประเทศเพื่อไปขอลี้ภัยในสหรัฐอเมริกาในที่สุด

“แต่ที่สร้างความตกใจอย่างกว้างขวางนั้นคือการที่กรุงไซ่ง่อนแตกเมื่อวันที่ 30 เมษายนในปีเดียวกัน ท่ามกลางความโกลาหลของการอพยพคนอเมริกันและลูกจ้างท้องถิ่น โดยใช้เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงจากดาดฟ้าสถานทูตไปยังเรือรบอเมริกันที่ทอดสมออยู่นอกฝั่ง”

“ก่อนหน้านั้น เอกอัครราชทูตสหรัฐ Graham Martin (ซึ่งเคยเป็นทูตประจำไทยในช่วงที่สหรัฐขยายกำลังในภูมิภาค) มีความศรัทธาในฝีมือรบของกองทัพเวียดนามใต้ และแม้ว่าเวียดกงจะตีเมืองสำคัญๆ เช่นเว้และดานังสำเร็จ และกำลังเข้าประชิดกรุงไซ่ง่อน แต่ก็เชื่อว่ากองทัพเวียดนามใต้ยังจะสามารถยันกองกำลังเวียดกงได้อีกหลายเดือน และไม่อยากให้ภาพออกมาว่าสหรัฐสั่งอพยพผู้คน…จนกระทั่งในที่สุดรัฐมนตรีต่างประเทศ Henry Kissinger ต้องโทรเลขมาสั่งเอง”

ส่วนตัวท่านทูตก็ขึ้นเฮลิคอปเตอร์เที่ยวสุดท้าย

(สัปดาห์หน้า : ไทย, จีน, เวียดนาม…กับทฤษฎีโดมิโน)