รูปพรรณสัณฐาน-อาหาร “ท้าวจตุโลกบาล” เป็นอย่างไร?

ญาดา อารัมภีร

นอกจากท้าวจตุโลกบาล หรือท้าวจาตุมหาราชทั้ง 4 ในสวรรค์จาตุมหาราชิกายังมีเทวดาบริวาร วรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ เรื่อง “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” เล่าถึงรูปพรรณสัณฐานและอาหารของเทวดา ดังนี้

“กายแห่งเทพยดาที่อยู่ในชั้นจาตุมหาราชิกานั้น คาวุตปฺปมาโณ มีประมาณโดยสูงได้คาพยุต 1 คือ 100 เส้น … แลสรีรกายแห่งท้าวจาตุมหาราชทั้ง 4 พระองค์นั้น มีประมาณได้ 2 คาพยุต คือ 200 เส้น ใหญ่กว่าจาตุมหาราชิกาเทวดาทั้งปวง”

กายแห่งเทวดาเรืองรองด้วยแสงสว่างต่างสีตรงกับห้าสีที่เรียกว่า ‘เบญจรงค์’

“แลรัศมีแห่งจาตุมหาราชิกาเทวดาทั้งหลายนั้นแปลกๆ ประหลาดๆ กัน นีโล บางจำพวกนั้นรัศมีเขียว ปีโต บางจำพวกนั้นรัศมีเหลือง กาโฬ บางจำพวกนั้นรัศมีดำ โลหิโต บางจำพวกรัศมีแดง โอทาโต บางจำพวกรัศมีขาว”

ผ้าทิพย์ที่ห่อหุ้มร่างเกิดจากไม้กัลปพฤกษ์หรือต้นไม้สารพัดนึก มีขนาดเท่ากันทุกผืน

“จาตุมหาราชิกาเทวดาทั้งหลาย ย่อมนุ่งห่มผ้าอันบังเกิดแต่ไม้กัลปพฤกษ์ ผ้าทิพย์ทั้งหลายนั้น แต่ละผืนๆ ยาว 40 ศอก กว้าง 20 ศอก ประกอบด้วยสีพิเศษพิจิตรต่างๆ ปรารถนาอย่างไรก็ได้อย่างนั้น สำเร็จดังความปรารถนา”

อาหารของเทวดาในสวรรค์ชั้นนี้มีอยู่ทั่วไปทั้งที่เกิดในสวน สวนซ้ายสวนขวาของวิมานที่พำนัก เกิดในสระบัว ในไม้กัลปพฤกษ์ รวมไปถึงเครือเถาหรือเถาวัลย์ ที่พิเศษหาใช่อาหาร แต่เป็นปริมาณการกินน้อยนิด

“แลจาตุมหาราชิกาเทวดาทั้งหลายนั้น เขาบริโภคอาหารมีประมาณเท่าวิฬารบาท (= เท้าแมว) จะได้บริโภคมากเหมือนมนุษย์นี้หาบ่มิได้ เท้าวิฬาร์นั้นมีประมาณเท่าใด ก็บริโภคสุธาหารมีประมาณเท่านั้น บริโภควันละ 1 เพลา เช้าเพลา 1 เย็นเพลา 1 บริโภคเพลาเช้าเท่าวิฬารบาท แล้วบริโภคเพลาเย็นก็เท่าวิฬารบาทเหมือนกัน”

 

แม้ในวรรณคดีจะมิได้กล่าวถึงรูปร่างหน้าตาของท้าวจตุโลกบาลหรือท้าวจาตุมหาราชทั้ง 4 คนส่วนใหญ่ก็มักเข้าใจว่า น่าจะหมดจดงดงามไม่ต่างจากเทวดาบริวารที่มีรูปกายราวสาวรุ่น สวยและสาวคงที่ มีกายบริสุทธิ์ผุดผ่อง ปราศจากกลิ่นเหม็นใดๆ ตามที่ “ไตรภูมิพระร่วง” บรรยายว่า

“แลมีรูปโฉมโนมพรรณหนุ่มแลงามดั่งสาวอันได้ 16 ปีอยู่ชั่วตนนั้นแล เขามีตัวอันบริสุทธิ์หามุลทินบ่มิได้เลยสักอัน แลว่าในกายเขานั้น แลจะมีสิ่งอันเหม็นแลเป็นกลิ่นอันร้ายในกายเขาน้อยหนึ่ง ก็บ่ห่อนจะรู้มีในกายเขานั้นเลย” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

แม้เทวดาในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาจะงามไร้ที่ติ แต่ท้าวจตุโลกบาลมหาราชทั้ง ๔ ผู้เป็นใหญ่เหนือเทวดาเหล่านั้น บางองค์กลับมีรูปลักษณ์สวนทางอย่างน่าแปลก ดังที่เสฐียรโกเศศตั้งข้อสังเกตไว้ใน “เล่าเรื่องในไตรภูมิ” ว่า

“ท้าววิรูปักษ์โลกบาลประจำทิศตะวันตก ตามชื่อก็แปลว่ามีรูปตาวิกล เป็นจำพวกตาถลน ท้าวไพศพหรือท้าวเวสสุวรรณก็มีหน้าเป็นยักษ์และมีสามขา เกะกะมาก ที่มีรูปเช่นนี้เห็นจะประสงค์ให้พวกผีปีศาจที่เป็นมิจฉาทิฐิเห็น จะได้ตกใจกลัววิ่งหนีไป”

เสฐียรโกเศศให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า

“กุเวรแลท้าวไพศพเป็นองค์เดียวกัน ชาวบ้านเรียกว่าท้าวเวสสุวรรณ คนแต่ก่อนมักแขวนรูปภาพเป็นพระยายักษ์ถือกระบองยืนแยงแย่ มีไม้กระบองยาวยันอยู่หว่างขา อยู่เหนือเปลสำหรับเด็กอ่อนนอน เพื่อกันอันตรายจากผีและยักษ์ที่จะมาทำร้ายทารก

ที่แขวนรูปท้าวเวสสุวรรณเพราะถือว่าท่านเป็นนายผีนายยักษ์ มันไม่กล้าเข้ามารบกวน ด้วยเห็นนายของมันยืนกังก้าเฝ้าอยู่ (กังก้า = จังก้า ยืนขาถ่างตั้งท่าเตรียมสู้) ที่ท้าวเวสสุวรรณดูแลป้องกันเด็ก เข้าใจว่าเป็นเพราะคนเป็นพาหนะสำหรับท่านขี่ไปไหนมาไหน คือทรงขี่คนต่างม้า คนจึงเป็นบริวารของท่านด้วย ท่านจึงคอยดูแลป้องกัน”

 

ใน “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” กล่าวถึงท้าวเวสสุวัณ (เวสสุวรรณ) มีบริวารมากมายทั้งที่เป็นยักษ์สารพัดชนิดและภูตผีปีศาจ

“ท้าวเวสสุวัณนั้นเป็นใหญ่กว่าเทวดาทั้งปวง แต่บรรดาที่มิได้นับเข้าในเทพยคนธรรพ์แลเทพยกุมภัณฑ์ นักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่า เทพยคนธรรพ์นั้นขึ้นแก่ท้าวธตรัฏฐมหาราช เทพยกุมภัณฑ์นั้นขึ้นแก่ท้าววิรุฬหกมหาราช นอกกว่านั้นก็ขึ้นแก่ท้าวเวสสุวัณสิ้น ตลอดลงมาถึงยักษิณีหน้าม้า ยักษิณีหน้าลา แลผีเสื้อน้ำ ฝูงภูตฝูงผีทั้งปวง ก็ขึ้นแก่ท้าวเวสสุวัณ อยู่ในโอวาทแห่งท้าวเวสสุวัณสิ้นทั้งปวง”

วรรณคดีเล่มเดียวกันยังเล่าถึงประวัติความเป็นมาของท้าวเวสสุวัณ เคยเกิดเป็นพราหมณ์นามว่า ‘กุเวร’ มีใจบุญเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เปิดโรงหีบอ้อย 7 โรง แต่ยกให้เป็นทาน 1 โรงแก่ผู้สัญจรไปมา กุศลจากการมอบน้ำอ้อยเป็นทานส่งผลให้มั่งคั่งร่ำรวย กุเวรพราหมณ์เลื่อมใสบุญแห่งตน ต่อมาได้นำน้ำอ้อยอีก 6 โรงและเงินค่าน้ำอ้อย 6 โรงนั้นออกบำเพ็ญทานนานถึง 2 หมื่นปี อานิสงส์ยิ่งใหญ่บังเกิดขึ้นหลังสิ้นอายุขัย

“ได้ขึ้นไปบังเกิดในชั้นจาตุมหาราชิกา เป็นเทวดามีนามบัญญัติชื่อว่า กุเวรเทพบุตร อปรภาเค ครั้นอยู่จำเนียรภาคเบื้องหน้า ได้เสวยทิพยสมบัติในเทพนครอันชื่อว่า วิสาลราชธานี จึงมีนามปรากฏชื่อ ท้าวเวสสุวัณมหาราช จำเดิมแต่นั้นมา”

กุศลเจตนาและศรัทธาทำทานทำให้กุเวรพราหมณ์กลายเป็น “กุเวรเทพบุตร” และต่อมาได้เป็น “ท้าวเวสสุวัณ” หนึ่งในท้าวจตุโลกบาล

ฉบับนี้เทพและทิศของพุทธ

ฉบับหน้าเทพและทิศของฮินดู •