ทวนกระแสประวัติทุนนิยมจีน ฉบับโฮเฟิง หง (จบ) | เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

ทวนกระแสประวัติทุนนิยมจีน

ฉบับโฮเฟิง หง (จบ)

จากการพัฒนาแบบฝูงห่านบินของญี่ปุ่นสู่แบบวงแพนด้าของจีน

 

โฮเฟิง หง ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Johns Hopkins สหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์การเมืองจีน ได้ให้สัมภาษณ์ Daniel Denvir แห่งเว็บไซต์ The Dig ทบทวนประวัติเศรษฐกิจการเมืองทุนนิยมจีนในประเด็นปัญหาหลักๆ ที่น่าสนใจหลายประการเมื่อเดือนมีนาคมศกนี้ (https://thedigradio.com/podcast/china-boom-w-ho-fung-hung/)

ผมขอนำมาถ่ายทอดต่อดังนี้ :

แบบแผนการพัฒนาแบบฝูงห่านบินที่มีญี่ปุ่นเป็นจ่าฝูงในเอเชียตะวันออก https://econfix.wordpress.com/2017/07/28/chinas-investment-in-africa-and-the-flying-geese-paradigm/ & ห่วงโซ่อุปทานโลกหรือแบบแผนการพัฒนาแบบวงแพนด้าที่มีจีนเป็นศูนย์กลาง https://www.scielo.org.mx/scielo.php?script=sci_arttext&pid=S0185-16672012000200006)

แดเนียล เดนเวอร์ : ก่อนเศรษฐกิจจีนจะบูม เศรษฐกิจส่งออกของนานาประเทศในเอเชียตะวันออกถูกจัดโครงสร้างออกมาเป็นแบบแผนที่เรียกว่า “ฝูงห่านบิน”

กล่าวคือ ประเทศสี่เสือ (ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ สิงคโปร์) ผลิตชิ้นส่วนที่เอาไปประกอบเข้าด้วยกันในญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้ามูลค่าเพิ่มสูงสุดในตอนท้ายอีกที

ในแบบแผนฝูงห่านบินที่ว่านี้ เราอาจวาดภาพให้ญี่ปุ่นนำหน้าเป็นจ่าฝูงและตามมาด้วยประเทศสี่เสือนั่นเอง (ดูภาพประกอบด้านบน)

แต่แล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจนานาประเทศในเอเชียและเศรษฐกิจโลกล่ะครับ เมื่อแบบแผนฝูงห่านบินที่ว่านั้นพลิกเปลี่ยนไปเป็นแบบแผนที่เรียกว่า “วงแพนด้า” อันมีจีนเป็นศูนย์กลางแทน?

โฮเฟิง หง : ตลอดทศวรรษที่ 1960, 1970 และ 1980 มีจินตภาพฝูงห่านบินที่คุณว่าจริงครับ ซึ่งทั้งฝูงพากันบินหน้าไป ทว่า คงลำดับชั้นเหลื่อมล้ำเอาไว้ระหว่างห่านจ่าฝูงกับบรรดาห่านลูกฝูงอย่างมั่นคง

ตอนนั้นญี่ปุ่นเป็นตัวห่านจ่าฝูงครับ กล่าวคือ ผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงสุด ประณีตพิสดารที่สุดและทำกำไรมากที่สุดเสมอ

แล้วพอญี่ปุ่นเลื่อนชั้นไปผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น บรรดาผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นที่นิยมน้อยลงและทำกำไรต่ำกว่าก็ถูกจัดจ้างภายนอกไปให้ห่านตัวอื่นๆ ผลิตแทนไม่ว่าจะเป็นไต้หวันเอย เกาหลีใต้เอย ฯลฯ

ทั้งฝูงเคลื่อนตัวไปข้างหน้า ทว่า ลำดับชั้นเหลื่อมล้ำระหว่างญี่ปุ่นกับสี่เสือรวมทั้งเอเชียอาคเนย์ในเวลาต่อมาก็ยังคงเดิมอยู่อย่างนั้น

จนกระทั่งทศวรรษที่ 1980 และ 1990 เมื่อจีนโผล่เข้าฉากมานั่นแหละครับ

เพราะจีนน่ะใหญ่โตมโหฬารมาก มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์และมีตลาดภายในมหึมา มันจึงดึงดูดไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมมูลค่าเพิ่มระดับต่ำทั้งหลายเท่านั้น หากรวมถึงบรรดาอุตสาหกรรมมูลค่าเพิ่มสูงด้วย

ท้ายที่สุดแล้ว จีนจึงดูดซับเอาทุกอย่างไปผลิตเองตั้งแต่อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ ไปจนถึงไอโฟนอันโด่งดัง

แถมมันยังดูดซับผลิตภัณฑ์ต้นทุนต่ำอย่างเสื้อผ้า ต้นไม้ประดับคริสต์มาส และชุดฮาโลวีนด้วยนะครับ

ต้นทศวรรษที่ 2000 มีบทความชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร The Economist ชื่อ “แพนด้าทลายฝูง” (“A Panda Breaks the Formation”, https://www.economist.com/finance-and-economics/2001/08/23/a-panda-breaks-the-formation) มันลงการ์ตูนประกอบเป็นรูปหมีแพนด้า ทลายฝูงห่านบินแตกกระเจิงเอาไว้ด้วยนะครับ (ดูภาพด้านบน) ทั้งนี้เพราะจีนใหญ่โตมโหฬาร มันก็เลยดูดซับทุกสิ่งทุกอย่าง และส่งผลให้เครือข่ายการผลิตกลับมีจีนเป็นศูนย์กลางแทน ญี่ปุ่นเอย เกาหลีใต้เอย ไต้หวันเอย เอเชียอาคเนย์เอยพากันจัดจ้างทุนและกิจกรรมหัตถอุตสาหกรรมของตนไปไว้ภายนอกที่จีนกันหมด

และพวกนายทุนในประเทศเหล่านั้นก็หันไปพุ่งเป้ารวมศูนย์ที่ธุรกิจการเงินและการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์แทน แต่ก็ยังมีหัตถอุตสาหกรรมมูลค่าเพิ่มสูงลิ่วบางอย่างคงเหลืออยู่ในประเทศเหล่านั้นบ้างนะครับ อุตสาหกรรมหนึ่งที่คนสนใจกันมากได้แก่การผลิตไมโครชิพความเร็วสูงโดยเฉพาะในไต้หวันนั่นไงครับ

เมื่อพูดถึงอุตสาหกรรมไฮเทคเหล่านี้แล้ว มันมีระบบควบคุมการส่งออกบางอย่างที่ตกทอดมาจากสมัยสงครามเย็นอยู่ครับ ซึ่งจีนพบว่ายากยิ่งที่จะฝ่าข้ามมันไปได้ ฉะนั้น หัตถอุตสาหกรรมชิ้นส่วนไฮเทคก็เลยยังคงอยู่ในเหล่าประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนากว่าเหล่านี้

ทว่า ผลิตภัณพ์ไฮเทคอย่างอื่นตั้งแต่โดรน ไอโฟน ไปจนถึงรถยนต์ไฟฟ้า ต่างถูกจัดจ้างไปภายนอกให้แก่จีนหมด ฉะนั้น เครือข่ายการผลิตส่วนใหญ่จึงมีจีนเป็นศูนย์กลางครับ

เหล่าประเทศเศรษฐกิจบริวารที่รายรอบจีนต่างก็รับบทจัดหาชิ้นส่วน ทรัพยากรธรรมชาติและการเงินมาสนองให้จีนครับ อย่างเช่น บางทีวิสาหกิจในจีนก็ดำเนินธุรกรรมการเงินผ่านบรรดาธนาคารในฮ่องกงนั้นเอง เป็นต้น

แน่ล่ะครับว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนเมื่อเร็วๆ นี้กำลังพยายามเปลี่ยนโฉมเครือข่ายที่มีจีนเป็นศูนย์กลางดังกล่าว

แต่เรายังไม่รู้หรอกนะครับว่ามันกำลังเปลี่ยนแปลงไปเป็นอะไรกันแน่

แดเนียล เดนเวอร์ : ข้อสมมุติฐานสำคัญประการหนึ่งในหนังสือของคุณก็คือว่า :

“ทุนนิยมในประเทศเฉพาะเจาะจงประเทศหนึ่งประเทศใดไม่ได้แตกต่างไปจากทุนนิยมที่อื่นๆ ในขั้นมูลฐาน หลักการรองรับและพลวัตพื้นฐานของทุนนิยมในฐานะระบบเศรษฐกิจหนึ่งย่อมเป็นสากล แม้ว่าทุนนิยมย่อมเข้าเกาะเกี่ยวเหนี่ยวยึดกับประดาโครงสร้างทางสังคมการเมืองทั้งหลายที่มีลักษณะเฉพาะทางประวัติศาสตร์และประชาชาติอยู่เสมอก็ตามที และโครงสร้างทางสังคมการเมืองที่ว่านี้แหละที่ช่วยทำให้มันสามารถปลดปล่อยพลังการผลิตของมันออกมาในบางครั้ง แต่กลับเหนี่ยวรั้งขัดขวางการผลิตซ้ำของมันในบางคราว”

ไฉนถึงไม่ถือจีนเป็นทุนนิยมรัฐ-พรรคที่มีเอกลักษณ์แบบที่บางคนเถียงเอาไว้ล่ะครับ? แล้วอะไรคือเดิมพันแห่งข้อถกเถียงของคุณที่ว่ามันไม่มีหรอกไอ้ทุนนิยมแบบจีนโดยตัวมันเองน่ะ มีก็แต่ประวัติศาสตร์ของทุนนิยมในจีนเท่านั้นเอง?

โฮเฟิง หง : มันมีทั้งความละม้ายเหมือนกับความแตกต่างระหว่างทุนนิยมในจีนกับทุนนิยมที่อื่นๆ นั่นแหละครับ ความละม้ายเหมือนประการสำคัญคือแรงจูงใจหากำไรกับแรงกดดันบีบคั้นของการสะสมทุนย่อมเป็นตัวขับเคลื่อนระบบทุนนิยมในจีนทุกวันนี้ เหมือนกับที่มันเป็นในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและที่อื่นๆ อีกมากหลาย

แน่ชัดว่าแรงกดดันบีบคั้นที่ครอบงำกิจกรรมเศรษฐกิจย่อมได้แก่เพื่อการสะสมทุน ลงทุนซ้ำและทำกำไร ทุนนิยมในจีนก็ละม้ายคล้ายคลึงยิ่งกับระบบเดียวกันทั้งหลายในที่แห่งอื่นทั่วโลกนั่นแหละครับในความหมายที่ว่าชีวปัจจัยถูกทำให้กลายเป็นสินค้าซื้อขายแลกเปลี่ยนได้อย่างเสร็จสมบูรณ์ยิ่งทีเดียว

ถ้าคุณอยู่ในจีน สหรัฐ เยอรมนี หรือญี่ปุ่น คุณก็ต้องซื้อของจำเป็นในชีวิตประจำวันของคุณส่วนใหญ่จากตลาดเหมือนกันนั่นแหละ

 

แดเนียล เดนเวอร์ : และคุณก็ต้องขายแรงงานของคุณเพื่อให้ได้เงินมาซื้อหาของพวกนั้นด้วยซีนะครับ

โฮเฟิง หง : และที่น่าสนใจก็ตรงในจีนน่ะ ของจำเป็นประจำวันบางอย่างถูกทำให้กลายเป็นสินค้าซื้อขายในตลาดในระดับที่กระทั่งสูงกว่าในประเทศยุโรปส่วนใหญ่ด้วยซ้ำไปนะครับ

ถ้าคุณดูการใช้จ่ายของเอกชนด้านยอดต้นทุนค่ารักษาสุขภาพแห่งชาติในยุโรป ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้แล้ว คุณจะเห็นได้ว่ามันถูกแปรเป็นของสังคมส่วนรวมสูงยิ่งครับ ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาสุขภาพจำนวนมากตกเป็นภาระรายจ่ายของรัฐบาล เฉลี่ยแล้วสูงกว่า 60 เปอร์เซ็นต์เป็นแบบฉบับเลยทีเดียว

ในบางประเทศยอดค่าใช้จ่ายการรักษาสุขภาพแห่งชาตินั้นรัฐบาลเป็นผู้ออกให้ถึง 70 หรือ 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือเอกชนเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย

ทว่า ประเทศเศรษฐกิจใหญ่สองประเทศมีค่าใช้จ่ายสาธารณะเพื่อรักษาสุขภาพคิดเป็นร้อยละต่ำเตี้ยเรี่ยดินครับ ได้แก่ สหรัฐและจีน ซึ่งทั้งคู่มีระบบรักษาสุขภาพที่พึ่งพาเอกชนให้ควักกระเป๋าจ่ายเองมากกว่าให้รัฐบาลจ่าย

ฉะนี้แล้วในแง่นั้นก็ต้องนับว่าเศรษฐกิจจีนถูกทำให้เป็นแบบตลาดพอๆ กับสหรัฐเลยทีเดียว มันเป็นทุนนิยมเอามากๆ ครับ และมีการทำมาหากำไรกันเกร่อในหมู่โรงพยาบาลและผู้ให้บริการรักษาสุขภาพทั้งหลายแหล่

ระบบที่ว่านี้ของจีนจึงเทียบเคียงได้กับระบบรักษาสุขภาพสหรัฐมากกว่าจะไปเทียบกับระบบของสหราชอาณาจักร ยุโรป หรือญี่ปุ่นนะครับ

ในความหมายหนึ่ง ระบบทุนนิยมจึงมีลักษณะครอบคลุมทั่วสากลยิ่งครับ มันเป็นอย่างเดียวกันในจีน เหมือนในที่อื่นๆ แต่ในเวลาเดียวกัน ระบบทุนนิยมที่ว่านี้ก็จำต้องต่อรองกับระบบการเมืองอันแตกต่างออกไปที่มันอาศัยยึดหยั่งอยู่ ในกรณีจีน แน่นอนว่าระบบการเมืองที่ว่าได้แก่ระบบรัฐ-พรรคนั่นเองครับ

แรงกดดันบีบคั้นของรัฐ-พรรคคอมมิวนิสต์ได้แก่ การคงอยู่ในอำนาจและธำรงรักษารวมทั้งขยายอำนาจของตนออกไป พรรคคอมมิวนิสต์ของจีนดำเนินการที่ว่านี้ในลักษณาการอันพิเศษยิ่งโดยเข้าแทรกซึมและขายหน่วยงานเศรษฐกิจต่างๆ ฉะนั้น ระบบทุนนิยมในจีนจึงไม่ได้ดำรงอยู่ในสุญญากาศ แต่ในบริบททางการเมืองของรัฐ-พรรคอันเฉพาะเจาะจงนี่แหละครับ

การณ์ดังกล่าวนี้ไม่ได้ทำให้จีนกลายเป็นไม่ทุนนิยมไป มันก็ยังคงเป็นระบบทุนนิยมนั่นแหละ แต่เป็นระบบทุนนิยมที่อยู่ในสภาวะแวดล้อมอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์

กล่าวคือ สภาวะที่พรรคครองฐานะครอบงำในจีน อย่างไรก็ตาม สภาวะแวดล้อมนี้ก็หาได้เป็นเอกลักษณ์ชนิดไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใครไปเสียทั้งหมดไม่

รูปการณ์ทำนองเดียวกันก็ได้ปรากฏขึ้นแล้วในที่ต่างๆ อย่างเวียดนาม ชั่วแต่ว่าเรื่องราวที่นั่นผิดแผกแตกต่างออกไปบ้างเท่านั้นเอง

กล่าวโดยรวมแล้ว ตัวระบบทุนนิยมเองมีความเป็นสากล แต่มันดำรงอยู่ในสภาวะแวดล้อมทางการเมืองที่เป็นเอกลักษณ์ต่างๆ ซึ่งมันต้องต่อรองด้วยตลอดเวลาครับ