ท่าไม้ตาย

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ท่าไม้ตาย

 

วันก่อน มีน้องที่ทำหลักสูตร BASE เชิญไปพูดอุ่นเครื่องให้กับคนที่มาเรียนหลักสูตรนี้

เขาตั้งชื่อหัวข้อว่า “เคล็ดลับมังกรธุรกิจ”

ให้ไปเล่าว่านักธุรกิจใหญ่ที่ผมเคยสัมภาษณ์มีเคล็ดลับอะไรบ้าง

แบบนี้สบายมากครับ

มีเรื่องเล่าเยอะ

จริงหรือไม่จริง คนฟังไม่รู้หรอก 555

เรื่องราวของนักธุรกิจใหญ่และผู้บริหารมืออาชีพที่เล่าในวันนั้น มีทั้งคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี คุณธนินท์ เจียรวนนท์ คุณอนันต์ อัศวโภคิน คุณตัน ภาสกรนที และคุณบุญคลี ปลั่งศิริ

สนุกมากครับ

ทุกคนประสบความสำเร็จเหมือนกัน แต่มีเคล็ดวิชาแตกต่างกัน

ที่ยกตัวอย่างบ่อยๆ คือ คุณธนินท์ มี “ท่าไม้ตาย” คือ “ครบวงจร”

คุณอนันต์ไม่ชอบ “ครบวงจร”

แต่ชอบ “เอาต์ซอร์ส”

แบ่งงานเป็นส่วนๆ แล้วจ้างคนนอกทำ

คุณเจริญ ช่วงหลังมักใช้ “เงิน” ทำงาน

คือ ต่อยอดธุรกิจด้วยการซื้อกิจการที่ประสบความสำเร็จแล้ว

คนที่ประสบความสำเร็จมักมี “ท่าไม้ตาย” ประจำตัว

เคยสำเร็จด้วยวิธีการแบบไหน

เมื่อเริ่มต้นใหม่ก็จะใช้วิธีการเดิม

ผมเล่า-เล่า-เล่าไปเรื่อยๆ อย่างสนุกสนาน

คนฟังสนุกหรือเปล่าไม่รู้

แต่คนพูดสนุก

พอถึงช่วงที่เปิดให้ซักถาม

“ตาล” น้องที่เคยเรียน ABC ถามง่ายๆ ว่า แล้ว “พี่ตุ้ม” มีท่าไม้ตายอะไร

โห…ตายเลยครับ

เป็นเรื่องใกล้ตัวมากแต่ไม่เคยคิดมาก่อน

วันนั้น ผมตอบแบบคิดเร็วๆ ได้ในตอนนั้นว่าเป็นคนชอบทำงานเชิงบุก

เล่นเกมรุก

ไม่ชอบเล่นเกมรับ

แพ้หรือชนะไม่เป็นไร

แต่ถ้าจะแพ้ก็ขอให้ได้บุก ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ

เป็นการแพ้แบบไม่คาใจ

น้องก็พยักหน้างงๆ นิดนึง

เพราะมันไม่น่าจะเรียกว่า “ท่าไม้ตาย”

ผมก็ว่าอย่างนั้นเหมือนกัน 555

 

กลับมานั่งทบทวนคำถามเรื่องนี้อีกครั้ง

นึกดูว่าตัวเราเองมี “ท่าไม้ตาย” อะไรในการทำงาน

ย้อนอดีตไปถึงตอนที่เป็นผู้จัดการสำนักพิมพ์มติชน ผู้จัดการศูนย์ข้อมูลมติชน บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน และอื่นๆ อีกมากมาย

ทุกครั้งที่เริ่มต้นทำงาน ผมมีกระบวนท่าอะไรที่ใช้เป็นประจำ

นึกไม่ออก

นึกได้อย่างเดียวว่า ผมมักตั้งคำถามตอนไปทำงานที่ได้รับมอบหมายว่า “จุดแข็ง” ของเราอยู่ที่ไหน

แล้วใช้ความเป็น “เป็ด” ของเราให้เป็นประโยชน์

ถ้าอยู่กับ “นก” เราจะว่ายน้ำโชว์

อยู่กับ “ปลา” เราจะเดินบนบก

อยู่กับ “หมา” เราจะบิน

เลือกใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์

อย่างตอนที่ทำสำนักพิมพ์มติชน ผมมีพี่สุพจน์ แจ้งเร็ว ช่วยดูเรื่อง “ต้นฉบับ”

มี “น้ายงค์” ประยงค์ คงเมือง ดูเรื่องต้นฉบับ

ผมก็ใช้ “จุดแข็ง” เรื่องการตลาดมาใช้กับสำนักพิมพ์มติชน

ทั้งเรื่องการขยายกลุ่มเป้าหมายไปสู่คนรุ่นใหม่

หรือการจัดงานแฮปปี้ บุ๊กเดย์ ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ในต่างจังหวัดเพื่อระบายหนังสือเก่าในสโตร์

หรือตอนย้ายจาก “ประชาชาติธุรกิจ” ไปเป็นบรรณาธิการบริหารมติชนรายวัน

อยู่ที่ “ประชาชาติธุรกิจ” ผมเป็นคนดูแลเรื่องสกู๊ป “การเมือง”

แต่พอลงไป “มติชน”

จุดแข็งเรื่องการเมืองของผมกลายเป็นเด็กไปเลย

เรื่องเศรษฐกิจ พี่แต่ละคนก็เป็นระดับ “อาจารย์” ทั้งนั้น

ที่สำคัญมี “อู” สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร และ “พี่ตึก” สุชาติ ศรีสุวรรณ ที่ทำมติชนมานานเป็นบรรณาธิการข่าว และบรรณาธิการใหญ่อยู่แล้ว

ผมก็เลือกสนามใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

คือ การทำมติชนฉบับวันอาทิตย์ให้กลายเป็น “แม็กกาซีน”

ตอนนั้นหนังสือพิมพ์รายวัน ยอดขายที่ต่ำที่สุด คือ ฉบับวันอาทิตย์

ผมจึงลองทำเซ็กชั่นใหม่ขึ้นมาในฉบับวันอาทิตย์

อาศัย “จุดแข็ง” ที่รู้จักนักเขียนจำนวนมากตอนทำสำนักพิมพ์มติชน

และตั้งคำถามว่าทำไมหนังสือพิมพ์จึงไม่มีคอลัมนิสต์คนนอก เหมือนนิตยสารทั่วไป

นั่นคือที่มาของคอลัมน์ “คุยกับประภาส” กับ “ประภาส ชลศรานนท์” และนักเขียนดังๆ ในยุคนั้น

ศุ บุญเลี้ยง ‘ปราย พันแสง บินหลา สันกาลาคีรี อริณธรณ์ บัวไร ฯลฯ

ได้ทั้งกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ในยุคนั้น

ได้ “ยอดขาย”

และได้ “ต้นฉบับ” ให้สำนักพิมพ์มติชนที่ผมดูแลอยู่

 

หรือตอนมาทำหลักสูตร ABC กับ “โจ้” ธนา เธียรอัจฉริยะ

“โจ้” เป็นสุดยอดนักการตลาด ที่มีไอเดียใหม่ๆ เยอะมาก

แค่การคิดว่า ABC คือหลักสูตรที่ผสมผสานระหว่างสมองซีกซ้ายและซีกขวา

ก็ถือว่าเป็น “บิ๊กไอเดีย” แล้ว

ส่วนผมก็เลือกใช้ “จุดแข็ง” เรื่องการเล่าเรื่อง และการเก็บรายละเอียดมาใช้

ประสบการณ์หนึ่งตอนเป็นนักข่าวของผมคือ เรื่องการเก็บ “รายละเอียด”

โดยเฉพาะตอนที่เขียนคอลัมน์ X คลูซีฟ ใน “มติชนสุดสัปดาห์”

เวลาทีมมติชนไปสัมภาษณ์หรือนั่งกินข้าวกับ “ผู้ใหญ่” ในแวดวงการเมืองหรือธุรกิจ

ทีมที่ไปจะมีทั้งมติชนรายวัน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ

และผมที่ต้องเอามาเขียนคอลัมน์ในมติชนสุดสัปดาห์

ทุกฉบับเอาเนื้อหาในการสนทนามาลงตีพิมพ์ก่อน “X คลูซีฟ”

สถานการณ์บังคับให้ผมต้องมองหา “รายละเอียด” อื่นที่นักข่าวคนอื่นไม่ได้สังเกตหรือไม่ได้เอาไปใช้

เช่น ภาษาท่าทาง อาหารที่กิน ปฏิกิริยาเวลาเจอคำถาม ฯลฯ

ทำไปบ่อยๆ ก็กลายเป็น “จุดแข็ง” ของตัวเอง

และเอาไปใช้ในการทำงานอื่นๆ

ตอนทำ ABC ผมก็นำเรื่องนี้มาใช้ เก็บรายละเอียดเล็กๆ ให้เกิดความรู้สึก “ว้าว”

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร ห้องน้ำ

หรือวันแรกที่ไปเรียน ต้องทำให้คนเรียนประทับใจให้ได้

อีกเรื่องหนึ่งที่เอามาใช้ คือ “การเล่าเรื่อง”

คนส่วนใหญ่ชอบคิดว่าการเรียนหลักสูตรต่างๆ คือ การฟังวิทยากรและปาร์ตี้หลังเลิกเรียน

ถ้าคิดแบบนี้หลักสูตรก็จะดำเนินไปอย่างหนึ่ง

แต่ถ้าเราคิดใหม่ว่าหลักสูตร ABC คือ ประสบการณ์การเดินทางร่วมกัน

ทุกอย่างจะเป็นองค์ประกอบของการเดินทาง

การเล่าเรื่องจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง

จะมีทุกอารมณ์ในหลักสูตร

และจบด้วยความประทับใจ

 

ครับ หลังจากทบทวนประสบการณ์ทั้งหมดแล้ว

ผมก็สรุปได้ว่า “ท่าไม้ตาย” ของผม

คือ ไร้กระบวนท่า

มั่วๆ แล้วก็ดีเอง 555 •

 

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ | หนุ่มเมืองจันท์

www.facebook.com/boycitychanFC