สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ตามไปดูครูเขมร วิชามนุษย์ (5)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญตลอดช่วงบ่ายวันนั้นไม่ใช่เพียงทำหน้าที่ต้อนรับแขกผู้มาเยือนเท่านั้น แต่กลายเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การศึกษา หารือความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ เพื่อทำให้การศึกษาของทั้งสองประเทศก้าวหน้ามีคุณภาพต่อไปอย่างไร

ครูกัมพูชาที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีทั้งสองคนเข้ามาแนะนำตัวกับทุกคน

“ดิฉันดีใจมากค่ะที่ได้มีโอกาสมาทำความรู้จักและแนะนำตัวกับท่านทูต รางวัลพระราชทานที่ได้รับ ทำให้เกิดความตื่นตัวของครู อาจารย์ที่นี่ ช่วยพัฒนาเด็กทำให้ผลการเรียนดีขึ้น แต่สิ่งที่ยังขาด อยากให้บริษัทต่างๆ ที่มาทำธุรกิจในกัมพูชาสนับสนุนการศึกษา”

“รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทำให้ครูในกลุ่มประเทศอาเซียนมีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ครูในโรงเรียนมีการแข่งขันทำให้กระตือรือร้นที่จะพัฒนาการสอน อยากได้ทุน ได้รางวัลจากต่างประเทศบ้าง เป็นทุนที่ดีมาก ทำให้ตัวเอง ครอบครัว โรงเรียนมีชื่อเสียงตามไปด้วย ทำให้ชื่อเสียงสมเด็จพระเทพฯ เป็นที่รู้จักในหมู่คนกัมพูชามากขึ้น และเป็นเกียรติอย่างมากที่มูลนิธิเดินทางไปดูโรงเรียน”

“สิ่งสำคัญที่สุดในการพัฒนาคนคือการศึกษา พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพ เพื่อไปทำหน้าที่ทำให้ระบบการศึกษาพัฒนาขึ้น” เธอย้ำหนักแน่น

“ช่วยเหลืออุปกรณ์การเรียน ช่วยฝึกอบรมครูในการใช้อุปกรณ์ใหม่ๆ โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ นักเรียนได้ปฏิบัติ จะได้พัฒนาให้ใกล้เคียงกับเพื่อนบ้าน ขอให้สานต่อโครงการให้รางวัลครูเพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ”

 

ครูโตซ บันโดล ครูรางวัลคนแรกเล่าอีกว่า ก่อนจะได้รับรางวัล ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะได้ทำเพื่อรางวัล เป็นครูมา 20 กว่าปี ต้องการสอนนักเรียนให้มีความรู้ มีความเข้าใจ เอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ต่อไป

“สอนเกิดจากใจรัก เกิดจากหัวใจสอน สิ่งสำคัญที่สุดของฉันคือ ก่อนอบรมสั่งสอนให้คนอื่นดีได้ เราเป็นครูที่ดี มีคุณภาพเสียก่อน ไปสอนให้เขาเป็นไปตามที่เราคิด ต้องหาวิธีปรับปรุงการสอนให้ดีขึ้น เวลาที่ฉันรู้ในสิ่งที่คนอื่นไม่รู้ ก็จะแบ่งปันกับคนที่เกี่ยวข้องให้ได้รู้”

“หลังได้รับรางวัล ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปเยอะ เราเป็นที่สนใจของคนที่อยู่รอบๆ คนในวงการศึกษาจับจ้องมาที่เรา ทำอะไรบ้าง เราไม่สามารถทำเหมือนก่อนได้ ต้องทำอีก 2-3 เท่าเพื่อให้เหมาะกับคนที่ได้รางวัล”

“ทำให้มีโลกทรรศน์ที่กว้างใหญ่มากขึ้น เพื่อนครูมาจากต่างบ้านต่างเมือง มีวิธีการแตกต่างกัน ได้เรียนรู้ ได้ติดต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้”

 

ขณะที่ ครูดี โสพร จากจังหวัดกำปงชะนัง ครูรางวัลคนที่สอง บอกว่า ก่อนได้รางวัลมีประสบการณ์ 21 ปี การศึกษาอบรมนักเรียนไม่ใช่เรื่องง่าย ตัวครูเองต้องเป็นครูที่ดีก่อน มีนิสัยพฤติกรรมที่ดี การติดต่อประสานงาน การรักษาความสัมพันธ์กับครูในโรงเรียนกับครูอื่นๆ ทำให้นักเรียนดีขึ้น เกรดสูงขึ้น ต้องมีแนวทางแผนการชัดเจนที่ดีเป็นของเรา โดยเฉพาะการคิดสร้างสรรค์ เครื่องมืออุปกรณ์การสอน คิดค้นแล้วนักเรียนใช้ได้ ราคาไม่สูงนัก ต้องรู้จักปรับตัวอย่างไรบ้างเพื่อให้นักเรียนได้รับความรู้จากเรา”

“องค์กรต่างๆ มาดูวิธีการสอนของเรา แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันและกัน โรงเรียนเอกชนให้ไปเป็นวิทยากร แนะนำแนวทางให้ครูในโรงเรียน เราพยายามทำเต็มที่ ทำหน้าที่ของเราให้ดี ถ้าไม่ทำอะไรให้ดีขึ้นก็จะไม่เหมาะสมกับการเป็นคนที่ได้รับคัดเลือก”

การสนทนายังดำเนินไปด้วยความคึกคัก สื่อมวลชนหลายสำนักเข้ามาร่วมซักถาม ตั้งกล้องเก็บภาพดีที่สุดถ่ายทอดให้ผู้ชม ผู้อ่านในกัมพูชารับรู้กิจกรรมความเคลื่อนไหวที่สำคัญนี้

 

คุณ Poohrich sinwat ผู้จัดการแผนกพัฒนาธุรกิจและการตลาด คุณ Wittya Kreangkriwit รองประธานอาวุโสด้านธุรกิจอาหารสัตว์ บริษัทซีพีกัมพูชา หลังจบการหารือความร่วมมือส่งเสริมการศึกษากับคณะผู้บริหารมูลนิธิสมเด็จเจ้าฟ้าฯ เสร็จ เข้ามาสมทบพูดคุยด้วยการกล่าวชื่นชมครูทั้งสอง โรงเรียนของครูนักเรียนเยอะ 6,000 คน ครู 100 กว่าคน โรงเรียนมีวิสัยทัศน์ชัดเจน ครูมีคุณภาพ มีกระบวนการเรียนการสอนที่ดี

ก่อนตั้งคำถามตาม “คุณครูมีเทคนิคการสอนอย่างไร ที่จะพัฒนานักเรียนที่มีพื้นฐานต่างกันครับ”

“แบ่งนักเรียน 75 คนออกเป็น 3 กลุ่ม 1.เก่งมาก 2.ปานกลาง เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง 3.เรียนไม่ทัน สอนโดยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ของเรา สอนสิ่งที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรม ทำให้คนที่มองไม่เห็นภาพเกิดความเข้าใจ หลังสอน ทดสอบความรู้ ความสามารถ คำถามแบ่งเป็น 3 ระดับ ตามความรู้ของนักเรียน” ครูโตชตอบ

“ผู้ประกอบการธุรกิจ ต้องการให้ภาคการศึกษาพัฒนาอย่างไรคะ” ครูถามกลับบ้าง

ผู้แทนซีพีว่า “การเรียนการสอนของเรา ทั้งไทย กัมพูชา ประสงค์ 3 อย่างเหมือนกัน คือ วิชาการ วิชาชีพ วิชามนุษย์ แต่เวลานี้เน้นไปที่วิชาการเพื่อประกอบอาชีพ วิชามนุษย์เสียอีกต้องเน้นให้มาก ต้องมาก่อน ทำให้เป็นคนดี มีศีลธรรม ก่อนที่จะเก่ง เพื่อพัฒนาประเทศชาติ”

“รูปแบบการเรียนการสอน บทบาทของครูต้องเปลี่ยน เด็กต้องการแรงบันดาลใจ ไม่ใช่ถ่ายทอดความรู้อย่างเดียว ครูต้องเป็นผู้นำให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเอง ทำให้อยากเรียนรู้ตลอดเวลา ตามการเปลี่ยนแปลงของโลก ต้องสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียน สนใจคอมพิวเตอร์ กีฬา ดนตรี”

“วันนี้พบครูเป็นครั้งแรก ภาคธุรกิจคงต้องปรึกษากัน ซีพีเอฟให้ทุนนักเรียน นักศึกษาปริญญาตรีไปเรียนต่อ บริษัทมีสาขาที่เสียมเรียบด้วย ต้องคุยสอบถามความต้องการครูก่อน การส่งเสริมการศึกษาสอดคล้องกับนโยบายของบริษัทซีพี ที่มุ่งประโยชน์ 3 ระดับ ประโยชน์ประเทศ ประโยชน์ประชาชน ก่อนถึงประโยชน์บริษัท การสร้างทรัพยากรมนุษย์เป็นประโยชน์มาก วันข้างหน้าประเทศจะเป็นอย่างไร มาจากเด็กที่เป็นอยู่วันนี้”

 

ก่อนปิดท้ายการสนทนา ดร.กฤษณพงศ์ ประธานมูลนิธิกล่าวสรุป “สถานการณ์แต่ละประเทศ ปัญหาการศึกษาต่างกัน การคัดเลือกครูให้แต่ละประเทศตัดสินจะดีกว่า ครูประเภทไหนควรได้รับรางวัล แต่ไม่ว่าครูประเทศไหน มีลักษณะเหมือนกัน เสียสละ ทุ่มเท มีความผูกพัน สอนวิชาความเป็นมนุษย์ ไม่ได้สอนแต่วิชาการ วิชาชีพ”

เสร็จสิ้นภารกิจครูสองท่านเล่าถึงถึงระบบการศึกษา การผลิตและพัฒนาครูในกัมพูชาว่า “การศึกษาของกัมพูชาชั้นประถม 6 ปี มัธยมต้น 3 ปี มัธยมปลาย 3 ปี ด้านอาชีวะ เทคนิค 2 ปี 1 ปีก็มี ระบบการผลิตครูประถม 2 ปีได้ประกาศนียบัตร ครูมัธยม 4 ปี ได้ดีกรี เป็นครูสาขาวิชา (Subject teacher) ระดับปริญญาตรี โท มีมหาวิทยาลัยครูที่พนมเปญและทุกจังหวัดจะมี PVTC (Provincial Training Center) เพื่อพัฒนาครู จบสาขาครูประถมจะหางานง่ายทั้งรัฐบาลและเอกชน ประกาศนียบัตรคือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเลย”

นอกจากมหาวิทยาลัยด้านการศึกษาที่ผลิตครูแล้ว ยังมีมหาวิทยาลัยเฉพาะทางอื่นๆ อีกหลายแห่งทั้งในพนมเปญและจังหวัดใหญ่ๆ ได้แก่ Royal University of Administration, Royal University of Laws and Economics, BBU University, Phnom Penh Center University, National Institute of Education, Royal University of Fine Art

“นักเรียนชั้นประถมจะสอนเขียนเลขเขมร ๑ ๒ ๓ ๔ ๕-๙ พอขึ้นชั้นมัธยมถึงสอนเขียนเลขอารบิก 1 2 3 4 5” เธอเล่าทิ้งท้ายถึงการสอนเขียนเลขในกัมพูชา สอนเขียนเลขตัวอักษรเขมรตั้งแต่ระดับประถมเพื่อให้เด็กได้จดจำตั้งแต่เล็ก โตขึ้นค่อยเขียนเลขอารบิก

ปรากฏว่ายิ่งโตขึ้นยิ่งไม่ค่อยเขียนเลขเขมรแต่เขียนเลขอารบิกเป็นส่วนใหญ่ เหมือนเด็กไทยเช่นกัน