วิรัตน์ แสงทองคำ : “ตุลาคม” กับสังคมธุรกิจไทย (4)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ความเป็นไปช่วงสำคัญเมื่อกว่า 4 ทศวรรษที่แล้ว กับพลังต่อเนื่องมาอีกช่วงหนึ่ง ในมิติว่าด้วยแรงปะทะจากโลกภายนอก สู่การปรับโฉมหน้าธุรกิจสำคัญๆ ในสังคมไทย

จากยุคสงครามเวียดนาม คาบเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญในสังคมไทย กรณี 14 ตุลาคม 2516 กับ 6 ตุลาคม 2519 และการต่อสู้กับอิทธิพลคอมมิวนิสต์ จนกระทั่งถึง “ทฤษฎีโดมิโน” ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในสังคมธุรกิจไทย

ฉากหนึ่งที่ดูตื่นเต้นเป็นพิเศษ คือกรณีเครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี กับธนาคารไทยพาณิชย์ ภายใต้การดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งบริษัทปูนซิเมนต์ไทย (ชื่อทางการ ที่เรียกกันในเวลานั้น) และธนาคารไทยพาณิชย์ ถือเป็นพลังใหม่ที่เสริมกัน เริ่มต้นเกิดขึ้นในช่วงสังคมไทยเผชิญวิกฤตการณ์รอบด้าน ทั้งปลายสงครามเวียดนาม ท่ามกลางทฤษฎีโดมิโน วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง เริ่มต้นมาจากวิกฤตการณ์น้ำมัน (OIL SHOCK) เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2514

“ในปี 2515 นับเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงานของบริษัทปูนซิเมนต์ไทยและบริษัทอื่นๆ ในเครือข่ายครั้งใหญ่ กล่าวคือ ก่อนหน้านั้นแต่ละบริษัทต่างดำเนินกิจการของตนอย่างอิสระ โดยมีคณะกรรมการควบคุมดูแลการบริหารงานของตนเอง รวมทั้งวางนโยบายและกำหนดเป้าหมายกันเองทั้งสิ้น ซึ่งคณะกรรมการของบริษัทปูนซิเมนต์ไทยพิจารณาเห็นว่าลักษณะดังกล่าว มีหลายอย่างที่ทำงานซ้ำซ้อน และประสานงานกันได้ยาก ควรที่ปรับปรุงการบริหารให้คล่องตัวยิ่งขึ้น โดยรวมศูนย์การบริหารงานและควบคุมไว้ ณ ที่เดียวกัน แล้วกระจายการปฏิบัติงานออกไปตามสายงานของแต่ละบริษัท นอกจากนี้ ยังมีความจำเป็นที่จะต้องวางแผนระยะยาวร่วมกัน เพื่อให้ทุกกิจการจะได้ดำเนินธุรกิจของตนให้สอดคล้องซึ่งกันและกัน เพื่อสนองเจตนารมณ์ดังกล่าวจึงได้จัดรูปการบริหารของกลุ่มบริษัทเครือซิเมนต์ไทยขึ้นใหม่ โดยมีบริษัทปูนซิเมนต์ไทย เป็นบริษัทแม่” (จากหนังสือปูนซิเมนต์ไทย 2456-2526 หนังสือครบรอบ 60 ปี จัดทำโดยบริษัทปูนซิเมนต์ไทย)

นั่นคือ บทสรุปการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งสำคัญครั้งแรกของกิจการซึ่งก่อตั้งมาแล้วถึง 60 ปี

 

ในอีกแง่หนึ่งการปรับโครงสร้างข้างต้น เป็นการเตรียมพร้อมกับโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ กับแผนการที่ใหญ่กว่าเดิม ต่อเนื่องจากช่วงปูนซิเมนต์ไทยก้าวเข้าสู่ยุครุ่งเรืองก่อนหน้านั้น

แผนการขยายกิจการสำคัญครั้งแรกในช่วงต้นยุคสงครามเวียดนาม ด้วยการขยายกำลังผลิตปูนซีเมนต์ เริ่มที่โรงงานท่าหลวงในปี 2500 และที่บางซื่อตั้งแต่ปี 2506 ถือเป็นการขยายกำลังการผลิตติดต่อกันถึง 5 ครั้งภายในทศวรรษเดียว

รวมทั้งมีการสร้างโรงงานแห่งใหม่ในภาคใต้ที่ทุ่งสง (2505) ในเวลาเดียวกันได้เริ่มต้นอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างจริงจัง ผลิตกระเบื้องมุงหลังคาในนามบริษัทกระเบื้องกระดาษไทย (2494) ก่อตั้งบริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง (2495) ผลิตคอนกรีตสำเร็จ

เมื่อมีสินค้าหลากหลายมากขึ้น จึงจัดตั้งบริษัทจัดจำหน่ายสินค้าอย่างเป็นระบบครั้งแรกในปี 2505–บริษัทค้าวัตถุก่อสร้าง จนถึงการจัดตั้งบริษัทเหล็กสยาม ในปี 2509

ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญในประวัติศาสตร์ การปรับโครงสร้างการบริหารเครือซิเมนต์ไทย (ปัจจุบันคือ เอสซีจี) ในเวลานั้น เชื่อมโยงกับภาพรวม

นั่นคือ ความพยายามก้าวผ่านยุคเดนมาร์กซึ่งบริหารกิจการโรงงานซีเมนต์แห่งแรกของไทยมาอย่างยาวนานถึง 6 ทศวรรษ ไปสู่การบริหารโดยคนไทยเต็มรูปแบบ

กับความพยายามในการแสวงหาทีมงานใหม่ครั้งใหญ่เกิดขึ้นในตอนนั้น จนต่อมากลายเป็นศูนย์รวมมืออาชีพรุ่นแรกของสังคมธุรกิจไทย

 

ในเวลาใกล้เคียงกัน มีการปรับโครงสร้างการบริหารขึ้นที่ธนาคารไทยพาณิชย์ด้วย ผู้บริหารคนใหม่มาจากธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2516 พร้อมๆ กับธนาคารไทยพาณิชย์ได้เพิ่มทุนครั้งใหญ่ หลังจากไม่เคยเพิ่มทุนมาก่อนหลายทศวรรษ จาก 3.3 ล้านบาทเป็น 40 ล้านบาท เพื่อเตรียมพร้อมกับโอกาสธุรกิจที่เปิดกว้างอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

จากนั้นต่อมาในช่วงปี 2518-2519 มีการเสริมทีมงานอีกครั้ง โดยเฉพาะกรณี ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เข้ามาดูแลงานฝ่ายต่างประเทศ ในฐานะมีประสบการณ์จากธนาคารต่างประเทศ (First National City Development หรือ Citibank ในปัจจุบัน) และ ชฎา วัฒนศิริธรรม เจ้าหน้าที่ระดับสูงธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาอีกคน บุกเบิกงานด้านวิจัยและวางแผน

จากนั้นธนาคารไทยพาณิชย์ได้ก้าวสู่บทบาทใหม่ ซึ่งบางช่วงมีความโลดโผนอย่างยิ่ง

ไม่น่าเชื่อว่า เครือซิเมนต์ไทยและไทยพาณิชย์ กับการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ภายใต้โอกาสเปิดกว้างแทบไม่มีสะดุด ได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจอย่างยิ่ง

 

สงครามเวียดนาม เป็นชื่อที่เรียกกันว่าเป็น “สงครามตัวแทน” ในสมัย “สงครามเย็น” เกิดขึ้นในภูมิภาค ทั้งในประเทศ เวียดนาม ลาว และ กัมพูชา ตั้งแต่ราวปี 2498 ได้ดำเนินมาถึงช่วงสำคัญ ซึ่งความจริงเค้าลางเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นแล้ว ในที่สุดเมื่อต้นปี 2518 กรุงไซ่ง่อน เมืองหลวงของเวียดนามใต้ ฐานสำคัญของกองทัพสหรัฐก็แตก ตกอยู่ภายใต้อำนาจคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือ ถือเป็นช่วงสิ้นสุดของสงครามเวียดนามก็ว่าได้

ผลพวงครั้งนั้น ได้แผ่ขยายมาถึงประเทศลาว ในปลายปี 2518 เมื่อสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวสถาปนาขึ้น ภายใต้การนำของขบวนการคอมมิวนิสต์ลาว ขณะที่ประเทศกัมพูชา ซึ่งอยู่ในสภาวะสงครามอย่างต่อเนื่องมายาวนาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อชายแดนตะวันออกของไทยมากพอสมควร ได้เข้าสู่ช่วงสำคัญเช่นกัน มีการโค่นล้มรัฐบาลสาธารณรัฐเขมรของนายพลลอนนอล โดยพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา หรือเขมรแดงในปี 2519 และอีก 3 ปีต่อมา (2522) มีการล้มล้างรัฐบาลเขมรแดง โดยกลุ่มคอมมิวนิสต์อีกกลุ่มหนึ่ง อ้างกันว่ามีเวียดนามและสหภาพโซเวียตเป็นพันธมิตร

สังคมไทยเผชิญวิกฤตการณ์บ้างเช่นกัน อันเนื่องจากการปะทุเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางสังคมครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์

ขบวนการต่อสู้โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ จำนวนนับหมื่นคน ได้เดินทางเข้าเขตป่าเขาในชนบท เข้าร่วมกับขบวนการคอมมิวนิสต์ไทย ซึ่งมีบทบาทคุกคามรัฐไทยไม่น้อย ในช่วงเวลานั้นประมาณครึ่งทศวรรษ ท่ามกลางกระแสว่าด้วยทฤษฎีโดมิโน ซึ่งเชื่อว่ากันว่าประเทศไทยเป็นเป้าหมายต่อไป ในปรากฏการณ์ที่เชื่อกันว่า ต่อเนื่องมาจากกรณี เวียดนาม ลาว และกัมพูชา

สู่ภาพย่อย ซึ่งมีมิติแตกต่าง คือการพัฒนาอันน่าทึ่งของเอสซีจี เกิดขึ้นอย่างเงียบๆ สะท้อนอีกมิติในเชิงธุรกิจ ว่าด้วยการปรับตัวเข้ากับโอกาสใหม่ ซึ่งเชื่อมโยงกับยุคสงครามเวียดนาม และอิทธิพลสหรัฐอย่างแยกไม่ออก

 

ในช่วงปี 2505-2515 ถือเป็นทศวรรษการขยายตัวทางธุรกิจครั้งใหญ่ครั้งแรกอย่างแท้จริง เอสซีจีเติบโตครั้งใหญ่ ทั้งขยายกำลังการผลิตปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นหลายเท่า และสามารถก้าวเข้าสู่ธุรกิจข้างเคียงอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ มีความเชื่อมโยงโดยตรง กับช่วงเวลาเอสซีจีมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับแหล่งเงินทุนจากสหรัฐ เป็นปรากฏการณ์ต่อเนื่อง (ในที่นี้จะขอกล่าวอย่างสรุป ทั้งนี้ เคยนำเสนอเรื่องราวเหล่านั้นอย่างละเอียดมาแล้ว ในข้อเขียนชุด ศตวรรษเอสซีจี ในมติชนสุดสัปดาห์ช่วงปี 2555)

การปรับตัวไปสู่ความสัมพันธ์ใหม่ เริ่มต้นจากกรณีกู้เงินดอลลาร์สหรัฐ ครั้งแรกจาก EXIM Bank (2498) American Overseas Finance Company (AOFC) New York (2502) และ Chase Manhattan Bank, New York (2507) จนกระทั่งถึงกรณีกู้เงินครั้งประวัติศาสตร์จาก IFC ในปี 2512 (หากสนใจรายละเอียด โปรดกลับไปอ่านข้อเขียนที่อ้างถึงข้างต้น)

ว่าไปแล้วการขยายตัวทางธุรกิจครั้งใหญ่ เป็นไปตามแนวโน้มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในระดับภูมิภาค ซึ่งมีการลงทุนขยายกิจการครั้งใหญ่เช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศเป็นหลัก

 

ดังที่กล่าวมาแล้วตอนก่อนๆ รัฐบาลไทยอยู่ภายใต้โครงการพัฒนาประเทศขนานใหญ่ สร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน การสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า การสร้างโครงข่ายการคมนาคม การตัดถนนหลวงเชื่อมโยงไปยังภูมิภาค การสร้างสนามบิน การสร้างท่าเรือน้ำลึก

โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ดังกล่าว ต้องการปูนซีเมนต์เป็นจำนวนมาก เอสซีจีย่อมได้ประโยชน์โดยตรง ในฐานะเป็นผู้ผูกขาดการผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศไทย

มีบางตัวอย่างขอยกขึ้นอ้างอิง เช่น ปี 2495 เอสซีจีขายปูนซีเมนต์ให้โครงการทำเขื่อนเจ้าพระยา ตามแผนการในโครงการเจ้าพระยาใหญ่ ปี 2499 ขายปูนซีเมนต์ให้โครงการสร้างสนามบินตาคลี ของกองทัพสหรัฐ และปี 2500 ได้ส่งขายให้โครงการสร้างทางหลวงแผ่นดินที่เชียงใหม่ เป็นต้น

ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทย ด้วยแรงกระตุ้นจากยุคต้นสงครามเวียดนาม มีพลังอย่างเหลือเชื่อ โดยเฉพาะจากการสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างขนานใหญ่

ไม่ว่าว่าเอสซีจีจะขยายกำลังการผลิตมากมายเพียงใด ก็ไม่สามารถตอบสนองความต้องการอย่างเพียงพอ

ดังกรณีการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าขึ้นครั้งแรกในประเทศ เป็นทั้งตำนานและดัชนีว่าด้วยการพัฒนาแบบสมัยใหม่ และเป็นโมเดลยึดมั่นอย่างมั่นคงในช่วง 2 ทศวรรษต่อมา จากกรณีเขื่อนภูมิพล ซึ่งสร้างเสร็จปี 2507 (ตามมาด้วย เขื่อนอุบลรัตน์ 2508 เขื่อนจุฬาภรณ์ 2513 เขื่อนสิรินธร 2514 เขื่อนสิริกิติ์ 2515)

จนต้องมีการลงทุนสร้างโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ขึ้นมาป้อนเป็นการเฉพาะ นั่นคือโรงงานบริษัทชลประทานซีเมนต์ ภายใต้การริเริ่มและดำเนินการโดยกรมชลประทาน เริ่มต้นผลิตได้ในปี 2502 ซึ่งยังไม่ถือว่าเป็นคู่แข่งขันของเอสซีจี จนกระทั่งบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง เกิดขึ้น โดยได้รับการอนุมัติให้ก่อสร้างและรับสัมปทานเหมืองหินปูนจากรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร ในปี 2512 และเริ่มดำเนินการผลิตซีเมนต์ครั้งแรกในปี 2515

เมื่อถึงเวลานั้น เอสซีจีสามารถปรับตัว มีความพร้อมเข้าสู่การแข่งขันแล้ว เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวหัวต่ออีกช่วงหนึ่งในยุคสงครามเวียดนามเช่นกัน