เรื่องแมวๆ ในยุคราชวงศ์ถัง ของจีน

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

มีความเชื่อโบราณของชาวจีน ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “แมว” ว่า “ถ้าแมวล้างหน้า ฝนจะตก”

แถมความเชื่อดังกล่าวนี้ก็คงจะเก่าแก่มากเลยทีเดียวนะครับ เพราะมีความเชื่อคล้ายๆ กันในแง่ของพฤติกรรมการล้างหน้าของแมวอยู่ในเอกสารในช่วงสมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ.1161-1450) ดังมีข้อความระบุว่า

“ถ้าแมวยกเท้าขึ้นเหนือหูและล้างหน้า จะมีผู้อุปถัมภ์มาเยือน”

สำหรับสังคมในสมัยโบราณ โดยเฉพาะสังคมเกษตรกรรมนั้น “ฝน” เป็นสัญลักษณ์ของ “ความอุดมสมบูรณ์” และความอุดมสมบูรณ์ก็คือ “ลาภ” อันแสนจะประเสริฐ (ในกรณีของหนังสือเก่าเล่มนี้ก็คือ ลาภที่ผู้อุปภัมภ์จะนำมาให้) ดังนั้น สำหรับชาวจีนเมื่อครั้งกระโน้น การล้างหน้าของอะไรที่เรียกกันว่าเจ้าแมวเหมียวนี้ จึงเป็นสัญลักษณ์ของโชคลาภนั่นเอง

ที่สำคัญก็คือ หนังสือเก่าสมัยราชวงศ์ถังที่ผมว่านี้คือ “โหย่วหยางจ๋าจู่” หรือ “เรื่องเบ็ดเตล็ดเกี่ยวกับเมืองโหย่วหยาง” ที่รวบรวมขึ้นในช่วงปลายราชวงศ์ถังของจีนโดยนักเขียนที่ชื่อ ต้วนเฉิงซี (พ.ศ.1346-1406) ซึ่งเป็นหนังสือที่น่าจะแพร่หลายอยู่พอสมควร เพราะในหนังสือเล่มเดียวกันนี้เอง ก็ได้บันทึกนิทานชื่อดังเรื่องหนึ่งเอาไว้ คือเรื่องของหญิงสาวที่ชื่อว่า “เย่เสี้ยน” ที่เรื่องราวของเธอถูกส่งทอดไปในโลกยุโรป รายละเอียดของเรื่องถูกเปลี่ยนแปลงไปตามความแตกต่างทางสังคมวัฒนธรรม แล้วเปลี่ยนชื่อนางเอกเสียใหม่ว่า “ซินเดอเรลลา”

มีงานวิจัยระบุว่า หนังสือโหย่วหยางจ๋าจู่ เป็นหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ของนิทานเรื่อง “นางซิน” การที่จักรวรรดิต้าถังแห่งจีน เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจการค้าและความเจริญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกยุคนั้น คงทำให้นิทานเรื่องนี้แพร่หลายไปยังวัฒนธรรมอื่นได้ไม่ยากนัก

และพร้อมกับที่เรื่องของนางเย่เสี้ยน แพร่หลายไปในโลกตะวันตกแล้วกลายเป็นซินเดอเรลลา (ที่มีมากมายหลายสำนวนในยุโรป แถมยังมีชื่อนางเอกของเรื่องที่แตกต่างกันออกไป) โชคลางเรื่องการล้างหน้าของแมว อย่างที่มีระบุอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ก็แพร่กระจายข้ามน่านน้ำทะเลออกไปยังเกาะญี่ปุ่น แล้วกลายเป็น “แมวกวักนำโชค” ที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า “มาเนกิ-เนโกะ”

 

“แมว” นั้นไม่ใช่สัตว์พื้นถิ่นที่มีมาแต่เดิมในดินแดนที่เป็นเกาะอย่างญี่ปุ่นเองหรอกนะครับ

แถมชาวญี่ปุ่นโบราณยังทราบดีว่า แมวในญี่ปุ่นนั้นมาพร้อมกับ “เรือสินค้า” ที่มาจากจีน ซึ่งญี่ปุ่นเรียกว่าแคว้นถัง โดยนำชื่อมาจากราชวงศ์ถัง

ดังนั้น ในเอกสารญี่ปุ่นโบราณจึงมักจะเรียกว่า “แมวถัง” หมายถึง แมวที่มาจากต้าถัง คือจีน ดังนั้น ถ้าความเชื่อเกี่ยวกับโชคลาภที่มีอยู่ในจีนจะแพร่เข้ามาในญี่ปุ่น พร้อมกับเจ้าพวกแมวเหมียวด้วย ก็ไม่เห็นจะแปลก

แต่ชาวจีนโบราณก็ไม่คิดว่า เจ้าเหมียวพวกนี้เป็นสัตว์ที่มีอยู่ในท้องถิ่นของตัวเอง เพราะถูกนำเข้ามาจากที่อื่นเช่นกัน

ในหนังสือโบราณฉบับหนึ่งของจีน ที่ชื่อ “อวี้เซี่ย” (แปลว่า เศษเสี้ยวหยก) ซึ่งน่าจะเขียนขึ้นในช่วงราชวงศ์หยวน (พ.ศ.1814-1911) มีข้อความตอนหนึ่งอ้างว่า

“ประเทศจีนไม่มีแมว มันกำเนิดในเทียนจู๋ (หมายถึง ชมพูทวีป โดยเรียกตามเสียงคำว่า ฮินดู ในภาษาเปอร์เซีย หรือสินธุ ในภาษาสันสกฤต ซึ่งเป็นชื่อของแม่น้ำ แหล่งวัฒนธรรมสำคัญของชมพูทวีป) ทางตะวันตก ไม่มีกลิ่นอายของจีน ศากยบุตรเลี้ยงไว้เพราะหนูมากัดพระไตรปิฎกเสียหาย เมื่อพระภิกษุเสวี้ยนจัง (พระถังซำจั๋ง) เดินทางสู่ตะวันตกไปอัญเชิญพระไตรปิฎก จึงนำกลับมาเลี้ยง และสืบทอดลูกหลานนับแต่นั้น”

ข้อความที่ผมคัดมาข้างต้น ถูกนำมาใช้ในการอธิบายถึงการแพร่กระจายของเจ้าพวกแมวเหมียวเข้ามาในจีนอย่างช้านานว่า แมวถูกพระถังซำจั๋งนำกลับเข้ามาเพื่อป้องกันไม่ให้หนูกัดพระไตรปิฎก ก่อนที่จะออกลูกออกหลานแล้วไล่จับหนู โดยไม่ต้องเกี่ยวกับพระไตรปิฎกแล้ว ให้ทั่วเมืองจีน

 

แต่ว่าเพิ่งจะมีการเปิดเผยหลักฐานใหม่เมื่อ พ.ศ.2557 ว่า มีการค้นพบการเลี้ยงแมวที่แหล่งโบราณคดีหมู่บ้านเฉวียนฮู่ ในมณฑลส่านซี เมื่อประมาณ 5,500-5,300 ปีมาแล้ว เพราะได้มีการวิเคราะห์ไอโซโทปของคาร์บอน และไนโตรเจนของกระดูกแมวแล้ว พบว่า เจ้าแมวซึ่งเป็นสัตว์กินเนื้อที่หมู่บ้านยุคหินใหม่แห่งนี้ ได้เขมือบเอาธัญพืชเข้าไปเป็นจำนวนมาก

หมายความว่า มนุษย์ที่หมู่บ้านเฉวียนฮู่ ได้เลี้ยงพวกมันด้วยเมล็ดพืชเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม บรรดาแมวที่เคยถูกเลี้ยงไว้ในหมู่บ้านเฉวียนฮู่เหล่านี้ ก็ไม่ใช่สายพันธุ์แมวบ้านในปัจจุบันนี้หรอกนะครับ เพราะเจ้าเหมียวทั้งหลายที่นักโบราณคดีค้นพบนั้น เป็นพวกแมวสายพันธุ์แมวภูเขาจีน และแมวป่าเอเชียกลาง ในขณะที่แมวบ้านปัจจุบันนั้นวิวัฒนาการมาจากแมวป่าแอฟริกา หรือที่เรียกอีกอย่างว่าแมวป่าตะวันออกใกล้

ลักษณะอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า ดินแดนในปริมณฑลวัฒนธรรมจีนอันไพศาลนั้น ได้เคยมีการเลี้ยงสัตว์ในสายพันธุ์แมวมาก่อนแล้ว เพียงแต่ไม่ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ และรวมถึงมีความนิยมในการเลี้ยงอย่างต่อเนื่องมากพอจนทำให้แมวป่าเหล่านั้น กลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงนั่นเอง

 

แต่นี่ก็ไม่ใช่เหตุผลคัดง้างได้ว่า แมวถูกนำเข้ามาในจีนพร้อมกันกับพระไตรปิฎก ที่พระถังซำจั๋งไปอันเชิญมาจากชมพูทวีปจริงๆ หรือเปล่า?

อันที่จริงแล้ว เจ้าแมวป่าแอฟริกา ที่มีหน้าตาคล้ายๆ กับแมวบ้านสีสลิด แพร่กระจายออกไปยังดินแดนส่วนต่างๆ ของโลก ด้วยเรือของมนุษย์ มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์แล้ว

ในงานเขียนเรื่อง “เครื่องยาญี่ปุ่น” ในยุคเอโดะ (พ.ศ.2146-2411) ที่เขียนโดยนักวิชาการสมัยดังกล่าวที่ชื่อ ไคบาระ เอกิเดน มีข้อความระบุว่า

“ในอดีตห้องสมุดของเขตการปกครองบุซู-คานาซาวะ รับหนังสือมาจากแคว้นถัง (หมายถึงจีน) และเลี้ยงแมวถัง (หมายถึงแมวท้องถิ่นของจีน) ไว้เพื่อป้องกันหนูในเรือ จึงเรียกกันว่าแมวถังของคานาซาวะ”

ข้อความที่ผมยกมาข้างต้นแสดงให้เห็นว่า แมวถูกนำมาใช้เป็นบอดี้การ์ดป้องกันสินค้าจากพวกหนู ในยุคที่มีการค้าข้ามสมุทร แต่ในยุคก่อนหน้านั้น พวกมันถูกใช้เฝ้าผลิตผลทางการเกษตรที่อยู่บนเรือเช่นกัน

และในเมื่อจีนเป็นแหล่งวัฒนธรรมใหญ่ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกมาอย่างเนิ่นนาน ก็ควรที่จะมีเรือ พร้อมกับแมวบนเรือผ่านเข้าเยี่ยมเยือนตั้งแต่ก่อนยุคของพระถังซำจั๋งไม่ใช่หรือครับ?

 

เอาเข้าจริงแล้ว การที่ชาวจีนเอาเรื่องราวของ “แมว” ไปผูกเข้ากับพระภิกษุรูปดังอย่าง “พระถังซำจั๋ง” และการอัญเชิญพระไตรปิฎกจากชมพูทวีปเข้ามาในจีนต่างหากที่น่าสนใจ

เพราะนั่นย่อมหมายถึงสถานภาพของ “แมว” ที่เกี่ยวข้องกับ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งก็ย่อมไม่แปลกที่จะทำให้เรื่องของแมว ถูกนำไปโยงกับโชคลาภต่างๆ ดังที่กล่าวถึงในข้อเขียนชิ้นนี้มาตั้งแต่ย่อหน้าแรกๆ

และความจริงแล้ว ในพงศาวดารราชวงศ์ถังฉบับเก่าที่ชื่อ “จิ่วถังซู” ที่เรียบเรียงขึ้นในราชวงศ์จิ้นยุคหลัง (พ.ศ.1479-1490) แห่งยุคห้าราชวงศ์และสิบอาณาจักรนั้น ก็ได้อ้างว่า ในทุกสิ้นปีเมื่อทำนาเสร็จแล้ว ฮ่องเต้ราชวงศ์ถังจะต้องจัดพิธีเซ่นไหว้เทพเจ้า 100 องค์ ในเขตชานเมืองทางใต้ของเมืองหลวง

หนึ่งในบรรดาเทพเจ้าทั้ง 100 องค์นั้น มี “เทพเจ้าแมว” อยู่ร่วมกันกับสัตว์ศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเสือขาว หรือมังกรเขียว

ถึงแม้อาหารที่ต้องนำมาใช้เซ่นไหว้เทพเจ้าแมวในพิธีนี้ จะเป็นอาหารชุดเล็กคือ แกะและหมูอย่างละหนึ่ง ซึ่งก็เท่าเทียมกับที่ใช้ไหว้จูโหว หรือเจ้าที่ครองแคว้น ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของแมวในสังคมจีนยุคราชวงศ์ถังได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

เอาเข้าจริงแล้ว พระถังซำจั๋งจะเป็นผู้นำแมวเข้ามาในจีนหรือเปล่าจึงไม่สำคัญนัก ที่น่าสนใจมากกว่าก็คือ ทำไมชาวจีนยุคต้าถังจึงได้ถูกนับรวมพวกแมวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ที่สามารถให้โชคลาภได้ต่างหาก? •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ