วัลลภาจารย์ : ผู้เผยหนทางแห่งความรุ่มรวยและฉ่ำหวาน (จบ)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

วัลลภาจารย์ : ผู้เผยหนทางแห่งความรุ่มรวยและฉ่ำหวาน (จบ)

 

วัลลภาจารย์เดินทางไปยังเทือกเขาฆาฏตะวันออก (The Eastern Ghats) ซึ่งในอดีตเรียกว่า “มเหนทรบรรพต” เทือกเขาที่ทอดยาวพาดผ่านเมืองสำคัญต่างๆ ในภาคใต้ของอินเดีย เช่น อันธรประเทศ เตลังคนะ

ท่ามกลางป่าไม้จันทน์หอมแห่งมเหนทรบรรพต ท่านได้พบอาศรมแห่งพระมหาฤษี “เกาณฑินยะ” (บาลีเขียน โกญฑัญญะ แต่คนละคนกับในพุทธประวัติ)

พระเกาณฑินยมุนีเป็นฤษีที่ปรากฏในตำนานต่างๆ ทั้งในปุราณะและมหาภารตะ เช่นเดียวกับฤษีเวทวยาสที่มาธวาจารย์เคยพบ ตำนานการพบกันของวัลลภาจารย์กับฤษีเกาณฑินยะอาจได้รับอิทธิพลจากชีวิตของมาธวาจารย์ ซึ่งเป็นการยืนยันว่า หลักปรัชญาที่คณาจารย์เหล่านี้เสนอมิใช่การทำลายสิ่งที่อดีตสอน แต่เป็นการปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น และยังได้การรับรองจากบูรพจารย์อีก กระนั้นเรื่องราวเหล่านี้จะจริงหรือไม่ก็คงเป็นอีกประเด็นหนึ่ง

เกาณฑินยะแนะนำให้วัลลภาจารย์ศึกษาคัมภีร์ของมหาฤษีศาลฑินยะผู้เป็นอาจารย์ตน ด้วยเหตุว่าท่านศาลฑินยะเชี่ยวชาญเรื่องพรหมวิทยาหรือเรื่องสัจธรรม ทั้งยังมุ่งเน้นเรื่องความภักดีต่อพระเจ้าด้วย ดังปรากฏว่าท่านได้ประพันธ์ “ศาลฑินยะภักติสูตร” สูตรอันว่าด้วยความภักดีในพระเจ้าซึ่งมีชื่อเสียงจวบจนปัจจุบัน

วัลลภาจารย์ศึกษากับเกาณฑินยะเพียงสั้นๆ ก็กลับสู่วิชัยนครเพื่อเยี่ยมมารดาและพี่ชาย หลังพำนักกับครอบครัวได้เพียงหนึ่งปีท่านก็ประสงค์จะเดินทางอีกครั้ง โดยครั้งนี้จะเป็นการเดินทางขึ้นไปยังภูมิภาคตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย หรือ “พรัชภูมิ” อันเป็นถิ่นฐานของพระกฤษณะตามตำนาน จากนั้นก็จะเดินทางต่อยังภาคกลางและภาคเหนือเรื่อยไปจนถึงเทือกเขาหิมาลัยอันไกลโพ้น ไปจนถึงเมืองต่างๆ ในอินเดียตะวันออก

ถือเป็นการเดินทางด้วยเท้าทั่วอินเดียอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก วัลลภาจารย์จึงใช้เวลาถึงเก้าปีในการเดินทางครั้งนี้

 

ขณะอยู่ในพรัชภูมิ ท่านได้ยินเสียงเรียกจากพระเจ้าให้สถาปนานิกายของตนเอง และในทุกๆ สถานที่ที่เกี่ยวข้องกับพระกฤษณะ วัลลภาจารย์มักมีประสบการณ์ทางจิตเกี่ยวกับพระเจ้าเสมอ

ประสบการณ์ที่สำคัญเกิดขึ้นขณะที่ท่านไปสักการะ “พระวิฐฐลา” หรือพระวิโฐพา แห่งนครปัณฑรปุระ ในแคว้นมหาราษฏร์ พระวิโฐพาผู้รักสาวกอย่างยิ่งได้บัญชาให้ท่านแต่งงานมีครอบครัว ซึ่งขณะนั้นวัลลภาจารย์ยังเป็นพรหมจารีอยู่และไม่มีความคิดเรื่องการมีคู่ครองเลย

เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ ท่านออกจากปัณฑรปุระไปยังแคว้นคุชราตและกลับไปยังพาราณสี ที่นั่นมีพราหมณ์คนหนึ่งนามว่าเทวทัตตะ ได้รับบัญชาจากพระเจ้าให้ยกลูกสาว “มหาลักษมี” แก่วัลลภาจารย์ มารดาของท่านก็ยินยอมในเรื่องนี้ วัลลภาจารย์จึงได้แต่งงานเมื่ออายุได้ยี่สิบเอ็ดปี ท่านมีบุตรสองคนได้แก่โคกุลนาถ และวิฐฐลานาถ

วิฐฐลานาถผู้เปี่ยมด้วยความรู้ความสามารถจะกลายมาเป็นผู้สืบต่อการงานของบิดา และเป็นประมุขแห่งลัทธินิกายที่บิดาตั้งขึ้นในภายหลัง

ด้วยเหตุนี้ วัลลภาจารย์จึงเป็นอาจารย์ในฝ่ายเวทานตะเพียงผู้เดียวที่ใช้ชีวิตครองเรือน ผิดกับอาจารย์ท่านอื่นๆ ที่มักเป็นสันยาสีไม่ก็ครองเพศพรหมจรรย์ตลอดชีวิต

ท่านเห็นว่าชีวิตฆราวาสเป็นชีวิตที่ดีงามและสามารถรับใช้พระเป็นเจ้าได้ไม่ต่างกับสันยาสี จึงไม่ได้เห็นว่ามีความจำเป็นจะต้องออกบวช ยิ่งในกลียุคนี้ การบวชควรจะต้องสัมพันธ์กับแนวทางแห่งความภักดี (ภักติมรรค) มากกว่าแนวทางของการสละกรรม (กรรมมรรค) ดังนั้น หากใช้ชีวิตฆราวาสด้วยความภักดีอยู่แล้ว ก็ให้ผลไม่ต่างกันแต่อย่างใด

วัลลภาจารย์กล่าวถึงเรื่องนี้ในบทประพันธ์ชื่อ “สันยาสนิรณยะ” ซึ่งเป็นหนึ่งในชุดคำประพันธ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของท่าน คือ “โษฑศครันถะ” หรือคัมภีร์ขนาดสั้นสิบหกบท ไว้ว่า

“ด้วยผลจากปัญญาญานอันบุคคลได้รับจากการสละ (ออกบวช) เขาย่อมเข้าถึงสัตยะโลกหรือพรหมโลกได้ ทว่า หากบุคคลเพ่งภาวนาปฏิบัติสาธนาถึงพระเจ้า (ด้วยความภักดี) ก็ให้ผลเช่นเดียวกัน”

ช่วงเวลาที่วัลลภาจารย์พำนักอยู่ที่โคกุล (บ้านเกิดของพระกฤษณะ) ท่านได้ค้นพบเทวรูปพระกฤษณะในปางยกภูเขาโควรรธนะ จึงตั้งพระนามว่า “พระศรีโควรรธนธรี” สวามีมาธเวนทระได้มาช่วยดูแลเรื่องการก่อสร้างเทวาลัย

ต่อมาเทวรูปองค์นี้ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “พระศรีนาถ” ได้ถูกย้ายไปยังเมืองอุทัยปุระในแคว้นราชสถาน ด้วยเกรงภัยจากต่างชาติต่างศาสนา และถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้นับถือวัลลภาจารย์จนปัจจุบัน

ครั้นกลับจากการเดินทางครั้งที่สอง วัลลภาจารย์มาพำนักกับมารดาซึ่งย้ายมาอยู่ในเมืองพาราณสีได้เพียงปีเศษ ก็ออกเดินทางอีกครั้งในเส้นทางเดิม แต่คราวนี้ท่านจะได้พบกับนักปรัชญาร่วมสมัยคือศรีไจตันยะ สาวกผู้ภักดีของพระกฤษณะแห่งแคว้นพังคละ โดยครั้งแรกพบกันที่คงคาสาครหรือจุดที่แม่น้ำคงคาลุถึงมหาสมุทร จากนั้นก็พบกันอีกที่พฤนทาวันและโคกุล

ทั้งคู่แม้จะนับถือพระกฤษณะ แต่วัลลภาจารย์มีความเป็นนักปรัชญามากกว่า ส่วนไจตันยาจารย์ดูเหมือนจะเป็นครูอาจารย์แห่งท้องถนน ผู้นำพาผู้คนเข้าสู่พระเจ้าด้วยเสียงเพลงและการเต้นรำ

ไจตันยะขับเพลงชวนผู้คนให้เข้าหาพระเจ้าอยู่ทางฝั่งตะวันออก โดยมีพังคละหรือเบงคอลเป็นที่มั่น ในขณะที่วัลลภาจารย์พร่ำสอนอยู่ฝั่งตะวันตกของอินเดีย โดยมีคุชราตและราชสถานเป็นศูนย์กลาง

แม้จะอยู่คนละฝั่งของแผ่นดิน แต่ทั้งคู่คืออาจารย์ผู้มีอิทธิพลอย่างสูงต่อการนับถือพระกฤษณะในประวัติศาสตร์ภารตประเทศ วัลลภาจารย์มีศิษย์คนสำคัญคือนักบุญสูรทาส ผู้ทำให้ปรัชญาของครูเข้าถึงชาวบ้านได้ด้วยบทกวี ส่วนไจตันยะทำให้การนับถือพระกฤษณะกลายเป็นขบวนการที่สืบต่อมาแม้ในโลกตะวันตกทุกวันนี้

 

ผลงานของวัลลภาจารย์มีไม่มากเมื่อเทียบกับนักปรัชญาคนอื่นและท่านไม่เคยเรียกตัวเองในงานว่า “อาจารย์”

ขณะที่นักปรัชญาคนอื่นมีผลงานอรรถาธิบายคัมภีร์สำคัญอย่างครบถ้วน เช่น พรหมสูตรและภควัทคีตา วัลลภาจารย์เขียนเพียงอรรถกถาสั้นๆ บางบทของพรหมสูตรในชื่อ “อนุภาสยะ”

กระนั้น ท่านกลับให้ความสำคัญแก่คัมภีร์ศรีมัทภาควัตปุราณะ ซึ่งบรรจุเทวตำนานแห่งองค์พระนารายณ์และลีลาอันน่ามหัศจรรย์ของพระกฤษณะไว้

วัลลาภาจารย์เห็นว่าภาควัตปุราณะสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอุปนิษัท ภควัทคีตาและพรหมสูตร ท่านจึงใช้เวลาในช่วงสุดท้ายของชีวิตประพันธ์อรรถกถาคัมภีร์ดังกล่าว แต่ก็ไม่แล้วเสร็จเพราะพระเจ้าทรงเรียกท่านกลับไปเฝ้ายังทิพยโลกเสียก่อน

หลายปีแห่งวัยหนุ่ม ผ่านการโต้วาทีมามากมาย ย่ำไปในแผ่นดินหลากภูมิภาค วัลลภาจารย์กลับมาใช้ชีวิตอยู่กลับครอบครัวอย่างสงบ ดูแลแม่ ภรรยาและลูกทั้งสอง ว่ากันว่าท่านมักเก็บตัว พูดน้อยลง ไม่ค่อยออกไปงานประชันขันแข่งทางปัญญา เน้นให้คำสอนและเขียนหนังสืออยู่ที่บ้าน

ไม่กี่สัปดาห์ก่อนจะสิ้นชีวิต วัลลภาจารย์ตัดสินใจออกบวชเป็นสันยาสีในนาม “ปูรณานันทะ” เป็นนิมิตหมายว่าท่านกำลังจะจากโลกนี้ไปแล้ว ภาวะแห่งนักบวชคงเหมาะสมเพียงในเวลาที่ต้องสละทุกสิ่งเช่นนี้ ท่านมอบคำสอนสุดท้ายแก่ศิษย์ แล้วดำลงในกระแสธารเชี่ยวแห่งแม่คงคา

จากนั้นร่างกายของท่านก็หายไปในสายน้ำ ขณะมีอายุได้ห้าสิบสามปี

 

ปรัชญาของวัลลภาเรียกว่า “ศุทธาไทวตะเวทานตะ” (Shuddhadvaita Vedanta) หมายถึง เวทานตะที่เน้นอทวิหรือความไม่เป็นสองอย่างแท้จริง เหตุที่มีชื่อเช่นนี้ เพราะท่านโจมตีว่าคำสอนอทวินิยมแบบศังกราจาร์ยังไม่ใช่อทวินิยมที่แท้ เนื่องด้วยศังกราจารย์ยืนยันแนวคิดเรื่องมายา ทำให้เกิดสิ่งต่างๆ ที่เป็นเพียงความลวงแยกจากสัจธรรม จึงกลายเป็นสองอย่าง

วัลลภาจารย์เห็นว่า พรหมันเท่านั้นเป็นสิ่งจริงแท้หนึ่งเดียว ซึ่งคือพระกฤษณะ พระองค์ได้ปรากฏเป็นโลกแห่งสรรพสิ่งโดยมิต้องอาศัยอำนาจที่เรียกว่ามายา และจากบางแง่มุม พระองค์ปรากฏในภาวะที่เรียกว่า “อักษรพรหมัน” แล้วแทรกซึมอยู่ภายในทุกสิ่งทุกอย่าง (อันตรยามี) ดังนั้น จักรวาลนี้และดวงชีวะทั้งหลายคือพระองค์ ทว่า ชีวะเหล่านั้นเป็นแง่มุมที่ปกปิดซ่อนไว้ (ติโรภาวะ) ของพรหมัน

วิถีปฏิบัติของวัลลภาจารย์เรียกว่า “ปุษฏิมารค” หรือหนทางแห่งความรุ่มรวย “ปุษฏิ” หมายถึงความรุ่มรวยหรือเจริญงอกงาม ในวิถีนี้แม้แต่โมกษะหรือความหลุดพ้นก็อาจไม่สำคัญเท่ากับความภักดีในพระเจ้า เพราะความภักดีเป็นทั้งเป้าหมายและหนทางในตัวเอง

กล่าวคือ เรามีชีวิตเพื่อจะแสดงความรักภักดีต่อพระเจ้า และด้วยเหตุนั้นชีวิตของเราก็รุ่มรวยงดงามไปโดยลำดับ จากจิตวิญญาณที่ยึดมั่นในหลักศีลธรรม (มารยาทชีวะ) ก็เพราะด้วยความภักดีนั่นเอง พระเจ้าจึงทรงชำระบาปกรรมของเราจนบริสุทธิ์ ไปสู่จิตวิญญานที่รุ่มรวย (ปุษฏิชีวะ) แล้วพร้อมที่จะรับใช้พระองค์อย่างใกล้ชิด

ได้ดื่มด่ำในความรักของพระเจ้าชั่วนิรันดร •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง