สตาร์ตเศรษฐกิจไทย 2566 ติดๆดับๆ ฝ่า 4 ความท้าทายใหม่ ‘ต้องก้าวให้พ้น’

ไม่ว่าจะรัฐหรือเอกชน วันนี้ต่างมองเรื่องต่างๆ ข้ามปี จากปีเสือ 2565 ข้ามไปปีกระต่าย 2566 ว่าอะไรที่ดีขึ้นหรืออะไรที่จะแย่ลง

แต่อย่างไรโดยธรรมชาติ ทุกคนย่อมมองและคาดหวัง อนาคตต้องดีกว่าอดีต เต็มไปด้วยความคาดหวัง และมุ่งหวังให้สิ่งที่กำลังเกิด จะมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในทุกมิติ

โดยเฉพาะปี 2566 หวังปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต หรือกับธุรกิจ คงไม่ต้องอดทนหรือแบกรับผลกระทบถาโถมจากการระบาดโควิด-19 มาเกือบ 3 ปี

ก่อนเข้าเดือนธันวาคม เดือนสุดท้ายของปี เห็นสัญญาณสดใสและสวยงาม แต่ปัจจุบัน สัญญาณที่บ่งชี้ไปยังปี 2566 นั้น อาจไม่สดใสมากเท่าที่คาดหวังไว้

เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงรอต้อนรับตั้งแต่เดือนแรกของปี โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายเกือบทุกด้าน ดาหน้ารอปรับขึ้น ส่งผลต่อราคาสินค้าหรือค่าบริการแพงขึ้นๆ

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

ย้อนดูทั้งปี 2565 ภาพรวมภาคธุรกิจ ทั้งธุรกิจการผลิต ธุรกิจบริการ หรือการค้าการขาย ไม่เว้นแม้ผลิตเพื่อส่งออก ส่วนใหญ่จะยังไม่ฟื้นตัวเต็มร้อย หลังจากเจอวิกฤตสะสม ตั้งแต่เชื้อโควิด-19 ระบาด ขาดรายได้แต่แบกรับหนี้สะสมเพื่อการประคองธุรกิจไม่ให้ล่ม

พอโควิด-19 แผ่วลงและมาตรการคุมเข้มการระบาดคลายตัวลงแล้ว ก็ยังมีเรื่องคงค้างและยืดเยื้ออีกหลายด้านยังไม่คลี่คลาย ทั้งสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำมันทรงตัวสูง ดอกเบี้ยขาขึ้น ฯลฯ ย่อมมีผลต่อต้นทุนการทำธุรกิจทรงตัวระดับสูงต่อเนื่อง

ต้นทุนที่ทำให้ธุรกิจร้อนรนมากสุด ในปี 2566 คือ นโยบายปรับขึ้นค่าจ้างรายวัน และการทยอยปรับค่าเอฟที ที่จะมีผลต่อราคาไฟฟ้า ตามมติสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เห็นชอบค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 แม้ตรึงไว้ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย สำหรับบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน แต่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ จะปรับขึ้นที่อัตรา 5.69 บาทต่อหน่วย

ซึ่งประเภทอื่นๆ ที่หมายถึงนี้ ก็เป็นพวกธุรกิจในทุกภาคส่วน ทั้งอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการบริการ ภาคการเกษตร-ปศุสัตว์ ประมง

โดยกลุ่มธุรกิจแรกที่มักได้รับผลกระทบก่อนเพื่อน เมื่อเกิดปัญหาอะไรก็ตาม นั่นคือ ภาคบริการ ซึ่งมีธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมอยู่ด้วย

กระทบเท่าใด “ศึกษิต สุวรรณดิษฐกุล” นายกสมาคมโรงแรมภาคใต้ ยกตัวอย่างว่า การปรับขึ้นค่าไฟฟ้า หากเป็นธุรกิจโรงแรมที่มีขนาด 200 ห้องพัก ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าถึง 4-5 แสนบาทต่อเดือน หากปรับขึ้นค่าไฟขึ้นอีกจะต้องแบกรับภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งธุรกิจโรงแรมยังมีต้นทุนด้านพลังงานอื่นๆ อีก ทั้งค่าน้ำ ค่าก๊าซ แต่เทียบสัดส่วนภาระหนักสุดจะอยู่ที่ค่าไฟ เพราะต้องใช้ทั้งเครื่องปรับอากาศ ติดไฟให้แสงสว่างทั้งในและนอกตัวอาคาร ปกติคำนวณต้นทุนจากพลังงานจะเกิน 10% ของรายได้รวมที่หักเป็นค่าใช้จ่าย พอค่าไฟฟ้าขึ้น แต่รายได้ยังไม่เท่าปี 2562 ไม่ต้องถามถึงกำไร

“ความน่าเป็นห่วงไม่ได้อยู่ที่ค่าไฟฟ้าอย่างเดียว แต่เป็นการปรับขึ้นของสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องด้วย เป็นการเร่งตัวของภาวะเงินเฟ้อในประเทศ เพราะตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เราเห็นการปรับราคาขึ้นเกือบทั้งหมดอย่างต่อเนื่อง อย่างวัตถุดิบที่ใช้ในธุรกิจ อาทิ เมล็ดกาแฟ ปรับราคาขึ้นมา 30-40% เทียบกับช่วงต้นปี ทำให้การปรับขึ้นค่าไฟฟ้า ผลกระทบไม่ได้อยู่แค่ในต้นทุนพลังงานเท่านั้น แต่เป็นราคาข้าวของอื่นๆ ที่จะปรับขึ้นตามมาด้วย เมื่อต้นทุนของธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ดีมากน้อยเท่าใด ก็เกิดความกังวลถึงความหวังที่อาจไม่ได้เป็นไปดั่งวางภาพไว้”

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

หากรวมกับ “พชรพจน์ นันทรามาศ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย (KTB) ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ว่า จีดีพีปีหน้าน่าขยายตัวที่ 3.4% สูงกว่าปี 2565 คาดว่าจะขยายตัว 3.2% แต่ก็ต่ำกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ จากแรงกดดันของเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแรงลง กระทบต่อภาคการส่งออก คาดว่ามูลค่าการส่งออกจะขยายตัวได้เพียง 1.2% เท่านั้น

เมื่อภาคลงทุน ส่งออก บริโภค ดูเหมือนจะอ่อนแอลง จึงมองโอกาสที่ภาคการท่องเที่ยว ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง หลังจากเปิดประเทศและเลิกมาตรการคุมเข้มเหมือนช่วงโควิดระบาด

ดูได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามามากขึ้น ทำให้มั่นใจนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2566 ทะลุ 21.4 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปี 2565 สนับสนุนดุลบัญชีเดินสะพัดให้กลับมาเกินดุลได้

 

จากทุกฝ่ายมองเศรษฐกิจโลกถดถอย และการบริโภคอาจไม่ดีเท่าที่คาดหวัง ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ฝากไว้กับเครื่องยนต์เดียว คือ ภาคการท่องเที่ยว

แต่ปัจจัยข้างต้น ภาพฟื้นตัวมองได้ไม่เต็มที่นัก ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญความท้าทายใหม่ จากการเปลี่ยนผ่านเชิงนโยบายสู่ภาวะปกติ (Policy Normalization) โดยเฉพาะมาตรการทางการเงิน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับค่าธรรมเนียม FIDF กลับไปที่เดิมที่ 0.46% ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 เป็นต้นไป เป็นปัจจัยที่สามารถทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับสูงขึ้นได้ถึง 0.4-0.6% ในคราวเดียว

เมื่อควบคู่ไปกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่า ณ สิ้นปี 2566 จะขึ้นไปสู่ระดับ 2.00% จึงเป็นยุคดอกเบี้ยขาขึ้นเต็มตัว ในภาวะที่ธุรกิจยังมีแรงกดดันต้นทุนจากค่าไฟ ค่าแรง และวัตถุดิบ

ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นความท้าทายสำหรับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ เพื่อช่วยประคับประคองการฟื้นตัวที่ยังไม่ทั่วถึง ในรูปแบบของ New K-shaped Economy ต่อไป

 

ทางวิชาการ ยังวิเคราะห์ปี 2566 อีกว่า จะเป็นช่วงเวลาที่ภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยง ที่เป็นผลจากการเปลี่ยนผ่านซึ่งครอบคลุมในหลายมิติ นอกจากประเด็นด้านเศรษฐกิจมหภาค ที่มีความผันผวนและไม่แน่นอนสูงแล้ว ยังต้องเตรียมพร้อมปรับตัวให้ทันกระแสโลกที่แปรเปลี่ยนไป โดยให้ความสำคัญกับ 4 เรื่อง ได้แก่

1. การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยเฉพาะด้านนโยบายใหม่ๆ อาทิ การเริ่มบังคับใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป การกำหนดมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และนโยบายของไทยที่มุ่งสู่เศรษฐกิจ BCG

2. การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลเทคโนโลยีอย่างเต็มขั้น ซึ่งทำให้การแข่งขันโดยใช้เทคโนโลยีเป็นแกนหลักจะมีความรุนแรงมากขึ้น ขณะที่ต้องบริหารความเสี่ยงด้าน Cyber security อย่างรัดกุม

3. การเปลี่ยนผ่านสู่ตลาดแรงงานที่ต้องมีการ Up & Re-skill อย่างเข้มข้นให้ตอบโจทย์โลกยุคใหม่ ตลอดจนการปรับแผนทรัพยากรบุคคลเพื่อรองรับสังคมสูงวัย

4. การเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนในทุกมิติของการดำเนินธุรกิจ ซึ่งหมายถึงการยึดหลัก ESG สอดคล้องกับแนวโน้มที่ลูกค้าและนักลงทุนต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น

ตอกย้ำความสำคัญที่การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2566 มีแนวโน้มชะลอตัว บางเขตเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย จากภาวะการเงินที่ตึงตัว ตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางทั่วโลกเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ ขณะที่ต้นทุนสินค้าต่างๆ ยืนอยู่ในระดับสูง จากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่คาดว่าจะยังดำเนินต่อไป รวมไปถึงความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ และแนวนโยบายแบ่งขั้ว (de-globalization) ระหว่างกลุ่มประเทศ NATO กับรัสเซีย และสหรัฐกับจีน

ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้การค้าโลกชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ย่อมมีผลต่ออารมณ์ อยากกิน อยากเที่ยว หายไปด้วย แม้รัฐบาลจะเคาะมาตรการกระตุ้นผ่าน เราเที่ยวด้วยกัน หรือช้อปดีมีคืน หรือมาตรการประชานิยมใดๆ แต่หากคนยังกังวลรายได้ต่ำแต่หนี้สินเพิ่ม จะกัดกร่อนความรู้สึก กระตุ้นอะไรอาจไร้ผล

กับความหวังเครื่องยนต์หลัก ภาคท่องเที่ยว กับเป้าหมายรายได้กว่า 2.4 ล้านล้านบาท ก็น่าจะหืดขึ้นคอ!!