จัตวา กลิ่นสุนทร : คิดถึง ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช (22)

เป็นเศษเสี้ยวส่วนหนึ่งของสังคมคนชรา หรือผู้สูงอายุ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีเรื่องเก่าๆ แต่หนหลังที่ได้เคยสัมผัส หรือจะเรียกว่าประสบการณ์ตรงมาบอกกล่าวเล่าขานกันเสมอๆ

โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องของอาจารย์คึกฤทธิ์ ซึ่งได้ฝากตัวเป็นศิษย์นอกห้องเรียนตั้งแต่ก่อนจะได้ย่างเหยียบเข้าไปทำงานกับ “หนังสือพิมพ์สยามรัฐ” ของท่าน

เมื่อได้เข้าไปร่วมงานก็เกิดความรักความศรัทธาในความสามารถรอบรู้ระดับปราชญ์ของแผ่นดิน เป็นอาจารย์ของคนทั้งประเทศ และเป็นเสี้ยนหนามของ “เผด็จการทหาร”

แต่เป็นผู้ที่จงรักภักดีต่อ “สถาบันพระมหากษัตริย์” ยิ่งชีวิต

 

อาจารย์คึกฤทธิ์ นอกจากจะเป็นนักการเมืองระดับ (อดีต) “นายกรัฐมนตรี” (คนที่ 13) และปฏิบัติงานหลายอย่างหลังจากว่างเว้นจากการเมืองสมัยแรกๆ ท่านทำงานธนาคาร และอื่นๆ เป็นอาจารย์สอนนิสิต นักศึกษาทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รวมทั้งไม่เคยเว้นว่างที่จะรับเชิญไปเป็นผู้บรรยายให้ความรู้ตามสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ องค์กรต่างๆ ทั้งเอกชน และราชการ

แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยหยุดทำเลย คือการเขียนหนังสือ ทั้งคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ก็ยังเขียนเรื่องสั้น เรื่องยาวตามที่ได้ทิ้งผลงานไว้มากมายดังที่ปรากฏบนแผ่นดินนี้

สำหรับคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐนั้น หากท่านไม่ติดงานหนัก เจ็บป่วยจนหยิบปากกาขึ้นมาเขียนไม่ไหวเท่านั้นจึงจะหยุด ยามปกติธรรมดาท่านเขียนสม่ำเสมอ

หนังสือพิมพ์สยามรัฐ เป็นสมบัติทางความคิด เป็นสนามในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และความถูกต้องสอดใส่ความคิดเป็นตัวอักษรเชือดเฉือนต่อต้านเผด็จการทหาร ผู้ที่จะเข้ามาแสวงหาประโยชน์ของบ้านเมือง

เป็นเครื่องมือเพื่อปกป้อง “ประชาธิปไตย” ของผู้ก่อตั้ง ซึ่งไม่เคยคิดถึงเรื่อง “เศรษฐกิจ” เพราะฉะนั้น ตลอดอายุขัยของสยามรัฐในช่วงระยะเวลาอาจารย์คึกฤทธิ์มีชีวิตอยู่จึงไม่ประสบความสำเร็จเรื่องธุรกิจ เป็นการขาดทุนมากกว่ากำไร

ในบางช่วงเวลาที่ขายคล่องทั้ง “สยามรัฐรายวัน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” และนิตยสารรายเดือน “ชาวกรุง” เรียกว่ามีกำไรจากการขายโดยไม่ต้องพึ่งพาพื้นที่โฆษณาเหมือนอย่างเช่นในสมัยต่อๆ มา การจัดการเรื่องธุรกิจก็อยู่กับผู้จัดการหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวเพียงคนเดียว ท่านเป็นลูกศิษย์รุ่นแรกๆ จากจุฬาฯ ของท่านอาจารย์

 

ในสมัยต่อๆ มาเมื่อหนังสือพิมพ์ไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ถ้าไม่มีโฆษณา เพราะต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นทุกด้าน โดยเฉพาะกระดาษพิมพ์ราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ พร้อมทั้งหาซื้อยาก

การแข่งขันด้านการผลิตข่าว แสวงหาคอลัมนิสต์ระดับฝีมือมาเสนอต่อท่านผู้อ่านก็ไม่มีตัวเลือกมากนัก การต่อสู้เพื่ออยู่รอดปลอดภัยมีกำรี้กำไรบ้างของสื่อสิ่งพิมพ์เป็นไปด้วยความยากลำบาก

แต่อาจารย์คึกฤทธิ์ก็ไม่เคยคิดจะหยุดกิจการหนังสือพิมพ์สยามรัฐแต่อย่างใด

สื่อสิ่งพิมพ์เดินทางมาอย่างยาวไกลด้วยความเหน็ดเหนื่อยและยากไร้เป็นส่วนใหญ่เพราะผลประกอบการทางด้านธุรกิจไม่สนองตอบ ความอยู่รอด หรือประสบความสำเร็จสูงสุดสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่เจ้าของผู้ก่อตั้งนั้นมีอยู่เพียงไม่กี่ฉบับ

หนังสือพิมพ์บางฉบับต้องพยายามนำเข้าไปจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อระดมทุนจากประชาชนมาดำเนินงาน ซึ่งก็ประสบความสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง ขึ้นอยู่กับทีมงานผู้บริหาร

หนังสือพิมพ์สยามรัฐในช่วงระยะเวลาปี พ.ศ.2530-2534 มีแนวโน้มจะนำเอากิจการของบริษัทเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อระดมทุนมาพัฒนากิจการ

แต่ก็ไม่มีโอกาสได้เดินไปถึงจุดนั้น เนื่องจากอุบัติเหตุบางอย่าง

 

อาจารย์คึกฤทธิ์บริหารหนังสือพิมพ์ของท่านแบบครอบครัวมากกว่าจะให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผน ตามกฎหมายแรงงานสำหรับพนักงานมากนัก บางครั้งเมื่อเกิดกรณีบางอย่าง เช่น พนักงานตลอดจนผู้สื่อข่าว นักหนังสือพิมพ์มีปัญหากับบริษัทต้องออกไป

ซึ่งก็เป็นธรรมดาของการทำงาน ซึ่งย่อมมีผิดบ้างถูกบ้าง ถ้าเราเอากฎหมายเข้าไปจับ บางครั้งพนักงานเหล่านั้นก็ต้องออกไปแบบมือเปล่าทั้งๆ ที่ทำงานรับใช้องค์กรมานาน

เคยได้ยินอาจารย์คึกฤทธิ์สั่งผู้จัดการให้จ่ายเงินชดเชยช่วยเหลือให้กับผู้สื่อข่าว หรือพนักงานผู้ที่ประสงค์จะลาออกไป หรือมีปัญหากระทบกระทั่งจนต้องออกไป ทั้งๆ ที่ตามกฎหมาย บริษัทไม่จำเป็นต้องจ่ายแต่อย่างใด?

เป็นการอยู่ร่วมกันแบบครอบครัว วัฒนธรรมองค์กรเต็มไปด้วยบรรยากาศของความรักความเข้าใจ ทั้งๆ ที่กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ หรือองค์กรสื่อนั้นล้วนมีความคิดที่อิสระหลากหลาย ทั้งอ่อนไหว แข็งกระด้าง บริหารจัดการยากอย่างยิ่ง แต่ครอบครัวสยามรัฐในยุคสมัยของอาจารย์คึกฤทธิ์ ก็หอบหิ้วกันมาได้ และสร้างคนหนังสือพิมพ์มีคุณภาพไว้ประดับวงการจำนวนมาก

ก่อนจะล้มหายตายจากไปตามเวลาก็ไม่น้อยเช่นเดียวกัน

 

มีการยกตัวอย่างกันเสมอๆ สำหรับการทำงานของผู้สื่อข่าวที่ทำงานอย่างมีระเบียบวินัย หาข่าวได้ทุกวัน วันละชิ้น เช้ามาเย็นกลับบ้านตรงตามเวลา กับอีกคนหนึ่งออกจะเบี้ยวๆ เกเรเรื่องงานบ้าง บรรณาธิการข่าวหวังหรือนั่งรอข่าวไม่ได้ อาจหายเงียบไปเป็นอาทิตย์

วันหนึ่งโผล่กลับมาพร้อมด้วยข่าวเจาะลึกเพียงคนเดียว ข่าวชิ้นนั้นพาดหัวหน้า 1 และเมื่อหนังสือพิมพ์ออกสู่สายตาผู้อ่าน ยอดหนังสือก็พุ่งขึ้น อย่างนี้เราจะเลือกนักข่าวแบบไหน ย่อมต้องบริหารจัดการให้เป็น?

เป็นเรื่องราวแต่ยุคเก่าซึ่งทุกวันนี้จะเอามาเปรียบเทียบได้ยาก เพราะการสื่อสาร เทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ประชาชนกลายเป็นผู้สื่อข่าว ช่างภาพทั่วประเทศ เพราะทุกคนมีโทรศัพท์มือถือที่ทำได้ทุกอย่าง สื่อหนังสือพิมพ์ก็มีอันต้องออกอาการไปในทางร่อแร่ทรุดถอยลงเรื่อยๆ ต้องดิ้นรนปรับปรุงหาทางเพื่อจะยืนอยู่ให้ได้ ซึ่งก็ค่อนข้างยากเต็มกำลังทีเดียว

บางทีอาจเอาไปเปรียบเทียบได้กับดีไซเนอร์ ที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ คนหนึ่งบริษัทต้องการให้ออกแบบ 3 เดือนต่อ 1 แบบ หรือเดือนละ 1 แบบ

และต้องเข้าบริษัททุกวัน นักออกแบบคนนั้นก็ทำได้ไม่ติดขัด เพียงแต่ว่าเมื่อผลิตสินค้าตามแบบออกจำหน่าย สินค้ากลับขายไม่ค่อยได้ เพราะความคับแคบทางความคิด แบบส่วนใหญ่ดัดแปลงลอกเลียนมา

ส่วนดีไซเนอร์อีกคนหนึ่งเข้าที่ทำงานบ้าง ไม่เข้าบ้าง เพราะต้องเดินทางแสวงหา ศึกษาไปยังแห่งแหล่งที่เกี่ยวเนื่องกับงาน รวมถึงเดินทางไปต่างประเทศบ้าง ซึ่งก็แปลว่านั่นก็เป็นการทำงานตลอดเวลา เมื่อถึงเวลาต้องส่งแบบก็ทำได้ เมื่อสินค้าที่เขาออกแบบเสร็จนำไปวางจำหน่ายก็เป็นที่ชื่นชอบจากลูกค้า การจำหน่ายเดินไปด้วยดี ไม่จำเป็นต้องถามว่าจะเลือกแบบไหน?

ยกเว้นผู้บริหารโง่ งี่เง่า?

 

ประสบการณ์ตรงใกล้ตัว สาวน้อยที่บ้านทำงานกับบริษัทแฟชั่นมานาน 10 ปี วันหนึ่งเจ้าของได้ส่งทายาทไม่รู้ประสาคน ทำงานไม่เป็น การศึกษาไม่มาก ด้อยทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ แถมหูเบามานั่งบริหารงาน

สุดท้ายสาวน้อยก็ถอนตัวลาออกมาจากบริษัทที่เจ้าของทำท่าว่ามีจิตอยากจะเป็นอาร์ติสต์ โดยที่ไม่ได้รับอะไรชดเชยแต่เพียงน้อยนิดกับบริษัทที่ปาก (มัน) บอกว่ามีวัฒนธรรมองค์กรอันดีงาม

บอกตามตรงว่าไม่เคยเชื่อความคิด แม้จะพยายามไปเปิดตลาดชื่อพิลึกๆ บนถนนเส้นเดียวกันกับห้าง “ตั้งฮั่วเส็ง” ทำท่าว่าจะเท่ หรือติสต์นักหนา แต่มันไม่ใช่? เนื่องจากทายาทอีกคนหนึ่งก็ล่องหนหายตัวไป หลังจากที่ใช้วิธีการฉ้อฉลโกงผู้หลงเชื่อไปเป็น 100 ล้านบาท

วิเคราะห์ได้ 2 อย่างว่าบริษัทนี้บริหารงานแบบครอบครัวที่เห็นแก่ตัว ไม่ให้ความสำคัญพนักงานผู้สร้างแม้แต่น้อย หรือไม่ก็กำลังอยู่ในช่วงเวลาถอยหลังเพราะพบกับการขาดทุนแทบจะเอาตัวไม่รอดแล้ว

หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ก่อตั้งมาก่อนบริษัทผู้ผลิตจำหน่ายสินค้าแฟชั่นแห่งนี้มากกว่า 60 ปี ไม่มีผู้บริหารอื่นนอกจากอาจารย์คึกฤทธิ์ ที่อุดมไปด้วยคุณธรรม และความรักความเมตตา บริษัทจะขาดทุนอย่างไร ท่านไม่เคยทอดทิ้งพนักงาน

เพราะฉะนั้น อย่าเสียเวลาสะเออะไปทำตัวเป็น “อาร์ติสต์” หันมาสนใจบริษัทก่อนจะเจ๊งดีกว่าไหม?