คติบน ‘ตึกสูง’ | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

เมื่อมานั่งทบทวนกับตัวเองแล้ว ผมพบว่าตัวเองเคยขึ้นตึกสูงติดอันดับโลกหรือเฉียดๆ อันดับโลกมาแล้วหลายตึกพอสมควร ตั้งแต่วัยที่ยังเป็นหนุ่มกระชุ่มกระชวยไปเรียนปริญญาโทที่เมืองนอก หรือแม้กระทั่งในวัยที่ชักจะไม่กระชุ่มกระชวยแล้วอย่างเช่นปัจจุบัน

แรกทีเดียวเมื่อผมเป็นเด็ก กรุงเทพมหานครของเราหรือที่เรียกในครั้งนั้นว่าจังหวัดพระนคร เป็นพื้นที่ราบและเป็นที่ราบลุ่มเสียด้วย หมายความว่าบริเวณนี้เคยเป็นท้องไร่ท้องนามาก่อน สภาพทางภูมิศาสตร์ไม่ได้มีภูเขาที่เป็นก้อนหินสลับซับซ้อน หากแต่เป็นดินหรือโคลนเลนตามธรรมชาติ

ประกอบกับความจำเป็นที่จะต้องสร้างอาคารสูงหลายชั้นในยุคสมัยก่อนไม่เคยปรากฏ เพราะเรามีที่ดินเหลือเฟือพอที่จะสร้างอาคารบ้านเรือนแค่สองหรือสามชั้นก็ใช้งานเพียงพอถมถืดไปแล้ว

จะไปสร้างตึกสูงให้เสี่ยงภัยและเปลืองสตางค์ทำไม

 

ในยุคสมัยก่อนผมเกิด ถนนเยาวราชซึ่งเป็นทำเลทองของการค้าขายมีตึกสูงสุดอย่างมากเพียงแค่เจ็ดชั้นเก้าชั้น เพียงแค่นั้นก็มีคนเล่าลือแล้ว เพราะไม่เคยพบเห็นมาแต่ก่อน

มาถึงสมัยผมเป็นเด็กเรียนหนังสืออยู่ชั้นมัธยมจนเข้ามหาวิทยาลัย ตึกสูงของกรุงเทพฯ ในความทรงจำของผมก็มีอยู่สองตึก

ตึกแรกอยู่ใกล้บ้านผมซึ่งอยู่ในละแวกสุขุมวิท คือตึกโชคชัย ตั้งอยู่ริมถนนสุขุมวิทระหว่างซอยสุขุมวิท 24 และซอย 26 ปัจจุบัน ตึกโชคชัยเวลานี้รื้อลงแล้วและก่อสร้างอาคารใหม่เป็นที่ตั้งของธนาคารยูโอบี

ข้อที่จำได้แน่นอนเพิ่มเติมสำหรับตึกโชคชัยนี้คือ มีร้านสเต๊กให้บริการ ชื่อว่าร้านโชคชัยสเต็คเฮ้าส์ ซึ่งราคาแพงระยับสำหรับยุคนั้น

ในชีวิตของผมซึ่งรสนิยมสูงแต่รายได้ต่ำดูเหมือนจะเคยกินอาหารร้านโชคชัยสเต็คเฮ้าส์นี้เพียงแค่ครั้งเดียวก็พอแล้ว

สังเกตไหมครับว่าชื่อตึกโชคชัยกับโชคชัยสเต็คเฮ้าส์มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ที่เป็นดังนี้เพราะทั้งตึกและร้านอาหารเป็นกิจการของคุณโชคชัย บูลกุล เจ้าของฟาร์มโชคชัยบนถนนมิตรภาพที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง

ตึกสูงของกรุงเทพมหานครอีกแห่งหนึ่งในยุคสมัยเดียวกัน คือโรงแรมดุสิตธานีตรงสี่แยกศาลาแดง โรงแรมที่มียอดแหลมๆ นั่นแหละครับ ปัจจุบันอาคารที่ว่านี้ก็รื้อลงแล้วเช่นเดียวกัน ได้ข่าวว่ากำลังจะสร้างอาคารหลังใหม่ซึ่งใหญ่และสูงกว่าเก่าเสียด้วยซ้ำ

นี่ก็บันทึกไว้ได้เหมือนกันว่า ในชีวิตนี้เคยนอนโรงแรมดุสิตธานีมาแล้วหนึ่งหรือสองคืน ด้วยสาเหตุอะไรก็จำไม่ได้เสียแล้ว

ตึกสูงทั้งสองหลังที่ผมกล่าวมาแล้วข้างต้น อันที่จริงความสูงก็ไม่มากมายเท่าไหร่ถ้าเทียบกับตึกยุคนี้ เพราะทั้งสองตึกมีความสูงเพียงแค่ 20 กว่าชั้น ไม่ได้สูงลิบลิ่วแต่อย่างใด

 

ต่อมาเมื่อผมไปเรียนหนังสือในระดับปริญญาโทที่มหานครนิวยอร์ก คราวนี้ล่ะเป็นโอกาสได้พบกับตึกสูงของจริง เพราะบนเกาะแมนฮัตตันซึ่งเป็นใจกลางของมหานครนิวยอร์กมีตึกสูงติดอันดับโลกมาแต่ดั้งเดิม คือตึกเอมไพร์สเตต ซึ่งตั้งอยู่ตรงตำบลที่ถนนสายที่ห้าหรือ Fifth Avenue ตัดกันกับถนนสายที่ 34 ตะวันตก

ตึกนี้สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่เจ็ดของเรา มีความสูงถึง 100 กว่าชั้น แถมยังครองอันดับตึกสูงที่สุดของโลกอยู่นานถึง 40 กว่าปี จึงถูกโค่นสถิติลงด้วยน้องนุชสุดที่รักซึ่งอยู่บนเกาะแมนฮัตตันเช่นเดียวกัน

น้องใหม่ที่ว่านี้คือ ตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ นั่นเอง

ตึกผู้ครองสถิติตึกสูงที่สุดในโลกเจ้าใหม่รายนี้ สร้างเสร็จและเปิดทำการเมื่อพุทธศักราช 2516 ก่อนผมไปเรียนหนังสือที่นิวยอร์กเพียงแค่ห้าปี เพราะฉะนั้น ใครต่อใครจึงยังตื่นเต้นกับตึกที่ว่านี้มากอยู่

เพื่อนฝูงหรือญาติพี่น้องผ่านไปผ่านมาก็ต้องขอให้ผมพาไปขึ้นตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ทุกที จนแทบจะพูดได้ว่าผมคุ้นเคยกับตึกนี้เสมือนเครือญาติเลยทีเดียว

เมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้นในเดือนกันยายน พุทธศักราช 2544 ขณะที่คนทั้งโลกตกอกตกใจกับเหตุสำคัญครั้งนั้น ผมมีความรู้สึกผูกพันเป็นการส่วนตัว เพราะรู้สึกว่าช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตที่เคยเดินขึ้นลงอยู่ที่ตึกแห่งนั้นได้ถูกระเบิดไปด้วยเสียแล้ว

นอกจากตึกเอมไพร์สเตตและตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ของมหานครนิวยอร์กแล้ว ตึกสูงชนิดที่เรียกว่าตึกระฟ้าที่ผมเคยขึ้นมาแล้วก็ยังมีอีกหลายเมือง เช่น ตึกสูงของนครชิคาโก เมืองเซี่ยงไฮ้ และอาคารสำนักงานเทศบาลกรุงโตเกียว เป็นต้น

ดังนั้น จะเรียกว่าผมเป็นผู้คุ้นเคยกับอาคารสูงในฐานะนักท่องเที่ยวที่ขึ้นไปชมวิวทิวทัศน์ของเมืองซึ่งเป็นที่ตั้งอาคารสูงเหล่านั้นมาแล้วมากพอสมควรก็เห็นจะได้

 

แต่สำหรับเมืองไทยหรือว่าโดยเฉพาะเจาะจงคือกรุงเทพมหานครนั้น ถึงแม้จะมีตึกสูงระฟ้าที่ชื่อว่า ตึกมหานครมานานปีแล้วพอสมควรก็ตาม แต่ผมก็ยังไม่เคยมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมตึกที่ว่านี้เสียที

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้ยินผู้คนทั้งหลายกล่าวถึงลานกว้างที่เป็นกระจกซึ่งอยู่บนชั้นสุดยอดของอาคารว่าเดินแล้วเสียวไส้ดีมาก ผมก็ยิ่งชั่งใจอยู่นานเพราะไม่รู้ว่าตัวเองจะไปเป็นลมอยู่บนยอดตึกนั้นให้ขายขี้หน้าใครหรือเปล่า

แต่แล้วผมก็ไปทำการเสี่ยงภัยที่ว่านี้มาจนได้ และรอดตายกลับมาเขียนเล่าเรื่องนี้ให้ทุกท่านอ่านอยู่นี่แหละครับ

วันที่ผมไปขึ้นตึกมหานครคือช่วงวันหยุดยาวเนื่องในวันที่ระลึกวันพระราชทานรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา

ผมไปถึงที่นั่นเวลาประมาณ 5 โมงเย็น โดยนัดหมายกับเพื่อนในราวแปดเก้าคนให้ไปด้วยกัน

ต้องชื่นชมระบบบริหารจัดการของเขาว่าทำได้เรียบร้อยและเป็นมาตรฐานโลกดี ไม่แตกต่างกันกับอาคารสูงอีกหลายหลังที่ผมเคยได้ไปพบเห็นมา

จากชั้นล่างสุดซึ่งเป็นที่ขึ้นลิฟต์พาเราขึ้นไปยังชั้น 75 ของอาคาร ใช้เวลาเพียงไม่ถึง 1 นาทีถ้วนเราก็ไปเดินปร๋ออยู่บนนั้นเสียแล้ว

ชั้นที่เราขึ้นไปถึงมีทางเดินโดยรอบอาคาร มองผ่านกระจกออกไปเห็นกรุงเทพมหานครซอกมุมต่างๆ วางอยู่ตรงหน้าเหมือนเมืองตุ๊กตา ทำให้ผมและเพื่อนๆ สนุกสนานกับการหาอาคารสถานที่ต่างๆ ว่าอยู่ตรงมุมไหนของสายตาเรา

วิวจากชั้น 75 ของตึกมหานคร ทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่า “กรุงเทพฯ” ของเรานั้นเหมาะสมกับคำว่ามหานครเสียจริงๆ เพราะเป็นเมืองขนาดมหึมา ไม่น่าแปลกใจที่จะมีคนอยู่อาศัยตามทะเบียนบ้านถึงสิบล้านคน

เส้นขอบฟ้าของมหานครที่ผมได้เห็นในวันนั้นดารดาษไปด้วยตึกสูงทรวดทรงต่างๆ

แต่ขณะเดียวกันก็มีวัดวาอารามและพระเจดีย์สอดแทรกอยู่ตรงมุมโน้นบ้างมุมนี้บ้าง

เป็นรายการตะวันตกพบกับตะวันออกอย่างแท้จริง

 

ไฮไลต์หรือจุดสุดยอดของการขึ้นไปบนยอดตึกวันนั้น คือ การขึ้นบันไดหรือขึ้นลิฟต์ไปอีกสามชั้นจนถึงชั้น 78

ที่นี่เองมีตัวเลขบอกว่าเราอยู่สูงจากพื้นดิน 314 เมตร และตำแหน่งที่เรายืนอยู่นี้เป็นจุดสูงสุดของพระมหานคร ที่นี่มีลานกระจกใสขนาดกว้างพอสมควรยื่นออกไปกลางหาว สำหรับให้ผู้ที่ประสงค์จะออกไปเดินเล่นได้ทดสอบจิตใจของตัวเองว่าจะเป็นลมหรือไม่

ก่อนออกไปเดินที่ลานกระจกนี้ทุกคนต้องสวมถุงผ้าคลุมรองเท้าของตัวเองเสียชั้นหนึ่งก่อนเพื่อไม่ให้กระจกเกิดริ้วรอย

ขณะเดียวกันก็มีกติกาด้วยว่า ขณะอยู่บนลานกระจกห้ามถ่ายภาพไม่ว่าจะด้วยกล้องถ่ายภาพหรือโทรศัพท์มือถือก็ตาม

ผมเป็นคนบอกกับตัวเองว่า ผมไม่ใช่คนกลัวความสูง เพียงแต่ไม่ชอบความสูงเท่านั้น ฮา!

เมื่อถึงเวลาที่เพื่อนทั้งหลายเดินออกไปอยู่ที่ลานกระจกแล้ว เราจะมาทำกระจอกอยู่คนเดียวเห็นจะไม่ได้

ผมตัดอกตัดใจเดินออกไปกลางลาน ทำหน้าเชิดเข้าไว้แบบหยิ่งทะนงเต็มที่ เดินตัดข้ามลานกระจกไปยังที่นั่งให้อยู่สุดขอบลานกระจกอีกด้านหนึ่ง อย่าได้คิดก้มลงไปดูปลายเท้าของตัวเองและมองทะลุกระจกลงไปเห็นพื้นดินที่อยู่ลิบลิ่วเบื้องล่างเป็นอันขาด

ทำอย่างนี้ทั้งขาไปและขากลับ ปรากฏว่าได้ผลดีคือไม่เป็นลมเป็นแล้งไปแต่อย่างใด

หลังจากไปใช้ชีวิตอยู่บนลานกระจกใสกลางหาวแล้วประมาณห้านาที ผมก็กลับมาใช้ชีวิตเหยียบยืนอยู่บนพื้นที่มั่นคงตามเดิม ความรู้สึกขณะนั้นคือดีใจมากที่ได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างมนุษย์ปกติ

 

ถามตัวเองว่าการไปอยู่บนลานกระจกใสอย่างนี้ มีคติบอกอะไรกับตัวเองได้บ้าง

ผมตอบตัวเองว่า คติที่ผมได้รับบ่ายใกล้เย็นวันนั้นมีอยู่สองข้อ

ข้อแรกคือ อะไรที่ว่ายากเย็นและเราไม่มั่นใจว่าจะทำได้หรือไม่ ที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับใจของเราเองนั่นแหละเป็นเครื่องตัดสิน ถ้าใจสู้เราก็ทำได้ ถ้าถอดใจก็ทำไม่ได้ ถ้าคิดท้อถอยเสียตั้งแต่แรกแล้วทำอะไรก็ไม่สำเร็จทั้งนั้น

ข้อสองคือ ชีวิตของคนเราอย่าได้คิดไปอยู่บนที่สูงและลอยคว้างอยู่กลางหาวนานเกินสมควร ทำทุกอย่างแต่พอหอมปากหอมคอก็จะสนุกดี ถึงเวลาพอสมควรก็ต้องรู้จักหยุดแล้วกลับไปใช้ชีวิตเป็นปกติธรรมดา ถ้าให้ผมต้องอยู่บนลานกระจกแห่งนั้นเก้าปีสิบปีผมก็คงไม่ไหวเหมือนกัน

ไม่สงสารคนอื่นก็ควรสงสารตัวเองบ้าง จริงไหมครับ