ดูฟุตบอลโลก แล้วย้อนดู (ความผิดพลาด) ตัว | พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

เริ่มเข้าสู่สัปดาห์ที่ 4 เป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับช่วงเวลาที่หลายคนต้องอดตาหลับขับตานอน!

ที่พูดว่าถึงขนาดอดหลับอดนอนนี่ไม่ใช่ไปทำอะไรหรอกนะครับ เพราะต้องอยู่กันจนดึกดื่นหามรุ่งหามค่ำเพื่อรอดูรอเชียร์ทีมชาติโปรดของตัวเอง บางคนไม่เชียร์อย่างเดียว แต่รอแช่งทีมคู่แข่งเสียด้วย

ในมหกรรมกีฬาอย่าง “ฟุตบอลโลก 2022” ซึ่งหากเรามานั่งนับนิ้วกันตั้งแต่วันแรกที่มีการแข่งกันจนถึงวันนี้เบ็ดเสร็จได้ทำการเตะกันไปกว่า 100 แมตช์แล้ว

ที่คุยเรื่องฟุตบอลโลกนี่ไม่ใช่ว่า “พรสันต์” จะมานั่งวิเคราะห์เก็งผลฟุตบอลว่าคู่ไหนใครต่อใครกี่ลูก หรือจะชวนผู้อ่านมาร่วมสนุกทายกันว่าทีมไหนจะได้แชมป์ฟุตบอลโลกในครั้งนี้เพื่อแจกรางวัลใดๆ หรอก

เพียงแต่จะมาชี้ให้เห็นถึง “ปัญหาในทางกฎหมายและกระบวนการจัดการต่างๆ ของภาครัฐที่ผิดพลาด”

ส่งผลกระทบโดยตรงกับการถ่ายทอดฟุตบอลโลก ณ ปัจจุบันที่ยังคงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนในหลายภาคส่วนว่า ไม่สามารถรับชมได้อย่างทั่วถึงกันในทุกช่องทาง

ทั้งหมดมันทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ระหว่าง “ทีมแชมป์ฟุตบอลโลก” กับ “การแก้ไขปัญหาการถ่ายทอดฟุตบอลโลก” เรื่องไหนจะจบก่อนกัน

แต่สงสัยว่าจะเป็นเรื่องแรกกระมัง

เพราะเรื่องหลังนั้นนอกจากจะไม่มีทีท่าที่จะคลี่คลายลงไปแบบง่ายๆ แล้ว ก็ดูราวกับว่าปัญหาจะเละเทะพันกันอีรุงตุงนังหนักมากขึ้นไปกว่าเดิมอีก

เอาล่ะครับ เพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหาในเรื่องนี้ ผมคงต้องขอเท้าความเสียเล็กน้อยเพื่อที่จะทำให้ทุกท่านสามารถปะติดปะต่อเรื่องราว “มหากาพย์การถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2022” ครั้งนี้ได้

ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้ว ก่อนที่จะได้มานั่งดูฟุตบอลโลกกันแบบฟรีทุกนัดกันแบบทุกวันนี้ (ส่วนจะบนแพลตฟอร์มไหน ความคมชัดระดับใดเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะครับ) ก็เล่นเอา “คอบอลไทย” เริ่มใจคอไม่ค่อยจะสู้ดีนัก

เพราะตอนนั้นเหลือเวลาอีกเพียง 1 เดือน (ฟุตบอลเริ่มแข่งวันแรก 20 พฤศจิกายน) ยังไม่ต้องพูดถึงว่าจะได้ดูฟรีเลย ลำพังแค่จะได้ดูหรือไม่ก็ยังหาคำตอบไม่ได้เสียด้วยซ้ำ ทั้งนี้เนื่องจากไม่มีเอกชนรายไหนเลยที่จะไปซื้อหาลิขสิทธิ์จากฟีฟ่าเพื่อมาถ่ายทอด

เวลาเริ่มงวดเข้ามาเรื่อยๆ จนเหลืออีกไม่กี่อาทิตย์ก่อนที่มหกรรมฟุตบอลโลกจะเริ่มต้นขึ้น แต่กระนั้นก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเกิดความชัดเจน ประหนึ่ง “บรรยากาศการเมืองไทยหลังเอเปค” ก็คงไม่ผิดนัก

“ฟุตบอลโลก 2022 กลายเป็นปัญหาระดับชาติของประเทศไทย”

มีการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ทำเอา “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่สวมหมวก “ประธานบอร์ดการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)” อยู่ด้วยต้องกดไมค์การันตีอย่างเสียงดังฟังชัดว่า

“คนไทยจะได้ชมการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 อย่างแน่นอน โดยงบประมาณหลักที่จะนำไปซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอด จะเป็นงบฯ จากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ ‘กสทช.’ โดยไม่ต้องรบกวนภาคเอกชน และจะเริ่มถ่ายทอดสดตั้งแต่นัดเปิดสนามไปจนถึงนัดชิงชนะเลิศเลย”

อย่างไรก็ดี เส้นทางการดูฟุตบอลโลกของคอบอลไทยไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

เมื่อทางบริษัทอินฟรอนท์ ที่ทำหน้าที่ขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลโลกได้ตั้งราคาลิขสิทธิ์ไว้สูงถึง 1,600 ล้านบาท

ในขณะที่ที่ประชุม กสทช. ที่ได้หารือกับผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) สามารถเคาะเงินจากกองทุน กทปส. ได้เพียง 600 ล้านบาทเท่านั้น

เอาล่ะซิครับ เมื่อเงินไม่พอจ่ายจึงต้องไปอาศัยไหว้วานเอกชนให้เข้ามาช่วยสนับสนุนกันยกใหญ่

สุดท้ายก็ไปได้เอกชน 9 รายเข้ามาร่วมเป็นสปอนเซอร์สำหรับการไปซื้อค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลโลกให้คนไทยได้ดูกัน

โดย 1 ใน 9 รายนั้นคือ บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น ที่ร่วมลงขัน 300 ล้านบาท จากทั้งหมดราว 700 ล้านบาท เมื่อบวกลบคูณหารแล้วประกอบกับการไปพูดคุยเจรจากับบริษัทอินฟรอนท์อีกรอบ ที่คราวนี้ใจอ่อนยอมลดราคาให้ จึงทำให้ กกท.ได้ลิขสิทธิ์มาถ่ายทอดฟุตบอลโลกในทุกวันนี้ โดยสนนราคาที่ต้องจ่ายไปทั้งหมดอยู่ที่ 1,400 ล้านบาท (ค่าลิขสิทธิ์ 1,180 + ภาษี 220 ล้านบาท)

เฮ…คนไทยได้ดูบอลโลกฟรีครบ 64 นัด ทุกอย่างควรจบลงแบบแฮปปี้เอนดิ้ง

แต่ช้าก่อนครับ! เรื่องยังไม่จบลงง่ายๆ

เพราะตั้งแต่เริ่มถ่ายทอดแมตช์แรกก็เกิดปัญหาขึ้นทันที เพราะประชาชนบางส่วนไม่สามารถรับชมตามช่องทางต่างๆ ได้ ทำให้เริ่มมีคนออกมาตั้งคำถามว่า อ้าว! ไหนรัฐบาลบอกว่าชมได้ฟรีหมดทุกช่องทางไม่ใช่เหรอ

เงินที่ภาครัฐนำไปซื้อลิขสิทธิ์ก็ตั้งหลายร้อยล้านบาท ทำไมยังดูไม่ได้ มันอะไรกันหนักหนา

เอาจริงๆ “มหากาพย์การถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2022” นี้มีประเด็นปัญหาเยอะพอควร

แต่ ณ ที่นี้ ผมขอชวนทุกท่านร่วมคิดวิเคราะห์กันใน 2 ประเด็น ซึ่งสำหรับผมเห็นว่านี่คือประเด็นหลัก ได้แก่ จำนวนเงินที่รัฐต้องนำไปจ่ายค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลกประเด็นหนึ่ง

และปัญหาของการรับชมการถ่ายทอดฟุตบอลโลกอีกประเด็นหนึ่ง

ทั้ง 2 ประเด็นนี้มันมีความเชื่อมโยงกันอยู่ในตัวครับ

เข้าประเด็นแรกก่อนเลยนะครับ ประเด็นเรื่องตัวเงินที่รัฐต้องนำไปจ่ายซื้อลิขสิทธิ์มาให้เราได้ดูฟุตบอลโลกครั้งนี้ทั้งสิ้น 1,400 ล้านบาท สำหรับผมแล้วเห็นว่า เราน่าจะจ่ายได้ในราคาที่ถูกกว่านี้

ว่าง่ายๆ ก็คือ ประเทศไทยจ่ายแพงไปโดยไม่จำเป็นนั่นแหละ

พอพูดถึงเรื่องนี้หลายคนอาจยกมือขึ้นเหนือศีรษะขอโต้แย้งผมว่า เงินที่จ่ายไปไม่ใช่เงินของรัฐล้วนๆ แต่มีเอกชนร่วมลงขันด้วย อีกอย่างหลายประเทศก็จ่ายแพงกว่าเราอีกนะ

ใช่ครับ ผมไม่เถียงว่าเงิน 1,400 ล้านบาทนี้จะประกอบไปด้วยเงินสนับสนุนจากภาคเอกชนรวมอยู่ และก็จะไม่เถียงด้วยว่า หากดูเฉพาะ “ยอดรวม” ของค่าลิขสิทธิ์ที่ “บางประเทศ” ต้องจ่ายไปอาจถูกกว่าประเทศไทย แต่จะไปดูเปรียบเทียบแบบง่ายๆ แค่นั้นคงไม่ได้หรอก

สิ่งที่ผมชวนให้คิดกันคือ การโฟกัสไปที่เม็ดเงินของเราเท่านั้น เพราะปัญหามันอยู่ตรงที่ว่า ประเทศไทยไปขอเจรจาซื้อลิขสิทธิ์ช้าเกินไป

นี่สะท้อนให้เห็นถึงความผิดพลาดอย่างมาก ไม่มีการวางแผนเตรียมตัวล่วงหน้าใดๆ เลย นั่นคือประเด็นต่างหาก

อย่าลืมนะครับว่า ข้อเท็จจริงนั้นเราขยับตัวเริ่มไปเจรจาขอซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลกก่อนมีการแข่งขันจริงเพียง 1-2 เดือนเท่านั้น

ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เขาวางแผนบริหารจัดการกันมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าทุกๆ 4 ปี (ฟุตบอลโลกแข่งขันทุกๆ 4 ปี) เขาจะต้องถ่ายทอดฟุตบอลโลกให้คนประเทศเขาได้ดูกัน เพื่อไม่ให้ทางฟีฟ่าโก่งค่าลิขสิทธิ์ จึงเข้าไปพูดคุยขอพูดคุยเจรจาซื้อกันล่วงหน้าเสียแต่เนิ่นๆ 1-2 ปี ก่อนจะมีการแข่งขันจริง ดังนั้น แน่นอนว่าในแง่นี้ต่างประเทศเขาจึงจ่ายเงินไปกับค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดในราคาถูกเข้าตำรา “คุยก่อน ถูกกว่า” (Early bird) ตามปกติทางการค้า

เมื่อเห็นประเทศอื่นเขาทำกันแบบนี้ จะไม่ให้ผมคิดเปรียบเทียบด้วยความเสียดายเม็ดเงิน (เฉพาะส่วน) ที่รัฐต้องจ่ายไปสูงถึง 600 ล้านบาทสำหรับ “การถ่ายทอดฟุตบอลโลก” กับ “สภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ณ ปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบมาจากโรคระบาดโควิด” ที่ประชาชนต้องเดือดร้อนตลอดเวลา 3 ปีที่ผ่านมาอย่างนั้นเลยหรือ?

ประเด็นถัดมาอาจเรียกได้ว่า เป็นประเด็นดราม่ามาจนทุกวันนี้เลยก็ว่าได้

นั่นคือ กรณีปัญหาที่ประชาชนในหลายภาคส่วนออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนาหูว่า เขาไม่สามารถดูการถ่ายทอดฟุตบอลโลกผ่านช่องทางต่างๆ ได้ตามที่ภาครัฐเคยพูดและให้สัญญาไว้

จนกระทั่งทาง กกท.ต้องออกมาชี้แจงให้เหตุผลว่า มีประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดซึ่งมีบริษัททรูเป็นเจ้าของอยู่ด้วย

ประกอบกับการเผยแพร่หนังสือชี้แจงของทรูต่อผู้รับใบอนุญาตต่างๆ ว่า ตนเองนั้นได้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกจาก กกท. ยิ่งทำให้หลายคน “หน้านิ่วคิ้วขมวด” เกิดความสงสัยว่าเหตุใดทรูจึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ทั้งหมดนี้

หากพูดกันอย่างตรงไปตรงมา เรื่องที่ทรูเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในการถ่ายทอดฟุตบอลโลกนั้นสำหรับผมแล้ว คนที่ควรถูกตั้งคำถามและควรออกมาชี้แจงให้ชัดเจนคือ กกท. ครับ

ที่พูดแบบนี้เพราะอะไร

ก็เพราะว่า ทาง กกท.เองเป็นผู้ได้รับสิทธิจากฟีฟ่าในการถ่ายทอดครั้งนี้ตั้งแต่เริ่มต้น

คำถามจึงเกิดขึ้นว่า ด้วยเหตุใด กกท.จึงตกลงมอบสิทธิและประโยชน์ต่างๆ ให้ทรูแต่เพียงผู้เดียว

ถ้าเราพยายามหาคำตอบของปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ด้วยการยึดเอาเหตุผลที่ปรากฏอยู่ในหนังสือชี้แจงขอทรูเป็นเหตุผลหลักที่ว่า ก็เพราะงบประมาณที่ กสทช.มอบให้ กกท.ไปขอซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขันกับฟีฟ่ามันไม่เพียงพอ ทางทรูซึ่งร่วมสมทบลงไปด้วยเม็ดเงิน 300 ล้านบาทด้วย จึงทำให้ กกท.มอบลิขสิทธิ์ทั้งหมดให้นั้น

ฟังดูแล้วก็ไม่ค่อยจะสมเหตุสมผลเท่าใดนักนะครับ

จริงอยู่แม้ว่าทรูเองจะเป็นผู้ลงขันด้วยจำนวนเงินมากที่สุดก็ตามที

แต่ปฏิเสธข้อเท็จจริงไม่ได้ว่าก็มีเอกชนรายอื่นที่เขาร่วมลงเงินสนับสนุนด้วยเช่นเดียวกัน

ก็ถ้าจะพูดกันแบบแฟร์ๆ โดยยึดเอาจำนวนเงินเป็นเกณฑ์แล้วละก็ เอกชนผู้ร่วมเป็นสปอนเซอร์ทุกรายย่อมมีสัดส่วนความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย

แต่เมื่อความเป็นจริงปรากฏว่า กกท.ได้มอบสิทธิแต่เพียงผู้เดียวให้กับทรู คำถามคือ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

สำหรับผมแล้ว คำอธิบายที่หลายฝ่ายรวมถึง กกท.เองออกมาชี้แจงเรื่องนี้ด้วยการอ้างถึงคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลทรัพย์ทางปัญญาบ้าง กฎหมายลิขสิทธิ์บ้าง ทรูเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์บ้าง ฯลฯ ทำให้หลายคนเกิดความสับสนเข้าใจผิดคิดว่าเรื่องการถ่ายทอดฟุตบอลโลกเป็นเรื่องของเอกชนเท่านั้น ซึ่งไม่ถูกต้องครับ จริงๆ เรื่องนี้มีมิติเชื่อมโยงกับการให้บริการสาธารณะของภาครัฐรวมอยู่ด้วย

ดังนั้น เมื่อถามถึงการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ (กกท.) แต่ไปอธิบายถึงลิขสิทธิ์และสิทธิของเอกชน (ทรู) มันจึงเป็นการพูดคนละเรื่องเดียวกัน เป็นการพูดกันที่ปลายเหตุ ประหนึ่ง “ถามว่าไปไหนมา ตอบสามวาสองศอก”

หากพูดในประเด็นทางกฎหมายอย่างตรงจุดตรงประเด็นก็ต้องพูดว่า กกท.อาศัยอำนาจใดในการเข้าทำสัญญากับทรู และวัตถุประสงค์แห่งสัญญาดังกล่าวสอดคล้องกับกฎหมายหรือไม่

เพราะหากพูดตามหลักกฎหมายมหาชนไม่ว่าจะเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายปกครองแล้ว กกท.ที่เป็นหน่วยงานในกำกับดูแลของรัฐนั้นย่อมผูกพันที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยยึดประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายการกีฬาแห่งประเทศไทย

การที่ กกท.ดำเนินการจัดทำสัญญามอบให้ทรูในฐานะเอกชนรายเดียวเป็นผู้ดูแลจัดทำบริการสาธารณะ (การถ่ายทอดฟุตบอลโลก) และเกิดปัญหาการรับชมของประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงได้เป็นการทั่วไป (จนปัจจุบันกลายประเด็นพิพาทระหว่าง กสทช. กับ กกท. เรื่องการเรียกเงินสนับสนุนคืน พร้อมดอกเบี้ยผิดนัด) นั้น

อาจถือเป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายได้

 

มหากาพย์การถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2022 ครั้งนี้ไม่ควรจบไปพร้อมกับการแข่งขันนะครับ

ควรต้องมีการชี้แจงแสดงหลักฐานกันเสียให้ชัดเจน และต้องมีผู้รับผิดชอบด้วย กรณีนี้ผมเห็นว่า นอกจาก กกท. แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะผู้กำกับดูแล กกท. พึงต้องเข้ามามีบทบาทแก้ไขปัญหาตรงนี้ด้วยอย่าหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมีเป็นที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่เข้าข่ายขัดต่อตัวบทกฎหมายด้วย ทั้งหมดนี้เพื่อการสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องชัดเจนว่า อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ปัญหาเกิดมาจากไหนอย่างไร

ซึ่งสาเหตุของปัญหาที่ภาครัฐต้องยอมรับคือ การบริหารและดำเนินการที่ไม่มีการคิดและวางแผนล่วงหน้าอย่างละเอียดรอบคอบ

อีกทั้งไม่คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะอย่างเคร่งครัดมากพอประกอบการปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง

ส่วนกรณีที่ว่า กฎของ กสทช. อย่าง Must have และ Must Carry เองก็มีส่วนสร้างปัญหาเรื่องการถ่ายทอดเช่นเดียวกัน

ตรงนี้ผมเห็นว่าผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายก็ควรนำไปขบคิดพูดคุยเพื่อนำไปสู่แก้ไขปรับปรุงอย่างไรกฎระเบียบในอนาคตต่อไปซึ่งสามารถทำได้

อย่าลืมนะครับ ดูฟุตบอลโลกครั้งนี้แล้ว ภาครัฐพึงกลับมาย้อนดูความผิดพลาดของตัวเองด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต เพราะคนที่ได้รับผลกระทบไม่ใช่ใครที่ไหนหรอก หากแต่เป็นประชาชนนั่นเองครับ