เดิมพันพี่ใหญ่ ป้อมปรับทัพ-ติดดาบขุนพล วุ่น เพื่อน ตท.20-ทหารเสือฯแตกขั้ว ‘ธรรมนัส-เสธ.หิ’ แยกทาง

เดิมพันพี่ใหญ่ ‘บิ๊กป้อม’ ปรับทัพ ขุนพล ‘ป๊อด-แป๊ะ-ปุ้ม’ ติดดาบ ‘บิ๊กณัฐ-เสธ.โย’ เพื่อนพี่น้อง ตท.20-ทหารเสือฯ-บูรพาฯ แตกขั้ว ‘ธรรมนัส-เสธ.หิ’ แยกทาง

 

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่เคยเป็นนั่งร้าน คสช.ในการสืบทอดอำนาจทหาร ในระบบพรรคการเมืองของพี่น้อง 3 ป. กำลังถูกจับตามองว่า จะสิ้นสลายไปเหมือนพรรคสามัคคีธรรม ยุค รสช. และพรรคมาตุภูมิ ของ คมช. หรือไม่

เพราะนอกจากจะโดน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดูด ส.ส.ตามไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติแล้ว

ยังโดนพรรคภูมิใจไทยดูดไปอีกหลายคน จนถึงขั้นที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรค ตัดพ้อว่า “เอาไปให้หมดเลย ผมไม่ว่าอะไร ผมจะได้ปิดพรรค”

จากที่เคยประกาศว่า พปชร.ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ แต่จะทำให้เป็นสถาบันการเมือง และจะต้องอยู่เป็นหลักของประเทศ

พล.อ.ประวิตรอาจเริ่มทำใจว่า เลือกตั้งปี 2566 จะเป็นครั้งสุดท้ายของ พปชร.หรือไม่ เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ทิ้งร้างนั่งร้านนี้ไป

โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 10 ส.ส.ของ พปชร. ก็จะแยกย้ายกันไปอยู่ในหลายพรรค เพราะรู้กันดีว่า ตอนที่ได้รับเลือกเป็น ส.ส.ครั้งเลือกตั้ง 2562 นั้น เพราะกระแส พล.อ.ประยุทธ์

จึงทำให้ พล.อ.ประวิตรดิ้นสู้ที่จะสร้าง ส.ส.หน้าใหม่ใน กทม. งานนี้ถึงขั้นมอบให้ 2 ฝ่าย เสธ.ใกล้ตัว และไว้วางใจที่สุด อย่างบิ๊กณัฐ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ อดีตปลัดกลาโหม ลูกเลิฟ ที่เป็นเสมือนเลขาฯ ส่วนตัว และ เสธ.โย พล.อ.กฤษณ์โยธิน ศศิพัฒนวงษ์ น้องรักสายบูรพาพยัคฆ์ มาช่วยดูการเลือกตั้ง กทม.

เพราะ พล.อ.กฤษณ์โยธินเป็นเตรียมทหาร 22 เพื่อนร่วมรุ่น ผบ.เหล่าทัพชุดนี้ ทั้งบิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. บิ๊กจ๊อด พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผบ.ทร. บิ๊กตุ๊ด พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผบ.ทอ. และบิ๊กเด่น พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.

ด้วยเพราะในพื้นที่ กทม. ก็มีหน่วยทหารจำนวนมาก แต่จากการเลือกตั้งปี 2562 สะท้อนว่า สมัยนี้ ทหาร โดยเฉพาะพลทหาร จะสั่งไม่ได้ทั้งหมดแล้วก็ตาม

แต่ต้องไม่ลืมว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ และ รมว.กลาโหม อีกทั้งที่ผ่านมา ก็ดูแลกองทัพมาตลอด จึงยังคงครองใจนายทหารได้จำนวนไม่น้อย

ความลำบากใจจึงจะบังเกิดแก่ทหารในกองทัพ ที่เป็นระดับนายทหารที่จบโรงเรียนเตรียมทหาร และโรงเรียนนายร้อย จปร. เพราะจะต้องเลือกข้าง ว่าจะช่วย พล.อ.ประยุทธ์ให้ได้ไปต่อ ด้วยการเลือกผู้สมัครของพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่ใช่แค่ใน กทม. แต่ทั่วประเทศ

แต่ความเคารพรัก เกรงใจในตัว พล.อ.ประวิตร ก็ยังมีกันอยู่ แม้ว่าลูกน้องบิ๊กป้อมในกองทัพจะมีอยู่ไม่น้อยก็ตาม

แต่เมื่อ 2 พี่น้องแยกพรรค แยกทางเดินในทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ หรือเพราะความขัดแย้งที่หนักข้อขึ้นก็ตาม ก็ทำให้นายทหารในกองทัพลำบากใจ เพราะหากเลือกตามความสนิทสนมรักใคร่กัน เสียงจะแตก

จึงมีการคาดกันว่า ทหารจะพร้อมใจกันเทคะแนนให้ พล.อ.ประยุทธ์เพื่อให้ได้ไปต่อ จะเป็นผลดีกับความสงบเรียบร้อย และกองทัพมากกว่า การเปลี่ยนนายกฯ หรือเปลี่ยนขั้วอำนาจ รัฐบาลที่อาจต้องตามมาด้วยการรัฐประหาร ให้ทหารต้องเหนื่อยกันอีกในอนาคต

แต่ พล.อ.ประวิตรก็ไม่ยอมง่ายๆ โดยได้มอบให้ พล.อ.ณัฐ ลูกรักสายบูรพาพยัคฆ์ ช่วยดูเลือกตั้ง กทม.อีกแรง เสริมทัพเพราะเป็นอดีตปลัดกลาโหม ที่ลงพื้นที่ กทม.มาตลอด 3 ปีในการช่วยเหลือชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะในเขตพระนคร และพื้นที่รอบกระทรวงกลาโหม เดินถนน เดินเท้าเข้าชุมชนด้วยตนเอง และส่งทหารมาพัฒนาข้างทาง โดยเฉพาะการทำคูเมืองเดิม และคลองหลอด ให้น้ำใส สวยงาม ถึงขั้นกั้นน้ำเพื่อปรับพื้นคลองใหม่

อีกทั้ง พล.อ.ณัฐ ก็เป็น ตท.20 รุ่นพี่ๆ ของ ผบ.เหล่าทัพ แม้จะเป็นรุ่นน้อง แต่ก็มีความสนิทสนม เพราะทำงานร่วมกันมา แต่ทว่า ฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังมีบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ รองราชเลขาธิการ และอดีต ผบ.ทบ. เพื่อนร่วมรุ่น ตท.20 ที่กลายเป็นคนละขั้ว

จึงเรียกได้ว่า การแยกทางของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ไม่ใช่แค่ทำให้แผงอำนาจพี่น้อง 3 ป.ที่เคยแข็งแกร่ง อ่อนพลังลงเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้น้องๆ ทหาร ทั้งทหารแก่ และทหารในกองทัพ ต้องลำบากใจ และจำเป็นต้องเลือกข้าง และคนที่เป็นเพื่อนกันก็ต้องมาแยกทางกัน

แม้ในความเป็นเพื่อนจะยังคงอยู่ ไม่ได้ขัดแย้ง แต่ก็จำต้องแยกทางเดิน และจะทำให้ความสัมพันธ์ยิ่งห่างเหิน

แต่สำหรับ พล.อ.ณัฐ ด้วยความเป็นทหารเก่า ที่ไม่เจนจัดในสนามการเมือง กทม. จึงต้องอาศัยนักการเมืองที่เป็น ส.ส.กทม.มาช่วยวางแผนในการหาเสียง ทำพื้นที่ เพราะ ส.ส.จะย้ายพรรคกันหมด

จนมีกระแสข่าวความขัดแย้งภายใน พปชร. จากการชิงอำนาจในการคุมเลือกตั้ง กทม. ระหว่าง อ.แหม่ม นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค ที่ก็ช่วยดูแลพื้นที่ กทม.มาก่อนหน้านี้แล้ว ในฐานะอดีต ส.ส. กับจั้ม-สกลธี ภัททิยกุล อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. อดีตแกนนำ กปปส.

พลันที่มีข่าวว่า พล.อ.ประวิตรมอบหมายให้นางนฤมลคุมเลือกตั้ง กทม. จนถูกเรียกว่าเป็นมาดาม กทม. บรรดาว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.ของพรรค ก็แปลกใจ เพราะกระแสข่าวภายในพรรคระบุว่า พล.อ.ประวิตรมอบให้นายสกลธีดูแล กทม. เพราะต้องการจะดึงไม่ให้ย้ายไปพรรครวมไทยสร้างชาติกับ พล.อ.ประยุทธ์

ด้วยสไตล์การทำงานของ พล.อ.ประวิตร ที่มักใจดี ใครขออะไรก็ให้หมด รับปาก พยักหน้าไปหมด จึงคาดกันว่า พล.อ.ประวิตรต้องการให้ช่วยกัน แต่ปัญหามาอยู่ตรงที่การเลือกคนที่จะลงสมัคร ส.ส. ที่มีทับทาบพื้นที่กันหลายคน จึงตามมาด้วยการวิ่งเต้นกับผู้ใหญ่ในพรรค

เสธ.โย พล.อ.กฤษณ์โยธิน ศศิพัฒนวงษ์

ด้วยปัญหาภายใน พปชร. และศึกหนักในการสู้เลือกตั้ง กทม.นี่เอง เลยทำให้มีข่าวว่า บิ๊กป๊อด พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. น้องชายสุดที่รักของ พล.อ.ประวิตร มาคุม กทม.อีกคนหนึ่ง นอกเหนือจากที่มี พล.อ.ณัฐ และ พล.อ.กฤษณ์โยธิน ดู กทม.อยู่แล้ว

จนกลายเป็นประเด็นใน พปชร. เพราะเมื่อ “น้องชายหัวหน้าพรรค” มาดูแล กทม.เอง จึงลดอำนาจและบทบาทของ พล.อ.ณัฐ และ พล.อ.กฤษณ์โยธิน รวมทั้งนางนฤมล และนายสกลธี ลงทันใด และจะกลับไปสู่การต้องให้ พล.อ.ประวิตรเป็นคนตัดสินใจในท้ายที่สุดในการเคาะตัวผู้สมัคร ส.ส.

คาดกันว่า การที่ พล.อ.ประวิตรให้ พล.ต.อ.พัชรวาทมาช่วยดูการเลือกตั้ง กทม. เพราะอาจหวังคะแนนเสียงตำรวจ ไม่ใช่แค่ใน กทม.เท่านั้น อีกทั้ง พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ผบ.ตร. คนปัจจุบัน ก็ถูกมองว่าสนิทสนมกับบิ๊กป๊อดด้วย

และต้องไม่ลืมว่า พปชร.ยังมีบิ๊กแป๊ะ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร.อีกคน ที่แม้จะคุมพื้นที่ภาคอีสานให้ พปชร. แต่ก็ยังมีคอนเน็กชั่นกับนายตำรวจใน สตช. และเคยจะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. และได้ทำพื้นที่ กทม.ไว้พอสมควร

พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ

นี่อาจเป็นกลยุทธ์หนึ่งของ พล.อ.ประวิตร ที่ยังหวังคะแนนเสียงจากทหารและตำรวจ แม้รู้ว่าจะต้องแย่งฐานเสียงนี้กับ พล.อ.ประยุทธ์ก็ตาม

และการเลือกตั้งครั้งนี้ ยังจะเป็นการวัดบารมีของพี่ใหญ่อย่าง พล.อ.ประวิตร ว่าจะเป็นอมตะหรือไม่ สะท้อนการเป็นดาวฤกษ์ของ พล.อ.ประวิตร ที่เติบโตมาได้ด้วยตนเอง แม้ในยามที่ไม่มี พล.อ.ประยุทธ์แล้วก็ตาม และจะเป็นการสอนให้น้องๆ ดูว่า พี่ใหญ่ก็คือพี่ใหญ่ ได้หรือไม่

เพราะโอกาสที่ พปชร.ของ พล.อ.ประวิตร จะเป็นรัฐบาลก็มีสูง เพราะสามารถร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยได้ เพื่อดำรงความมุ่งหมายในการสกัดกั้นไม่ให้พรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล เพื่อปกป้องการปฏิรูปสถาบัน

หรืออาจมาจับขั้วตั้งรัฐบาลกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ทั้งพรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งพรรครวมไทยสร้างชาติของ พล.อ.ประยุทธ์ด้วย แต่อยู่ที่ว่า พรรคไหนจะได้ ส.ส.มากที่สุด เพื่อเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และจะเป็นตัวชี้ว่าใครจะเป็นนายกฯ

เสธ.หิ ดร. หิมาลัย ผิวพรรณ

มีเสียงจากบ้านป่ารอยต่อฯ ว่า หาก พปชร.ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พล.อ.ประวิตรจะเป็นผู้จัดการรัฐบาล ก็จะหนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไป และคาดกันว่า พรรคภูมิใจไทยก็น่าจะยอมเช่นกัน แต่คงต้องแลกกับเก้าอี้ รมต.กระทรวงใหญ่ และโดยเฉพาะเก้าอี้ มท.1 เพราะไม่เช่นนั้น ก็คงต้องไปสู้ 250 ส.ว.ที่ยังมีอำนาจในการร่วมโหวตเลือกนายกฯ อยู่

แม้จะมีการมองว่า หากไม่ได้เป็นนายกฯ พล.อ.ประวิตรควรจะได้เป็นรองนายกฯ ควบ รมว.มหาดไทยก็ตาม แต่ก็ขึ้นอยู่กับจำนวน ส.ส.ที่ พปชร.ได้

ทั้งหมดนี้ เพื่อชี้ให้เห็นว่า พล.อ.ประวิตร ยังรักน้องอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ และไม่ได้คิดจะฆ่าน้องเช่นข่าวลือ และไม่ได้อยากจะเป็นนายกฯ เว้นเสียแต่ว่า เป็นความเห็นพรรคร่วมรัฐบาล และ 250 ส.ว. เพราะแม้ พล.อ.ประยุทธ์ ครั้งเป็นหัวหน้า คสช. จะแต่งตั้งไว้ตามโควต้า 3 ป.ก็ตาม แต่สัดส่วน ส.ว.สาย พล.อ.ประวิตรก็เกือบครึ่งหนึ่ง อีกทั้งมี ส.ว.จำนวนไม่น้อยที่เปลี่ยนจุดยืน

และต้องไม่ลืมว่า ที่ผ่านมา หนึ่งในผู้ส่งสัญญาณใน ส.ว. จาก 3 ป. ก็คือ บิ๊กปุ้ม พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ ส.ว. น้องชายบิ๊กป้อมนั่นเอง

 

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ก็มีเดิมพันอนาคตทางการเมืองของตนเอง ว่าจะได้ไปต่อหรือไม่ กับพรรครวมไทยสร้างชาติ และวัดคะแนนนิยม และบารมี ว่าจะตั้งอีกขั้วอำนาจขึ้นมาได้อีกหรือไม่ เมื่อไม่มี พล.อ.ประวิตรแล้วจะไปต่อได้หรือไม่ จะปลดแอกตัวเองออกจากใต้ร่มเงาของพี่ใหญ่ได้หรือไม่

กล่าวได้ว่า เลือกตั้งครั้งนี้ เป็นอีกสนามการประลองกำลังของพี่น้อง 3 ป. และทหารเก่า เพราะศึกครั้งนี้ พี่น้อง 3 ป.ก็แยกทาง โดยบิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็จะไปช่วยเบื้องหลัง พล.อ.ประยุทธ์ ในพรรครวมไทยสร้างชาติ เพราะที่ผ่านมาก็เป็นกุนซือให้น้องตู่มาตลอด

แม้ พล.อ.อนุพงษ์จะเคยเปรยว่า อยากจะวางมือทางการเมืองก็ตาม แต่นั่นอาจเป็นแค่กลยุทธ์ในการพรางตัวเองออกจากความขัดแย้งระหว่างพี่ใหญ่และน้องเล็ก จนต้องแยกพรรค

แต่ในทางปฏิบัติ รู้กันดีว่า พล.อ.อนุพงษ์ไม่มีทางทิ้งน้องได้ และต้องไปต่อกับ พล.อ.ประยุทธ์

แต่ออกตัวเช่นนั้น เพราะรู้ว่าเก้าอี้ รมว.มหาดไทยที่นั่งมา 8 ปีแล้วนั้น จะต้องกลายเป็นเก้าอี้ที่เอาไว้ต่อรองการตั้งรัฐบาล และการเป็นนายกฯ

และอาจต้องกลายเป็นของ พล.อ.ประวิตร หรือนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่มีอำนาจต่อรองสูง จาก ส.ส.ที่คาดว่าจะได้รับเลือกตั้งเข้ามา

 

การตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ในการแยกทาง แยกพรรคกับ พล.อ.ประวิตร ที่นอกจากพี่น้อง 3 ป. ต้องแยกเป็น 2 ป. กับ 1 ป. แยกพี่แยกน้อง และแยกเพื่อน ตท.20 และแยกข้างทหารสาย 3 ป.ในกองทัพ แยกทหารเสือราชินีสายบิ๊กตู่ กับสายบูรพาพยัคฆ์ของบิ๊กป้อมแล้ว

ยังแยกเพื่อนสายเลือดทหารในการเมือง อย่างผู้กองนัส ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กับ เสธ.หิ ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ เพื่อนร่วมรุ่น ตท.25 จปร.36 ที่อยู่ในวงการคนมีสีด้วยกันมายาวนานอีกด้วย

ร.อ.ธรรมนัส และ เสธ.หิมาลัย ถือเป็นนายทหารสาย เสธ.ในวงการคนมีสี ที่ถือกำเนิดในยุค 2 เสธ.คนดัง ที่ถูกเรียกว่าเป็นผู้กว้างขวาง

เสธ.หิมาลัย โตมาในขั้วของ เสธ.แอ๊ว พล.อ.อัครเดช ศศิประภา แกนนำ จปร.11 อดีตรองปลัดกลาโหม น้องชายบิ๊กอ๊อด พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา อดีต รมว.กลาโหม กับเสธ.ไอ๊ซ์ พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต แกนนำ ตท.10 สายทหารม้า เพื่อนร่วมรุ่นอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ทั้งคู่แยกขั้วกัน ไม่ขึ้นตรงต่อกัน แต่ให้เกียรติกัน ไม่ทับทางกัน

หลัง พล.อ.อัครเดชเสียชีวิต เสธ.หิมาลัยมาอยู่กับ เสธ.ไอ๊ซ์ และกลายเป็น 2 ทายาท 2 สาย ทั้ง ร.อ.ธรรมนัส และ เสธ.หิมาลัย กลายเป็นลูกรัก

แม้ว่ารอยร้าวในความเป็นเพื่อน จะเริ่มตั้งแต่ ร.อ.ธรรมนัสเดินเกมล้ม พล.อ.ประยุทธ์ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อกันยายน 2564 แต่ไม่สำเร็จ จนโดน พล.อ.ประยุทธ์ปลดออกจาก รมช.เกษตรฯ แบบฟ้าผ่า หักหน้า พล.อ.ประวิตร พี่ใหญ่ เพราะไม่บอกก่อนเลย แถมทั้ง ร.อ.ธรรมนัส และนางนฤมลที่ถูกปลดจาก รมช.แรงงาน พร้อมกัน ล้วนเปรียบเป็นมือซ้ายมือขวาของ พล.อ.ประวิตรเลยทีเดียว จนทำให้รอยร้าว 3 ป.เริ่มปริแตก

ด้วยเพราะ เสธ.หิมาลัย เป็นอดีตทหารเสือฯ ที่เคยอยู่ ร.21 รอ. มากับ พล.อ.ประยุทธ์ และที่ผ่านมา ก็ได้รับการดูแล ให้โอกาสจาก พล.อ.ประยุทธ์ หลังจากที่พ้นออกจากเรือนจำ ในคดีรื้อบาร์เบียร์ ถูกถอดยศพันโท จึงเป็นเหตุผล ทั้งด้วยสายเลือดทหารเสือฯ และบุญคุณ เสธ.หิมาลัย จึงเลือกที่จะอยู่ฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ แม้ว่าก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ที่เข้าไปอยู่ พปชร. จะมอบหมายให้ดูแลพื้นที่ภาคเหนือ ที่มี ส.ส.ในก๊วนอยู่ 3 คน ให้ พปชร.ก็ตาม

ก่อนหน้านี้ ร.อ.ธรรมนัสเป็นคนส่ง เสธ.หิมาลัย ไปช่วย พล.ต.อ.จักรทิพย์ หาเสียง ทำพื้นที่ใน กทม. เพราะ พล.อ.ประวิตรสนับสนุนอยู่เงียบๆ และเมื่อ พล.ต.อ.จักรทิพย์ถอนตัวจากสนาม กทม. มาสนามใหญ่ มาช่วย พปชร. จึงดึง เสธ.หิมาลัยมาอยู่ พปชร.ด้วย เพราะตอนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ยังอยู่กับ พปชร.

แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์จะย้ายไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ เสธ.หิมาลัย ก็ขอแยกทางจาก พปชร.มาอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ แม้จะอยู่เบื้องหลังก็ตาม แต่ก็ลงพื้นที่ไปรอต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์เสมอ โดยเฉพาะในภาคเหนือ

 

แม้ เสธ.หิมาลัยจะยืนยันว่า ยังคงเป็นเพื่อนกับ ร.อ.ธรรมนัส ยังคงพบปะ ทำกิจกรรมของรุ่นเป็นระยะๆ แต่จะไม่คุยกันเรื่องการเมือง เพราะต่างคนต่างชัดเจน ให้เกียรติกัน

“พล.อ.ประยุทธ์อยู่ไหน ผมก็อยู่ที่นั่น แต่ผมจะช่วยอยู่เบื้องหลัง เพราะผมเป็นทหารเก่า และคิดเสมอว่า เราเป็นเหมือนทหาร กองอาทมาฏ ที่พร้อมปฏิบัติหน้าที่ในสนามรบ เป็นเหมือนทหารอาสา ช่วยแบบไม่ต้องมีตำแหน่ง ไม่ได้หวังอะไร แต่ช่วยด้วยใจ เพราะรักและเคารพท่าน” เสธ.หิมาลัยกล่าว

โดยส่วนตัวยังรักและเคารพ พล.อ.ประวิตร และ พล.ต.อ.จักรทิพย์เช่นเดิม แต่ในทางการเมือง จำเป็นต้องแยกตัวมาช่วย พล.อ.ประยุทธ์ และในทางการเมือง เป็นคนที่ให้ความสำคัญที่สุด ยึดเรื่องสัจจะ คำไหนคำนั้น และบุญคุณ

อันสะท้อน เพื่อน พี่น้อง สายเลือดทหาร ถึงขั้นต้องแยกทางเดิน และเลือกข้าง เพราะอำนาจ และการเมือง นั่นเอง