‘จำพวก’ ไม่เห็นหัวประชาชน | เมนูข้อมูล

มีเรื่องราวที่ออกจะประหลาดในความเป็นไปทางการเมืองอยู่เรื่องหนึ่ง

นั่นคือกระแสความเชื่อมั่นว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะประสบความสำเร็จในการ “สืบทอดอำนาจ” ได้ครอบครองเก้าอี้ “นายกรัฐมนตรี” อีกครั้งหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ที่ก่อความรู้สึกว่า “ประหลาด” เพราะหากประเมินกันด้วยเหตุที่จะนำสู่ผล โดยใช้สามัญสำนึกปกติเป็นเครื่องมือแล้ว ความเชื่อว่า “ผู้นำประเทศ” จะเป็น “พล.อ.ประยุทธ์” อีกครั้งดูจะเป็นเรื่องตลกเสียด้วยซ้ำ เพราะไม่ว่าจะวิเคราะห์ผ่านมุมมองปกติแบบไหน โอกาสที่จะเป็นเช่นนั้นแทบไม่มีเหลืออยู่

เริ่มแรกเป็นที่รู้กันว่า “พรรคที่จะได้ ส.ส.เข้ามามากที่สุด” นั้น เป็นอื่นไปไม่ได้นอกจาก “พรรคเพื่อไทย” ด้วยความพร้อมที่มีมากกว่า สามารถเสนอนโยบายมาเป็นประเด็นถกกันในสังคม โชว์ความเป็นผู้กำหนดประเด็นใน “โหมดหาเสียง” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่พรรคการเมืองคู่แข่งหลายพรรคยังงกๆ เงิ่นๆ เดินงงๆ ว่าจะเหลือใครร่วมพรรคสักกี่คน

“พรรคเพื่อไทย” นั้นชัดเจนว่าไม่มีทางสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็น “นายกรัฐมนตรี” โอกาสของ “พล.อ.ประยุทธ์” จึงริบหรี่ในมุมฉันทานุมัติจาก “อำนาจประชาชน”

และแม้จะพยายามเชื่อว่า ที่สุดผลการเลือกตั้งจะพลิกไปเอื้ออำนวยต่อ “พล.อ.ประยุทธ์” หากมองอย่างคนที่พอจะมีเหตุมีผลอยู่ในความคิด ความอ่านบ้าง ย่อมต้องรู้ว่าเป็นความเชื่อที่ไม่ใกล้เคียงความจริงเอาเสียเลย

แค่ตอบคำถามง่ายๆ ว่า “8 ปีที่นั่งในอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์มีผลงานอะไรที่สร้างความประทับใจให้ประชาชนบ้าง” และมีมากมายแค่ไหน ปรากฏว่า “ท่าทีที่แสดงออกให้เป็นกริยาที่ไม่เหมาะสมของผู้นำ” ได้กลายเป็นเรื่องล้อเลียนของ “ผู้ที่หากินกับการแสดงตลก”

จึงเป็นความประหลาดยิ่งที่ “นักการเมือง” กลุ่มหนึ่งแสดงออกอย่างเต็มที่ถึงความเชื่อว่า “ประเทศไทยนี้ ผู้นำต้องเป็น พล.อ.ประยุทธ์เท่านั้น”

ประหลาดที่ “นักการเมืองกลุ่มนี้” ยังเชื่อมั่น ทั้งที่หากติดตามความรู้สึกนึกคิดของประชาชนแล้ว จะเห็นว่าแทบเป็นไปไม่ได้

ผลสำรวจทุกครั้งของ “สำนักโพล” ที่พอรักษาความน่าเชื่อถือไว้ได้ ให้ภาพเช่นนั้นมาทุกที

แม้กระทั่งครั้งล่าสุด “นิด้าโพล” สำรวจเรื่อง “6 พรรคกับโอกาสได้เป็นรัฐบาล” ผลของแต่ละพรรคคือ

“เพื่อไทย-นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว-น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” ร้อยละ 32.44 เชื่อว่า “ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน”, ร้อยละ 40.38 “โอกาสค่อนข้างมาก”, ร้อยละ 16.88 “โอกาสค่อนข้างน้อย”, ร้อยละ 8.24 “ไม่ได้เป็นแน่นอน”, ร้อยละ 2.06 “ไม่ตอบ”

“ก้าวไกล-นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ร้อยละ 11.00 “ได้เป็นแน่นอน”, ร้อยละ 30.23 “โอกาสค่อนข้างมาก”, ร้อยละ 31.45 “โอกาสค่อนข้างน้อย”, ร้อยละ 23.66 “ไม่ได้เป็นแน่นอน”, ร้อยละ 3.66 “ไม่ตอบ”

“รวมไทยสร้างชาติ-นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ร้อยละ 5.73 “ได้เป็นแน่นอน”, ร้อยละ 15.73 “โอกาสค่อนข้างมาก”, ร้อยละ 31.45 “โอกาสค่อนข้างน้อย”, ร้อยละ 43.12 “ไม่ได้เป็นแน่นอน”, ร้อยละ 3.97 “ไม่ตอบ”

“ภูมิใจไทย-นายอนุทิน ชาญวีรกูล” ร้อยละ 4.96 “ได้เป็นแน่นอน”, ร้อยละ 21.60 “โอกาสค่อนข้างมาก”, ร้อยละ 39.16 “โอกาสค่อนข้างน้อย”, ร้อยละ 30.48 “ไม่ได้เป็นแน่นอน”, ร้อยละ 3.44 “ไม่ตอบ”

“ประชาธิปัตย์-นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ร้อยละ 4.58 “ได้เป็นแน่นอน”, ร้อยละ 13.20 “โอกาสค่อนข้างมาก”, ร้อยละ 40.69 “โอกาสค่อนข้างน้อย”, ร้อยละ 38.93 “ไม่ได้เป็นแน่นอน”

ผลโพลดังกล่าวสะท้อนว่า ในฐานะเจ้าของอำนาจที่แท้จริงตามระบอบประชาธิปไตย โอกาสกลับมาสืบทอดอำนาจต่อของ “พล.อ.ประยุทธ์” มีน้อยมาก

ตกต่ำแม้กระทั่งพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

และนี่เองที่สะท้อนถึงความประหลาดอย่างยิ่งที่ยังมีนักการเมืองจำนวนไม่น้อยที่ยังเชื่อมั่นใน “พล.อ.ประยุทธ์” ถึงขนาดประกาศติดสอยห้อยตามไปทุกพรรคที่ “พล.อ.ประยุทธ์” เลือก โดยไม่เคยพูดถึงว่าพรรคที่ตัวเองสังกัดจะมีอุดมการณ์เพื่อประชาชนอย่างไร

เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมก่อเกิดความคิดว่า “นักการเมืองจำพวกนี้” ไม่ได้ให้ราคากับ “อำนาจประชาชน” ที่เป็นเจ้าของเสียงในระบอบประชาธิปไตย

แต่เชื่อใน “เครือข่ายอำนาจนิยม” ที่ว่าใช้กำลังเข้ายึดการปกครอง เขียนกติกาและวางกลไกในโครงสร้างอำนาจไว้เพื่อความได้เปรียบของตัวเอง และให้สามารถทำลายพรรคคู่แข่งได้มากกว่า

“นักการเมืองจำพวกนี้” คงเชื่อว่าจะครอบครองอำนาจ และบงการความเป็นไปของประเทศได้ตลอดไป