ถ้าไม่เริ่มที่อำนาจเป็นของประชาชน…จะเริ่มที่ไหน | คำ ผกา

คำ ผกา
(Photo by Jack TAYLOR / AFP)

สําหรับคนที่มาจากประเทศที่มีการเลือกตั้งสม่ำเสมอตามวาระ เลือกตั้งกันบ่อยๆ ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น มาสังเกตการณ์การเมืองไทยตอนนี้อาจจะเกิดภาวะ “อิหยังเดสก๊ะ”

ว่ากันว่า แค่ได้กลิ่นเลือกตั้งโชยมาไกลๆ คนไทย สังคมไทยก็คึกคักราวกับว่าตอนนี้เรามีรัฐบาลใหม่ที่ไม่ใช่รัฐบาลประยุทธ์แล้ว

ความอึดอัดที่ผ่านมา 8 ปี ของคนไทยที่ตระหนักว่าคุณภาพชีวิตของประชาชนไม่ขึ้นอยู่กับ “อำนาจบารมีของผู้นำหนึ่งคน”

แต่คุณภาพชีวิตของประชาชนเริ่มต้นนับหนึ่งที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจทางการเมือง จากนั้น ประชาชนมอบความไว้วางใจให้ตัวแทนของตนเข้าไปบริหารประเทศชาติแทนตัวเอง เพราะเหตุดังนั้น เราจึงมีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “ผู้แทนราษฎร”

ใครก็ตามที่อยากเป็น “ผู้แทนราษฎร” เขาผู้นั้นต้องลงเล่นการเมืองไปเป็นนักการเมือง ทำพรรคการเมือง จากนั้นลงเลือกตั้ง “ขอความไว้วางใจ” จากประชาชนว่า “ให้เราเป็นผู้แทนฯ เธอนะ จากนั้นเราจะปกป้องผลประโยชน์ของเธอ”

ระบอบประชาธิปไตยเสียงข้างมากจึงทำงานอยู่บนตรรกะนี้

นักการเมือง พรรคการเมืองแข่งขันกันทำงานเพื่อให้ประชาชนมอบความไว้วางใจให้ตนเองเป็น “ผู้แทนฯ”

ใครได้ความไว้วางใจมากกว่า คนคนนั้นจะได้เป็นรัฐบาล มีอำนาจอยู่มืองชั่วคราว เช่น 4 ปี จากนั้นต้องคืนอำนาจนั้นให้แก่ประชาชนเจ้าของอำนาจตัวจริง

ประชาชนก็จะดูว่า เขาจะเลือกคนเดิม พรรคเดิม หรือคนใหม่ พรรคใหม่

 

แรงขับเคลื่อนในการทำงานของพรรคการเมือง นักการเมือง จึงไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยสภาวะ จิตอาสา เสียสละเพื่อประชาชน อยากอุทิศตนให้แก่ประชาชนผู้ยากไร้

แต่เพราะอยากให้ประชาชนอนุญาตให้ไปถือครองอำนาจรัฐต่อไปเรื่อยๆ เมื่อเป็นเช่นนี้บ่อยครั้งที่ประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในประเทศประชาธิปไตยเกิดใหม่ (และยังมีมรดกตกค้างทางอุดมการณ์ของระบอบเก่าอย่างเข้มข้น) จะรู้สึก “งง” การเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยเสียงข้างมากว่ามันไม่เห็นอำนวยผลประโยชน์ให้ประชาชนจริงๆ มีแต่นักการเมืองเข้าแก่งแย่งผลประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้องเท่านั้น เหตุเพราะในจำนวนประชาชนหลายสิบล้านคนก็นิยามคำว่าผลประโยชน์ไม่ตรงกัน

บางกลุ่มของประชาชนมองว่าผลประโยชน์คืออยากเปลี่ยนโครงสร้างประเทศ

บางกลุ่มผลประโยชน์ อยากได้เรื่องยกระดับรายได้

บางกลุ่มอยากได้ “ผู้แทนฯ” ที่มาดูแลใกล้ชิด มางานศพ งานบวช เข้าถึงง่าย ร้องทุกข์ได้ถึงตัว พึ่งพาได้ทันที เช่น ลูกป่วย ไม่มีเงิน ขอผู้แทนฯ ช่วย บางกลุ่มของประชาชนบอกว่า นั่นไม่ใช่งาน ส.ส. ส.ส.ต้องออกกฎหมาย ฯลฯ

ทีนี้แต่ละพรรคการเมืองก็ย่อม – represent ที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษ เพื่อให้เราเข้าใจว่า ทำไมในภาษาอังกฤษ จึงเรียน ส.ส. ว่า represetative นั่นคือ แต่ละพรรคการเมืองย่อม represents หรือเป็นตัวแทน เป็นปากเสียงให้กับกลุ่มผลประโยชน์ที่ตัวเองเป็น “ตัวแทน”

เช่น พรรคการเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นพรรค “บ้านใหญ่” ก็ตอบโจทย์ กลุ่มประชาชนที่ยังต้องการผู้แทนฯ ที่พึ่งพาอาศัย เคาะประตูบ้านได้ หรือสร้างสายสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์

ดังที่รุ่นน้องนักรัฐศาสตร์คนหนึ่งเล่าให้ฉันฟังว่า จากการลงพื้นที่สัมภาษณ์ชาวบ้าน เขามองว่าการที่ผู้สมัคร ส.ส.เอาของมาให้ มาเยี่ยม คุณค่าของมันไม่ใช่ตัววัตถุสิ่งของ

แต่วัตถุสิ่งของเป็นเครื่องยืนยันถึง “ความสัมพันธ์ที่มีอยู่จริง” เหมือนเรามีแฟน แล้วแฟนซื้อดอกไม้ให้ในวันเกิด คุณค่าไม่ใช่อยู่ที่ตัวดอกไม้ แต่ดอกไม้ยืนยันความรัก ความสัมพันธ์นั้นมีอยู่จริง จับต้องได้ ยังรักกันอยู่ ไม่ทิ้งกันไปไหน แม้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งในเขตเมืองจะตีความว่า ชาวบ้านตะกละ จน โลภ เลยถูกซื้อโดยนักการเมือง

 

ดังนั้น จึงเป็นแสนปกติธรรมดาที่ในการเมืองประชาธิปไตยเสียงข้างมาก จะเต็มไปด้วยความขัดแย้งของกลุ่มผลประโยชน์

การต่อสู้ช่วงชิงคะแนนเสียงของพรรคการเมืองที่มุ่งหวังตอบโจทย์ประชาชนคนละกลุ่ม

หรือแม้แต่ความพยายามช่วงชิงฐานเสียงของพรรคอื่นมาเป็นของตน

ยิ่งไปกว่านั้น เป็นเรื่องค่อนข้างปกติที่พรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากแล้ว เป็นรัฐบาลแล้วจะเจอการตัดแข้งตัดขา ตีรวน ป่วนสภา ให้พรรคนั้น perform ไม่ได้ ล้มเหลว จากพรรคการเมืองคู่แข่ง ประชาชนจะได้ไม่เลือกพรรคนั้นอีก และหันมาเลือกพรรคของตนแทน

ส่วนพรรคที่ได้เสียงข้างมากก็ต้องทำทุกวิถีทางที่จะทำอะไรก็ได้ให้ชนะใจประชาชน เพื่อจะชนะการเลือกตั้ง

และหลายๆ ครั้ง “การทำอะไรก็ได้” ก็อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด และกลายเป็นเป้าถูกโจมตี วิพากษ์วิจารณ์

การเมืองของการเลือกตั้งจะวนๆ อยู่แบบนี้ มีความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ มีความอัปลักษณ์มากกว่าความสวยงาม

หลายๆ สังคมก็วนอยู่กับการเมืองเลือกตั้งแบบนี้หลายสิบปีกว่าจะเปลี่ยนผ่านไปจนสังคมบรรลุซึ่งความเข้มแข็งของพลเมือง เศรษฐกิจ และประชาธิปไตย

ที่เขาว่าประชาธิปไตยมันคือ unfinished project คือเรื่องจริง

 

ถ้าจะให้ยกตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านเราเพื่อจะเข้าใจเรื่องนี้ ดูฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ล้วนแล้วแต่ล้มลุกคลุกคลาน เจอทั้งพรรคการเมืองตระกูลเก่ากินรวบ พรรคการเมืองตระกูลมาเฟีย เจ้าพ่อท้องถิ่น พรรคการเมืองที่ผูกขาดชัยชนะเป็นรัฐบาลพรรคเดียวมายาวนานกว่า 50 ปี เจอพรรคการเมืองที่ฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ดี แต่เป็นหัวรุนแรงทางศาสนา ฯลฯ สารพัดจะเจอ

แต่เราก็เห็นว่าสังคมมีพลวัต ขับเคลื่อนไปเรื่อยๆ และกระบวนการเลือกตั้งไม่เคยสะดุด

หรือแม้แต่กรณีศรีลังกาที่เพิ่งมีเรื่องขับไล่ประธานาธิบดีไปไม่นานมานี้ ซึ่งสังคมไทยควรศึกษาว่าท่ามกลางความล้มเหลวของประชาธิปไตยเสียงข้างมาก แต่สิ่งที่ประเทศและประชาชนที่รู้ว่า การได้เป็นเจ้าของอำนาจทางการเมืองเป็นสิ่งสุดท้ายที่เราจะยอมสูญเสีย

ดังนั้น ต่อให้รัฐบาลห่วย พรรคการเมืองเหี้ย แต่ประชาชนจะ “ทะเลาะ จัดการกันเอง” ไม่ยอมให้กองทัพเข้ามาทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจไปจากประชาชนเป็นอันขาด

เพราะฉะนั้น คนไทยทุกคนโปรดสำเหนียกด้วยว่า เป็นที่ทหารออกมายึดอำนาจ เขาไม่ได้ยึดอำนาจไปจากชาติชาย, ทักษิณ, ยิ่งลักษณ์ เขายึดอำนาจไปจาก “เรา” ประชาชนนี่แหละ

 

เพราะฉะนั้น ถามว่า ในรอบ 8 ปีหลังการรัฐประหาร 2557 ทำไมประเทศถอยหลัง ล้าหลัง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต ความปลอดภัย การคอร์รัปชั่น ยาเสพติด อาชญากรรม ความรุนแรง การศึกษา ฯลฯ ไม่มีอะไรเลยที่เราขยับไปข้างหน้า มีแต่เสื่อมถอย ผู้คนอ่อนแอ ความเหลื่อมล้ำถ่างกว้างขึ้น ไม่มีบทบาทในเวทีโลก ไม่มีอะไรเลย

ทั้งหมดเกิดจากการที่เราอยู่ภายใต้คณะบริหารประเทศที่ไม่ได้ represent เรา

มันง่ายๆ แค่นั้นเลย ดังนั้น ทุกอย่างที่เขาทำจึงไม่ได้ทำเพื่อขอ “ความไว้วางใจ” จากเราแต่ที่น่าเศร้าคือ ทั้งหมดนี้ทำบนภาษีของเรา

8 ปีมันช่างเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเหลือเกิน ที่เรานั่งดูคณะทำงานที่ทำอยู่บนงบประมาณจากภาษีของประชาชน แต่ไม่ได้ทำเพื่อตอบสนองต่อเสียงของประชาชนและไม่เคยอยู่ในสมองของพวกเขาว่า เป้าหมายคือต้องได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจคิดง่ายๆ แต่เพียงว่า ฉันมี 250 ส.ว.อยู่ในมือที่การันตีว่าจะได้เป็นรัฐบาลอีกสมัย ดังนั้น นักการเมืองคนไทยที่มีฐานเสียงอยู่ในมือแล้วไม่อยากเสี่ยงเป็นฝ่ายค้านก็จงประเคน “เสียง” นั้นมาทางนี้

แต่ประยุทธ์ก็ลืมไปว่า นักการเมืองเหล่านั้นหากประเคนเสียงให้ประยุทธ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยไม่มีอะไรติดไม้ติดมือไปตอบแทนฐานเสียงเลย หรือมีก็น้อยเกินไป ในอนาคต พวกเขาก็เสี่ยงที่จะสูญพันธุ์เช่นกัน

เคสของประชาธิปัตย์น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีของพรรคการเมืองที่อนาคต “เรียว” ลงทุกวัน

 

8 ปีมันยาวนานพอที่จะทำให้คนไทยจำนวนมากตระหนักว่า จะดีจะชั่ว เราควรสู้เพื่อให้อำนาจกลับมาอยู่ในมือของเราอีกครั้ง

ท่ามกลางข้อจำกัดจากรัฐธรรมนูญที่แก้ได้เพียงน้อยนิดและส่วนใหญ่ยังมีเนื้อหาที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ

แต่อย่างน้อยที่สุดก็ได้แก้เรื่องระบบการเลือกตั้ง และที่สำคัญคำว่า 4 ครบเทอม มันก็มีอยู่จริงๆ

ประยุทธ์ต้องคืนอำนาจมาอยู่ในมือของประชาชน และให้ประชาชนเลือกว่าเขาจะเลือกใครเป็น “ผู้แทนฯ” ของเขา

ประยุทธ์ไม่มีทางเลือกนอกจากต้องเกาะเกี่ยวตัวเองไปกับพรรคการเมืองและนักการเมือง จากนั้นก็ต้องลุ้นผลการเลือกตั้ง เพราะกว่าจะถึงมือ ส.ว. ประยุทธ์ต้องผ่านด่านที่พรรคการเมืองจะเสนอชื่อประยุทธ์ได้ต้องมี ส.ส. 25 คนขึ้นไป

เมื่อเข้าสู่โหมดการหาเสียงเพื่อแย่งชิง “ความไว้วางใจ” จากประชาชนในบริบทการเมืองเช่นนี้ มันจึงสนุกมาก และเราพบความตื่นตัว ตื่นเต้นที่จะได้ออกไปเลือกตั้งอีก ไม่วายที่จะมีคนมาขู่ว่า “เลือกไปก็เท่านั้น เดี๋ยวเพื่อไทยชนะก็รัฐประหาร”

“เลือกเพื่อไทยได้รัฐประหาร”

“นี่เป็นเพียงฉากบังหน้าของเผด็จการ เอาการเลือกตั้งมาเป็นพิธีกรรม”

“ประชาธิปไตยต้องไปไกลกว่าเรื่องอำนาจเป็นของประชาชน เพราะเผด็จการก็จะเป็นอีแอบมาในนามของเสียงประชาชน” บลา บลา

แต่เราปฏิเสธได้ไหมว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่เป็นเพียงเสื้อคลุมเผด็จการ สภาทำงานได้ลุ่มๆ ดอนๆ มีกฎหมายมัดมือมัดเท้านักการเมืองสารพัด ไม่ให้ทำงานตอบสนองประชาชน

แม้จะขนาดนี้ พลังความตื่นตัวทางการเมืองกลับเพิ่มสูงขึ้น ความอึดอัดต่อความล้มเหลวของรัฐบาลที่ทบเท่าทวีคุณ และความชอบธรรมของประยุทธ์ยิ่งตกต่ำลงทุกวัน ขนาดที่ ส.ส.ในฝั่งพลังประชารัฐเองยังแบ่งรับแบ่งสู้

 

ทุกอย่างยิ่งแจ่มชัดมากขึ้น เมื่อเพื่อไทยเปิดตัว 10 นโยบาย ที่กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทภายในปี 2570

สำหรับการออกมาดิสเครดิต คัดค้าน ด่าทอ ไปจนถึงความพยายามจะยื่นร้องเรียน ยุบพรรค อะไรก็แล้วแต่เป็นเรื่องปกติธรรมดาของการ “แข่งขัน” เพื่อช่วงชิงความไว้วางใจจากประชาชน

และมันดีมากที่อยู่ๆ เราก็ได้คุยกันว่า ค่าแรงขั้นต่ำ เขาคำนวณจากอะไร มีกี่สำนักในการคำนวณ ต้องดูตัวแปรอะไรบ้าง

ดีไปกว่านั้น บทสนทนา ไปไกลกว่าการนั่งท่องบทเดิมๆ ว่า นักลงทุนจะหนีไป ผู้ประกอบการจะอยู่ไม่ได้ ข้าวของจะแพง เพราะมีคนหลากหลายวงการเข้ามาร่วมถกเถียงให้ข้อมูลกันอย่างกว้างขวางประเทืองปัญญาดีมาก

แต่ผลสะเทือนที่มากกว่านั้นคือ มันมาเตือนให้เราตระหนักอีกครั้งว่า เฮ้ย การเมืองมันเป็นเรื่องการแข่งขันกันออกนโยบายมาพิชิตใจประชาชนเจ้าของอำนาจ

นั่นหมายความว่า พรรคการเมืองไหนทำงานหนักในการออกแบบนโยบาย และมีความเป็นไปได้ว่าจะทำได้จริง พรรคการเมืองนั้นมีแนวโน้มจะชนะการเลือกตั้ง

หากกระบวนการนี้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ฉันมั่นใจว่า พรรคการเมืองที่เหลืออยู่ก็ต้องค่อยๆ ปรับตัว รีแบรนด์พรรค เป็นพรรคการเมืองที่ให้ความสำคัญกับนโยบายมากกว่ามอบผลตอบแทนระยะสั้น ระบบอุปถัมภ์ก็จะค่อยๆ เปลี่ยนรูปแบบ ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีเลย

 

การเปิดนโยบายของพรรคเพื่อไทย เป็นส่วนหนึ่งของการหาเสียง ขณะเดียวกันเป็นการดึงการเมืองให้กลับมาในวัฒนธรรมการเมืองที่ควรจะเป็น นั่นคือ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลปัจจุบันว่าล้มเหลวอย่างไร และนำเสนอวิสัยทัศน์ให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งเห็นว่า หากเปลี่ยนให้เพื่อไทยมาเป็นบริหารประเทศแทน พวกเขาจะได้อะไรบ้าง และทั้งหมดนี้ทำโดยไม่ต้องป่าวประกาศว่า “เราจะทำการเมืองใหม่”

ทั้งหมดนี้ ฉันไม่บอกว่าทุกอย่างจะสวยหรู ราบรื่น ประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นประชาธิปไตยสวยงาม พรรคเพื่อไทยไร้ที่ติ

เราทุกคนย่อมรู้ดีกว่าการรัฐประหาร 2549 และ 2557 ทำลายสถาบันพรรคการเมืองไปย่อยยับป่นปี้

จากปี 2540 พรรคการเมืองควรจะได้ค่อยๆ พัฒนาเป็นสถาบันจนมีเอกลักษณ์ จุดยืน อุดมการณ์ของตัวเอง แต่การรัฐประหาร การตัดสิทธิ์นักการเมือง การยุบพรรค การตั้งองค์กรอิสระ การใช้กฎหมายกลั่นแกล้ง ตีกรอบนักการเมืองให้ขยับตัวลำบาก

เหล่านี้ บั่นทอนศักยภาพพรรกคารเมืองและเท่ากับเราเอาเวลาทิ้งไปเกือบ 20 ปี

พรรคการเมืองไทยทุกพรรคเวลานี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคฝั่งประชาธิปไตย ต้องมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่เรื่องทรัพยากร งบประมาณ ทุน วัฒนธรรมองค์กร การสรรหาบุคลากร การดีลกับ “พื้นที่” การประสานหาจุดลงตัวระหว่างระบบอุปถัมภ์เก่ากับการเมืองแบบยึดนโยบายระยะยาว การสูญเสียนักการเมืองท้องถิ่นไปให้กับฝั่งเผด็จการ ภาวะที่นักการเมืองอีกไม่น้อยยังไม่แจ่มชัดในอุดมการณ์ แม้กระทั่งการติดหล่มวาทกรรมเก่าๆ ที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์การเมืองไทย

ดังนั้น สำหรับฉัน การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น เราต้องเตรียมพร้อมที่จะพบกับทุกความอัปลักษณ์ แต่ที่เราจะไม่ยอมสูญเสียอีกต่อไปคือ เราในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย และอำนาจทางการเมืองต้องเป็นของประชาชนเท่านั้น